แชตกับปลา

“ปลา” ที่ว่านี้ ไม่ใช่คนชื่อปลา แต่เป็นบรรดาปลาน้อยใหญ่ที่แหวกว่ายไปมาอยู่ในสยามโอเชี่ยนเวิร์ล1 ในแม่เหล็กของห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

บริการส่ง SMS เพื่อชิตแชตกับปลา เป็น 1 ในบริการที่ทีมงานของทรู คอร์ปอเรชั่นคิดขึ้นมา และยกมาตัวอย่างในงานแถลงข่าวเปิดตัวบริการใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในอะควาเรี่ยมล่าสุดของเมืองไทย

บริการใหม่นี้ต่อยอดมาจากการเป็น “สปอนเซอร์”เพียงรายเดียวให้กับสยามโอเชี่ยนเวิลด์ แต่แทนที่ทรูจะทำแค่ป้ายยี่ห้อทรูตามบริเวณต่างๆ หรือปักชื่อทรูบนเสื้อพนักงาน เหมือนสปอนเซอร์ทั่วๆ ไป แต่กลับคิดไกลไปกว่านั้น

“โจทย์ของเราคือ ทำอย่างไรที่นำเรื่องของเทคโนโลยีมา blend กับเรื่องราวของอะควาเรี่ยมแห่งนี้”ผู้บริหารของทรูบอก

ทรูได้นำเอาปลากว่า 30,000 ตัวมาแปรเปลี่ยนเป็นเนื้อหา (content) ให้บริการ ผ่านเว็บไซต์ “ทรู ออนไลน์” ให้คนสามารถเข้ามาดูที่มาประวัติของปลาชนิดต่างๆ ก่อนเข้าชมจริง

ถ้าอยากดูปลาแหวกว่ายไปมาเหมือนอยู่ใต้น้ำ ก็ทำได้ด้วยการดาวน์โหลดเป็นไฟล์ “วิดีโอคลิป” เพราะทรูติดตั้งกล้องใต้น้ำ 6 ตัว ใน 6 tank ซึ่งจะเชื่อมต่อด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้สามารถเรียกดู จากหน้าจอคอมพ์ฯ หรือมือถือกันแบบสดๆ

ไม่เท่านั้น ทรูยังนำสัตว์น้ำต่างๆ มาปั้นให้เป็นตัว “คาแร็กเตอร์การ์ตูน” 10 ชนิด ปลาทั้ง 10 ชนิดนั้นจะ มีชื่อเรียก และเรื่องราวที่ต่างกันไป เพราะในวิถีของการ์ตูนนั้นสามารถให้ทั้งความรู้ และความบันเทิง สีสันที่ดึงดูดความสนใจ เข้าถึงได้ง่ายๆ

งานนี้ทรูถึงกับทำเป็นแคมเปญการตลาด ใช้ชื่อว่า True Ocean Stars การ์ตูนปลาทั้ง 10 ชนิด ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในบัตรเติมเงินเท่านั้น แต่ยังสามารถดาวน์โหลดเป็น wallpaper หรือ M card บริการ screensaver ถ้าไม่จุใจ สามารถ chat คุยกับบรรดาปลาทั้ง 10 ชนิด ผ่านบริการ SMS ถ้าเป็นคอเกม สามารถเลือกเล่นเกม JAVA เสีย 40 บาทต่อเกม

โครงการนี้ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมเพื่อสังคม ภายใต้คอนเซ็ปต์ชื่อว่า “ห้องเรียนธรรมชาติ” ที่ทรูทำขึ้นเป็นปีที่ 11 และที่อะควาเรี่ยมแห่งนี้จะเป็นอีก 1 ในห้องห้องเรียนธรรมชาติในปี 2549 นี้
การมาของสยามโอเชี่ยนเวิลด์ต้องเรียกว่า เข้าทางทรูพอดี เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาดแบบemotional marketing เพื่อเข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า เป็นความลงตัวที่เรียกว่า ได้ทั้งเงินและกล่อง

ชีวิตดิจิตอลในอะควาเรี่ยม

นอกจาก “ปลา” ที่แหวกว่ายไปมาแบบยกทะเลมาไว้ที่นี่แล้ว สิ่งที่สยามโอเชี่ยนเวิลด์ให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ ระบบ network และสื่อสารโทรคมนาคม

โจทย์ในการหาสปอนเซอร์ของสยามโอเชี่ยนเวิร์ลกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ต้องเป็นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมเท่านั้น

ในอะควาเรี่ยมแห่งนี้ นอกจากจะใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่เชื่อมต่อด้วย IP LAN เพื่อถ่ายทอดสัญญาณกล้องใต้น้ำไปยังเว็บไซต์ทรูออนไลน์แล้ว ยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือ พีซีที และหิ้วโน้ตบุ๊ก พ็อกเก็ตพีซี มาใช้งาน โดยมีระยะเวลาการเป็นสปอนเซอร์ 5 ปี