เพลงเพื่อชีวิตจาก 14 ตุลา ถึงเมืองไทยรายสัปดาห์

…ที่แยกตรงนั้น มันมีเพียงสอง แยกหนึ่งแสงสีเรืองรอง แยกสองป่าดงพงพฤกษ์พนา…บทเพลง ภาษาตัวโน้ตที่กลายเป็นเพลงประจำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร

เพลงนี้ชื่อ 2548 คำร้อง และทำนอง โดย “หงา คาราวาน” หรือ สุรชัย จันทิมาธร ซึ่งแต่งขึ้นใหม่สดๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ “สนธิ ลิ้มทองกุล” หลังรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร” ถูกถอดออกผังรายการช่อง 9 อสมท

เนื้อหาของบทเพลงดังกล่าว หงา พยายามสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางอนาคตของชาติว่าจะเลือกแบบไหน ระหว่างเส้นทางหนึ่งที่มุ่งการพัฒนาเน้นความทันสมัย แต่เหมือนเดินบนความเสี่ยง ขณะที่อีกเส้นหนึ่งมีสีเขียวของธรรมชาติให้เดิน

พิจารณาจากกระดาษที่หงาเขียนเพลง และลงวันที่ เขาแต่งเพลงนี้เสร็จเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 48 ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งที่สื่อมวลชนกำลังถูกคุกคามจากอำนาจมืด ทั้งจากเหตุการณ์การเข้าซื้อหุ้นมติชนของแกรมมี่ มาถึงรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ถูกสั่งถอดออก

บทเพลงนี้ได้บรรเลงขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 48 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ หงา คาราวาน หยิบกีต้ามาร้องเพลง 2548 แบบสดๆ ให้ สนธิ ลิ้มทองกุล นั่งฟัง ในช่วงแถลงข่าวเปิดใจภายหลังเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกถอด และเพลงนี้ก็ถูกเปิดเรื่อยมาจนเหมือนเป็นเพลงประจำรายการดังกล่าว

เพลงนี้ยังไม่มีขายหรือบรรจุอยู่ในอัลบั้มของคาราวาน เป็นบทเพลงเพื่อมวลชน ที่แฟนรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สามารถรับฟังได้ที่ www.manager.co.th โดยการโหลดในรูปของไฟล์ MP3 และ zip

เพลงเพื่อชีวิต ได้กลายเป็น“สัญลักษณ์”ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้อง “ความเป็นธรรมในสังคม” นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2546 จนมาถึง “รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร” ที่มีเพลงเพื่อชีวิตมาใช้เปิดรายการเป็นประจำ ในช่วงเริ่มต้นรายการ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. จนถึง 18.00 น. ก่อนเวทีข่าว News talks ระหว่าง “สนธิ-สโรชา” จะเริ่มขึ้น

“เราอยากให้อารมณ์มันไปด้วยกัน เป็นงานเพื่อมวลชน…วงดนตรีที่เราติดต่อไป และเขาติดต่อมาเล่น มีทั้งที่เราติดต่อไป และเขาติดต่อมาเอง” ทีมงานของรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการติดต่อ วงดนตรีเพื่อชีวิต บอกถึงที่มา

ไม่น่าแปลก ที่เวทีแห่งนี้ จะไร้ เงาวงดนตรีที่มาจากค่ายเพลงใหญ่ๆ แกรมมี่ หรืออาร์เอส และวงดนตรีเพื่อชีวิตเหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็มักจะไร้สังกัด

เมื่อจุดยืนร่วมกัน เวทีแห่งนี้ จึงกลายเป็นศูนย์รวมพลวงดนตรีแนวเพลง “เพื่อชีวิต” ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาบรรเลงบทเพลง และทำให้ วง “คาราบาว” ต้องกลับมาเล่นกันเต็มวงทั้ง 4 คน หงา-สุรชัย จันทิมาธร, หว่อง-มงคล อุทก, อืด-ทองกราน ทานา, แดง-วีระศักดิ์ สุนทรศรี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ด้วยความร้อนแรงของรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร” ที่เพิ่มดีกรีความเข้มข้นและผู้คนที่มาร่วม ยิ่งทำให้บทเพลงของวงดนตรีเพื่อชีวิต จากหลายวงที่เคยโด่งดังในอดีต และเงียบหายไปมานาน กลับมาก้องอยู่กลางใจม็อบได้อีกครั้ง

จนกระทั่งมีคนในฝั่งรัฐบาลที่พยายามสะกัดกั้นไม่ให้วงดนตรีเพื่อชีวิตมาร่วมในเมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร “ปิดกั้น” ข่าวสารไม่พอ แม้แต่เสียงเพลง ก็ยังเปิดไม่ได้