ดีไซเนอร์ ผู้เสกสรร “แฟชั่น โดม”

กว่าจะเนรมิตแคตวอล์กภายใต้โดมกลางน้ำ อันเป็นหนึ่งไฮไลต์ของงาน Bangkok Fashion Week ครั้งที่ 1 เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เบื้องหลังความตระการตา “วินัย ฉัยรักษ์พงศ์” Event & Exhibition Designer และสถาปนิกผู้ดูแลการก่อสร้าง ต้องร่วมกับทีมงานงัดประสบการณ์และความคิดสร้างสรรค์ที่มีทั้งหมด เพื่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์นี้ให้ออกมาสมเป็นหน้าตาดีไซเนอร์ไทย และโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น “อภิ-โปรเจกต์” ของรัฐบาลไทย

อันที่จริง โครงการ Bangkok Fashion Week อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท AV Projects แต่เพราะวินัย ในฐานะ Project Director ของบริษัท b|u|g studio ซึ่งเป็น Strategic Partner ที่ดูแลงาน Creative & Design ให้ AV Projects เกือบทุกงานอยู่แล้ว ดังนั้น งานนี้ทั้งสองบริษัทจึงร่วมผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อประมูลงานนี้ จนสำเร็จ

ที่มาของการเนรมิตแคตวอล์กขึ้นกลางทะเลสาบ มาจากทีมงานที่เห็นตรงกันว่า ทำเลที่เหมาะสมคือศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพราะอยู่ใจกลางเมืองและมีความพร้อมที่จะรองรับการประชุมได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทว่าโจทย์ที่ตามมากลับยิ่งทำให้ยาก “โจทย์ก็คือทุกอย่างต้องใหม่หมด นั่นคือเราจะทำอย่างไรให้ศูนย์สิริกิติ์ฯ ซึ่งเคยจัดงานมาเป็นร้อยเป็นพัน แต่พอมางานนี้คนจะรู้สึกตื่นเต้นกับมัน” วินัยอธิบาย

สำหรับความยากของการสร้างแคตวอล์กและโดมยักษ์กลางน้ำอยู่ที่การสร้าง Platform เป็นโครงสร้างถาวรที่ลอยน้ำได้ภายในเวลาที่จำกัด และการกางโดมขนาดใหญ่ที่สั่งทำพิเศษจากอเมริกา “ทั้งโดมเกิดจากการเป่าลมเข้าไปและคงอยู่ได้เพราะแรงกดอากาศโดยไม่มีเสาเป็นโครงสร้างเลย ดังนั้นเราต้องคำนวณทุกอย่างให้รอบคอบ เช่น ความสูงของผนัง หรือเมื่อเกิดแรงกดภายนอกจากลมและฝนต้องทำอย่างไร ฯลฯ เพื่อให้โดมมีแรงต้านที่รองรับได้ทุกกรณี”

ขณะที่ระบบแสงสีเสียง และเทคนิคกลไกต่างๆ ที่แคตวอล์กทั่วไปมี เวทีแฟชั่นกลางน้ำนี้ก็ไม่น้อยหน้า เพราะมีทั้งระบบเวทีหมุนได้ (Turn Table Stage) จำนวนสปอตไลต์ที่มากกว่างานคอนเสิร์ตบางแห่ง จอ LCD ขนาดใหญ่ และโปรเจกเตอร์ที่เคลื่อนที่ได้อีกหลายตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ต้นทุนแคตวอล์กแห่งนี้ขึ้นไปสูงร่วมร้อยล้านบาท “แค่ Platform ก็ 20 กว่าล้าน เต็นท์อีกหลายสิบล้าน ระบบไฟนี่ก็มหาศาลเพราะเราสั่งเข้ามาใหม่หมด”

แต่ทว่าทั้งวินัยและทีมผู้บริหาร AV Projects ต่างก็เล็งเห็นว่าคุ้มค่า เพราะนี่หมายถึง “แคตวอล์กกลางน้ำแห่งแรกของโลก” ซึ่งน่าจะเรียกร้องความสนใจจากสื่อต่างประเทศได้มากขึ้น พร้อมกับสร้างความตื่นเต้นให้กับชาวกรุงเทพฯ ได้ด้วย และด้วยคอนเซ็ปต์นี้เองที่ทำให้ AV Projects ชนะประมูลงานนี้

นอกจากงานครั้งนี้ วินัยยังอยู่เบื้องหลังความอลังการในฐานะผู้ออกแบบบูธและงานอีเวนต์ให้กับอีกหลากหลายแบรนด์ เช่น Nokia ซึ่งเขาออกแบบให้เกือบทุกครั้ง อย่าง บูธ Nokia ในงาน ICT 2005 หรือขบวนรถและบูธ Nokia ในงาน Bangkok Fashion Extravaganza เมื่อปีที่แล้ว หรือฮัทช์และแสนสิริ รวมถึงงานเปิดตัว BMW series 3 และ series 5 หรืองานพัทยา มิวสิก เฟสติวัล ที่ผ่านมา เป็นต้น

จริงๆ แล้ววินัยมีภูมิหลังมาจากการเป็นสถาปนิก ซึ่งเรียนและเคยทำงานอยู่ที่นิวยอร์กรวมเวลาร่วม 6 ปี ก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่เอแบค และร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก 2 คน เปิดบริษัท b|u|g studio เมื่อปี 5 ปีก่อน “ผมเป็นคนที่ชอบงานสไตล์ Experimental ซึ่งงานที่จะได้ใช้ทักษะตรงนี้เยอะ ส่วนใหญ่จะเป็นงานทางด้าน Event & Exhibition Design ผมจึงทำตรงนี้เรื่อยมา รวมทั้งดูแลภาพลักษณ์ของแบรนด์ผ่านงานดีไซน์ด้วย”

จากประสบการณ์ทำงาน วินัยมองว่า ทุกวันนี้ผู้ร่วมงานแฟร์หรืองานอีเวนต์เริ่มให้ความสนใจกับคอนเซ็ปต์ของบูธและสนุกกับดีไซน์ของงานมากขึ้น ขณะที่เจ้าของสินค้าเองก็ต้องการกล่อง และต้องการลุคของแบรนด์มากขึ้น อันเป็นสัญญาณที่ดีที่น่าจะทำให้งานแฟร์และงานอีเวนต์บ้านเราสนุกและพัฒนาขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิด specialist ทางด้านการออกแบบอีเวนต์และบูธในงานแฟร์เป็นที่รู้จัก และมีจำนวนมากขึ้น

“โดยส่วนตัว ผมว่าจบอะไรไม่สำคัญ ทุกคนสามารถเข้ามาสนุกกับงาน Event & Exhibition Design ได้หมด แต่คนที่จะเหมาะกับงานนี้ต้องเป็นคนที่อัพเดตความเคลื่อนไหวของสไตล์หรือเทรนด์ตลอดเวลา ใช่ว่าเป็นสถาปนิกแล้วไม่เปิดตาดูแฟชั่นหรือศิลปะอื่นเลย ทุกคนที่จะมาทำงานตรงนี้ต้องเป็นคนที่ใช้ศิลปะค่อนข้างเยอะในเกือบทุกสาขา ไม่ว่า กราฟิก แฟชั่น หรือบทกวี เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ ทั้งนั้น”

เมื่อถามถึงสไตล์การออกแบบ วินัยตอบได้อย่างน่าฟัง ดังนี้ “เกือบทุกงาน ผมจะไม่มีอะไรเป็นตัวกำหนดว่าสไตล์จะต้องเป็นอย่างไร แต่ผมจะกำหนดว่า งานนี้โจทย์ของลูกค้าเป็นอย่างไร ถ้าเราเอาลูกค้ามาตั้งเป็นเป้าหมาย เราก็จะอยากทำให้เขาชอบ และเราก็จะสนุกกับมัน แต่ถ้าเราเอาความชอบของเราเป็นโจทย์ ยังไงลูกค้าก็ไม่มีวันถูกใจ หรือถ้าเราเอาข้อจำกัดมาตั้งเป็นโจทย์ ความสนุกกับงานก็จะน้อยลง”

5 Keys To Be Event / Exhibition Designer

1. สนุกกับการคิดงานที่สร้างสรรค์และแตกต่าง และเลือกในความคิดที่ฉีกแนว
2. ติดตามความเคลื่อนไหวของสไตล์และเทรนด์ใหม่ๆ ตลอดเวลา
3. เปิดหู เปิดตา และเปิดรับงานศิลปะทุกแขนง เพื่อสะสมแรงบันดาลใจ
4. ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง และพยายามตอบทุกโจทย์ทางการตลาดของลูกค้า
5. เชื่อมั่นว่า “กรุงโรมสร้างเสร็จได้ใน 3 วัน” ด้วยมุมมองที่หลากหลายและแตกต่าง

Profile

b|u|g studio

เกิดจากการรวมตัวของสถาปนิก 3 คน ได้แก่ วินัย ฉัยรักษ์พงศ์, ชาลี เมธีกุลชนันทร์ และ พิภพ แก้วสถิตพรชัย ก่อตั้งในปี 2543 ซึ่งเป้าหมายไม่ได้ตั้งขึ้นมาเป็นบริษัทที่รับงานแต่สถาปัตย์อย่างเดียว แต่ครอบคลุมงานที่ Based-On งาน Design ทั้งหมด ไม่ว่า งาน Graphic งาน Event งาน Exhibition และงาน Interior โดย ปรัชญาการออกแบบก็คือ การนำดีไซน์ไปรองรับส่วนของการตลาดนั่นเอง

ปัจจุบัน b|u|g studio แบ่งงานออกเป็น 3 ด้านใหญ่ คือ งาน Event & Exhibition Design ที่วินัยดูแล งาน Retail/Interior Design ซึ่งพิภพดู และงาน Residential Design ที่มีชาลีดูแล