เส้นทางนักข่าวของจิรายุ ห่วงทรัพย์ อาจดูแปลกและแตกต่างจากหลายคน เพราะเริ่มต้นอาชีพการทำงานจากการเป็น Copywriter บริษัทโฆษณา เจ้าของก๊อบปี้คุ้นเคย “ก็ลมมันเย็น” จนเติบโตถึงที่สุดในวงการ เขาพาชีวิตไปเจอโลกใหม่ ในงานนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ แล้วก็โลดแล่นอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์นาน 8 ปี จิรายุ ก่อนจะย้ายตัวเองไปเป็นดีเจที่วิทยุ อสมท. FM 99 และเข้าทำงานที่ไอทีวี ตั้งแต่สถานียังไม่ออกอากาศเสียอีก
“ช่วงแรกยังเป็นนักข่าว พอเห็นผู้ประกาศนั่งอ่านข่าว ก็ได้แต่ใฝ่ฝันอยากจะไปอ่านข่าวบ้าง แต่ก็รู้สึกตื่นเต้นและกลัวกล้องมากๆ” จิรายุย้อนอดีตด้วยรอยยิ้ม อยู่เบื้องหลังมาปีกว่า วันหนึ่งจิรายุก็ได้จัดรายการ “เปิดโลกธุรกิจ” แทนผู้จัดฯ ที่ทำอยู่ซึ่งไม่มา และแล้วฉากเบื้องหน้าก็เปิดรับเขา
จิรายุพูดถึงสไตล์การทำงานว่า การทำข่าวหรือสกู๊ปของเขาจะไม่มี format ตายตัว แต่จะใส่ส่วนผสมของครีเอทีฟเข้าไปด้วย โดยโปรดิวเซอร์ข่าวเช้าไอทีวี ผู้คัดเลือกจิรายุมาเป็นพลร่วมรบภาคเช้า ให้การการันตี “เขาเล่าเรื่องด้วยภาพได้ดี หน้าตา น้ำเสียง บุคลิกของเขาจะเป็นไปกับเหตุการณ์ และเขาจะเล่าได้ “in” มาก”
นอกจากรายการข่าวเช้าไอทีวี จิรายุยังรับบทเป็นผู้สื่อข่าว Sky News และจัดรายการ Auto Weekly รายการถทางไอทีวี พร้อมทั้งเป็นผู้สื่อข่าวกีฬา เจ้าของคำพูดติดปาก “ท่านผู้ชมครับ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้”
ทุกวันนี้ ความสุขของจิรายุคือ การได้ลงไปทำข่าวในพื้นที่ และจะมีสุขมากขึ้น เวลาที่เขาต้องเดินสวนกับทุกคนที่กำลังเดินออกจากเหตุการณ์ ซึ่งเขาพูดถึงสไตล์การอ่านข่าวที่ชอบว่า “ผมจะไม่ชอบเลย ถ้าให้ต้องอ่านข่าวตรงเป๊ะ เพราะมันไม่ได้ใช้ประสบการณ์กว่า 10 ปีที่เราสะสมข้อมูลมาให้เกิดประโยชน์”
สำหรับกระแส News talk จิรายุให้ความเห็นว่า “ต้องยอมรับว่า สังคมข่าวตอนนี้ ช่วงเช้าคนมีเวลาน้อยลง ก็เลยอยากได้ข้อมูลที่เร็วโดยไม่ต้องการหาเหตุผลด้วยตัวเอง ลีลาการเล่าข่าวแบบเติมแต่งแล้วเมาท์ต่อได้จึงเป็นที่นิยม แต่ก็เป็นแค่ช่วงพีคของสินค้า ถึงวันนึงมันก็จะลดลง เพราะคนอาจจะเบื่อ หรืออาจจะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมานั่งฟังทีวีตอนเช้าแล้วก็ได้”
ถึงจะมองการแข่งขันอย่างเข้าใจ แต่จิรายุก็ยอมรับว่า ในการเตรียมตัววันหนึ่งๆ ชีวิตค่อนข้างเครียด รอบ 24 ชั่วโมง เขาต้องรับข่าวสารมาเป็นฐานข้อมูลตลอดเวลา
“ขณะขับรถไปทำงานตอนตี 5 ต้องฟังข่าววิทยุอย่างน้อย 2 คลื่น มาถึงสถานีต้องอ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อเช็กและกลั่นกรองข่าวของเราไปด้วย และหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต จบรายการของเราก็ดูข่าวต่อ บ่ายๆ ก็ประชุม ตอนเย็นก็ฟังวิทยุ ก่อนนอนก็ต้องดูข่าว …เพราะเราหยุดหาข่าวสารข้อมูลไม่ได้”