“วิกฤตที่เกิดขึ้น เหมือนเหรียญอีกด้านหนึ่งมันสร้างโอกาสขึ้นมาด้วย แต่ก็ต้องแลกด้วยต้นทุนที่แพงแสนแพงประเมินค่ามิได้ นั่นคือความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งธุรกิจที่ต้องเสี่ยงหายไปจากสังคมไทย” จิตตนาถ ลิ้มทองกุล ซีอีโอผู้จัดการ อธิบายถึงปรากฏการณ์เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร
คำอธิบายที่ดูเหมือนจะยิ้มดีหรือไม่ควรยิ้มดี กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ซีอีโอผู้จัดการยอมรับว่า แบรนด์หรือความเป็น “ผู้จัดการ” นั้นมีฐานทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้นแบบไม่ตั้งใจ ขยายใหญ่ถึงระดับรากหญ้า เป็นมาร์เก็ตติ้งตามสถานการณ์ที่เอาตัวตน เอาจิตวิญญาณเข้าแลก
จิตตนาถ ยังมองอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายคนเชื่อว่า นี่อาจเรียกว่าวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ของธุรกิจผู้จัดการ ซึ่งกระทบอย่างรุนแรงทางด้านการดำเนินธุรกิจ แต่แก่นแท้นั้นของการต่อสู้ดังกล่าว คือการต่อสู้ทางเสรีภาพของสื่อ เมื่อถูกปิดกั้น จำเป็นที่เราต้องสู้ ลุกขึ้นเพื่อความชอบธรรม
“ขอย้ำว่า เราไม่ทำธุรกิจ ไม่ใช่มาร์เก็ตติ้งที่ตั้งใจจะทำเพื่อธุรกิจ แต่เป็นมาร์เก็ตติ้งที่เกิดขึ้นเอง ตามสถานการณ์ของรัฐบาลที่ต้องปิดกั้นสื่อ และดูเหมือนยิ่งปิด ยิ่งเกิดกระแส ยิ่งทำให้บทบาทของสื่อผู้จัดการสูงขึ้นตามดีมานด์ของประชาชน”
ตลาดธุรกิจด้านสื่อของผู้จัดการ ที่ขยายใหญ่ขึ้น จึงเกิดขึ้นจากดีมานด์ของสังคม หรือความต้องการของประชาชนที่อยากทราบข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดช่วงเวลานี้ สื่อในเครือผู้จัดการทุกแขนงได้รับความสนใจ และมีดีมานด์สูงชนิดที่คาดไม่ถึง และแทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการสื่อของเมืองไทย!!
สื่อแรก จากผลการสำรวจของเอซี นีลเส็น พบว่า หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มีแรงซื้อ ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว หรือ 100% จากยอดเฉลี่ย 70,000 เล่มต่อวัน ขึ้นมาถึง 150,000 เล่มต่อวัน นับตั้งแต่เมืองไทยรายสัปดาห์ถูกสั่งถอดออกจากผังช่อง 9 และจัดเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร
เหตุผลสำคัญ คือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันนั้น มีการนำเนื้อหาเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร มาลงตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ทำให้เกิดกระแสอยากรู้อยากเห็น อยากรับรู้เนื้อหาและเรื่องราวที่เกิดขึ้น
สื่อที่สองที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด คือ เว็บไซต์ผู้จัดการ หรือ www.manager.co.th จากที่ผ่านมา มีคนเข้าเว็บเฉลี่ยต่อวันเพียง 3 แสนคน พุ่งทะยานถึง 9 แสนคนต่อวัน
“ทุกวันนี้ กระแสของเว็บไซต์ไม่ใช่เพราะคลิกเข้ามาเพื่อชมเรื่องราวซ้อเจ็ดอีกแล้ว แต่เป็นการเข้ามาเพื่อดูเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร ซึ่งกลายเป็นเว็บไซต์ยอดนิยมสูงสุดในวงการเว็บไซต์ด้านข่าวสาร” ขณะที่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV ซึ่งกระแสที่เกิดขึ้นทำให้ได้รับความสนใจสูงมาก จากเดือนหนึ่งติดตั้งอยู่ประมาณ 400-500 ชุดต่อเดือน ตอนนี้เพิ่มขึ้น 10 เท่า เดือนหนึ่งต้องติดตั้งถึง 4-5 พันชุด ซึ่งมีเคเบิลทีวีท้องถิ่นนำขยายสัญญาณสู่ต่างจังหวัด ทำให้ยอดผู้ชมจากสื่อทีวีของผู้จัดการมีมากถึง 7-8 แสนคน
วิทยุในเครือผู้จัดการ ที่ขยายผลไปถึงวิทยุชุมชน มีการคาดการณ์คร่าวๆ ว่า มีผู้ฟังกว่าสองแสนคน ในขณะที่จัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร จัดขึ้น แม้สื่อวิทยุชุมชนจะถูกรบกวนสัญญาณ ถูกระงับ แต่กระแสผู้ฟังก็ขยายขึ้นแบบปากต่อปาก
นอกจากนี้ ซีดี เมืองไทยรายสัปดาห์ ที่เผยแพร่ไปแล้วกว่า 5 แสนแผ่น เสื้อสีเหลือง และขาว ภายใต้ข้อความที่ว่า “เราจะสู้เพื่อในหลวง” มีคนเข้ามาสั่งจองกว่าแสนตัวต่อสัปดาห์ หรือแม้กระทั่ง พ็อกเกตบุ๊กเมืองไทยรายสัปดาห์เล่ม 1-4 ซึ่งเคยจัดพิมพ์ ยอดขายแต่ละเล่มอยู่หลัก 2 หมื่นเล่ม ยังไม่รวมหนังเล่มอื่นที่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับตัว “สนธิ ลิ้มทองกุล” มียอดขายกว่าแสนเล่ม
“ประเมินอย่างคร่าวๆ เมื่อบวกสื่อต่างๆ เห็นว่า มีผู้สนใจเฉลี่ยต่อสัปดาห์ถึง 2 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับประชากร 60 ล้านคน เท่ากับว่าประชาชนทุกๆ 30 คน มี 1 คนที่สนใจรายการเมืองไทยรายสัปดาห์”
ปรากฏการณ์ดีมานด์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ก่อให้เกิดผลทางการเมืองอย่างมาก “สนธิ ลิ้มทองกุล” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เปลี่ยนภาพจากผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ มาสู่ ผู้ทรงคุณวุฒิทางสังคมไทย
ทางด้านการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคฝ่ายค้าน ได้นำผลของปรากฏการณ์กระแสเมืองไทยรายสัปดาห์มาเป็นพลังต่อสู้ เรียกว่า “การเมืองเข้ามาอิงกระแส” ซึ่งเคยปรากฏเป็นความเคลื่อนในวันที่ สนั่น ขจรประศาสน์หรือ เสธหนั่น นำซีดีเมืองไทยรายสัปดาห์ 200 แผ่นไปเผยแพร่ จ.พิจิตร และสามารถทำให้พรรคมหาชนชนะการเลือกตั้งซ่อม”
จิตตนาถ วิเคราะห์ทิ้งท้ายว่า มองในเชิงการตลาด เมืองไทยรายสัปดาห์เหมือนธุรกิจอินดี้ของจริง ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนใต้ดินทั้งหมด แต่น่าสนใจตรงที่ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างจากอินดี้ทั่วไป คือ ได้สร้างตลาดระดับ mass ตลาดที่ลงลึกตั้งแต่ระดับชนชั้นกลางถึงระดับรากหญ้า
ฉะนั้นคุณค่าของการนำเสนอรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร เป็นสิ่งที่เครือผู้จัดการเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงานทุกวันนี้ เพื่ออุดมการณ์ของสื่อสารมวลชน…
เมืองไทยรายสัปดาห์ฉบับแท็บลอยด์
เมื่อรัฐบาลพยายามไล่ปิดสื่อหรือช่องทางที่เกี่ยวเนื่องกับรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร จิตตนาถ บอกว่า นั่นจึงเป็นแรงคิดสำคัญที่ทำให้ ผู้จัดการตัดสินใจที่จะผลิต “เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร” ฉบับแท็บลอยด์ ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนซัพพลีเมนต์เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจรที่จัดขึ้นแต่ละสัปดาห์
เนื้อหาฉบับนี้ จะเน้นเนื้อหาในรายการแบบชอตต่อชอต ทุกคำ ทุกเหตุการณ์ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร ทุกแง่มุม โดยฉบับแรกได้วางแผงไปแล้วในช่วงวันที่ 22-28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กำหนดวางแผงทุกวันจันทร์ พิมพ์สี่สี
“ขอยืนยันว่านี่ไม่ใช่ทำเพื่อธุรกิจ แต่เป็นความต้องการของแฟนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่ต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสาร อยากเสพคอนเทนต์ของรายการที่จัดขึ้นชนิดทุกชอตทุกคำ ซึ่งก่อนหน้านี้หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันลงตีพิมพ์แต่ไม่สามารถลงเนื้อหาได้หมด เพราะมีพื้นที่จำกัด”
เป้าหมายของแท็บลอยด์ ฉบับนี้ นอกจากจะพิมพ์ประมาณหนึ่งแสนเล่มทุกๆ สัปดาห์ อนาคตตั้งหวังว่าจะเป็นการต่อยอด ผลิตเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นนิตยสารการเมือง เหมือนดั่งเช่น มติชนสุดสัปดาห์