เจาะเบื้องลึกผู้จัดการออนไลน์ “ม็อบดิจิตอล”

“ที่เว็บผู้จัดการเปิดให้แสดงความคิดเห็นได้ และอัพเดต 24 ชั่วโมง ก็มาจากความคิดของคุณสนธิ ที่เห็นศักยภาพของความเป็น interactive และ realtime ที่เหนือกว่าโทรทัศน์และวิทยุ” เว็บมาสเตอร์ของ manager.co.th “นิรันดร์ เยาวภา” ย้อนหลังให้ POSITIONING ฟังถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นเว็บข่าวที่แตกต่างจากเว็บข่าวในไทยรายอื่นๆ มีเรตติ้งเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาเว็บข่าวไทย และเป็นเว็บไทยที่ถูกเรียกดูจากต่างประเทศ (โดยคนไทยในประเทศต่างๆ) สูงที่สุด

นิรันดร์ย้อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆของ manager.co.th ตั้งแต่เริ่มตั้งมา เริ่มจากการเปลี่ยนหลักคิดพื้นฐานจากเดิมที่เว็บนั้นเป็นแค่หนังสือพิมพ์ฉบับดิจิตอล ปรับเว็บให้มาเป็นเว็บข่าวแยกตัวออกมาจากหนังสือพิมพ์โดยเฉพาะ เช่นหากเดิมนักข่าวของผู้จัดการรายวันไปทำข่าวมา 10 โมงเช้าแล้วต้องส่งข่าวภายในบ่าย 3 โมงเพื่อลงหนังสือพิมพ์รุ่งขึ้น ก็กลายเป็นว่าต้องส่งก่อน 11 โมงเพื่อลงเว็บให้มีความเป็น real time และตอกย้ำจุดเด่นนี้ด้วยวงเล็บท้ายหัวข่าวว่านำข่าวขึ้นมาแล้วกี่ชั่วโมงนาที

จากนั้นก็มาถึงสิ่งที่เป็น positioning ที่โดดเด่นของเว็บผู้จัดการ คือเปิดให้ใส่ความคิดเห็นท้ายข่าวได้ เป็นการใช้ศักยภาพด้าน interactive ความเห็นท้ายข่าวมักจะดุเดือดและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในข่าวดังๆ จนหลายครั้งยังเป็นที่สนใจติดตามอ่านมากกว่าตัวข่าว

ปีที่แล้ว เครือผู้จัดการได้เปิดสถานีโทรทัศน์ข่าว 24 ชั่วโมง เว็บผู้จัดการก็ได้นำมาใช้ 2 แนวทาง คือถ่ายทอดสดผ่านระบบ streaming 24 ชั่วโมงทางเว็บ และประสานงานกับทางสถานีโทรทัศน์นำเทปมาตัดเฉพาะคำพูดหรือเหตุการณ์ช่วงสั้นๆ มาเป็น clip VDO ประกอบท้ายข่าวต่างๆ ผนวกมัลติมีเดียเข้ากับเนื้อข่าวในเว็บ

เว็บผู้จัดการออนไลน์นี้เพิ่งจะมีการขายเนื้อที่โฆษณาอย่างจริงจังในปี 2547 ก่อนหน้านั้น เว็บถูกใช้เป็นเครื่องมือทดลองไอเดียการสร้างเว็บข่าว แจ้งเกิดจองตำแหน่งในใจคนว่าเป็นเว็บข่าวที่ดีที่สุด สร้างแบรนด์ “ผู้จัดการ” และสร้างแฟนประจำชุมชน community บนอินเทอร์เน็ตจำนวนมากๆ ขึ้นไว้ใช้ในอนาคตต่อไป ซึ่งเห็นผลชัดเมื่อเริ่มขายโฆษณาก็สามารถตั้งราคาได้สูงกว่าเว็บอื่นๆ และมีลูกค้าโดยสม่ำเสมอ

สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านนั้นเป็นกลุ่มเดียวกับหนังสือพิมพ์คือกลุ่มคนอายุ 30 – 50 ปี แม้จะเคยมีความพยายามใส่ลูกเล่นอย่าง e-card หรือ animation, wallpaper ต่างๆ เพื่อเรียกหนุ่มสาวอายุน้อยกว่านั้น แต่ก็พบว่ากลุ่มผู้อ่านหลักก็ยังเป็นกลุ่มเดิมทิ้งห่างกลุ่มอื่นๆ อยู่อย่างเหนียวแน่นจนปัจจุบัน และด้วยความเป็นเว็บที่เข้าถึงได้จากทั่วโลก ทำให้เว็บเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยในต่างประเทศจนยึดอันดับหนึ่งเว็บไทยที่ถูกเปิดจากต่างประเทศมากที่สุดมานาน

ทีมงานปัจจุบันของนิรันดร์มีราว 10 คน แบ่งสรรหน้าที่กันทั้งการนำข่าวขึ้นเว็บ, นำข่าวขึ้นไปรองรับมือถือของ DTAC, ไล่อ่านและกลั่นกรองความคิดเห็นท้ายข่าว และตัดต่อย่อรูปประกอบข่าวเพื่อขึ้นเว็บ

ก่อนกระแส “เมืองไทยรายสัปดาห์” นั้น ระบบงานอัพเดตดูแลเว็บเดินไปตามปกติด้วยบรรดาพนักงานผู้ช่วยของนิรันดร์ทั้งกลุ่มที่มีประสบการณ์ด้านข่าวมา และกลุ่มที่มีอายุน้อยไม่มีพื้นทางด้านข่าวนัก โดยนิรันดร์จะคุมภาพรวมของการทำงานและทำตัวเป็นผู้อ่านคนหนึ่งที่จะไล่อ่านตรวจตราครบทุกส่วนเสมอๆ

แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กระแสการเมืองนี้ทำให้ทุกวันศุกร์ตั้งแต่เมืองไทยรายสัปดาห์ออกสัญจรมา นิรันดร์กับนักข่าวสายการเมืองอีกคนต้องทำงานหนักขึ้นโดยลงมาจับประเด็นเขียนขึ้นเว็บด้วยตัวเอง โดยใช้ภูมิหลังกรทำงานที่คร่ำหวอดทางด้านข่าวให้เป็นประโยชน์ นอกเหนือจากการถอดเทปคำต่อคำที่เป็นหน้าที่ของผู้ช่วย

การถ่ายทอดสดรายการแบบ streaming นั้นทำให้ผู้ใช้ที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (broadband) ได้ดูได้ฟังรายการถึงแม้จะไม่มีจานดาวเทียม ASTV หรือเคเบิลท้องถิ่นถูกห้ามถ่ายทอดไปแล้ว ก่อนรายการจะถูกปลดจากช่อง 9 นั้น ยอดการเปิด multimedia ทั้ง streaming ถ่ายทอดสด ASTV การเปิดคลิปเจาะดูเฉพาะรายการนั้น เฉลี่ยรวมเพียงวันละราว 2 หมื่นครั้งต่อวัน แต่ในสัปดาห์แรกที่รายการย้ายไปสัญจรที่ธรรมศาสตร์ ยอดพุ่งไปที่ 5 หมื่นครั้งในวันนั้น และหลังจากนั้นก็จะอยู่ในระดับ 3 – 4 หมื่นแทบครั้งทุกวันจนถึงวันศุกร์ที่จะอยู่ในระดับราว 5 หมื่นครั้งทุกศุกร์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการดูถ่ายทอดสดช่วง 18:00 – 20:30 น. ที่ สนธิ-สโรชา จัดรายการนั่นเอง

ช่วงเวลาเช่นนี้เองที่การประสานงานระหว่างฝ่ายเว็บ ณ บ้านพระอาทิตย์และฝ่ายทีวี ณ บ้านเจ้าพระยาที่อยู่ตรงข้ามฝั่งถนนกันจะเป็นไปอย่างใกล้ชิด เมื่อภาพสดๆ จากการออกอากาศถูกส่งขึ้น server ที่กสท.ถ่ายทอดสดแบบ streaming ไป ขณะเดียวกันฝ่ายทีวีก็มีพนักงานคอย capture การออกอากาศไว้แล้วตัดส่งให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตัดต่อ และผู้คัดเลือกขั้นสุดท้ายคือ รุ่งมณี เมฆโสภณ ที่ปรึกษา กลุ่มผู้จัดการ คอลัมนิสต์อดีตนักข่าว BBC และเครือผู้จัดการที่คร่ำหวอดในวงการมานานพร้อมผู้ช่วย ซึ่งคลิปสั้นที่ตัดและคัดเลือกแล้วเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นเสียงจริงภาพจริงไว้อ้างอิงประกอบข่าวต่างๆ ที่นิรันดร์และนักข่าวการเมืองอีกคนกำลังใช้ความเป็นนักข่าวจับแตกประเด็นเขียนแข่งกับเวลา

ส่วนที่ร้อนแรงที่สุดในแต่ละข่าวก็คือความคิดเห็นท้ายข่าว ความเห็นนับหมื่นๆ ความเห็นในส่วนการเมืองระยะหลังนี้ มีทั้งสนับสนุนและคัดค้านโจมตีสนับสนุนสนธิ ลิ้มทองกุล นอกจากนี้ยังมีกระแสความคิดเห็นผู้อ่านที่มีถึงเว็บผู้จัดการโดยตรง 2 ข้อกล่าวหา คือปิดกั้นข้อความที่ไม่เห็นด้วยกับสนธิ และลงแต่ข่าวความเคลื่อนไหวตอบโต้กันในกระแส “เมืองไทยฯสัญจร” จนทิ้งข่าวอื่นๆ ไปหมดแล้ว นิรันดร์ในฐานะเว็บมาสเตอร์ย่อมจะชี้แจงได้ดีที่สุด

กับข้อกล่าวแรกนั้น นิรันดร์ยืนยันว่าทีมงานจะสกัดกั้นก็แต่ข้อความที่มีคำหยาบคาย หรือโจมตีสถาบันเบื้องสูง หรือโจมตีชื่อบุคคลที่สาม หรือมาโฆษณาขายของเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามกฏที่ใช้มานานแล้ว ที่มีผู้ประท้วงอาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจกับระบบใหม่ของเว็บที่เมื่อโพสต์ข้อความในหน้าการเมืองแล้ว ต้องรอราวหลายนาที ข้อความถึงจะขึ้น หรือไม่เช่นนั้นข้อความที่ส่งมาก็มีคำหยาบคายอยู่

เหตุผลที่ต้องมีระบบรอหลายนาทีหลังโพสต์ข้อความนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น เนื่องจากในอดีตข้อความมีมากมาย กว่าทีมงานจะมาย้อนลบภายหลังก็มีเรื่องราวคดีขึ้นแล้ว แต่ทั้งนี้จะทำเฉพาะส่วนการเมืองและอาชญากรรมเท่านั้น นี่ก็เป็นเหตุให้มีหลายคนหนีไปโพสต์ข้อความหมิ่นเหม่ด้านการเมืองและสังคมในข่าวอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นหมวดกีฬาแทน

ส่วนกระแสเมืองไทยรายสัปดาห์ ขึ้นติด “5 อันดับข่าวยอดนิยม” ทางขวาของหน้าแรก ทั้งหมดมาจากกระแสของสนธิ ลิ้มทองกุล กับการตอบโต้ของทางรัฐบาล ซึ่งอยู่ในความนิยมอย่างแท้จริง ดูได้จากจำนวนความเห็นท้ายข่าวและการพูดคุยของคนในสังคมภายนอกเว็บเป็นสิ่งยืนยัน

ส่วนกระแสที่ว่าจะถูกปิดเว็บไซต์หรือไม่นั้น นิรันดร์เปิดเผยว่ามีความพยายามเดินเรื่องให้ปิดจาก “ผู้ใหญ่” ที่เกี่ยวข้องกับ กสท. บางคน การ “ปิด” ทำได้หลายวิธีเช่นปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่ทางผู้จัดการได้ซื้อไว้นับสิบเครื่องๆ ให้ทำงานร่วมกันเป็น “server farm” ในตึกของ กสท. เพื่อความเร็วในการรองรับผู้ใช้จำนวนมากๆ หรือจะใช้วิธีเปลี่ยนข้อมูลใน DNS (domain name server) ของ กสท. เพื่อให้ที่อยู่เว็บ manager.co.th หรือตัวเลขที่อยู่แท้จริง (IP address) ถูกส่งต่อไปที่เว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแทน แบบที่เคยเกิดกับเว็บไซต์บางแห่งก่อนหน้านี้เป็นต้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มขณะนี้น่าจะยังไม่มีการปิดแต่อย่างใด

Profile

Name: นิรันดร์ เยาวภา
Age : 40 ปี
Education:
ปริญญาตรี ศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เอกประวัติศาสตร์
Career Highlights:
2545 – 2548 webmaster เว็บไซต์ manager.co.th
2541 – 2545 บรรณาธิการข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
2536 – 2540 นักข่าวสายภูมิภาค หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน
2534 – 2536 นักข่าวสายภูมิภาค หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ