เกาหลีศึกษา เทรนด์ตะวันออกยอดฮิต

…อันย้ง ฮาเซโย แปลว่า สวัสดี คำทักทายนี้กำลังบอกถึงเทรนด์การศึกษายอดนิยม ที่เรียกกันว่า “เกาหลีศึกษา” ในเมืองไทย กระแสที่เปรียบดุจดัง “พลังโสม” เบ่งบานชนิดที่สถาบันอุดมศึกษาใด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อักษรศาสตร์แห่งไหน ไม่มีภาควิชาภาษาเกาหลี พ.ศ. นี้นับว่าเชยที่สุด!!

* สวัสดีเกาหลีศึกษา

เกาหลีศึกษา ผูกโยงเข้ามาสู่วงการศึกษาไทยประมาณยี่สิบปีแล้ว โดยถูกแทรกอยู่ในวิชาเรียนด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และไม่นานนักหลักสูตรภาษาเกาหลีได้ขยายขึ้นเป็นหลักสูตรภาษาเกาหลี ตามกระแสความสนใจในเอเชียตะวันออก ต่อจากภาษาญี่ปุ่น และจีน

สำนักงานอุดมศึกษา ให้ข้อมูลว่า หลักสูตรภาษาเกาหลีในการบรรจุเข้าเป็นวิชาเอกของสถาบันอุดมศึกษา เริ่มขึ้นประมาณปี 2541-2542 มีมหาวิทยาลัยเกือบสิบแห่ง เช่น สงขลานครินทร์ สาขาปัตตานี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นต้น เปิดสอนขึ้นอยู่ในหลักสูตรหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และมีสถาบันการศึกษาอีกสิบกว่าแห่งบรรจุเข้าเป็นวิชาเลือก หรือวิชาอิสระ

เนื้อหาหลักสูตรวิชาภาษาเกาหลีศึกษาที่เปิดสอน ร้อยละ 60 เน้นการเรียนทักษะด้านภาษา การเรียนรู้เรื่องภาษา ส่วนความรู้ด้านอื่นๆ จะเรียนทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจของประเทศเกาหลี

* กระแสฟีเวอร์

จำนวนผู้สนใจเรียนหลักสูตรภาษาเกาหลี POSITIONING ได้ทำการสำรวจตามสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอน ในปัจจุบัน พบว่า ทุกสถาบันการศึกษาต่างยืนยันเช่นเดียวกันว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักศึกษาจำนวนมาก ในการสมัครเรียน ซึ่งเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50-70 เมื่อเปรียบเทียบกับ 3-4 ปีก่อน

อย่างเช่น ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งถือเป็นคณะที่เปิดหลักสูตรภาควิชาเกาหลีศึกษา เป็นวิชาเอก มานาน 7-8 ปี โดยทางคณะดังกล่าวยืนยันว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์เกาหลีฟีเวอร์ ภาควิชาเกาหลีศึกษาได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ มีผู้สมัครเข้าเรียน ทั้งเป็นวิชาเอกและโท มากขึ้นเกือบเท่าตัว

โดยคณะสามารถรับนักศึกษาในแต่ละปี ประมาณ 30 คนเท่านั้น แต่ที่ผ่านมามีการสมัครเข้าเรียนถึง 100 กว่าคน ทั้งเลือกเรียนในวิชาเอกและวิชาโท

คณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาเกาหลี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่า มีจำนวนนักศึกษาเลือกเรียนวิชาภาษาเกาหลีมากขึ้น เป็นกระแสใหม่ที่กำลังเบียดใกล้ภาควิชาภาษาญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเคยเป็นกระแสหลักในการศึกษาภาควิชาด้านเอเชียตะวันออก

* อิทธิพลสื่อบันเทิง

“ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสเกาหลีได้รับความสนใจ คือ อิทธิพลจากสื่อภาพยนตร์ เป็นกระแสหลักที่ทำให้เกิดเทรนด์เกาหลีศึกษา โดยเฉพาะหนังวัยรุ่นเกาหลี ล้วนไหลป่าสู่ความเป็นกระแสนิยม เคยสอบถามเด็กหลายคนที่เลือกเรียน พบว่า เกือบ 70-80% ทุกคนเป็นแฟนพันธุ์แท้หนัง ดารา เกาหลี” รศ.ยุพา คลังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบาย

เมื่อวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาช่วง 3-4 ปีก่อน ภาษาเกาหลี หรือเกาหลีศึกษา นับเป็นทางเลือกที่สาม รองจากญี่ปุ่น จีน และอาจไม่ใช่ทางเลือก ในภาวะความสนใจของนักเรียน นักศึกษา แต่เมื่อช่วงสองปีที่ผ่านมา กระแสความสนใจของเกาหลีเติบโตขึ้นอย่างมาก ตามกระแสของสื่อบันเทิง หรืออุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี ซึ่งไหล่บ่าเข้ามาในเมืองไทย

ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่เป็น “เทรนด์ของเอเชีย” ซึ่งเกาหลีเข้ามามีบทบาทอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องอุตสาหกรรมการส่งออกด้านสินค้า และอุตสาหกรรมความบันเทิง

กระแสจากสื่อบันเทิงเกาหลีมีส่วนสำคัญที่ทำให้เทรนด์ใหม่ในแวดวงการศึกษาในเอเชียตะวันออก ซึ่งไม่ใช่แค่หนัง ยังมีเพลง และพลังดาราเกาหลีที่เป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้เด็กไทยสนใจศึกษาภาษาเกาหลี

“เทรนด์การศึกษาเกาหลี อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรียนแล้วมีงานทำเกือบ 100% เนื่องจากมีบริษัทเกาหลีด้านนำเข้า ส่งออก บริษัทหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเข้ามาตั้งในเมืองไทย ติดต่อผ่านมายังมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่เปิดสอนวิชาเกาหลี โดยระบุว่าต้องการรับนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรนี้ทุกคน” ผศ.จิราพร จันจุฬา หัวหน้าภาควิชาเกาหลี มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อธิบาย

หัวภาควิชาเกาหลี ให้ข้อคิดว่า ในช่วงอีก 4-5 ปีการศึกษาเกาหลี ยังถือเป็นเทรนการศึกษาที่น่าสนใจมาก เนื่องจากบริษัทเกาหลีซึ่งเข้ามาลงทุนในเมืองไทยยังขยายตัวอีกมาก นักศึกษาที่เรียนเกาหลีศึกษามีโอกาสทางการประกอบอาชีพ และเป็นทางเลือกที่อยากให้ลองเลือกเรียนดู

อย่างไรก็ดี เกาหลีศึกษาในเมืองไทยยังมีแนวทางที่พัฒนาอีกมาก เนื่องจากหลักสูตรเกาหลีในเมืองไทยมุ่งเน้นแต่การเรียนภาษาเป็นประเด็นหลัก ขณะที่การศึกษาในมิติอื่นๆ ยังน้อย ทำให้เมืองไทยยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีศึกษาอีกมาก โดยขณะนี้ทางสถานทูตเกาหลี และมูลนิธิเกาหลี รวมทั้งองค์กรเกาหลี พยายามเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีเข้ามาช่วยส่งเสริม ซึ่งแนวโน้มในอนาคตน่าจะเป็นเทรนการเรียนที่น่าสนใจอย่างมาก