นอกจากสินค้า Hallyu หรือสินค้าทางวัฒนธรรมอย่างหนัง ละคร และเพลง จะก่อให้เกิดรายได้จากการส่งออกลิขสิทธิ์จำนวนมหาศาลกลับไปประเทศเกาหลี แน่นอน! กระแส “เกาหลี ฟีเวอร์” ที่เป็นผลพลอยได้จากการส่งออกสินค้า Hallyu ไปยังหลายประเทศทั่วโลกนั้น ยังกลายเป็นเหมือน “ใบเบิกทาง” ที่จะนำพารายได้จากการขายสินค้าและบริการของเกาหลีเข้าไปรุกในตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลเกาหลีที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งประเทศเกาหลีในต่างประเทศ Korea Trade – Investment Promotion Agency เรียกสั้นๆ ว่า “KOTRA” จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่ต้องรับเอาปรากฏการณ์ “Hallyu” หรือ กระแส “เกาหลี ฟีเวอร์” มาคิดทบทวน เพื่อหาช่องทางที่จะโหนกระแสนี้เพิ่มรายได้จากการขายสินค้า (commodity) ส่งกลับประเทศแม่
“KOTRA เราก็พยายามที่จะทำให้คนไทยเข้าใจวัฒนธรรมเกาหลีมากขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์อันดีที่เกิดขึ้นนี้จะแปรเป็นค่านิยมที่ดีในสินค้าเกาหลี และกลายพฤติกรรมการบริโภคสินค้าเกาหลี” Joo Duck-Ki ในฐานะ Director General ของ KOTRA อธิบายพันธกิจตอนนี้ เสมือนส่งสัญญาณว่า อีกไม่นาน หลากหลายสินค้าเกาหลีจะพาเหรดเข้ามาในประเทศที่เป็นสาวก “Korean Fever” รวมทั้งประเทศไทย
ขณะที่ POSITIONING เข้าไปสัมภาษณ์ ทาง KOTRA แห่งประเทศไทยเองก็กำลังวุ่นอยู่กับการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ “คลื่นเกาหลี” หรือ Hallyu ที่ระลอกสองในเมืองไทยและทั่วโลก อันพัดมากับกระแสลมบนของ “แดจังกึมฟีเวอร์” ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างปรากฏการณ์ในประเทศไทยได้กว้างขวางและรุนแรงกว่าคลื่นระลอกแรก (เมื่อ 2 ปีก่อนจาก Winter Sonata) เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศแถบเอเชีย
ไม่เพียงช่วยสร้างความรู้สึกอันดีในวัฒนธรรมและความเป็นเกาหลี “คลื่นเกาหลี” หรือกระแส K-pop ที่ซัดเข้ามาในเมืองไทยยังช่วยเจือจางความนิยมอันเหนียวแน่นในกระแส J-pop และความคลั่งไคล้ในลัทธิอเมริกา ซึ่งเคยเป็นอุปสรรคก้อนโตที่ทำให้สินค้าเกาหลีเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยได้อย่างยากเย็น และทำให้ KOTRA ต้องออกแรงผลักดันสินค้ามากขึ้น
Joo Duck-Ki เรียกพัฒนการทางความสัมพันธ์ครั้งนี้ว่าเป็น “Historic Symbolic Event” ก่อนจะให้คำอธิบายเพิ่มเติม “แต่ก่อนความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ค่อยใกล้กันเท่ากับที่ภูมิภาคนี้มีต่อประเทศญี่ปุ่น และดูจะห่างไกลกันยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่ประเทศแถบนี้ที่มีต่ออเมริกาหรือยุโรปด้วยซ้ำ ดังนั้น ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญทางความสัมพันธ์ที่จะทำให้เรา 2 ประเทศใกล้ชิดและเข้าใจกันมากขึ้น”
จากความเข้าใจทางวัฒนธรรม สิ่งที่ KOTRA ซึ่งรับบทเป็นเสมือน “พี่เลี้ยง” ของ SME สัญชาติเกาหลีที่ต้องการขยายตลาดนำสินค้าเข้ามาขายในเมืองไทย จะต้องทำต่อไปก็คือ พัฒนาความเข้าใจตรงนี้ให้กลายเป็น “เศรษฐกิจ” ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นในอนาคต ซึ่งกรณีศึกษาของ LG และ Samsung ในประเทศจีนที่สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 40% ในช่วงที่กลิ่นอายกระแส “Winter Sonata” ยังโหมกระจายอยู่ในแดนมังกร ดูเหมือนจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ “Hallyu Leads Trade & Commerce” ได้ดี
อีกหนึ่งความพยายามที่ทาง KOTRA กำลังทำก็คือ การผลักดันและกระตุ้นสินค้าแบบ Commodity Products ให้กลายเป็นสินค้าวัฒนธรรม โดยความหมายของ Joo Duck-Ki สินค้าวัฒนธรรมของเขาก็คือ “สินค้าที่คนไม่ได้ซื้อเพื่อสินค้า แต่ซื้อเพื่อคุณค่าทางวัฒนธรรม และยอมที่จ่ายมากเท่าไรก็ได้ เพื่อสินค้านั้น” Joo Duck –Ki ยกตัวอย่าง ปากกาที่พระเอกใช้ในละคร หรือห้องพักที่พระเอกเคยพักในหนังหรือละครก็เป็นอีกตัวอย่างที่ดี
“Cultural Understanding จึงไม่ใช่แค่ Branding นี่ก็คือเหตุผลที่ KOTRA ต้องมาอยู่ที่นี่ ก็เพื่อทำให้คนไทยสนใจและมีประสบการณ์กับประเทศเกาหลี เพื่อกระตุ้นให้สินค้าเราไปได้ไกลถึงขั้นนั้น และนี่ก็คือสิ่งที่วัฒนธรรมจะเข้าไปมีอิทธิพลในการเพิ่มมูลค่าสินค้าได้”
ทั้งนี้ Joo Duck-Ki เกริ่นถึงงานใหญ่ที่ทาง KOTRA กำลังจะจัดขึ้นนั่นคือนิทรรศการสินค้าเกาหลี จากเดิมที่เคยเป็นเพียง Merchandise Show แต่เพื่อให้งานโชว์สินค้าครั้งนี้เข้ากับแนวคิดข้างต้น ธีมใหม่ของงานนี้จึงมาลงตัวที่ “Merchandise Plus Culture Show” อันจะเป็นฟอรั่มว่าด้วย “Korean Show” ครั้งใหญ่อีกงานหนึ่ง
Joo Duck-Ki ยอมรับว่า กระแสวัฒนธรรมเกาหลีที่แพร่ขยายไปทั่วโลกที่เป็น “ใบเบิกทาง” ให้กับอีกหลายธุรกิจ ไม่ได้เริ่มต้นขึ้นมาจากนโยบายหรือความพยายามของรัฐบาล แต่ทุกวันนี้ รัฐบาลเกาหลีและ KOTRA ต่างก็ระดมสมองในการมองหาแนวทางที่จะทำให้กระแสเกาหลีฟีเวอร์ตรงนี้แข็งแรงมากขึ้น ขยายไปกว้างขึ้น และอยู่ให้นานที่สุด ความพยายามหนึ่งของภาครัฐก็คือ การแต่งตั้ง Rain ให้เป็น Korean Culture Promotion Ambassador เพื่อผลักดันกระแส “เรนฟีเวอร์” ให้กลายเป็น “เกาหลีฟีเวอร์”
และเพื่อใช้กระแส Hallyu ก่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด ตอนนี้รัฐบาลเกาหลีกำลังเร่งเปิดประเทศ สร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้น่าสนใจ และส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนของชาวต่างชาติ …นี่คืออีกหนึ่งกลวิธีการผันเปลี่ยน “กระแส” ให้เป็น “พัฒนาการทางเศรษฐกิจ” อันเป็นวิสัยทัศน์ใหม่สู่เป้าหมายเดิมของรัฐบาลเกาหลี