Google Earth กระตุ้นตลาดแผนที่ไทยปรับตัว!

กรณีรุกคืบให้บริการเสิร์ซข้อมูลแผนที่ฟรีได้ทั่วโลกของ Google earth จนกลายเป็น talk of the town รู้จักมากขึ้นในหมู่นักท่องเน็ต และผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไป เพื่อค้นหาเส้นทาง และเชื่อมต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว จนเกิดความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจแผนที่ในระดับโลก รวมทั้งตลาดแผนที่บ้านเราในอนาคต

วิชัย แสงหิรัญวัฒนา ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป และผู้จัดการแผนกเทเลเมติกส์ บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการระบบภูมิสารสนเทศแบบครบวงจร ยอมรับว่า บริการสืบค้นข้อมูลแผนที่ของ Google Earth มีผลต่อการชะลอตัวซื้อระบบพิกัดแผนที่ (GIS) และระบบพิกัดตำแหน่ง (GPS) ของบริษัทในช่วงแรก เนื่องจากลูกค้าสนใจเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นตามกระแสเท่านั้น และไม่เชื่อว่า Google Earth จะสามารถพัฒนาระบบแผนที่ลงลึกถึงระดับประเทศเล็กๆ อย่างเช่นประเทศไทย

แต่หาก Google Earth มีนโยบายขยายตลาดมายังประเทศไทยจริง ESRI เตรียมพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรในการพัฒนาต่อยอดบริการในระดับท้องถิ่น เนื่องจากบริษัทมีความพร้อมด้านระบบภูมิศาสตร์ และแผนที่ของประเทศไทยในเชิงลึก และเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี

“ผมมองว่า Google Earth น่าจะช่วยกระตุ้นตลาดแผนที่ภายในประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะคนไทยที่ชอบเทคโนโลยีจะตื่นตัว และเป็นกระแสเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นในเชิงแมสด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่คิดว่าจะกระทบต่อธุรกิจแผนที่มากนัก เพราะความต้องการในตลาดแผนที่รูปแบบกระดาษยังมีอยู่ ที่อาจจะกระทบบ้างก็น่าจะเป็นแผนที่กลุ่มดิจิตอลที่ผู้ใช้อาจจะสนใจ Google Earth มากกว่า”

ด้าน ไผทสันต์ โพธิทัต ผู้อำนวยการ บริษัท แม็พพ้อยท์ เอเชีย จำกัด หนึ่งในผู้ให้บริการระบบแผนที่ครบแบบวงจร อธิบายว่า เทคโนโลยีของ Google Earth สามารถให้บริการแผนที่ในแบบภาพถ่าย และเชื่อมต่อข้อมูลได้เฉพาะสถานที่ หรือบริษัทที่มีเว็บไซต์เท่านั้น จึงไม่สามารถเข้ามาแทนระบบแผนที่ทั้งหมดได้ เพราะมีรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้บริษัทสามารถพัฒนาเทคโนโลยี Sky Line ที่ให้บริการได้ใกล้เคียงกับ Google Earth มากกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดให้บริการในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากระบบอินเตอร์เน็ตในขณะนั้นยังไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีได้ เพราะระบบแผนที่เทียบเท่า Google Earth ต้องให้บริการผ่านอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และ ADSL จึงจะให้ประสิทธิภาพได้สมบูรณ์แบบ

ขณะที่ พงษ์ระพี เตชะพาหพงษ์ เจ้าของและผู้ก่อตั้งเว็บ www.thaigoogleearth.com บอกว่า หากพิจารณาในแง่ดี Google Earth มีประโยชน์มากในการเชื่อมต่อข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเว็บไซต์ในท้องถิ่นต่างๆ สามารถเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับระบบของ Google Earth ได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตหากผู้ประกอบการธุรกิจแผนที่ไม่ปรับตัว และไม่พัฒนาต่อยอดระบบให้สามารถเชื่อมต่อ หรือมีศักยภาพเท่ากับ Google Earth จะอยู่ลำบาก และผู้บริโภคจะหันไปสนใจเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความนิยมมากกว่า

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า มีโอกาสที่ทรูจะนำ Google Earth ไปใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้ โดยเฉพาะการสำรวจเกี่ยวกับข้อมูลลูกค้าในต่างจังหวัด เช่น ความหนาแน่นของลูกค้า หรือประเภทของลูกค้าในแต่ละพื้นที่

“คงได้ใช้ประโยชน์มาก สมัยก่อนภาพถ่ายทางอากาศเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าต้องการก็ต้องซื้อจากฝ่ายของทหารเท่านั้น และไม่สามารถซื้อได้ด้วยซ้ำไป การมาของกูเกิ้ลทำให้การใช้งานเกี่ยวกับภาพถ่ายทางอากาศเปลี่ยนไป ส่วนรายละเอียดเรา อยู่ระหว่างศึกษา”

ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด ( มหาชน) นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ให้ความเห็นว่า จัดเป็นระบบที่น่าสนใจ โดยส่วนตัวแล้วยังไม่ได้มีโอกาสได้เข้าไปค้นโดยตรง แต่หากมองในเชิงการใช้ประโยชน์จากระบบต่อแบงก์แล้ว นับว่ามีโอกาสและประโยชน์ไม่น้อย เพราะสามารถนำมาให้ข้อมูลบางส่วนโดยตรงต่อลูกค้า โดยเฉพาะที่ตั้งของสาขาของแบงก์

“ในอนาคต หากระบบรองรับเต็มที่ก็มีโอกาสนำ Google Earth มาใช้บอกสาขาแบงก์กรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้”

ขณะที่ ปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ( www.webmaster.or.th ) ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการเว็บไซต์ในประเทศไทย ให้มุมมองว่า บริการภาพถ่ายแผนที่ของ google earth กระตุ้นให้เกิดเว็บไซต์ใหม่ๆ ที่พัฒนาต่อยอดเชื่อมต่อข้อมูลในระดับท้องถิ่นมากขึ้น

ในอนาคตน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจภายในประเทศ อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาเชื่อมต่อไปกับเว็บไซต์ของตนเอง หรือใช้ภาพถ่ายแผนที่ของ google earth เพื่อหาทำเลก่อสร้างหรือขยายธุรกิจ แต่คงต้องใช้ระยะเวลา และรอให้มีการทำแผนที่ภาพถ่ายในประเทศไทยก่อน

ทั้งนี้หากมีผู้ประกอบนำข้อมูลภาพถ่ายแผนที่ google earth มาใช้ในเชิงพานิชมีความเป็นไปได้สูงมากที่ google earth จะมีการเก็บค่าบริการ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการใช้งานเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ google earth ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการหาข้อมูลแผนที่ และใช้ในการศึกษาหาความรู้ได้ดี และสร้างความน่าสนใจให้ตลาดแแผนที่ในบ้านเรา

แต่ยังมีข้อเสีย คือ ทำให้สิทธิส่วนบุคคลในด้านแผนที่ลดต่ำลง เพราะ google earth เป็นภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่มีความละเอียดสูง และสามารถถ่ายได้จากทุกที่ แม้จะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล

ตำนานแผนที่โตปีละ 2 พันล.

แผนที่เป็นเครื่องมือใช้ในการค้นหา และบอกเส้นทางที่มีตั้งแต่ในอดีตกาลของไทย นับหลายร้อยปี โดยเบื้องต้นมนุษย์สร้างขึ้น ด้วยสัญลักษณ์ลายเส้นเพื่อบอกตำแหน่ง หลังจากนั้นพัฒนาไปสู่แผนที่ภาพถ่ายตามวิวัฒนาการเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป แต่แผนที่มีความละเอียดและให้ประสิทธิภาพสูง คือแผนที่ลายเส้น เพราะสามารถบอกตำแหน่ง ข้อมูล และที่ตั้งสถานที่ได้ชัดเจนที่สุด

แต่ในอดีตผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการครอบครองแผนที่ คือหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะแผนที่ที่ใช้ในการทหาร และแผนที่ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ อาทิ แผนที่ผังเมือง กรมที่ดิน เป็นต้น

ก่อนจะวิวัฒนาการไปสู่แผนที่ดิจิตอล (Digital Map) เมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ จากการนำเข้ามาใช้งานขององค์การสหประชาชาติ (UN) หลังจากนั้นมีผู้ประกอบการในประเทศสนใจเข้ามาทำตลาดมากขึ้น โดยมีบริษัท ESRI เป็นเอกชนรายแรกที่เข้ามาทำตลาดประมาณช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และมีเอกชนรายใหม่ๆ ที่เห็นโอกาสทยอยเข้ามาในตลาดมากขึ้น แต่มีผู้ประสบผลสำเร็จสร้างรายได้เพียงไม่กี่รายเท่านั้น เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าภาครัฐ และต้องอาศัยความสัมพันธ์ภายในค่อนข้างสูง

ส่งผลให้ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการที่ประสบผลสำเร็จเป็นผู้นำตลาด 5 ราย คือ ESRI, Map point Asia, COT, Ucom และ Nu Map ที่สามารถให้บริการแผนที่ที่ครบวงจรได้ ส่วนผู้ประกอบการรายอื่นๆ จะให้บริการในตลาดเฉพาะกลุ่มไป โดยเฉลี่ยตลาดแผนที่ในประเทศไทยมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อปี

ส่วนปัญหาหนึ่งที่พบในธุรกิจแผนที่ คือ ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านแผนที่ เพราะปีหนึ่งๆ มีเพียง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่ผลิตวิศวกรแผนที่ปีละ 10 คนเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการแย่งตัวบุคลกรด้านแผนที่อยู่เป็นประจำ แตกต่างจากในอดีตที่จบการศึกษาเกี่ยวกับแผนที่ไม่สามารถหางานที่ตรงสายทำได้ เนื่องจากในอดีตแผนที่จะอยู่ในมือภาครัฐ และต้องการรักษาความลับทางราชการ จึงไม่นิยมจ้างบุคลกรภายนอกเข้ามาทำงาน และผลิตบุคลกรด้านแผนที่ของภาครัฐขึ้นมาดูแลเอง