เจาะฮิพฮอพสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง

นี่ถือเป็นการประกาศตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ ทาวน์ เซิร์ฟ เจ้าของลิขสิทธิ์ผู้นำเข้าสินค้าแบรนด์เนม 9 แบรนด์ดังจากออสเตรเลียและอเมริกา ประเภทเซิร์ฟและสตรีทแวร์ หรืออุปกรณ์ เครื่องแต่งกาย กีฬาทางน้ำ กีฬาสเกต หรือ เวคบอร์ด ภายใต้แบรนด์อาทิ ควิก ซิลเวอร์ (Quiksilver), รอกซี่ (Roxy), พอล แฟรงค์ (Paul Frank)

อาจด้วยเหตุผลที่ว่า ถึงเวลาที่ทาวน์ เซิร์ฟจะต้องสร้างตลาดอย่างจริงจัง และสร้าง Position ให้ชัดว่า จะก้าวต่อไปสู่ความเป็นผู้นำตลาดสินค้ากีฬาเซิร์ฟและสตรีทแวร์

กระแสกีฬาเซิร์ฟ หรือการเล่นกระดานโต้คลื่น ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นในประเทศไทยพร้อมๆ กับกีฬา X games หรือเพลงสไตล์ฮิพฮอพ ที่เข้ามามีอิทธิพลในการให้กลุ่มคนซื้อเสื้อผ้าสไตล์นี้มากขึ้น ถือเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ เสริมชัย ปัทมดิลก เอ็มดี ทาวน์ เซิร์ฟ มั่นใจว่า ตลาดแฟชั่นแบบเซิร์ฟและสตรีทแฟชั่นเติบโตขึ้นอีกมาก หากขยายช่องทางการจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มตลาดวัยรุ่น

ช่องทางหนึ่งของการขยายตลาดการขาย นอกจากการมุ่งพลังการขายจากร้านรีเทลทั่วประเทศ ซึ่งมีถึง 35 สาขาที่เปิดบริการไปแล้ว ในจุดท่องเที่ยวสำคัญๆ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา สมุย และชะอำ สิ่งที่ทำให้ผู้บริหารทาวน์ เซิร์ฟมุ่งมั่นคือ การขยายร้าน ภายใต้คอนเซ็ปต์ คอนเนอร์ ในสยามพารากอน และร้านในสนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นสาขาใหม่ที่จะเป็นหัวหอกสำคัญทางการตลาด

เอ็มดี ทาวน์ เซิร์ฟ อธิบายว่า สาขาที่จะเปิดใหม่ โดยเฉพาะสยามพารากอน จะมีถึง 6 ร้าน ครอบคุลมในพื้นที่สยามพารากอน ถือเป็นทำเลที่ทรงพลังที่สุดแห่งหนึ่งในอนาคตในการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งจะสามารถทำยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 200% โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-25 ปี ที่มีฐานะดี มีรายได้เฉลี่ย 20,000 ต่อเดือน นับเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

ปัจจุบันรายได้ของบริษัทในปี 2005 นี้มีมูลค่ากว่า 300 ล้าน และคาดว่าปีหน้าจะมีรายได้มากกว่า 400 ล้านบาท โดยสินค้าภายใต้การนำเข้าทาวน์ เซิร์ฟ มีสัดส่วนทางการตลาดถึง 70% ส่วนคู่แข่งในตลาดเดียวกันก็มีเพียง Billabong ของ Central และ Mambo ของ Club 21

ขณะเดียวกัน ฑีฆาวัฒน์ ปัทมา ผู้จัดการการตลาด ยังเปิดเผยแผนการตลาดว่า ได้จัดงบไม่ต่ำกว่า 15 ล้าน ในการ Promotion เนื่องจากเป็นแบรนด์นำเข้า จึงไม่มีนโยบายในการลดราคา แต่จะเป็นการให้ของแถม Premium มากกว่า และยังมีการทำธุรกิจในลักษณะแบบ Franchise สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดในต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อร้าน Surfer Paradise เป็นร้านที่มีสินค้าคละยี่ห้อกัน ลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท

นอกจากจะมีการลงโฆษณาตามนิตยสารต่างๆ แล้ว ทางบริษัทยังมี In house magazine เป็นของตัวเอง โดยจะออก 4 เดือนครั้งหนึ่ง เนื้อหาเกี่ยวกับกีฬาที่ใช้ Board เล่น ถือว่าเป็นเล่มแรกของเมืองไทย แถมยังมีการสนับสนุนการเล่นกีฬาทางน้ำอย่างเซิร์ฟ เพื่อให้แพร่หลายมากขึ้น จากที่เคยคิดว่า ทะเลไทยไม่สามารถเล่นเซิร์ฟได้ แต่ทางบริษัทได้ทำการสำรวจพบว่า ภูเก็ตสามารถเล่นได้ และกำลังค้นหาจุดเล่นเซิร์ฟอื่นๆ อีกในฝั่งตะวันออกด้วย

ผลิตภัณฑ์ในเครือของ ทาวน์ เซิร์ฟ มีถึง 9 แบรนด์ดัง ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกสรรได้ตาม เว็บไซต์ดังต่อไปนี้

Website :
www.quiksilver.com
www.roxy.com
www.paulfrank.com
www.volcom.com
www.volcoment.com
www.stussy.com
www.reef.com
www.zooyork.com
www.surfergirl.com