ในยุค Globalization โลกไร้พรมแดนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมข้ามพรมแดน นำมาซึ่งการหลั่งไหลของสินค้าและวัฒนธรรมจากประเทศหนึ่งสู่ประเทศหนึ่ง จากซีกโลกหนึ่งสู่อีกซีกโลกหนึ่ง กระแส “Americanization” ที่เคยเกิดขึ้นหลายสิบปีก่อน อาจกล่าวได้ว่าคือตัวอย่างแรกๆ ของกระบวนการขายสินค้าผ่านการแทรกซึมของวัฒนธรรมอเมริกัน โดยมี “Hollywood” Product เป็นตัวนำร่อง
เมื่อลมพัดหวนกลับมายังฝั่งตะวันออก วัฒนธรรมเอเชียกลายเป็นจุดสนใจของชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ “จีน” พี่ใหญ่แห่งเอเชียดูจะเป็นตัวเต็ง เพราะเป็นรายแรกของเอเชียที่เริ่มแผ่ขยายวัฒนธรรมจีนผ่านหนังละครส่งออกไปประเทศต่างๆ แต่ทว่าก็ยังไม่ใช่ตัวจริง มาถึงกระแส J-Trend ที่มาแรงเมื่อ 10 กว่าปีก่อน สร้างมูลค่าและค่านิยมอันดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นได้มาก แต่ก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับมูลค่าเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
จนกระทั่งกระแส “Hallyu” จากประเทศเล็กๆ ที่ UNESCO เคยจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในประเทศยากจนเมื่อหลายสิบปีก่อน ประเทศที่มีผ่านสงครามซ้ำแล้วซ้ำอีกจนต้องจมอยู่กับประวัติศาสตร์อันขื่นขมมานานหลายสิบปี แต่ทว่าวันนี้ “Hallyu” หรือ Korean Wave คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่ถูกส่งออกไปผงาดอยู่ทั่วโลก ทำให้ “พี่ใหญ่” หลายประเทศต้องหันมามองประเทศเล็กๆ อย่าง “เกาหลี” ในมุมใหม่
Rebirth of “Hallyu”
“Hallyu” หรือ Korean Wave หรือก็คือ วัฒนธรรม K-pop ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะละครและหนังเกาหลีที่ได้รับการยอมรับจากคนดูได้ทุกชาติทุกภาษา และสร้าง “ดีมานด์สูง” อยู่ในตลาดโลก โดยเริ่มต้นจากชนชาติเอเชียด้วยกัน ข้ามฝั่งไประบาดยังฝั่งตะวันตกทั้งยุโรป และอเมริกา และไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศ “มุสลิม” อย่างตะวันออกกลาง
Korean Wave เกิดขึ้นครั้งแรกในปลายยุค 90 โดยจีนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Hallyu” ที่ใช้หมายถึง ปรากฏการณ์ความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีที่มาจากอิทธิพลของสินค้าวัฒนธรรม K-pop ซึ่งได้แก่ เพลง ละคร หนัง เกม นิยาย การ์ตูน แอนิเมชั่น ฯลฯ โดยเริ่มมาจากกิจกรรมของภาคเอกชนในการค้าขายทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะหนัง ละคร และเพลงเกาหลี แต่กระแสที่เกิดขึ้นและรายได้มหาศาลที่กลับเข้าสู่ประทศ ทำให้รัฐบาลเกาหลีต้องกลับมาพิจารณานโยบายเสียใหม่
สำหรับจุดขายของสินค้า Hallyu หรือสินค้าวัฒนธรรมเกาหลี โดยเฉพาะหนังละคร และเพลงเกาหลีมาจากความสดใหม่ที่เป็นทางเลือกของตลาดโลก ในยามที่กระแส J-pop เริ่มน่าเบื่อ และลัทธิ Anti-American ขยายไปทั่วโลก
“Hallyu” VS. Economic Effect
มูลค่าการส่งออกละครของเกาหลีในปี 2547 อยู่ที่ประมาณ $ 71.46 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ถึง 69.6% และในปีเดียวกันนี้เอง ราคาขายลิขสิทธิ์ละครเกาหลีต่อ 1 ยูนิต (1 ยูนิต = ตอนละ 50 นาที) ทะยานจาก $ 2198 เหรียญ ขึ้นไปถึง $ 4046 เหรียญ คิดเป็น 84% ทั้งนี้เพราะ “ดีมานด์” ที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ภาพลักษณ์คุณภาพที่ดีของละครเกาหลี และกระแสนิยมในตัวนักแสดงเกาหลี …เหล่านี้ล้วนแต่เพิ่มมูลค่าให้กับละครเกาหลี
สำหรับมูลค่าการส่งออกหนังเกาหลีในปี 2547 มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก $ 31 ล้านเหรียญ ไปอยู่ที่ระดับ $ 75 ล้านเหรียญ คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นถึง 141% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทำให้ทั่วโลก หรือแม้แต่รัฐบาลเกาหลีต้องกลับมาพิจารณาทบทวนนโยบายการโปรโมตสินค้า Hallyu เสียใหม่
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของสินค้า Hallyu โดย Korea Interantional Trade Association’s Trade Research Institute บอกว่า ปีที่ผ่านมา สินค้า Hallyu ทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในเกาหลีถึง $ 1 พันล้านเหรียญ ขณะเดียวกัน สินค้าเหล่านี้ยังนำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่เกาหลีได้สูงถึง $ 1.87 พันล้านเหรียญ
นอกจากรายได้จากการส่งออกสินค้า Hallyu พูดได้ว่า กระแส Hallyu ตอนนี้ที่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยมีละคร หนัง และเพลงเป็นสื่อการตลาดในการโปรโมตวัฒนธรรม โดยมีนักร้องและนักแสดงเป็นทูตทางวัฒนธรรมคนสำคัญ เหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนช่วย “เปิดประตู” ทางการค้าในประเทศต่างๆ ที่กระแส K-pop ได้เข้าไปกรุยทางไว้ก่อนแล้ว จากนี้ก็รอเพียงแต่ว่า สินค้าใดของเกาหลีที่จะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์
ดังเช่น LG และ Samsung ที่มียอดขายสินค้าในประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 40% ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีที่ “Winter Sonata” หรือ Winter Love Song ยังอยู่ในความประทับสาวใหญ่ชาวจีนหลายล้านคน หรืออีกกรณีที่ “กระแสแดจังกึม” กำลังนำเอาสินค้า Food Products และสินค้าเกษตรจากเกาหลี เข้าไปทะลักตลาดอาหารในญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นกำลังคลั่งไคล้แดจังกึมและอาหารเกาหลีอย่างมาก
ทั้งนี้ สินค้าหลักๆ ที่จะได้รับอานิสงส์จากกระแส Hallyu ที่ร้อนแรงในตลาดต่างประเทศมีหลากหลายประเภท เช่น สินค้าอาหาร – จากแดจังกึม การท่องเที่ยว – Drama Tour ธุรกิจศัลยกรรม เครื่องสำอาง แฟชั่น รถ ฯลฯ รวมถึง สินค้าอื่นๆ ที่จะบุกตลาดได้ง่ายขึ้น เพราะภาพลักษณ์ประเทศเกาหลีที่ดีขึ้นและความเข้าใจในวัฒนธรรมเกาหลีของผู้บริโภค
From “Winter Sonata” … to “Daejanggeum” Fever
อิทธิพลของกระแส Hallyu เริ่มต้นเห็นได้ชัดเมื่อ Winter Sonata สร้างรายได้และปรากฏการณ์ Korea Fever ในประเทศญี่ปุ่นขนาดที่ไม่มีใครจะนึกถึง เช่น
– NHK สามารถทำรายได้กว่า $ 100 ล้านเหรียญ ในปี 2546 จากการออกอากาศละครเรื่องนี้
– DVD ราคาชุดละแสนกว่าบาท ขายหมดทั้ง 3 แสนชุด ภายในปี 2545 ที่ละครเรื่องนี้เริ่มฉาย
– อัลบั้มเพลง Soundtrack ประกอบละครเรื่องนี้ราคา 750 บาท ขายได้ถึง 6 แสนแผ่นในช่วงนั้น
– สิ่งพิมพ์เกี่ยวกับ Winter Sonata ขายได้ถึง 13 ล้านก๊อบปี้
– สถานี RTHK ของญี่ปุ่นถอดรายการสอนภาษาญี่ปุ่นออก เพื่อใส่รายการสอนภาษาเกาหลีแทน
เรียกว่า แค่ละครเรื่องนี้เรื่องเดียวก็ทำให้เงินไหลจากประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่เกาหลีได้มากถึง $ 83 ล้านเหรียญ และทำให้แบ ยอง-จุน กลายเป็น Superstar ขวัญใจชาวญี่ปุ่น จนทำให้สื่อญี่ปุ่นให้ความสนใจกับข่าว แบ ยอง-จุน กับการแสดงนำในหนังเรื่อง April Snow มากกว่าข่าวพายุแคทรีน่าถล่มอเมริกา
สื่อเกาหลีและญี่ปุ่นลงความเห็นว่า Winter Sonata สามารถส่งเสริมความเข้าใจและสัมพันธ์อันดีระหว่างคนเกาหลีและคนญี่ปุ่น ได้มากกว่าการที่ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นเจ้าภาพร่วมกันในงานฟุตบอลโลกปี 2545 เสียอีก…
ถ้า Winter Sonata เป็นเหมือนรากฐานกระแส Hallyu ที่ปักธงแน่นหนักโบกสะบัดไปทั่วโลก “แดจังกึม” ก็คือคลื่นระลอกสองที่กำลังมีอิทธิพลมากในการนำเอาวัฒนธรรมเกาหลีกลับเข้ามาถาโถมตอกย้ำอยู่ในประเทศแถบเอเชียและทั่วโลกอีกครั้ง จากคำให้การของผู้บริหาร MBC ในปี 2546 แดจังกึมสามารถสร้างกำไรจากการส่งออกลิขสิทธิ์ไปประเทศไต้หวันประเทศเดียวได้มากถึง $ 37.5 ล้านเหรียญ ในปี 2547 MBC ได้กำไรจากการส่งออกแดจังกึมไปยังประเทศต่างๆ สูงถึง $ 70 ล้านเหรียญ และในปี 2548 ก็คาดว่าจะสูงกว่า $ 100 ล้านเหรียญ แน่นอน
ทั้งนี้ สินค้า Hallyu กลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับเกาหลีได้มากถึง 10% ของมูลค่าธุรกิจทั้งหมดของเกาหลี ซึ่งอาจจะดูไม่มากมาย แต่ทว่า Director Genral ของ KOTRA ประจำประเทศไทยให้ความเห็นว่า สินค้า Hallyu นี้ถือเป็นสินค้าที่เรียกได้ว่า “มีมูลค่าเพิ่ม” สูงสุด
Hallyu Policy ..Todays
ปรากฏการณ์ Hallyu ซึ่งส่งผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้รัฐบาลเกาหลีเริ่มมองเห็นถึงโอกาสมากมายที่จะตามมา หากกระแส “เกาหลีฟีเวอร์” นี้ได้รับการดูแลและจัดการอย่างดีและมีระบบ รวมถึง สามารถทำให้อยู่นานและกว้างขวางมากขึ้น
นี่จึงเป็นที่มาของโปรแกรมการศึกษาเกี่ยวกับ Cultural Industry Academy ที่รัฐบาลเกาหลีจัดตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาทักษะและความชำนาญในการส่งออกสินค้าวัฒนธรรม รวมถึงการจัดตั้งฐานข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับ Hallyu Star ในเว็บไซต์ HelloHallyu ( http://english.tour2korea.com/hellohallyu/ )
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัย Chung-Ang ก็เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทในโปรแกรม Hallyu Studies ซึ่งเป็นการวิเคราะห์วัฒนธรรมเกาหลีในคอนเทนต์ของวัฒนธรรมอื่นๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมเกาหลีและชนชาติอื่นๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเนื้อหาของหนัง ละคร และเพลง
นอกจากนี้ รัฐบาลจังหวัด Gyeonggi ซึ่งเป็นจังหวัดศูนย์กลางของเกาหลี ก็วางแผนจะทุ่มเงินกว่า $ 375 ล้านเหรียญ ในการสร้าง “Hallyuwood” ให้เป็น Entertainment Theme Park ซึ่งมีคอนเซ็ปต์คล้ายกับ Hollywood ในอเมริกา แต่เพิ่มพื้นที่ของ International Business Center และพิพิธภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมหนังเกาหลีเอาไว้ด้วย