"ไปรษณีย์ไทย” ไฉไลกว่าเก่า

โฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม กับความพยายามในการ ”แบรนดิ้ง” ไม่เว้นแม้แต่กิจการของรัฐวิสาหกิจ “บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด”

จากที่เคยหวังแค่ว่าอยู่รอดได้ แต่เวลานี้ถึงขั้นกำไร แจกโบนัสพนักงานได้คนละ 1 เดือนหลังแปรสภาพจากหน่วยงานหนึ่งของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทไปรษณีย์ไทย ได้ประมาณเกือบ 2 ปี จนถึงขณะนี้มีความหวังเพิ่มขึ้น ถึงขั้นร่างแผนงานเพื่อเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2550

งานนี้แม่งานใหญ่ อานุสรา จิตต์มิตรภาพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการตลาด และพัฒนาธุรกิจ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในฐานะผู้รับผิดชอบในการปลุกปั้นภาพลักษณ์ใหม่ให้กับกิจการไปรษณีย์ของไทย เปิดแถลง ตอกย้ำถึงการแบรนดิ้งอีกครั้งด้วยการใช้สีแดงส่งสีสันให้งานอย่างน่าสนใจ และกิจกรรมที่บ่งบอกถึงการขนส่ง เริ่มจากการปล่อยขบวนรถตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ของบุรุษไปรษณีย์ รถขนส่ง 6 ล้อ ที่ตั้งแต่บุรุษไปรษณีย์ จนถึงผู้บริหารระดับสูงต่างมาในชุดแดงแรงฤทธิ์

อานุสราบอกว่าแม้ใครๆ เริ่มจำโลโก้ของไปรษณีย์ ที่เป็นรูปซองจดหมายบิน คล้ายจรวดได้ แต่ก็ต้องปรับตัวเพื่อรับการแข่งขัน โดยเฉพาะจากบริการขนส่งของต่างชาติ ยิ่งเมื่อเปลี่ยนมาเป็นรูปบริษัทแล้ว ก็ต้องเชื่อมโยงให้เห็นถึงความทันสมัยของกิจการไปรษณีย์ของไทยให้ได้

นอกจากใช้งบประมาณในการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ทั้งที่ทำการไปรษณีย์โดยใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท และการโปรโมตให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยงบ 28 ล้านบาทแล้ว งบที่สำคัญที่สุด คือพนักงานทุกคนที่มีอยู่กว่า 2 หมื่นคน ต้องเปลี่ยนแปลงด้วย

“พนักงานมีอิทธิพลต่อการสร้างแบรนด์ เป็นกลไกทำให้ผู้ใช้บริการรับรู้แบรนด์ใหม่ ทั้งเรื่องการให้บริการที่สุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอก การใส่ชุดแดงให้บริการ เพราะวิจัยมาแล้วพบว่าคนรับรู้บริการไปรษณีย์ จากการจดจำจากตู้ไปรษณีย์ที่ใช้สีแดง”

สำหรับผลประกอบการที่คาดหวังหลังการปรับเปลี่ยนในปี 2549 นี้ รายได้อยู่ที่ 13,900 ล้านบาท กำไรสุทธิ 345 ล้านบาท มากกว่าปี 2548 ที่มีกำไร 270 ล้านบาท

แม้ตัวเลขกำไร รายได้จะไม่อลังการงานสร้างนัก แต่สำหรับความภาคภูมิใจกับการพยายามแบรนดิ้งครั้งนี้ อานุสราย้ำว่าอยู่ที่การให้บริษัทไปรษณีย์ไทยอยู่ในใจของใช้บริการมากกว่า

รายได้จากการดำเนินงานมกราคม-ตุลาคม 2548
•ธุรกิจสื่อสาร 8,113.23 ล้านบาท (77.12 %)
•ธุรกิจขนส่ง 848.89 ล้านบาท (8.07 %)
•ธุรกิจค้าปลีก 906.59 ล้านบาท (8.62 %)
•ธุรกิจการเงิน 612.36 ล้านบาท (5.82 %)
•ธุรกิจอื่น ๆ 38.93 ล้านบาท (0.37 %)