เจาะแก่นโซ่อุปทาน

ชื่อหนังสือ เจาะแก่นโซ่อุปทาน
ผู้เขียน (แปล) วิทยา สุหฤทดำรง
สำนักพิมพ์ อี.ไอ. สแควร์ พับลิชชิ่ง
จำนวนหน้า 221
ราคา(บาท) 270

หนังสือว่าด้วยห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply-chain management ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับสร้างความสัมพันธ์ต่อเนื่องระหว่างธุรกิจการผลิตและการค้า เป็นเรื่องราวที่ยังไม่เก่าหรือล้าสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศได้ถูกนำมาใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน เพื่อลดต้นทุนสินค้าคงคลัง และเพื่อให้เกิดการสนองตอบความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว

น่าเสียดายที่การศึกษาแนวคิดที่เป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ในเมืองไทยยังไม่มี่ขึ้นอย่างจริงจัง และการดำเนินการเรื่องนี้แม้จะมีขึ้นแต่ก็ถือเป็นกรณีภายใน ที่เป็นความลับทางการค้า ซึ่งทำให้กรอบความรู้ถูกจำกัดในวงแคบๆ

การมีหนังสือแปลจากสังคมตะวันตกอย่างอเมริกันมาให้ทดลองเป็นต้นแบบในการศึกษา จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เลี่ยงไม่พ้น
เรื่องของโซ่อุปทาน ( SCM) เป็นระบบคิดและซอฟต์แวร์ มากกว่าเรื่องของอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว เกี่ยวข้องกับกระบวนการวางแผน ปฏิบัติ และกำกับดูแลการทำงานของอุปทานสินค้าในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้เกิดการไหลเวียนที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขัน

กระบวนการโซ่อุปทานจึงเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตวัตถุดิบ กึ่งสำเร็จรูป สำเร็จรูป คลังสินค้า และการวางสินค้าสำเร็จรูปในร้านค้าปลีก

ตัวแปรที่หลากหลายเกี่ยวข้องกับโซ่อุปทาน ประกอบด้วย เค้าโครงระบบบริหารจัดการกระจายสินค้าทุกขั้นตอน กลยุทธ์การกระจายสินค้าที่แต่ละขั้นตอน ข้อมูลข่าวสารที่แม่นยำและยืดหยุ่นทั้งปัจจุบันและอนาคต และการจัดการคลังสินค้าทุกระดับ

หนังสือว่าด้วยโซ่อุปทานนั้น มีวางขายบนแผงพอสมควรมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังคงไม่ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง และยังไม่ได้พูดถึงการนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้มีการกล่าวว่า ระบบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจไทยนั้น ค่อนข้างล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบอย่างมาก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความรู้เรื่องนี้ยังขาดความลึกซึ้ง และเป็นระบบมากเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องของการมองความรู้อย่างเป็นองค์รวม
หนังสือเล่มนี้มีการวางโครงสร้างเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนคือ ส่วนแรกว่าด้วยการจัดการโซ่อุปทานร่วมสมัยโดยมีการออกแบบผลิตภัณฑ์สำคัญที่สุด ส่วนที่สองว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาใช้ในการจัดการ ส่วนที่สาม ว่าด้วยกระบวนการปรับปรุงการทำงานขององค์กรทั้งระบบ รวมทั้งการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ส่วนที่สี่ว่าด้วยโซ่อุปทานในฐานะระบบเกิดใหม่ที่มีขึ้นรองรับโซ่อุปทานในอนาคตที่จะต่อยอดได้

รายละเอียดของหนังสือนี้มีค่อนข้างมาก ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอความคิดใหม่ว่าด้วย ปรากฏการณ์แส้ม้า หรือ Bullwhip Effect ซึ่งคาร์ลอส ดากานโซ่แห่งเบิร์กเลย์ประยุกต์เอาการศึกษาเรื่องจราจรบนฟรีเวย์มาใช้เทียบกับ SCM เพื่อหาจุดอ่อนในกรณีที่อาจทำให้โซ่อุปทานล้มเหลวได้ จากคอขวดที่เกิดขึ้น ณ จุดบริการผู้บริโภค และจะต่อเนื่องมาถึงต้นน้ำคือผู้ผลิตได้ ซึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือกระบวนการบริหารคลังสินค้าแบบ just in time ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง ซึ่งนับว่าน่าเสียดายที่มีน้อยไป เพราะนี่คือสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญของกระบวนการนี้ทีเดียว

นอกเหนือจากนี้แล้ว ถือว่าเป็นหนังสือที่ให้ความรู้รอบอย่างน่าสนใจทีเดียว สมกับราคาที่ไม่แพงนัก
น่าจะสนับสนุนให้อ่านกันมากๆ ให้กำลังกับผู้ที่เข็นหนังสือแนวนี้ออกมาให้อ่านกัน เพราะดีกว่าหนังสือไร้สาระอย่างอื่นๆ ที่ล้นแผง

…………………..

รายละเอียดของหนังสือเล่มนี้

บทที่ 1 แนวคิดพื้นฐานของการจัดการโซ่อุปทาน ว่าด้วยพัฒนาการของโซ่อุปทานที่มิใช่ของใหม่ หากมีมาแต่ครั้งอดีตโบราณ พร้อมกับการดัดแปลงแนวคิดใหม่ให้เหมาะกับโลกธุรกิจร่วมสมัย โดยอาศัยปัจจัยผลักดัน 5 ประการ ได้แก่ การผลิต สินค้าคงคลัง ข้อมูล การขนส่ง และสถานที่ตั้งที่เหมาะกับสาภวะการแข่งขัน ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เชิงกลยุทธ์

บทที่ 2 ปฏิบัติการในโซ่อุปทาน : การวางแผนและการจัดหา ว่าด้วยการสร้างแบบจำลองตามการดำเนินการ 4 +1กลุ่มได้แก่ การวางแผน การจัดการ การผลิต และการจัดส่ง (บวกด้วย การส่งสินค้าคืน) โดยการวางแผน ให้ใช้วิธีพยากรณ์หลายรูปแบบเพื่อสร้างแผนธุรกิจ และตั้งราคาสินค้าโดยรวม และกิจกรรมการจัดหาของฝ่ายจัดซื้อ 5 ประการที่สำคัญเพื่อหาวัตถุดิบมาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการ

บทที่ 3 ปฏิบัติการในโซ่อุปทาน : การผลิตและการจัดส่ง ว่าด้วยการผลิตที่จำเป็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ และการจัดส่งที่รวมในการรับคำสั่งซื้อของลูกค้าและส่งสินค้าเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับบริษัทต่างๆ ในโซ่อุปทาน ซึ่งจะมีกำไรเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ

บทที่ 4 การประสานงานในโซ่อุปทานและการใช้เทคโนโลยี ปรากฏการณ์แส้ม้า ซึ่งบริษัทที่ตระหนักถึงความผันแปรของอุปสงค์ที่ต้นน้ำของโซ่อุปทานต่อปลายน้ำแล้ว จะสามารถช่วยพัฒนาความสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าจากการแกว่งตัวของอุปสงค์ดีขึ้น ผ่านความร่วมมือกัน โดยมีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุด

บทที่ 5 การวัดสมรรถนะ : มาตรวัดสมรรถนะผลงานโซ่อุปทาน การสร้างแบบจำลองตลาดผ่านอุปทานและอุปสงค์เพื่อจำแนกการแข่งขันให้ชัดเจน เพื่อหาว่าสมรรถนะอย่างไหนจำเป็นกว่ากันในแต่ละตลาด เพื่อสร้างความยืดหยุ่น และเพิ่มคำสั่งซื้อของลูกค้า

บทที่ 6 การกำหนดโอกาสของโซ่อุปทาน ว่าด้วยงาน 5 ประการในการกำหนดโอกาสของโซ่อุปทานเพื่อให้เบ็ดเสร็จ ประกอบด้วย แถลงเป้าหมายให้ชัดเจน บรรลุเกณฑ์สมรรถนะที่ได้รับ การออกแบบระบบเชิงแนวคิด(บุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี) การกำหนดวัตถุประสงค์ที่จำเป็นในโครงสร้าง และการวิเคราะห์ต้นทุน-ผลตอบแทน ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินการลงไปมาก