ต้นตำรับ News talk

ในสหรัฐอเมริกา เรียกรายการสนทนาข่าว ว่า Infotainment หรือบางทีเรียกว่า Soft News เป็นธุรกิจการนำเสนอข่าวในรูปแบบใหม่ที่ดึงดูดคนดูและดึงดูดโฆษณา ด้วยการผสมผสานระหว่างการสื่อข่าวและความบันเทิงไว้ด้วยกัน

รูปแบบของรายการ News talk คล้ายกับบ้านเรา คือ เป็นการหยิบยกประเด็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ที่เป็นประเด็นร้อน มาพูดถกเถียงกันเพื่อขยายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องจริงชีวิตจริงของผู้คน (Human Drama/ Human Interest) ซึ่งรวมถึงชีวิตของคนธรรมดาเดินดินไปจนชีวิตคนดังซิลิบริตี้ทั้งหลายด้วย ยิ่งเป็นเรื่องที่สามารถสร้างอารมณ์เข้าถึงให้กับคนดูได้จะยิ่งเป็นที่นิยม ซึ่งตรงนี้ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ดำเนินรายการด้วย

นอกจากนี้ รายการรูปแบบนี้จะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาออกความเห็น มาสัมภาษณ์ บางรายการมีการให้โทรศัพท์หรืออีเมลเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นแบบสดๆ ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่น่าสนใจของการดำเนินธุรกิจข่าว โดยเฉพาะข่าวทีวีของอเมริกาในยุคศตวรรษที่ 21 นี้

จากแนวโน้มที่บริษัทสื่อยักษ์ทั้งหลายในอเมริกาเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ด้วยการพยายามลดต้นทุน เพิ่มเรตติ้ง ควบกิจการ เปลี่ยนผู้บริหาร และที่สำคัญเปลี่ยนรูปแบบของการนำเสนอข่าว โดยเน้นการเสนอข่าวที่มีเนื้อหาสาระเบาๆ ไม่ซีเรียส แต่สร้างให้เป็นเรื่องที่น่าสนใจได้ด้วยการใช้พิธีกรรายการข่าว เป็นตัวดึงดูดผู้ชม

พิธีกรรายการข่าว หรือผู้ประกาศข่าว เรียกกันได้หลายแบบในอเมริกา ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการนำเสนอ ถ้าเป็นข่าวเบาๆ เน้นที่ความบันเทิง บางทีก็เรียก “Infotainers” แต่โดยทั่วไปจะเรียกว่า News Anchors ซึ่งมีบางคนวิจารณ์ว่าผู้ประกาศข่าวเหล่านี้ไม่ใช่ “นักข่าว” ที่แท้จริง แต่เป็นเพียงแค่ “News Actors” หรือนักแสดงสื่อข่าวที่มีความสามารถในการแสดงให้คนดูคนฟังเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือในการนำเสนอข่าว มากกว่าที่จะเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในจิตวิญญาณของผู้สื่อข่าว

Bonnie Anderson อดีตผู้สื่อข่าวค่าย NBC และ CNN ได้กล่าวไว้ในหนังสือ News Flash ของเธอว่า “ฉันเรียกคนเหล่านี้ว่า นักแสดงสื่อข่าว เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือ ให้คนดูที่ตัวของพวกเขา ไม่ใช่เนื้อหาสาระของข่าว” และถ้าคนดูติดรายการ เรตติ้งเพิ่ม เงินเพิ่ม ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นซิลิบริตี้ภายในระยะเวลาอันสั้น มีรายได้ค่าตัวแพงๆ

จากตัวอย่างนี้เองทำให้เด็กรุ่นใหม่ในอเมริกันคอลเลจที่เรียนเกี่ยวกับ Journalism หลายคนมีเหตุผลในการเรียนสาขานี้และต้องการเป็นนักข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักข่าวทีวี เพราะ ต้องการเป็นศูนย์กลางของความสนใจ ต้องการมีคนชื่นชมกลายเป็นซิลิบริตี้และมีค่าตัวแพงๆ ตรงกันข้ามกับความหมายที่แท้จริงของการเป็น “นักข่าว” ที่ต้องเป็นผู้นำเสนอข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมของโลกใบนี้ อย่างมีอุดมการณ์ มีจรรยาบรรณ

สร้างชื่อเสียง สร้างค่าตัว

เห็นแล้วอย่าตกใจ ตัวเลขต่อไปนี้เป็นเงินเดือนเฉลี่ยต่อปีของพิธีกรรายการข่าวที่มีชื่อเสียงในอเมริกา ที่ถูกนำมาเปิดเผยโดย Bonnie Anderson ในหนังสือ News Flash ผลงานเล่มแรกของเธอที่ออกมาเพื่อตีแผ่ความเป็นไปของธุรกิจข่าวบนจอแก้วของอเมริกาในมุมมองของเธอ…

จากชีวิตพิธีกรข่าวสู่ซิลิบริตี้ไลฟ์

Larry King Live : ต้นแบบ Phone-in Talk Show

ปัจจุบัน Lawrence Harvey Zeiger หรือที่รู้จักกันดีในนามของ Larry King กลายเป็นพิธีกรซิลิบริตี้รุ่นอาวุโสของอเมริกาคนหนึ่งที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานสายสื่อมวลชนจากการเป็นพิธีกรสัมภาษณ์ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่นในไมอามี่เมื่อปี ค.ศ. 1957 ด้วยวัยเพียง 22 ปี

โดยก่อนหน้านั้นเขาทำงานในการไปรษณีย์แห่งประเทศอเมริกา…จาก Mail Man มาสู่ Voice Man จากน้ำเสียงและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ ในเวลาเพียงไม่กี่ปี Larry กลายเป็นที่ติดตามของคนในไมอามี่

เขาเริ่มต้นงานวิทยุจากการเป็นดีเจ ในช่วงครึ่งวันเช้า ส่วนช่วงบ่ายเขาทำหน้าที่รายงานข่าวในโทรทัศน์ท้องถิ่น จากนั้นเขาเริ่มต้นออกไปสัมภาษณ์ผู้คนในไมอามี่มาประกอบข่าว คนที่ Larry สัมภาษณ์เป็นคนแรกคือ พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารในไมอามี่

จากนั้นในปี ค.ศ. 1960 เขาได้เป็นพิธีกรรายการทีวีรายการแรกชื่อว่า “Miami Undercover” โดยเป็นรูปแบบของการถกเถียงอภิปรายกันในประเด็นที่ฮอตในแต่ละวัน เรียกได้ว่าเขาเป็น Infotainer รุ่นแรกๆ เลยก็ว่าได้…ชีวิต on-air ที่กำลังรุ่งเรืองของ Larry King สะดุดลงในช่วงปี ’70s จากปัญหาส่วนตัวเรื่องเงินๆ ทองๆ เขาหายหน้าหายตาไปจากโทรทัศน์นานถึง 3 ปี เปลี่ยนงานไปเป็นผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ของสนามแข่งรถใน Louisiana ขณะเดียวกันก็เขียนบทความให้กับ Esquire Magazine

ต่อมาในปี ค.ศ. 1978 Larry King กลับมา on-air อีกครั้ง ด้วยการสืบต่อรายการวิทยุที่ให้ผู้ฟังสามารถโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ อากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีห้าครึ่ง

ในปี ค.ศ. 1995 เขาเริ่มรายการของตัวเองในสถานี CNN ใช้ชื่อว่า “Larry King Live” เป็นรายการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ตั้งแต่นักการเมือง นักธุรกิจ ไปจนถึงนักแสดง นักร้อง รายการของเขาออกอากาศทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ชมโทรศัพท์เข้าไปในรายการได้

ปัจจุบัน Larry อยู่ในวงการวิทยุโทรทัศน์มานานถึง 48 ปี ผ่านการสัมภาษณ์บุคคลดังมากมายกว่า 40,000 คน อาทิ John F. Kennedy Junior ลูกชายสุดหล่อของอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา Marlon Brando ดาราเด่นในหนังสงครามเวียดนามเรื่อง Apocalypse Now ซึ่งทั้งสองคนต่างวัยต่างอาชีพก็ได้เสียชีวิตไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีบุคคลระดับนานาชาติ เช่น Tony Blair Margaret Thatcher และ Vladimir Putin เป็นต้น

การที่ Larry King Live เป็นรายการดังระดับชาติและนานาชาติ ภาพของ Larry ขณะดำเนินรายการจึงปรากฏอยู่ในหนังระดับฮอลลีวู้ดนับสิบๆ เรื่อง…ปีนี้เขามีอายุครบ 72 ปี Larry King ยังคงเอกลักษณ์ดั่งเดิมไว้คือ ชายผู้สวมแว่นใหญ่ พับแขนเสื้อ ผูกไท และสวมสาย suspenders อันกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามาจวบทุกวันนี้

Charlie Rose : The Charlie Rose Show

หลังจากจบการศึกษา Charlie Rose เริ่มต้นงานผู้สื่อข่าวโทรทัศน์แบบเต็มตัวในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของรายการ “Bill Moyers’ International Report” แห่งสถานี PBS ในช่วงปี ค.ศ. 1974-1975 ในปีถัดมาเลื่อนเป็นผู้อำนวยการผลิตรายการ “Bill Moyers’ Journal” และเป็น correspondent ให้กับ “USA : People and Politics” ซึ่งฉายเป็นตอนๆ ทุกสัปดาห์ รวมทั้งทำข่าวให้กับ NBC ในวอชิงตัน ดี.ซี.

นอกจากนั้นเขายังเป็นพิธีกรรายการ “AM Chicago” ที่ออกอากาศในชิคาโก และผลิตรายการของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า “The Charlie Rose Show” ให้กับสถานีท้องถิ่นในเท็กซัส จากนั้นก็ย้ายมาที่เครือข่าย NBC เพื่อฉายในระดับชาติ

ต่อมาเขามาเป็นผู้ประกาศข่าวของ CBS News ในช่วงปี ค.ศ. 1984-1990 ประจำรายการ “Nightwatch” ซึ่งเป็นรายการข่าวรอบดึกรายการแรกของ CBS จากรายการนี้ Charlie ได้รับรางวัล Emmy Award ตัวแรกหลังจากที่เขาสัมภาษณ์ฆาตกรโหด Charles Manson เมื่อปี ค.ศ. 1987

ในปี ค.ศ. 1991 เขาเริ่มรายการของตัวเองชื่อว่า “Charlie Rose” ในช่อง PBS ที่ออกอากาศเฉพาะในนิวยอร์ก เป็นรายการสัมภาษณ์ช่วงดึกของทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมง ต่อมารายการมีเรตติ้งสูงขึ้น PBS จึงทำการออกอากาศไปทั่วประเทศมาจนถึงทุกวันนี้

ด้วยเอกลักษณ์อันสุขุม ลุ่มลึก มีเชาวน์ไหวพริบในการตั้งคำถาม เขาจึงมีงานนอกเข้ามาอีกคือ เป็นพิธีกรให้กับ Discovery Channel ในรายการ “One on One with Roger Payne” งานนี้ทำให้เขาได้รับรางวัล Emmy Award เพิ่มมาอีกหนึ่งรางวัล และยังเป็นผู้ทำข่าวป้อนให้กับรายการ 60 Minutes II ซึ่งเริ่มออกอากาศเมื่อ 6 ปีที่แล้วในช่อง CBS News อีกด้วย

Katie Couric : “Today”

ชีวิตของ Katie Couric เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดมากในการก้าวสู่โลกซิลิบริตี้…เธอเริ่มงานผู้ช่วยข่าวงานแรกกับ ABC News ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และร่วมงานในระยะสั้นๆ กับ CNN ต่อมาในช่วงปี ค.ศ. 1984-1986 เธอทำหน้าที่รายงานข่าวทั่วไปให้แก่สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในไมอามี่ ฟลอริด้า และสถานี WRC-TV ซึ่งเป็นเครือข่ายของ NBC News ในวอชิงตัน ดี.ซี. และในช่วง 2 ปีนี้เอง เธอได้รับรางวัล Associated Press Award และ รางวัล Emmy Award

3 ปีต่อมา เธอเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของ NBC อย่างเต็มตัวในตำแหน่งผู้รายงานข่าว และก้าวขึ้นเป็นพิธีกรรายการ “Today” ซึ่งเป็นรายการข่าวภาคเช้าของ NBC ที่มีมานานกว่า 50 ปีแล้ว ปัจจุบัน Katie เป็นพิธีกรร่วมกับ Matt Lauer หน้าที่หลักของเธอคือ การสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับชาติ ระดับนานาชาติ และที่ขาดไม่ได้คือ บรรดาไฮโซซิลิบริตี้ทั้งหลาย เวลานี้เธอจึงกลายเป็นซิลิบริตี้เสียเอง โดยมีงานร่วมกับฮอลลีวู้ดหลายงานด้วยกัน เช่น พากย์เสียง Katie Current ผู้สื่อข่าวมัจฉาสาวในการ์ตูนเรื่อง Shark Tale และแสดงเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำใน Austin Tower in Goldmember พิธีกรข่าวสาววัย 48 ปีที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงกว่า 10 เหรียญสหรัฐ

Oprah Winfrey : พิธีกรหญิงผิวดำครองใจคนดูทั่วโลก

Oprah Winfrey เริ่มต้นชีวิตการทำงานในโลกของการกระจายเสียงที่สถานีวิทยุใน Nashville ตั้งแต่อยู่ในวัยมัธยมเท่านั้น ต่อมาด้วยวัยเพียง 19 ปี Oprah เป็นผู้ประกาศข่าว African-American คนแรกของสถานีโทรทัศน์ใน Nashville ที่อายุน้อยที่สุด

ต่อมาเธอย้ายไปที่ Baltimore ไปเป็นผู้ประกาศข่าวร่วมในรายการข่าว “Six O’Clock News” จากนั้น เป็นพิธีกรร่วมในรายการ “People are Talking” ต่อมาในปี ค.ศ. 1984 Oprah ย้ายมาปักหลักที่ชิคาโก และเริ่มงานพิธีกรทอล์กโชว์ช่วงเช้า “AM Chicago” ตามรอย Chalrie Rose หลังจากเธอเริ่มงานเพียง 1 เดือน รายการนี้กลายเป็นรายการที่มีเรตติ้งสูงอันดับหนึ่งในชิคาโก แซงหน้ารายการอื่นๆ ไปอย่างไม่น่าเชื่อ

จากนั้นไม่ถึงปีทางสถานีได้ขยายเวลาออกอากาศเป็น 1 ชั่วโมง และเปลี่ยนชื่อรายการเป็น “The Oprah Winfrey Show” และในปี ค.ศ. 1986 รายการของเธอได้ออกอากาศไปทั่วประเทศ และกลายมาเป็นรายการทอล์กโชว์ที่มีเรตติ้งสูงที่สุดในประเทศ ต่อมาในปี ค.ศ. 1988 เธอลงทุนก่อตั้งสตูดิโอ Harpo ในชิคาโก ซึ่งงานนี้ Oprah ถือเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ในวงการบันเทิงที่มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง โดยคนแรกคือ Mary Pickford และคนที่ 2 คือ Lucille Ball

นอกจากจะเป็นเจ้าของและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์แล้ว Oprah ยังมีสิ่งพิมพ์เป็นของตัวเองด้วย ซึ่งรวมถึงนิตยสารรายเดือน “O, The Oprah” ที่วางแผงในอเมริกาและแอฟริกาใต้ และนิตยสารเกี่ยวกับบ้าน “O at Home” ที่วางแผงทุก 4 เดือน

สตูดิโอ Harpo ของ Oprah ยังผลิตภาพยนตร์ภายใต้ชื่อ Oprah Winfrey Present ซึ่งเป็นโครงการภาพยนตร์โทรทัศน์ที่สร้างมาจากหนังสือวรรณกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น Tuesday with Morrie ของ Mitch Albom เป็นต้น เพื่อออกอากาศในสถานี ABC เธอไม่เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้แสดงอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1985 Oprah รับบท “Sofia” ในภาพยนตร์เรื่อง “The Color Purple” ของผู้กำกับดัง Steven Spielberg ซึ่งเป็นเรื่องแรกของเธอ

นอกจากนี้ เธอยังร่วมแสดงในภาพยนตร์โทรทัศน์ของเธอเองอีกหลายเรื่อง เช่น “Beloved” จากนิยายรางวัล Pulitzer Prize-Winning ของ Toni Morrison เป็นต้น

ปัจจุบันรายการ “The Oprah Winfrey Show” ซึ่งเป็นรายการที่เน้นที่เรื่องราวชีวิตจริงของผู้คน รวมทั้งเรื่องบันเทิงด้านต่างๆ มีผู้ชมทั่วอเมริกาสัปดาห์ละประมาณ 30 ล้านคน แพร่ภาพไปยังประเทศอื่นๆ อีก 115 ประเทศทั่วโลก…Oprah นับเป็นผู้หญิง African-American ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของอเมริกาในวันนี้

Anderson Cooper : ซิลิบริตี้โดยกำเนิด

Anderson Cooper บุตรชายของดีไซเนอร์ชื่อดังของอเมริกา Gloria Vanderbilt เจ้าของแบรนด์ Vanderbilt? กับนักเขียน Wyatt Cooper เป็นพิธีกรข่าวที่กำลังมาแรงที่สุดของ CNN เวลานี้ จากประสบการณ์ที่บ้าบิ่นกับบุคลิกนำเสนอข่าวที่จริงจังตรงไปตรงมา ทำให้เขามีรายการของตัวเองคือ รายการ “Anderson Cooper 360?” ที่เริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนกันยายนของปี ค.ศ. 2003 ที่ผ่านมา

หลังจาก Anderson จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Yale เขาพยายามที่จะเป็นนักข่าวให้ได้ เริ่มต้นสมัครงานที่ ABC ได้งานเป็นคนตรวจสอบข้อมูลให้กับรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ Channel One News ของ ABC ซึ่งเป็นรายการข่าวสไตล์ MTV

ทำอยู่ได้ 6 เดือน เขาอยากเป็นผู้ประกาศข่าวเสียเอง เขาจึงลาออกจากงาน แล้วเริ่มต้นเดินทางออกนอกประเทศพร้อมด้วยกล้องวิดีโอคู่ใจ เล่าเรื่องต่างๆ จากสถานที่ที่ไม่มีอเมริกันอยู่ และขายเรื่องให้กับ Channel One ซึ่งถ้าเรื่องของเขาได้ออกอากาศ การได้เป็นผู้สื่อข่าวอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เขาเดินทางเข้าประเทศพม่าทางด้านประเทศไทย ด้วยบัตรผู้สื่อข่าวปลอม เพื่อสังเกตการณ์ต่อสู้ของนักศึกษาพม่า จากนั้นก็ไปยังเวียดนาม สมัครเข้าเป็นนักศึกษาเรียนภาษาเวียดนามที่มหาวิทยาลัยฮานอยเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้น เขาเดินทางไปยัง Somalia ในช่วงการต่อสู่เพื่อความอยู่รอด

เขาเก็บภาพและเล่าเรื่องส่งมาที่ Channel One อีกเช่นเคย สถานที่ส่วนใหญ่เข้าไปทำข่าว ล้วนแต่เป็นพื้นที่ที่อันตราย อยู่ในภาวะสงคราม เช่น Bosnia และ Rwanda เป็นต้น เขาทำหน้าที่นั้นได้อยู่ 2 ปีก็เปลี่ยนงานมาเป็นผู้ประกาศข่าวร่วมให้ ABC ในรายการ “World News Now” และเป็นพิธีกรรายการเรียลลิตี้โชว์ของ ABC ที่ชื่อว่า “The Mole” อีกด้วย

ในปลายปี ค.ศ. 2001 Anderson เข้าร่วมงานกับ CNN เป็นครั้งแรก โดยเป็นผู้ประกาศข่าวช่วงวันเสาร์อาทิตย์ และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เขารับหน้าที่เป็นพิธีกรคืนพิเศษ New Year’s Eve จาก Time Square นิวยอร์ก ปัจจุบันเขาเป็นพิธีกรรายการ “Anderson Cooper 360?” ที่ออกอากาศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์เวลา 1 ทุ่มถึง 2 ทุ่ม รายการข่าวแนวใหม่ที่ CNN นำเสนอในรูปแบบของ Infotainment โดยใช้พิธีกรหนุ่มที่มีบุคลิกเป็นกันเอง หน้าตาไม่ซีเรียส แต่เต็มไปด้วยเนื้อหาและเรื่องราวที่มีความลึกและเข้มข้น เพื่อดึงดูดคนดูวัยทีน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ทุกช่องทุกสถานีต้องการช่วงชิงมาไว้ครอบครอง และดูเหมือนว่า CNN จะทำได้ในระดับหนึ่ง