กิตติณัฐ ทีคะวรรณ

ผ่านมายังไม่ถึง 6 เดือนกับของ Playground! The Inspiration Store แต่ทว่า ด้วยความโดดเด่นในตัวคอนเซ็ปต์และเนื้อหา (content) ส่งผลให้ “กิตติณัฐ ทีคะวรรณ” ได้รับเลือกจากผู้อ่านให้เป็น Young Executive : The Rising Star ของนิตยสาร POSITIONING ในปีนี้ โดยข้อสรุปในความสำเร็จที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ เป็นผลมาจากการสื่อสารคอนเซ็ปต์ได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

“เป็นห้างที่พูดถึงแรงบันดาลใจ รวมทั้งนำเสนอและสื่อสารแรงบันดาลใจในงานอาร์ตและดีไซน์ผ่านไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ทั้งเพลง แฟชั่น หนังสือ ของแต่งบ้าน และกิจกรรมที่เป็นอีกส่วนในการสื่อสารและสร้างแรงบันดาลใจ บนจุดยืนของ Event Venue ที่เพลย์กราวนด์ที่วางไว้ว่าเป็น Space of Creativity and Inspiration กิตติณัฐอธิบายถึงความเป็น Concept Store ของเพลย์กราวนด์

“กิจกรรม” จึงกลายเป็นคอนเทนต์สำคัญที่กิตติณัฐใช้เป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารกับลูกค้าถึงคอนเซ็ปต์ของเพลย์กราวนด์ กิจกรรมเป็นความตั้งใจของผู้บริหารที่อยากให้ลูกค้าได้รับ “อะไร” ติดตัวกลับไปแม้ไม่ซื้อสินค้า และกิจกรรมก็เป็นตัวกระตุ้นความถี่ในการมาที่เพลย์กราวนด์ เพราะที่นี่จะหมุนเวียนงานศิลป์มาแสดงสม่ำเสมอ “traffic ของลูกค้าเข้ามาที่นี่เป็นระยะ ซึ่งมักจะมากับกิจกรรมต่างๆ ด้วย”

สำหรับการบริหารเพลย์กราวนด์ กิตติณัฐยึดคอนเซ็ปต์ Community Store Basis “ผมถือว่าที่นี่เป็น community ที่ซึ่งผมจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และลูกค้าก็จะได้อะไรกลับไปจากเรา โดยเราพยายามสร้างบรรยากาศให้ลูกค้ารู้สึก feel free และเป็นคนกันเอง เวลาที่เขาเข้ามาที่นี่ เขาก็จะเข้ามาบ่อยขึ้นแม้ไม่ได้คิดจะซื้ออะไร อย่างน้อยก็มาหาแรงบันดาลใจกลับไป หรือมาดูว่าที่นี่มีอะไรใหม่ๆ”

กว่า 5 เดือนที่ผ่านมา กิตติณัฐกล่าวถึงผลการดำเนินงานของเพลย์กราวนด์ว่า อยู่ในระดับดีแต่ไม่มาก เนื่องจากปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นเหตุที่ธุรกิจค้าปลีกล้วนกระทบเหมือนกันหมด แต่ข้อได้เปรียบของที่นี่คือ กำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับสูงกว่าทั่วไป ซึ่งเขาสรุปบทเรียนบทที่ว่าด้วยการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก เอาไว้ว่า…

“ปัจจุบัน รีเทลทุกแห่งก็พยายามสร้างความแตกต่าง แต่ความสำเร็จมันขึ้นอยู่กับว่า ความแตกต่างนั้นจะโดดเด่นออกมาได้แค่ไหน ซึ่งความโดดเด่นย่อมมาจากจุดยืนที่ชัดเจน ผมว่า กลยุทธ์แบบ Me-too ไม่น่าจะแข่งขันได้อีกแล้วในยุคนี้ โดยเฉพาะการทำธุรกิจกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องเป็น personalized concept มากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มักจะมีความเป็นตัวเองสูง และกล้าที่จะเดินตามความคิดหรือความชอบของตัวเองมากขึ้น”

ในฐานะแหล่งสร้างแรงบันดาลใจ เพลย์กราวนด์จึงทำหน้าที่ค้นหาแนวคิดหรือผลงานที่โดดเด่นของดีไซเนอร์ชั้นนำที่เป็นคนรุ่นใหม่ทั้งในและต่างประเทศ มานำเสนอลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็น “กลุ่มฮิพ” ที่กิตติณัฐนิยามว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีลู่ทางในการเสพงานศิลป์จากสื่อหรือการเดินทางมากเป็นพิเศษ ดังนั้น การสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ ทีมงานของเพลย์กราวนด์จึงต้องใช้ความพยายามให้มากกว่าในการเปิดหูเปิดตาเปิดใจเข้าไปสู่งานศิลป์ให้ได้มากกว่าและหลากหลายกว่า ที่สำคัญคือต้องเปิดรับเทรนด์ของดีไซน์และนวัตกรรมต่างๆ ให้เร็วกว่า

“ผมมองว่า มันน่าจะต้องกลายเป็นทักษะหนึ่งของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว ที่จะต้องติดตามและปรับตัวตามนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทัน รวมทั้งต้องพัฒนาทักษะในการทำความเข้าใจและยอมรับในมุมมองหรือแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาของการผลิตผลงานของผู้อื่น เราถึงจะแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้”

ในฐานะหัวหน้าทีมผู้สร้างสรรค์บรรยากาศแห่งแรงบันดาลใจ กิตติณัฐจึงต้องตื่นตัว เปิดรับ และปรับตัวให้รอบด้านกว่า ซึ่งเขาบอกว่า “โดยส่วนตัว ผมก็สนใจนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่แล้ว แต่พอมาอยู่ตรงนี้ เราต้องสนุกกับมันให้มากขึ้น ถ้าเจออะไรใหม่ๆ ก็ต้องวิ่งเข้ามามันให้มากขึ้น และที่สำคัญเป็นอันดับแรกคือ เราต้องเปิดใจกับความคิดของศิลปินให้มากขึ้น เพื่อให้เขามีอิสระเต็มที่”

นั่นคือบทสรุปคร่าวๆ ถึงบุคลิกที่ดีของคนที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ในทัศนะของกิตติณัฐ ทั้งนี้ ในปีหน้า เพลย์กราวนด์มีแผนจะขยับขยายสาขา โดยทำเลที่เป็นไปได้ในเร็ววันนี้ก็คือ สุขุมวิท 36 ขณะเดียวกันก็ยังเล็งทำเลอื่นๆ ไว้ด้วย ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น ความเหนื่อยที่เพิ่มขึ้นของกิตติณัฐก็คงอยู่ที่การ “โคลนนิ่ง” หรือปั้นบุคลากรที่จำลอง DNA แบบเขาผสมผสานกับความเป็นเพลย์กราวนด์ขึ้นมาให้ได้

กิตติณัฐยอมรับว่า การทำงานที่เพลย์กราวนด์ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตการทำงานของเขาหลังจากทำงานในธุรกิจหนังสือมาแรม 10 ปี …

“จากสินค้าที่เป็นหนังสือ ก็เป็นแค่ text คาแร็กเตอร์และไลฟ์ไทม์ก็ต่างกันในแต่ละเล่ม แต่ตอนนี้เรามาสู่ธุรกิจแฟชั่นและ living arts ซึ่งเป็นสินค้าที่จับต้องมากขึ้น การสื่อสารก็ต้องเป็นรูปธรรมขึ้น แต่ที่สำคัญคือ การดีลกับลูกค้าและดีไซเนอร์ มันเป็นอีกมุมของธุรกิจที่ต่างกัน”

การทำงานที่นี่จึงทำให้เขาต้องติดต่อกับผู้คนมากขึ้น ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า ธุรกิจที่ใกล้ชิดกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้ามีความยุ่งยากและละเอียดอ่อนมาก เขายังต้องเรียนรู้ที่จะต้องเปิดใจให้กว้างกับทุกคนในทุกความคิด โดยเฉพาะกับศิลปิน กิตติณัฐยอมรับว่าที่นี่ยังสอนให้เขาได้เรียนรู้อะไรอีกมากมาย รวมทั้งสอนให้เขารู้ว่า แรงบันดาลใจที่ดีสร้างงานที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยแรงบันดาลใจของเขาก็สะสมมาจากการทำงานที่เพลย์กราวนด์นี่เอง

จากวันแรกที่เริ่มเปิดตัวเพลย์กราวนด์ ซึ่งกิตติณัฐถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความยากอยู่ที่การพรีเซนต์คอนเซ็ปต์ให้กับพาร์ตเนอร์ อันเป็นช่วงแห่งการ set up พื้นฐานอันแข็งแกร่งให้กับที่นี่ ผ่านมาถึงวันนี้ก็ 5 เดือน ความท้าทายในการบาลานซ์ระหว่างธุรกิจกับศิลปะก็ยังคงอยู่ ขณะที่ความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ ความต่อเนื่องในการนำเสนอคอนเทนต์ใหม่ๆ เพื่อการพัฒนาและต่อยอดคอนเซ็ปต์ให้เข้มแข็งขึ้น

“ผมเชื่อว่าคอนเซ็ปต์ของที่นี่แข็งแกร่งในระดับที่น่าพอใจแล้ว แต่ความสำเร็จในระยะยาวขึ้นอยู่ว่า เราจะรักษาความเข้มแข็งของคอนเซ็ปต์นี้ให้ต่อเนื่องในการรับรู้ของลูกค้าในระยะยาว ได้อย่างไร”

Profile

Name: กิตติณัฐ ทีคะวรรณ
Age : 33 ปี
Education:
– ปี พ.ศ. 2543 Berkley Executive Program จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เบอร์คลีย์
– ปี พ.ศ. 2542 ปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ
– ปี พ.ศ. 2540 ปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์สารสนเทศ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ
– ปี พ.ศ. 2537 ปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ
Career Highlights:
– ปี 2547 – ปัจจุบัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพลย์กราวน์ สโตร์ จำกัด
– ปี 2537 – 2547 กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียบุ๊คส์ จำกัด
Activities:
ผู้บรรยายพิเศษ หลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร