Lucks Music จากสื่อทีวีสู่ค่ายเพลง

ธุรกิจบันเทิงไทยกำลังข้ามสื่อกันอย่างคึกคัก ดารารายการทีวีมาออกหนังสือ คนดังจากหนังสือไปจัดรายการทีวี เรื่องดังจากเว็บไซต์ไปเป็นหนังสือ บริษัทนิตยสารแฟชั่นวัยรุ่น Buzz มาเปิดค่ายเพลง Buzz Music โดยใช้ นางแบบดังๆ ที่เคยลงมาเป็นนักร้อง และค่ายเพลง Lucks Music ที่อาศัยความดังในบุคลิกสนุกสนาน, สายสัมพันธ์ในวงการของ “เสนาหอย” เกียรติศักดิ์ อุดมนาค และรายการทีวีในมือของบริษัท Lucks 666 ของ ของ “วิลลี่, เปิ้ล, หอย” มาเบิกทางแจ้งเกิดได้ตั้งแต่อัลบั้มแรกที่ชื่อเดียวกับค่าย ในช่วงธุรกิจเพลงไทยขาลงและการแข่งขันสูง

นอกจากความดังของบุคลิกเฉพาะของ “เสนาหอย” หุ้นส่วนใหญ่ของค่าย กับเสียงของนักร้องหญิงหน้าใหม่ 3 คน ยังมีเบื้องหลังคนสำคัญคือ ชัชวาล ปุกหุต อดีตนักแต่งทำนองเพลง นักดนตรี และโปรดิวเซอร์ที่ทำงานกับแกรมมี่มาถึง 8 ปี และขณะนี้เป็นกรรมการผู้จัดการของ Lucks Music เราได้ไปพูดคุยกับทั้งสองคนเกี่ยวกับประสบการณ์สร้างค่ายเพลงใหม่โดยใช้สื่อรายการทีวี และชื่อเสียงของดาราจากรายการทีวีมาช่วยผลักดัน

มีรายการทีวีหลายรายการ ตอนที่ออกอัลบั้มแรกจนถึงอัลบั้มล่าสุด ได้เอามาช่วยธุรกิจเพลงอย่างไรบ้าง ?

เกียรติศักดิ์ : “ช่วยทั้งโปรโมตอัลบั้ม โปรโมตคอนเสิร์ต แต่โดยที่เราไม่ได้มีรายการเพลงจริงๆ จะทำก็ใช้เทคนิค เช่นให้พี่เปิ้ลนาครแต่งตัวเป็นคุณกิตติ สิงหาปัด มารายงานข่าว ‘ไม่น่าเชื่อครับ วันนี้ค่ายเพลงเล็กๆ ได้มีคอนเสิร์ต…’ เป็นสไตล์ฮาๆ ของเรา ไม่โฆษณาตรงๆ เน้นความคิดสร้างสรรค์ ปีหน้าเราคงเข้าใจกว่าเดิมว่าจะโยงรายการทีวีกับค่ายเพลงกันยังไงให้มากขึ้น นอกจากนี้ผมเองอยู่วงการบันเทิง รู้จักคนเยอะ ก่อนอัลบั้มจะออกผมก็ต้องรับหน้าที่พีอาร์แล้ว พาน้องๆ ทอฟฟี่ เชอรี่ ลูกปัด ไปแนะนำตัวตามสถานีวิทยุ กับสื่อมวลชนอื่นๆหลายที่”

การโปรโมตทางอื่นๆ

ชัชวาล : “โจทย์คือใช้ทุนน้อยที่สุดให้เล่าเรื่องได้น่ารักที่สุด เช่นมิวสิกวิดีโอก็ใช้วาดภาพแอนิเมชั่นในเพลง คำถาม หรือเพลง แอบเหงา ใช้กล้องตัวเดียวตามถ่ายคุณหอยตั้งแต่ขับรถ ไปถึงร้านอาหาร ทักทายคน ขึ้นไปร้องเพลง ทุกอย่างไม่มีการเตรียมฉาก แต่ละเพลงใช้เงินไปราวๆ สามหมื่นกว่าเท่านั้น”
เกียรติศักดิ์ : “เราเน้นทำทุกอย่างด้วยตัวเอง พีอาร์เอง เอาไปแจกเอง ตามวิทยุชุมชนก็ไป เคยถามคุณหนุ่ม (ชัชวาล) มา รู้ว่าตามค่ายทั่วไป ค่าการตลาดจะเป็น 2 เท่าของค่าโปรดักชั่น ซึ่งถ้าเราทำบ้างคงเหนื่อย”
ชัชวาล : “เรารู้ว่าการแข่งขันมันสูง มันเสี่ยง เราเลยต้องทำทุกอย่างเพื่อลดความเสี่ยง ให้เราอยู่ได้นานๆ”
เกียรติศักดิ์ : “ของเราแค่ทำยอดขายได้ 3 – 4 หมื่นชุดก็ร้องจุ๊กกรู้ พอใจมากแล้วทางธุรกิจ”

การหานักร้อง

ชัชวาล : “ถามหาจากเพื่อนๆ เพราะผมเองก็อยู่ในวงการมานาน พอจะรู้จักน้องๆ เช่น ทอฟฟี่ ลูกสาวป๋าเทพ หรือลูกปัด เรียนที่ศิลปากร ก็มีเพื่อนที่เป็นอาจารย์แนะนำกันต่อมา”
เกียรติศักดิ์ : “ของผมตอนเดินสายพีอาร์อัลบั้ม สื่อต่างๆ คนก็ถามกันมากว่า อ้าว พี่หอยไม่ร้องเหรอ ก็เลยเอาหน่อย สักเพลงสองเพลง”

คอนเซ็ปต์ของอัลบั้มโดยรวม

ชัชวาล : “ไม่คิดถึงขนาดว่าทุกเพลงต้องเป็นเรื่องเดียวกัน แค่ทำเพลงให้เหมาะกับนักร้อง และแยกแยะความแตกต่างให้คนไม่งงสับสนระหว่างนักร้องหญิงหน้าใหม่ทั้งสามคน ให้แต่ละคนมีแนวของตัวเอง”
เกียรติศักดิ์ : “ปกชุดแรกเป็นเด็กทารกเลย สื่อว่าเราเกิดใหม่แบเบาะในวงการเพลง ปกชุดสองเด็กโตขึ้นมาหน่อยใส่ชุดกระต่าย ที่จริงจะให้มีน้ำมูกยืดด้วยแต่ทำไม่ทัน”

ผลิตเพลง

ชัชวาล : “ผมแต่งทำนอง ทำเพลงให้เหมาะกับนักร้องผู้เล่าเรื่อง อย่างเช่นเพลงแอบเหงาไปเล่านิสัยและกิจวัตรประจำวันคุณหอยให้คุณ โป โปษยะนุกูล คนแต่งเนื้อเพลงฟัง พอรุ่งขึ้นเค้าแต่งเนื้อเพลงออกมา”
เกียรติศักดิ์ : “ผมไม่เคยรู้จักคุณโป แต่อ่านเนื้อเพลงแอบเหงาแล้ว โอ้ มารู้จักผมได้ไง เพลงแอบเหงาก็ทำให้คนรู้จักเรามากเท่านั้น เพราะคนรู้จักผมกันเยอะจากทีวี แต่ถ้าไม่มีเพลงของทอฟฟี่ เชอรี่ ลูกปัด คนก็คงจะแค่รู้จักแล้วผ่านไปไม่มาสนใจซื้อ”

กลุ่มเป้าหมายคนฟัง

ชัชวาล : “เราทำงานเพื่อความสุขคนฟังเป็นหลัก ไม่ได้คิดเชิงการตลาด เช่นว่าจะเจาะเฉพาะวัยรุ่นอะไรอย่างนี้ ถ้ามันดีพอสำหรับทุกคน เค้าจะเดินมาหาเราเอง จะดูว่านักร้องคนนั้นๆ เหมาะจะเล่าเรื่องอะไรมากกว่า
เกียรติศักดิ์ : “แฟนเรามีตั้งแต่เด็กเล็กๆ รถติดข้างเรา เปิดกระจกมาขอให้ร้องแอบเหงาให้ฟัง จนถึงคนแก่รุ่นยายก็มี หรือเพลงของลูกปัด รักเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ฟังแล้วอยากเห็นคนนั้นในเพลงจริงๆ เนื้อเพลงของเราจะบอกความรู้สึกตรงๆ เล่าคำธรรมดาไม่มีอุปมาอุปไมย”

ยอดขาย

ชัชวาล : “ชุดแรก Lucks Music ถึงตอนนี้ราวแสนกว่าชุด ส่วนชุดสอง Happy Story ถึงตอนนี้ราว 4 หมื่น”

เกียรติศักดิ์ : “ชุดสองนี่ทีแรกว่าจะทำแค่เป็นพิเศษ แอบเหงา 3 ภาค เพื่อไปเดินสายเล่นคอนเสิร์ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต เท่านั้น แต่กลัวเอาเปรียบคนฟังเลยแต่งเพิ่มแล้วขายเต็มอัลบั้มเลย คอนเสิร์ตเราไม่ได้มีแค่ร้องเพลง มีคุย มีเล่นกับคนดู ซึ่งมากันทุกเพศทุกวัยเหมือนมาสวนสนุก เต็มทุกรอบทั้งที่เป็นคอนเสิร์ตเก็บเงิน”

การขาย ทั้ง CD และ ringtone, calling melody

ชัชวาล : “จัดจำหน่ายใช้บริษัทอื่นที่เค้าทำด้านนี้โดยเฉพาะ ส่วนธุรกิจแนวใหม่อย่างดาวน์โหลดริงโทน อยู่ราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวม ค่อยๆ โตขึ้น คนทิ่อยู่ในวิชาชีพแต่งเพลงอย่างผมได้แต่หวังว่ามันจะชดเชยผลกระทบจากซีดีเถื่อน เอ็มพีสาม ให้เราไม่ต้องหนีไปอาชีพอื่น”

เดี๋ยวนี้มีการแต่งเพลงมาเพื่อโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะ

ชัชวาล : “เราไม่ได้คิดขนาดนั้น เรามองว่าเพลงก็คือเพลง จะไปอยู่ในมีเดียไหนก็ยังเป็นเพลงเหมือนเดิม เหมือนน้ำ จะไปอยู่ไหนก็ยังเป็นน้ำ”
เกียรติศักดิ์ : “เพลงแบบ โทรมาไม่โทรกลับ ช่วงนี้ 4, 5 เพลงเหมือนกันเลย เราไม่ตามนะ คนจะเบื่อ นักแต่งเนื้อเพลงของเราทุกคนค่อนข้างจะมีมุมมองของตัวเองเยอะ ซึ่งถ้าแต่งตามกระแส ‘โทรไปไม่โทรกลับ’ มาล่ะต้องโดนตีแน่ๆ”
ชัชวาล : “ไม่สนุกด้วย ยังมีเรื่องอื่นให้เล่นเยอะแยะ”

คุณชัชวาลเคยทำงานแกรมมี่มานาน ทุกวันนี้มาเปิดค่ายเอง การทำงานต่างกันอย่างไรบ้าง

ชัชวาล : “อยู่แกรมมี่เหมือนอยู่บ้านใหญ่ ทุกอย่างมีพร้อมอยู่แล้ว ทำให้เรากลายเป็นลูกคุณหนู พอมาเปิดค่ายเอง เหนื่อยกว่ามาก แต่ก็สนุกเหมือนออกมาผจญภัย วันหนึ่งข้างหน้ามันอาจจะล้ม เราไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำเองทุกอย่าง เรายังไม่ได้แก่มาก ได้ทำอะไรที่อยากทำแบบนี้มันก็สะใจ”

มองไปข้างหน้า

เกียรติศักดิ์ : “เป็นค่ายเพลงเล็กๆ ที่ทุกคนในนี้คุ้นเคยกันต่อไป ให้เพลงทำงานให้ดีที่สุด แต่ก็ต้องขายได้ด้วย น้องๆ คนทำงานทุกคนต้องมีเงิน”
ชัชวาล : “เราก็ต้องมีกำไรเอามาสร้างอะไรใหม่ๆอยู่เสมอ”
เกียรติศักดิ์ : “ส่วนวงการเพลงโดยรวม ตัวจริงเสียงจริงเท่านั้นที่จะอยู่ได้ยาวๆ ทำเองคิดเอง หรือร้องดีจริงๆ สำคัญต้องเป็นตัวเอง”

Positioning ของ Lucks Music

ชัชวาล : “เป็นเด็กร่าเริงในวงการเพลง อาจมีเพลงเศร้าบ้าง แต่เราจะไม่ทำเพลงอะไรที่ แรงๆ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราถนัด”
เกียรติศักดิ์ : “ทุกปีเราจะมี ‘งานเอากล่อง’ อย่างน้อย 1 ชุด อย่างปีแรกนี้ก็เป็นอัลบั้ม “คนเคาะทั้ง 7” เน้นเครื่องเคาะ เพอคัสชั่น ล้วนๆ แนวดนตรีแบบ exotic เป็นงานที่คนอื่นไม่ทำแต่เราจะทำ”

เกียรติศักดิ์กับชัชวาลเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เป็นนักศึกษา ที่คณะศิลปกรรม เอกด้านดนตรีที่จุฬาฯ แต่เกียรติศักดิ์จะสนใจทางละครเวทีมากกว่าซึ่งก็เป็นที่มาของการเข้าสู่วงการบันเทิง ส่วนชัชวาลเข้าทำงานแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ หลังจบใหม่ทั้งคู่เคยเปิดบริษัท production house เพลงโฆษณา แต่ไม่นานก็ต้องปิดกิจการไปเพราะไม่มีความรู้ด้านการหาลูกค้าใหม่ๆ นอกจากคนรู้จัก

เกือบสิบปีผ่านไป ทั้งคู่และกลุ่มเพื่อนยังสังสรรค์เล่นฟุตบอลกัน บริษัทลักษ์ 666 ก็เติบโตมามีรายการทีวีมากมาย หน้าที่ด้านดนตรีประกอบรายการเป็นของเกียรติศักดิ์จนจุดประกายให้เขาไปชักชวนชัชวาลและเพื่อนๆ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาในการซื้ออุปกรณ์ดนตรีมาตลอด มาเปิดบริษัทรับทำเพลงขึ้นมาอีกครั้ง เป้าหมายแรกของบริษัทคือรับงานเพลงประกอบหนังและโฆษณา แต่ด้วยความที่ชัชวาลมีประสบการณ์ผลิตอัลบั้มเพลงในแกรมมี่มามาก ทุกคนจึงตัดสินใจว่าจะลองผลิตงานเป็นอัลบั้ม “Lucks Music” ในชื่อเดียวกับค่าย โดยใช้สูตร compilation เพลงใหม่หลากแนวหลายอารมณ์มาเปิดตัวนักร้องหน้าใหม่ๆ ซึ่งเป็นสูตรที่บอย โกสิยพงษ์แห่งเบเกอรี่ในยุคแรกๆ และสมอลรูมเคยทำสำเร็จมา