สัตว์ประหลาด… ตัวช่วย KTB ?

เป็นกระแสของวงการธนาคารไทยที่ลุกฮือปรับตัว ยกภาพลักษณ์กันยกใหญ่ ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร “ความทันสมัย” ถูกชูเป็นจุดขายของทุกแห่ง ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB หลายปีที่แล้วมีภาพลักษณ์สุดเชย ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนเป็น บมจ.ธนาคารกรุงไทย ด้วยภาพลักษณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น อีกทั้งการมีบัตรเครดิต KTC ก็ช่วยอัพเกรดแบรนด์อิมเมจได้บ้าง แต่ล่าสุดกับการเปิดตัวบริการ KTB Speed Cash Transfer สำหรับลูกค้ารายย่อย เป็นตัวสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของความทันสมัยที่ถ่ายทอดผ่าน “ความสะดวกสบาย” เรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์โฆษณาโดยใช้สัตว์ประหลาดเป็นตัวแสดง ด้วยท่าทีสนุกสนานปนอารมณ์ขัน แต่ไม่วายแอบทำซึ้ง

คาแร็กเตอร์…เทรนด์นิยมโฆษณาแบงก์ไทย

เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ของภาพยนตร์โฆษณาธนาคาร นับแต่ K-heroes ของ KBANK ออกมาวาดลวดลายตั้งแต่ตุลาคม 2548 เป็นต้นมา การเลือกใช้คาแร็กเตอร์แทนคนอาจส่งผลในแง่ของ brand awareness ได้พอสมควร แต่ในกรณีของ KTB สัตว์ประหลาด Goody คงเป็นได้เพียง product presenter หาใช่ coporate icon เหมือน K-heroes ไม่… นั่นคือความจงใจของ KTB โดยแท้

วัตถุประสงค์ของ TVC ชุด Goody นี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์สู่ความเป็นธนาคารแห่งความสะดวกสบาย KTB จึงเลือกที่จะหยิบยกเอาบริการซึ่งชูความสะดวกสบาย ที่ไร้พิธีรีตองมาผลิตเป็น TVC เพื่อเป็นตัวแทนที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของธนาคาร ที่การใช้บริการจากธนาคารไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเพราะความอืดอาดยืดยาดอีกต่อไป เนื่องจากบริการ KTB Speed Cash Transfer เป็นบริการโอนเงินสดด่วนข้ามจังหวัดที่เน้นความสะดวกสบาย เพราะไม่ต้องมีบัญชีทั้งผู้โอนและผู้รับ โดยค่าธรรมเนียมการโอนต่ำกว่ารูปแบบอื่น คือ ครั้งละ 30 บาท

ทางทีมครีเอทีฟซาทชิ แอนด์ ซาทชิจึงคิดนอกกรอบแบบหลุดโลก โดยใช้ Goody ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดที่ไม่น่าจะมีบัญชีเงินฝากได้ แต่ก็ยังสามารถทำงานโอนเงินกลับไปให้แม่ที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่อสื่อ core message ที่ว่า “โอนเงินได้ไม่ต้องมีบัญชี” นี้ให้ชัดเจน

ประเสิรฐ วิจิตพาวรรณ Associate Creative Director บริษัท ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ จำกัด บอกกับ POSITIONING ว่า “ก่อนหน้านี้โฆษณาของ KTB Speed Cash Transfer นำเสนอในรูปแบบของ print ad ก่อนที่จะเป็น TVC การที่จะนำเสนอว่า KTB ต้องการพรีเซนต์ความเป็น convenience bank นั้นหากจะทำเป็นหนังคอร์ปอเรตจะดูเลื่อนลอยจับต้องไม่ได้ จึงทำหนังเป็น product ad ซึ่งจะเห็นภาพชัดเจนกว่า สร้างอะไรที่จับต้องได้จะดีกว่า ต่อไปก็จะมี product ad ของ KTB ออกมาเรื่อยๆ หนังเรื่องนี้เราเตรียมการมานาน เป็นความบังเอิญมากกว่าที่ใช้คาแร็กเตอร์เหมือนกัน..ไม่ได้ตามใคร”

“หนังต้องมีเอคเซคคิวชั่นน่าสนใจ และต้อง delivery message ได้ชัดเจน เราก็นึกถึงไลฟ์สไตล์ของคนที่น่าจะใช้โปรดักส์ตัวนี้ว่าควรเป็นใคร แต่หลักๆ คือ โอนเงินกลับไปให้ที่บ้าน ที่จริงแล้วกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ทุกคนที่ต้องการโอนเงิน การเลือก japanese monster เพราะมันมีแง่มุมน่าสนใจให้เล่น โดยปกติคนมักมองว่าพวกสัตว์ประหลาดมักโหดร้าย ทารุณ ไร้หัวจิตหัวใจ แต่เราเสนอมุมกลับว่า จริงๆ สัตว์ประหลาดพวกนี้ก็มีอาชีพ ไม่ได้เข่นฆ่าใครเสมอไป เขาเป็นนักแสดงเสี่ยงตาย เป็นสตั้นท์ เราพลิกมุม ก็เลยสร้างเรื่องเป็น Goody ให้เป็นนักแสดงมาขุดทองในเมือง”

และ TVC ชุดนี้จะเป็นจิ๊กซอว์ตัวแรก ที่เปิดภาพลักษณ์ความเป็น convenience bank ของ KTB ซึ่งจะออนแอร์จนถึงสิ้นปี 2548 นี้ และจะมี product & service ad ตัวอื่นๆ ตามมาเสริมเพื่อให้เกิด brand image ในใจผู้บริโภคตามที่ KTB มุ่งหวัง

เดินเรื่องด้วยสัตว์ประหลาด…Goody ยอดกตัญญู

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทย สัตว์ประหลาดยักษ์ออกอาละวาด ทำให้ผู้คนแตกตื่นพากันวิ่งหนีเอาชีวิตรอดอย่างชุลมุน ตึกสูงหลายตึกถูกถล่มพังแทบไม่เหลือซาก กองทัพจึงต้องส่งกองกำลังพิเศษ ทั้งฝูงบินขับไล่ และรถถังประจัญบานเข้าต่อกรอย่างดุเดือด แต่แล้วจู่ ๆ ความโกลาหลก็กลับสงบลงทันทีอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย เมื่อสิ้นเสียงคำสั่งให้เลิกกองของผู้กำกับ ความวุ่นวายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงฉากแอ็กชั่นฉากหนึ่งในหนังเท่านั้น ภาพทุกอย่างที่เห็นเป็นเพียงอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ถูกจำลองขึ้นเพื่อใช้ในการถ่ายทำ มีเพียงเจ้าสัตว์ประหลาดร่างยักษ์ที่ชื่อ Goodyเท่านั้นที่เป็นของจริง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว มันเป็นสัตว์ประหลาดที่มีจิตใจอ่อนโยน ยอมเจ็บตัวเล่นหนังโดยไม่ใช้ตัวแสดงแทน เพียงเพื่อจะหาเงินส่งกลับไปให้แม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ผ่านทางบริการ KTB Speed Cash Transfer ที่ถึงแม้ว่ามันจะไม่สามารถมีบัญชีอยู่กับทางธนาคาร แต่ก็ยังทำการโอนและรับเงินด่วนได้ โดยมีแม่รอรับอยู่ปลายทางด้วยการแจ้งหมายเลขโอนเท่านั้น

Credit

Title : Goody
Product : KTB Speed Cash Transfer
Advertiser : บมจ.ธนาคารกรุงไทย
Advertising Agency : บริษัท ซาทชิ แอนด์ ซาทชิ จำกัด
Creative Team :
– Associate Creative Director ประเสริฐ วิจิตพาวรรณ
– Art Director กิตติธัช ลาภพิทักษ์พงษ์
– Copywriter อิทธิ ปัจจันตโฆษิต ธีวินท์ เทียนทองทิพย์
Production House : Sky Exit
Director : อนุรักษ์ จั่นสัญชัย

ody’s Story

ไม่ละทิ้งคอนเซ็ปต์ของคาแร็กเตอร์ทั่วโลก ที่จะต้องมีเรื่องราวเบื้องลึกนับแต่ต้นกำเนิด Goody ก็เช่นเดียวกัน ทีมครีเอทีฟได้ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ กำเนิด Goody ไว้อย่างแปลกแปร่งดังนี้

ในปี ค.ศ. 1981 นักดาราศาสตร์ขององค์การนาซ่าได้ค้นพบว่าดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อกูดิแอค มีวงโคจรซ้อนทับกับวงโคจรของโลก ซึ่งอาจทำให้เกิดการชนกันของสองดาวเคราะห์นี้ได้ เพนตาก้อนได้คิดแผนการที่จะหยุดยั้งเหตุร้ายนี้ขึ้นอย่างลับ ๆ โดยการยิงขีปนาวุธขึ้นไปสู่อวกาศ หมายจะทำการระเบิดดาวเคราะห์น้อยกูดิแอคนี้ออกเป็นเสี่ยง ๆ ก่อนที่มันจะโคจรเข้าสู่ระยะอันตราย โดยหารู้ไม่ว่าการตัดสินใจดังกล่าว ได้ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตท้องแก่ชีวิตหนึ่ง จำต้องพลัดพรากจากสามีที่รัก และแผ่นดินบนดวงดาวบ้านเกิด หลุดมาสู่พื้นโลกบริเวณชายแดนไทยพม่า ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ด้วยเหตุนี้เองเธอจึงตั้งชื่อลูกชายที่เกิดออกมาว่า “Goody” เพื่อเป็นการรำลึกถึงดวงดาวที่เคยอยู่อาศัย และนอกจากนั้นคำ ๆ นี้ยังมีความหมายที่แปลว่า “เด็กดีของแม่” ในภาษาของมนุษย์โลกอีกด้วย สองแม่ลูกจำต้องมีชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ในเทือกเขาทางภาคตะวันออก แต่เมื่อวันเวลาผันผ่านไป ชาวบ้านชาวเมืองก็เริ่มคุ้นเคยกับแม่ลูกสองชีวิตต่างดาวคู่นี้

20 กว่าปีผ่านไป เด็กชาย Goody เติบโตขึ้นเป็นหนุ่มใหญ่ แล้วก็ยังเป็นคนดีสมชื่อ เขาลาแม่ที่รักมาแสวงหาโอกาสทำกินในเมืองหลวง เนื่องจากได้ค้นพบว่า ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่เหมาะกับสัตว์ประหลาดต่างดาวอย่างเขา ในยุคที่หนังไทยกำลังเฟื่องฟูถึงขีดสุด นั่นก็คือการเป็น “นักแสดงตัวประกอบสัตว์ประหลาด” นั่นเอง