คำกล่าวที่ว่า “สถานการณ์สร้างคน” น่าจะอธิบายเส้นทางชีวิตผู้ประกาศข่าวสาว สโรชา พรอุดมศักดิ์
ซึ่งเริ่มต้นอ่านข่าวภาคภาษาอังกฤษที่ News Line ช่อง 11 ก่อนจะย้ายไปฝึกฝนกระบวนการทำข่าว และผู้ประกาศข่าวมืออาชีพกับ สิทธิชัย หยุ่น สถานีข่าว Nation Channel หรือ UBC 8 ของค่ายเนชั่น ต่อมาเธอก้าวเข้าทำงานใน Channel News Asia ประเทศสิงคโปร์ในตำแหน่ง ผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษที่สำนักงานประเทศสิงโปร์
แม้ว่าการเข้าทำงานในสังกัด Media Corp News จะทำให้เธอมีโอกาสก้าวไปเป็น ผู้ประกาศข่าวระดับโลกในเวที CNN ซึ่งเป็นเส้นทางที่ ผู้สื่อข่าวใฝ่ฝัน หากแต่เธอกลับเลือก ความสุขในใช้ชีวิตกับครอบครัวในไทย หลังจากเคยใช้ชีวิตร่วมกันตลอดมากกว่า 20 ปีที่ใช้ชีวิตและศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา
จุดเปลี่ยนของเธอเริ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อเธอได้รับทาบทามจาก สนธิ ลิ้มทองกุล ให้เข้านั่งเป็นพิธีกรร่วมในการจัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ที่ช่อง 9 อสมท.โดยออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 เป็นต้นมา
2 ปีที่เธอ ทำหน้าที่ พิธีกรคู่ “สนธิ ลิ้มทองกุล” เพื่อช่วยทำให้รายการข่าว News talk ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเนื้อหา ผ่อนคลายลง ด้วยบุคลิกของการเป็นคู่สนทนาที่ดีที่ถามทุกคำถาม ด้วยความอยากรู้เสมือนหนึ่งเป็นผู้ชมรายการคนหนึ่ง เธอจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่รายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์”
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ของรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” หลังจากถูกถอดออกจากผังรายการของช่อง 9 อสมท. จนมียอดผู้เข้าชมรายการสด ณ สวนลุมเมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมากว่า 1 แสนคน
สโรชา พรอุดมศักดิ์ หรือ แอ้ม ในฐานะพิธีกรหญิงหนึ่งเดียว ที่เคียงคู่เป็นดอกไม้สร้างสีสันให้รายการ ขณะเดียวกันเธอยังมีหนามแหลมคม และไหวพริบในการประคับประคองรายการให้ผ่านพ้นมา ด้วยการเบรกบรรยากาศในรายการให้ไม่ตรึงเครียดกว่าที่ควรจะเป็น จนในวันนี้เธอกลายเป็นพิธีกรข่าวมืออาชีพที่ก้าวไปไกลกว่าผู้ประกาศข่าวธรรมดาๆ
POSITIONING – ทุกครั้งที่ขึ้นจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ มีการเตรียมตัวหาข้อมูลก่อนจัดรายการอย่างไร
สโรชา – ไม่ทราบเลยว่าจะคุณสนธิจะพูดเรื่องอะไร รู้แต่หัวข้อคร่าวๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นเจนารมณ์ของคุณสนธิที่จะไม่ให้รู้หรือเปล่า เพราะหลายๆ ครั้งที่ขึ้นศาล แล้วมีข้อกล่าวหาจากฝ่ายโจทย์ว่าแอ้มสมรู้ร่วมคิด หรือรู้ข้อมูลล่วงหน้าอยู่แล้วว่าคุณสนธิพูดว่าอะไร ซึ่งก็เรียนให้ศาลท่านทราบอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ทราบจริงๆ
เคยมีกระซิบถามคุณสนธิเหมือนกันว่า จะให้พูดอะไร คุณสนธิ ก็บอกว่าไม่เป็นไร พูดมาแล้วเดี๋ยวผมรับลูกเอง คือทำนองว่าอย่ารับรู้ดีกว่าไหม…ก็เลยว่ากันสดๆ บนเวที ก็เลยเป็นความเคยชินนะคะ ส่วนตัวเองก็ก็อ่านทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ แต่บางเรื่องที่คุณสนธิหยิบมาพูดก็ไม่เคยเป็นข่าวมาก่อน ข้อมูลที่คุณสนธินำมาพูด เราก็รู้สึก อึ้งพอๆ กับคนดูว่า…มีแบบนี้ด้วยหรือ นอกเหนือจากการเป็นพิธีกรคู่ด้วย แล้วก็พักหลังๆ เราก็ถือว่าเป็นผู้ฟังคนหนึ่งเหมือนกัน
นี่ก็อาจจะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของรายการที่มันสดจริงๆ (เน้นเสียงหนัก) ไม่มีการบอกว่า เราจะแตะต้องเรื่องนั้น เรื่องนี้…ไม่มีเลย ทุกสิ่งทุกอย่างโอเพ่นหมด อยากถามอะไรถาม อยากพูดอะไรพูด หรือว่าตัวคุณสนธิเอง ท่านบางครั้งท่านก็มีอารมณ์ไปกับเรื่องราวที่พูด
POSITIONING – ถ้าเทียบระหว่างการเป็นพิธีกรในสมัยที่ทำอยู่ช่อง 11 เนชั่น กับการเป็นพิธีการในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์
สโรชา – โอ้!ยาก คนละเรื่องเลยค่ะ พิธีกรสมัยก่อนจะเป็น 2 คนมานั่งคุยกัน โดยโปรดิวเซอร์จะกำหนดหัวเรื่องให้ จากนั้นพิธีกร 2 คน ซึ่งได้ข้อมูลเหมือนกัน เท่ากัน แล้วก็ต่างคนต่างทำการบ้านของตัวเอง แล้วก็มานั่งพูดกันในรายการ
แต่ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เราเดาไม่ได้เลย คือ ไปว่ากันแบบสดๆ … มีคนก็จะวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกันว่า ทำไมไม่พูดเลย หรือไม่ก็ตอบแค่… ค่ะ…อย่างเดียว เพราะหลายๆ ครั้งเป็นประเด็นที่มีความ sensitive (อ่อนไหว) มาก ตัวคุณสนธิประสบการณ์เยอะมาก ทำข่าวมา 30 ปี เห็นอะไรมาเยอะมาก ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์มาวิพากษ์วิจารณ์ได้
สำหรับตัวแอ้ม แม้จะมีความคิดเห็นของตัวเอง แต่ตัวเองเด็กเกินไปที่จะวิพากษ์วิจารณ์…แอ้มอยู่ในฐานะ ผู้ฟัง ผู้ถาม แต่ไม่อยู่ในฐานะผู้แสดงความคิดเห็นนะคะ บทบาทค่อนข้างชัดเจนว่า…แอ้มพยายามจะถามบ้างไม่ถามบ้าง… เราก็ปล่อยให้คุณสนธิได้ถ่ายทอดให้กับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา
เวลานี้ยอมรับว่าค่อนข้างระวัง เพราะมันมีคดีความอยู่ เพราะฉะนั้นก็ยอมรับว่าระวังเป็นพิเศษ แอ้มก็ไม่อยากถามอะไรไปแล้วก็ทำให้คุณสนธิ ตกที่นั่งลำบาก คือบางครั้งมีคำสั่งศาลอยู่เราก็ต้องระวัง ก็รู้สึกเกร็งพอสมควร
POSITIONING – สัญจรครั้งไหนที่รู้สึกวิตกที่สุด
สโรชา – ครั้งที่ 9 ค่ะ เนื่องจากสถานการณ์มันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติเราจะอยู่ในสตูดิโอกัน มีช่างภาพ และก็มีโปรดิวเซอร์ มันก็ค่อนข้างมิดชิด พอไปมาในบรรยากาศการสัญจร ตอนแรกๆ เราก็เริ่มตื่นคนดู พอเริ่มชินคนดูก็มาตื่นสถานการณ์ ก็เป็นการก่อกวนในแง่ของ emotional (ความรู้สึก) ก็คงเป็นเรื่องไฟนี่แหละค่ะ พอไฟวูบๆ เราก็ห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้น ลึกๆ เราก็เป็นห่วงคุณแม่ ซึ่งสุขภาพไม่ดี เราก็มีกันอยู่ 3 คนพ่อ แม่ ก่อนขึ้นเวทีนี้ทุกคนที่บ้านจะนั่งสวดมนต์ภาวนาว่าให้มันผ่านพ้นไปโดยที่ไม่มีเหตุการณ์อะไร
POSITIONING – ต้องควบคุมเวลา และคุมสถานการณ์
สโรชา – มีเหตุการณ์ไฟดับ ถ้าสังเกตจะเห็นหน้าสโรชาซีดลงเรื่อยๆ สมาธิไม่ได้อยู่กับตัวล่ะ เพราะตอนนั้นเราคิดว่า ถ้าไฟดับจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น มีเรื่องความปลอดภัยก็เป็นห่วงผู้ชม สมาธิก็เลยแตกไปนิดหนึ่ง คุณสนธิ เลยดุกลางรายการ (หัวเราะ) ว่าให้นิ่งหน่อยๆ อย่าไปสนใจอะไรกับไฟ (หัวเราะ) ไม่เคยมีการเตรี๊ยมกันเลย
POSITIONING – รู้สึกอย่างไร เมื่อมีหนังสือพิมพ์ให้สมญานามว่า “ดอกไม้บานในม็อบ”
สโรชา – ภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติที่พี่ๆ ให้ความสำคัญให้เราถึงขั้นขึ้นปก เนื่องจากแอ้มทำงานตรงนี้มาไม่นานนัก เท่ากับว่าเขาก็ยอมรับแอ้มไปอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ในอีกแง่หนึ่ง เป็นการสะท้อนว่า ประชาชนก็ให้ความสนใจในตัวรายการ (เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร) ด้วย ทุกวันนี้ก็มีดอกไม้ มีขนม มีอัลบั้มรูป
POSITIONING – ช่วงนี้ต้องระวังตัวไหมคะ
สโรชา – ก็ไม่ค่อยไปไหนคนเดียว ช่วงนี้ก็ต้องมีเพื่อนๆ รอบๆ ตัวอยู่พอสมควร
POSITIONING – ถึงขั้นต้องมีบอดี้การ์ดไหมคะ
สโรชา – คงยังไม่ถึงขนาดนั้น (หัวเราะ) สังเกตสภาวะรอบข้างของตัวเองมากกว่าปกติ ว่ามีรถจอดในซอยไหม หรือมีอะไรผิดสังเกตเวลาขับรถกลับบ้านก็มีใครตามหรือเปล่า คุณสนธิก็ได้ให้ความสบายใจคุณพ่อ คุณแม่แล้วก็มีคนดูแล ก็ได้ความสบายใจขึ้น
POSITIONING – เคยถึงขั้นที่ทำให้คิดเลิกจัดรายการมั้ย
สโรชา – ยอมรับว่ามีช่วงหนึ่ง เกิดคำถามจากครอบครัวเหมือนกันว่าจะทำอย่างไงต่อดี ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ และตัวแอ้มเอง ก็ยืนยันว่าอยากทำต่อ เพียงแต่ต้องถามใจตัวเองจริงๆ ว่า จะรับแรงกดดันได้ไหวหรือเปล่า คุณสนธิก็ถามตรงๆ ว่าแอ้มไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็บอก เราก็มานั่งคุยกันว่าจะมีทางออกอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้คุยกันเยอะเหมือนกัน ได้ข้อสรุปว่า เราเชื่อในสิ่งที่เราทำ และเรารักในอาชีพนี้ ก็มันก็เป็นคำตอบในตัวเองอยู่แล้วว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป
POSITIONING – อะไรคือสิ่งที่คิดมากที่สุดในเวลานี้
สโรชา – ไม่เคยนึกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปเร็วขนาดนี้ เราได้กลับมานั่งทบทวนอุดมการณ์ของตัวเอง และศึกษาแนวทางการทำงานของคุณสนธิ ซึ่งทำให้เราชัดเจนยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่เราต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้บริโภคสื่อ น่าจะปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกว่าจะเสพอะไร และมีวิจารณญาณคิดเองได้ว่าสิ่งที่ คุณสนธิพูดเป็นจริงหรือไม่จริง เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็อยู่ที่การตัดสินใจของคนคนนั้น อยู่ที่การศึกษา แนวคิด และประสบการณ์ชีวิตเขาว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง ดังนั้นควรจะทิ้งให้เป็นการตัดสินใจของเขาเองว่า ควรจะดูหรือไม่ดูดีกว่าสื่อ คือสินค้าตัวหนึ่ง ขึ้นอยู่ว่าประชาชนจะซื้อหรือไม่ เราไปบังคับเขาไม่ได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับคุณภาพ ความแม่นยำ ความน่าเชื่อถือ และละความเป็นกลางหรือไม่เป็นกลางของสื่อนั้นๆ ที่จะเป็นตัวขาย ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของผู้บริโภคดีกว่า
POSITIONING – ทำไมตัดสินใจมาทำงานกับคุณสนธิ
สโรชา – พอดีพี่เขามาชวน บอกว่า ไทยเดย์จะทำรายการในช่อง 9 คุณสนธิ เจ้าของรายการอยากเจอ ตอนแรกยังไม่เคยรู้จักคุณสนธิเลยว่าเป็นใคร มาเจอก็เจอครั้งแรกก็ยอมรับว่าแปลกไปจากนายคนอื่นๆ ที่เคย ตอนนั้นก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าทำไมมาเลือกแอ้ม เพราะประสบการณ์การทำรายการข่าวภาษาไทยนะคะน้อยมาก (ลากเสียง)
POSITIONING – ถามคุณสนธิหรือเปล่าว่าเลือกคุณแอ้มมาทำรายการเพราะอะไร
สโรชา – คุณสนธิเคยบอกตอนหลังว่า แอ้มมีอะไรบางอย่างที่เป็นมิตรกับคนดู และอาจจะมีความน่ารักอยู่ ผสมกับ ความดุ ความเครียดที่หลายๆ คนเห็นแอ้มเวลาออกหน้าจอ ก็จะมีบางวาระที่เป็น แอ้ม ไม่ได้เป็นสโรชา
POSITIONING – ต่างกันอย่างไร
สโรชา – สโรชา จะเครียดกว่า (หัวเราะ) จะเป็นคนทำงาน ค่อนข้างจะซีเรียส เนื่องจากแอ้มโตมาจากสายข่าว ก่อนที่จะมาเป็นผู้ดำเนินรายการ เคยเป็นนักข่าว เคยเป็น บก. ทำงานจนครบวงจร จึงเป็นการหล่อหลอมให้มาเป็นตรงนี้ และเป็นรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ด้วย เมื่อรายการสาระ และเวลาพูดสาระ แล้วมาทำเป็นโนะเน๊ะก็คงไม่เหมาะ
แต่ถ้าเป็นตัวแอ้ม…เป็นคนที่ชอบเฮฮากับเพื่อน เป็นคนที่ขี้อ้อน เป็นที่ขี้น้อยใจ คือบุคลิกของ 2 คนนี้ค่อนข้างจะห่างกันพอสมควร หลายๆ คนก็บอกว่าอายุ 30 กว่าแง่ๆ มีบางคนถามว่ามีครอบครัว มีลูกกี่คนแล้ว (หัวเราะ)
POSITIONING – ปีนี้อายุเท่าไหร่
สโรชา – ครบ 29 ปี คุณแม่ก็อ่านหนังสือพิมพ์บอกว่ามีนักโหรศาสตร์ท่านหนึ่งบอกว่า คุณสนธิปลายปีจะหมดเคราะห์ สโรชาปลายปีจะเคราะห์มากขึ้น โอ๊ะ! ตายล่ะคุณแม่กับแอ้มก็มานั่งกลุ้มใจ ต้องไปหาที่สะเดาะเคราะห์ช่วงนี้ก็พยายามทำบุญมากขึ้น
POSITIONING – ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไร
สโรชา – เกิดเมืองไทย และย้ายไปอยู่อเมริกาตอน 2 ขวบ คุณพ่อ คุณแม่ไปทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเย็น ใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา 10 กว่าปี กลับมาเมืองไทย ตอนอายุ 12 ปี ตอนกลับมาตอนแรกก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ พอดีมีลูกพี่ลูกน้องรุ่นเดียวกันเยอะ คุณแม่ก็จ้างครูพิเศษมาสอนให้ที่บ้านประมาณ 6 เดือน โดยสอนทั้งการอ่าน และการเขียน
POSITIONING – ต้องปรับตัวเยอะ
สโรชา – ปรับตัวเยอะมาก ถือเป็นจุดเปลี่ยน เพราะรู้สึกว่าแอ้มเป็นฝรั่งเลยล่ะ แต่พอกลับไปอเมริกาอีกครั้งเรา เปลี่ยนไปเยอะเลยกลายเป็นคนละคน เราไม่ใช่เด็กอเมริกันอีกต่อไป แต่เราเป็นเด็กไทยคนหนึ่งที่ไปเรียนที่โน่น
POSITIONING – ทำไมเลือกเรียนด้านบรอดคาสติ้ง
สโรชา – เราจะอ่อนเลขมาก และชอบสาขาวิทยุโทรทัศน์ตั้งแต่เล็กแล้ว พอไปเรียนแล้วถูกใจ ต้องแบกกล้อง ทั้งตัดต่อเอง ถ่ายเอง เขียนเอง ลงเสียงเอง พอดีว่า เรียนจบกลับมาพอดีกับวิกฤตเศรษฐกิจ พ่อก็เลยตัดสินใจยุติธุรกิจที่ทำมา ตรงนี้ก็เป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งที่ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ต้องรับรู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัว และสอนให้เรารู้ว่าชีวิตไม่ได้ราบเรียบเสมอไป พอผ่านวิกฤตตัวนั้นมาก็มาเจอวิกฤตตรงนี้ที่กำลังเป็นกระแสอยู่
POSITIONING – มาสู่อาชีพผู้ประกาศข่าวได้อย่างไร
สโรชา – ทำงานธุรกิจส่งออกของคุณลุงอยู่ประมาณ 1 ปีครึ่ง จนวันหนึ่งได้รับการติดต่อจาก News Line ให้ไปอ่านข่าวภาคภาษาอังกฤษ ทำอยู่ได้ประมาณ 4 เดือน ก็ Nation Channel เปิดตัว ที่ยูบีซี 8 ทำอยู่ประมาณ 3 ปี สิงคโปร์ก็ติดต่อมา ก็ต้องไปฝึกอบรม 6 เดือน…ร้องไห้ทุกวัน แต่งานไปได้ดีมาก คนดูแฮปปี้ เขียนเข้ามาชมว่าอ่านดีมาก ผู้อำนวยการช่องก็เรียกเข้าไปถามว่า อยู่ถาวรไหม เพราะอยู่ที่นี้คุณจะมีโอกาสมากที่จะก้าวขึ้นไปอยู่ในระดับแถวหน้า และอาจจะก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกาศข่าวของ CNN แต่เราก็ขอกลับไปทำงานที่บ้าน คิดถึงบ้าน เพราะที่บ้านจะอยู่ด้วยกันตลอด ไม่เคยอยู่คนเดียว
POSITIONING – ประสบการณ์แต่ละช่วงตั้งแต่ทำมาให้แง่คิด และประสบการณ์ที่ต่างกันอย่างไร
สโรชา – ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่ต่างกัน ซึ่งมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกัน เช่นในสิงคโปร์จะเข้มงวดมาก ถ้ามีอะไรผิดพลาด ต้องมีคนรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดขึ้นอีก แต่ถ้าเป็นคนไทย จะอะลุ่มอล่วยกัน
POSITIONING – ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานที่เนชั่นเป็นอย่างไร
สโรชา – มาอยู่เนชั่น ต้องถูกเทรนจากคุณสุทธิชัย หยุ่น เป็นเวลา 3 เดือน ให้หัดอ่านขาวภาษาไทยก่อน ตอนแรกก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจ ภาษาไทยเราไม่แตก ถนัดแต่ภาษาอังกฤษ เวลานั้นก็คิดว่าถ้ามาบังคับเรามากๆ เราจะลาออก ซึ่งเพราะตอนนั้นเรายังเด็กด้วย อายุประมาณ 22 ปีมั้ง ก็สอนกัน ฝึกกันไป จนในที่สุดเราก็นั่งแล้วก็ทำรายการภาษาไทยกับเขา ถ้าไม่ลดทิฐิความบ้าระห่ำของตัวเองลง แอ้มก็คงไม่มีโอกาสมานั่งในรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์”
POSITIONING – ประสบการณ์ที่ได้จาก เมืองไทยรายสัปดาห์
สโรชา – รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปสู่การทำข่าวอย่างแท้จริง จากเดิมที่เราถูกสอนมาว่า มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่ที่นี่สอนให้วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนั้น มันมีเหตุปัจจัยที่มีมาก่อนหน้านี้ ดังนั้นถ้าคิดอะไร อย่าคิดแค่ด้านเดียว ต้องดูให้รอบด้าน ดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เคยเกิดขึ้นแบบนี้แล้วนี่ แล้วมันมีทิศทางยังไง จบลงแบบไหน มีทั้งเบื้องลึก เบื้องข้าง หรือที่มาที่ไป คือมันมีอีกหลายมิติที่เราไม่เคยคิดมาก่อน แล้วไม่เคยมีใครกระตุ้นให้เราคิด ถือว่าเป็นพื้นฐานอีกระดับหนึ่งที่เรากำลังสร้างอยู่
POSITIONING – ตอนนี้ถือว่าเป็นช่วงเติมเต็มในการทำงานมากที่สุดระหว่างการเป็นพิธีกร นักข่าว หรือเป็นผู้บริหาร
สโรชา – งานพิธีกรมีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่งที่ว่า มันไม่จำเจ ถึงแม้ว่าเราจะดำเนินรายการเดินกับพิธีกรคู่ หรือคู่สนทนาคนเดิมหัวข้ออาจจคล้ายๆ เดิม แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป เวลาเปลี่ยนไป ผู้คนที่ฟังเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละอาทิตย์หรือในแต่ละครั้งที่เราดำเนินรายการมันย่อมไม่เหมือนกัน มันคาดเดาไม่ได้ และเร้าใจได้ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นตรงความเร้าใจตรงนี้ล่ะค่ะเป็นยาเสพติดอย่างหนึ่ง ที่พอเราขึ้นเวทีแล้วเรามีอะดรีนาลีน… สูบฉีดอยู่ในร่างกาย เหมือนกับยาเสพติดที่คนเขาไปออกกำลังกายกันทุกวัน เพราะฉะนั้นมันต้องโฟกัส และสมาธิต้องอยู่กับงานตลอดเวลา
POSITIONING – มองไว้ไหมว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไปสิ้นสุดอะไร ยังไง
สโรชา – ไม่มองค่ะ (หัวเราะ) เพราะถ้ามองแล้วน่ากลัว ตอนแรกคิดว่าคงจะมีการจัดสัญจรประมาณ 2-3 ครั้งมั้ง! แต่พอเพิ่มครั้งที่ 4 ก็สงสัยว่ายังไง ถามคุณสนธิ แล้วก็ได้คำตอบว่าเราก็จัดไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีคนฟังอยู่เราก็ทำ ตอนนี้ก็เลยไม่ถามต่อว่าจะจบยังไง จบในลักษณะไหน หรืออะไรอย่างไง เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้
POSITIONING – วางเป้าหมายชีวิตการทำงานข้างหน้าไว้อย่างไร
สโรชา – อยากทำรายการของตัวเอง ครีเอตด้วยตัวของเราเอง อยากจะอยู่เบื้องหลัง และเราอยากจะดูอยู่ว่านี่คือผลงานของเรา แล้วก็อยากจะลองในแง่ของการขายด้วย อยากจะดูเหมือนกันว่า ถ้าสโรชาไปยืนขายแล้ว จะขายได้ไหม เพราะนอกจากเราจะเป็นผู้ผลิตเองแล้ว มันจะ make money หรือเปล่า มันก็เป็นสิ่งท้าทาย กับการที่รายการ ให้คนดูยอมรับ ไม่ใช่ เออๆ คะๆ ไปวันๆ เพราะตอนนี้ก็เป็นข่าวหน้าหูเหลือเกินว่า สโรชา เป็นอนุคุณสนธิหรือเปล่า
POSITIONING – ตอบเขาไปอย่างไร
สโรชา – ตอบไปว่า คือไม่มีแม้กระทั่งมูล แอ้มก็ตอบด้วยความแฟร์จริงๆ ว่าคุณสนธิ ไม่เคยแม้กระทั่งทำตาเช้าชู้ใส่แอ้ม ไม่เคยมีจริงๆ อยู่บนเวที จะมีการแซวกันหรืออะไรก็ตาม นอกเวทีก็มีความเป็นนายเป็นลูกน้องอยู่เยอะมาก และก็สงสารคุณพ่อคุณแม่เหมือนกันที่ตอนแรกมีข่าวแบบนี้
POSITIONING – ตอนนี้คิดว่า positioning ของตัวเองอยู่ตรงไหน
สโรชา – อยู่ในงานมั้งค่ะ (หัวเราะ) จากเดิมที่เราวาง positioning ของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีการศึกษา ปริญญาตรีขึ้นไป อายุ 35 ปี หรือ 40 up แต่กลุ่มคนดูกว้างมากขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งเด็กนักเรียน เด็กนักศึกษา ระดับมัธยมต้นมานั่งดูรายการอยู่ทุกสัปดาห์ ซึ่งก็มีคุณยาย คุณป้า คุณลุง คุณอาที่หอบลูกหอบหลานมาก็มี คือเป็นอะไรที่เรากลับไปถึงจุดที่เราแมสจริงๆ
POSITIONING – วิธีการพูดต้องเปลี่ยนไหมคะ ถ้ากระแสนิยมรายการเราเปลี่ยนไปถึงกลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น
สโรชา – กลับมาสู่ความเป็นสาระของรายการ เป็นมุมมองของคุณสนธิ ที่คนให้ความสนใจแล้วก็มีจุดยืนที่ชัดเจน ส่วนตัวแอ้มเองก็คงต้องปรับในแง่ของชีวิตส่วนตัวก็คงต้องลดลงไปบ้าง ดูแลเนื้อตัวตัวเองมากขึ้น
หลายๆ ครั้งสถานการณ์เปลี่ยน คนมาดู เพราะอยากฟังคุณสนธิ เป็นหลัก และหากจะซักถามก็ถามเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
แต่โดยหลักแล้ว ก็มีอยูที่หนึ่งที่ คุณสนธิ เคยดุในรายการว่า เมื่อไหร่คุณจะ “เก็ต” สักทีว่ามันไม่มีหรอกมุมกลับนะ หรือ เอ้! คุณเข้าข้างใครกันแน่ ก็ทำให้แอ้มฝ่อไประดับหนึ่งเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่โดยภาพแล้วก็ยังคงเป็นเหมือนนะคะ แต่ในแง่ของการค้านจะน้อยลง
เพราะฉะนั้นตอนนี้ปล่อยให้เป็นช่วงที่ คุณสนธิ ได้สื่อสารกับท่านผู้ชมได้อย่างเต็มที่