ทีวีออสเตรเลีย

ออสเตรเลียมีสถานีโทรทัศน์ประเภทฟรีทีวีหลักๆ ห้าช่องด้วยกัน คือ ช่องเก้า (Nine Network), ช่องสิบ (Ten Network), ช่องเจ็ด (Seven Network), ABC และ SBS นอกจากนี้ ยังมีสถานีโทรทัศน์ชุมชน ซึ่งคล้ายๆ วิทยุชุมชน โดยจะของบประมาณสนับสนุนจากท้องถิ่น มีนายทุนคอยสนับสนุนบางส่วน รวมถึงรายได้จากโฆษณา ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของสถานีส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครจากหลากหลายอาชีพ รวมถึงพนักงานประจำที่ทำงานโดยได้เงินตอบแทนเพียงเล็กน้อย

ปัจจุบันคนออสเตรเลีย 99% มีโทรทัศน์อย่างน้อยหนึ่งเครื่อง, 65% มีอย่างต่ำสองเครื่อง และ 26% มีสามเครื่องขึ้นไป โดยคนออสเตรเลียใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์ 3.2 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่คนออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 55 ปีดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 4.3 ชั่วโมง

ในปี 2004 ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ทั้งระบบมีรายได้จากโฆษณารวมกัน 3,300 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (หนึ่งเหรียญออสเตรเลียประมาณ 31 – 32 บาทไทย) โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ สถานีโทรทัศน์จะมีรายได้เติบโตสูงที่สุดเหนือสื่ออื่นๆ โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 13% นั่นคือ รายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,700 ล้านเหรียญออสเตรเลีย

เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ถือเป็นเดือนเริ่มต้นของการวัดเรตติ้งอย่างเป็นทางการ จึงเป็นช่วงเวลาที่แต่ละช่องจะนำเสนอรายการใหม่ๆ และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อาจจะสามารถตัดสินว่า สถานีช่องนั้นๆ จะเติบโต, เสมอตัว หรือย่ำแย่ในแต่ละปี ดังนั้น ในช่วงก่อนจะถึงเดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นช่วงที่ขับเคี่ยวกันอย่างหนักระหว่างสถานีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการนำเสนอผังรายการใหม่ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่จะมาลงโฆษณา, การค้นหารายการดีๆ เรตติ้งสูงๆ จากต่างประเทศ

แต่ละช่องต่างขับเคี่ยวกันอย่างหนัก เพื่อแย่งรายการนั้นๆ โดยจะมีการจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์รายการเหล่านี้ให้กับผู้ชมทางบ้านเฝ้ารอคอยที่จะได้ชม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาพูดเช่นเดียวกับออสเตรเลีย

นอกจากนั้น แต่ละช่องยังขับเคี่ยวกันเพื่อแย่งชิงลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการกีฬา เพราะคนออสเตรเลียชอบดูและเล่นกีฬา ไม่ว่าจะเป็นรักบี้, ออสเตรเลียนฟุตบอล, คริกเก็ต, กอล์ฟ และเทนนิสออสเตรเลียนโอเพ่น ซึ่งถือเป็นกีฬาหลัก และมีแฟนๆ ติดตามอย่างหนาแน่น มีทั้งออสเตรเลีย และมีรายการกีฬาที่ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ, รถแข่ง, เทนนิส ฯลฯ ในขณะที่พรีเมียร์ลีกอังกฤษ รวมถึงลีกฟุตบอลอื่นๆ แทบจะไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนออสเตรเลียเลย

ปกติแล้ว การแข่งขันทางด้านเรตติ้งมักจำกัดเพียงสองช่อง คือ ช่องเจ็ด และช่องเก้า ในขณะที่ช่องสิบมักจะเข้าป้ายเป็นอันดับสามอยู่เสมอ ส่วนช่อง SBS และ ABC จะติดอันดับรั้งท้าย เนื่องจากเป็นสถานีราชการ หรือ เน้นการฉายรายการเฉพาะกลุ่ม เช่น รายการสารคดี, กีฬา และรายการข่าวภาษาต่างประเทศ (เช่น ภาษาจีน, ญี่ปุ่น, เยอรมัน และอินโดนีเซีย เป็นต้น)

ปีที่แล้ว ช่องเจ็ดมีเรตติ้งที่ค่อนข้างย่ำแย่ โดยแพ้แม้กระทั่งช่องสิบ ซึ่งปกติมักจะถูกจัดอยู่ในอันดับสามของช่องที่มีคนดูในแต่ละปี ในขณะที่ช่องเก้ามีเรตติ้งนำหน้าช่องอื่นๆ ไปมาก ปลายปีที่แล้วนักวิเคราะห์ในวงการทีวีจึงไม่ค่อยให้น้ำหนักกับช่องเจ็ดนักสำหรับการแข่งขันในปีนี้

ช่วง 6-8 อาทิตย์แรกของปีเรตติ้งถือเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นช่วงที่คนดูจะตัดสินใจว่าจะดูอะไรไปตลอดทั้งปี ซึ่งบริษัทที่โฆษณาก็จะตัดสินใจได้ว่าจะเทงบโฆษณาไปที่ช่องไหน ในขณะที่ปีกลาย ช่องเจ็ดเริ่มต้นหกอาทิตย์แรกได้ย่ำแย่ ส่งผลให้เรตติ้งทั้งปีแย่ไปด้วย

แต่ในปีนี้ช่องเจ็ดสามารถแย่งซื้อลิขสิทธิ์รายการ Desperate Housewives และ Lost ซึ่งเป็นสองรายการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในสหรัฐอเมริกามาได้ และหกอาทิตย์แรกที่เข้าฉายก็พิสูจน์ให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารช่องเจ็ดที่สามารถเรียกคืนผู้ชมจากทั่วประเทศ โดยนับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่เป็นเดือนเริ่มต้นของปีเรตติ้ง ช่องเจ็ดเอาชนะช่องเก้าไปได้สี่ในหกอาทิตย์แรก โดยช่องเจ็ดมีส่วนแบ่งคนดูเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีกลาย ในขณะที่ช่องเก้ามีคนดูลดลง 10% และช่องสิบคนดูลดลงเช่นกัน 6%

ส่วนช่องเก้า หลังจากที่ซีรี่ส์ Friends จบลงไปเมื่อปีกลาย ช่องเก้าก็ยังไม่สามารถหารายการที่เรียกว่าเป็นหมัดเด็ดจริงๆ มาฉายได้ ถึงแม้ว่ารายการประเภทสืบสวนสอบสวนอย่าง CSI จะยังคงครองใจคนดูออสเตรเลียอยู่ก็ตาม

นอกจากนี้ รายการประเภทเรียลลิตี้ทีวีที่สองสามปีที่ผ่านมาในออสเตรเลียจะได้รับความนิยมสูงสุด แต่สองสามปีก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผู้ชมเริ่มเบื่อหน่าย และอยากชมรายการที่มีรูปแบบแปลกไปจากเดิม โดยมีแนวโน้มว่า รายการประเภทซี่รี่ส์และซิตคอมจะกลับคืนจออีกครั้ง ซึ่งเห็นได้จากรายการใหม่ๆ ที่เป็นทั้งรายการนำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และยังมีหลายรายการที่เป็นผลิตผลจากคนออสเตรเลียเอง

เมื่อหันมามองรายการข่าว จะพบว่า รูปแบบการนำเสนอข่าวสารในช่วงเช้าของสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ในออสเตรเลียจะยังคงรูปแบบเดิมมาตลอด โดยจะเป็นรายการข่าวในรูปแบบคล้ายรายการบ้านเลขที่ห้าในอดีตของบ้านเรา ซึ่งจะมีพิธีกรสองถึงสามคนดำเนินรายการในลักษณะพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เมื่อถึงช่วงรายงานข่าวแต่ละประเภทก็จะมีผู้อ่านข่าวประเภทต่างๆ อ่านข่าวให้ฟัง

นอกจากนี้ บางช่องจะนำเอารายงานพิเศษประเภทเจาะลึกและเชิงวิเคราะห์มานำเสนอในช่วงนี้เพื่อดึงดูดผู้ชม รวมถึงบทสัมภาษณ์ และการรายงานนอกสถานที่ในรูปลักษณ์ต่างๆ

รายการข่าวในช่วงเช้าจึงมีลักษณะเป็นวาไรตี้ ที่จะรวมเอาข่าว สารคดี และข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ทั้งในรูปของรายงานพิเศษ, การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ และการเชิญผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงบุคคลที่ถูกพาดพิงจากข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจในสังคมมาสัมภาษณ์สดหรือร่วมออกอากาศในห้องส่ง

และจะมีสรุปหัวข้อข่าวที่น่าสนใจเป็นข้อความวิ่งบนหน้าจอเหมือนที่รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยที่นิยมทำอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน

รายการข่าวจะกินระยะเวลายาวนานนับจากหกโมงเช้าเรื่อยไปถึงแปดหรือเก้าโมง ซึ่งจะเริ่มเป็นรายการสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะแม่บ้านมากขึ้นๆ ในช่วงสาย

ในขณะที่รายการประเภทคุยข่าว ซึ่งจะนำหัวข้อข่าวและรายละเอียดบางส่วนของข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มาอ่านให้ผู้ชมฟังซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในประเทศไทยยังไม่มีให้เห็นในออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี การแข่งขันในเชิงข่าวจะเข้มข้นตลอดทั้งวัน โดยจะมีข่าวต้นชั่วโมง และเข้มข้นที่สุดในช่วงเย็น ซึ่งจะเป็นข่าวช่วงห้าถึงเจ็ดโมง โดยจะมีรายการข่าวเจาะในหัวข้อที่เป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงกันในสังคม และปิดท้ายวันด้วยข่าวภาคดึก ที่ประมวลข่าวที่นำเสนอตลอดทั้งวันมาฉายใหม่ให้ผู้ชมบางส่วนที่ไม่ได้อยู่บ้านมีโอกาสได้ติดตามชมกัน

สำหรับวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีรายการข่าวเชิงวิเคราะห์ และรายการสนทนาในประเด็นที่น่าสนใจในช่วงสัปดาห์นั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีสรุปข่าวในรอบสัปดาห์ให้ชมเช่นกัน

รายงานข่าวแนวสืบสวนสอบสวนก็เป็นแนวที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในประเทศออสเตรเลียในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมานี้เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้รายการนำเข้าจากต่างประเทศอย่าง CSI และ Law and Order ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงเช่นกัน

สำหรับช่องที่เสนอข่าวทั้งวันจะเป็นรายการทางเคเบิลทีวี ซึ่งจะเสนอข่าวตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของผู้อ่านข่าว เนื่องจากพวกเขาจะต้องออกมาอยู่หน้าจอให้ผู้ชมเห็นเกือบทั้งวัน ทำให้ผู้อ่านข่าวหลายๆ คนเป็นเสมือนดาราคนหนึ่ง ผู้อ่านข่าวหลายคนอ่านมายาวนานตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาวจนบัดนี้ล่วงเข้าสู่วัยใกล้เกษียณ หลายคนเป็นคนดังในแวดวงสังคม หลายคนเขียนหนังสือประวัติชีวิตและการทำงานจนกลายเป็นหนังสือขายดี และหลายคนเป็นดารารับเชิญในรายการที่รวบรวมเหล่าผู้มีชื่อเสียงในสังคมมาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ

แวดวงผู้อ่านข่าวจึงเป็นสูตรสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงไม่แพ้แวดวงดาราเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

1. “Lucky break for Seven”, นิตยสาร BRW ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2005, หน้า 63
2. “Tough or toothless?”, นิตยสาร BRW ฉบับ วันที่ 3 – 23 มีนาคม 2005, หน้า 12
3. “Australia at play”, นิตยสาร BRW ฉบับวันที่ 7 – 13 เมษายน 2005, หน้า 54 – 58