ในอดีต ใครที่มีความฝันอยากเป็นนักจัดรายการวิทยุ หรือดีเจ มีรายการของตนเอง เพื่อพูดคุย เล่าเรื่องราว หรือเปิดเพลงในสไตล์ของตนเองให้ผู้อื่นได้ฟังนั้น เป็นเรื่องที่ห่างไกลความเป็นจริง อย่างที่ทราบกันดีว่า การเป็นเจ้าของคลื่นวิทยุนั้นไม่ได้เป็นกันได้ง่ายๆ ต้องมีการประมูล เสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน แต่เทคโนโลยีในวันนี้ เชื่อมโลกแห่งความฝันและโลกแห่งความจริงให้เป็นเรื่องที่ง่าย เหมือนปอกกล้วยเข้าปากแค่นั้นเอง
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดถึง “พอดแคสติ้ง” (Podcasting) ไม่ว่าจะเป็นในวงการธุรกิจ การศึกษา หรือส่วนตัว ก่อนอื่นมาทำความรู้จักว่า พอดแคสติ้ง นั้นคืออะไร…คำว่า Podcasting นั้นมาจากคำว่า iPod + Broadcasting ที่ใช้แพร่หลายกันทั่วไป ล่าสุด ดิกชันนารี New Oxford American บันทึกคำว่า “podcasting” เป็นคำศัพท์ใหม่ที่หมายความว่า “การบันทึกเสียงและหรือภาพระบบดิจิตอลสำหรับการกระจายเสียงหรือถ่ายทอด โดยมีให้ดาวน์โหลดได้จากอินเทอร์เน็ตสู่เครื่อง audio player ส่วนบุคคล”
พอดแคสติ้งเริ่มเป็นที่กล่าวถึงกันทั่วไปอย่างจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่บริษัทแอปเปิลเปิดตัว iTune 4.9 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2005 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นแรกที่บรรจุไดเร็กทอรี่สำหรับพอดแคสต์เข้าไว้ด้วย อย่างไรก็ดี iTune ไม่ใช่โปรแกรมแรกที่ให้บริการดาวน์โหลดพอดแคสต์
พอตแคสติ้งในยุคแรกเริ่มได้รับความนิยมมาจากโปรแกรมอย่าง “iPodder” “Doppler” และ “Podcast Tuner” ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการผสานกันระหว่าง audio files และ RSS (Really Simple Syndication) ซึ่งเป็นหัวใจของพอดแคสติ้ง
นอกจากนี้ เราอาจจะได้ยินคำว่า “blogcasting” “zencasts” “audioblogging” “audio magazine” “webcasting” หรือ “rsscasting” และคำว่า “video blogging” “video podcasting” “vlogging” “vodcasting” “vidcasting” หรือ “enhanced podcasting” ขอให้ทราบว่า เป็นคำเรียกใช้ที่แตกต่างกันตามสถานการณ์ แต่มาจากรากเหง้าทฤษฎีเดียวกันกับ “podcasting” นั่นเอง
ถึงแม้ว่าที่มาของชื่อพอดแคสติ้งอาจทำให้คิดได้ว่าจะต้องพึ่งพาไอพอดและเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเพียงค่ายเดียว ถึงจะสามารถผลิตหรือใช้งานได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ทั้งผู้ผลิตพอดแคสต์และผู้ฟัง ไม่จำเป็นต้องมีไอพอดหรือเครื่องเล่น MP3 อื่นๆ แลย
มีเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีและซอฟต์แวร์ของค่ายอื่นก็ใช้ได้แล้วตามความถนัดของแต่ละคน แต่ที่แน่นอนต้องมีอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์เพื่ออัพโหลดไฟล์และให้บริการดาวน์โหลดพอดแคสต์ อันที่จริงแล้ว การทำพอดแคสติ้งไม่ได้มีอะไรพิเศษไปมากว่า การพูดอัดเสียงของตนเองและบันทึกในรูปแบบของไฟล์ MP3 และเอมเบด (embedded) ใส่เว็บไซต์ของตัวเอง
หรือถ้าใครอยากจำกัดให้ใช้ได้ในวงกว้างก็สมัครเป็นสมาชิกและเอาไปไว้ที่ iTune เพื่อให้สมาชิกคนอื่นดาวน์โหลดได้ ซึ่งตอนนี้ iTune มีไฟล์พอดแคสต์นับพันๆไฟล์ให้ดาวน์โหลดแบบฟรีๆ ซึ่งบรรดาพอดแคสเตอร์ทั้งหลายสามารถสมัครเป็นสมาชิก และใช้บริการลิงค์ไปสู่เว็บไซต์หรือ URL ของตัวเองที่มีพอดแคสรายการนั้นๆ อยู่ โดยปัจจุบันยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งข้อดีของการใช้ iTune คือเป็น One-Stop-Shop มีการอัพเดตข้อมูลพอดแคสต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา และยิ่งกว่านั้น ยังสามารถกำหนดให้ iTune ดาวน์โหลดข้อมูลเหล่านั้นได้โดยอัตโนมัติ และซิงโครไนส์ไปยังเครื่องเล่นเพลงไอพอดได้อีกด้วย
Get Start : Podcasting
อย่างที่กล่าวข้างต้นคือ การทำพอดแคสติ้งนั้นไม่ยากอย่างที่คิด ใครๆ ก็สามารถเป็นพอดแคสเตอร์ได้ ด้วยอุปกรณ์หลักคือ อินเทอร์เน็ต และไมโครโฟนที่มากับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือซื้อต่างหาก ซึ่งรวมถึงเครื่องบันทึกเสียงดิจิตอลสมัยใหม่ที่ใช้ง่ายและสะดวก แล้วแต่งบประมาณของแต่ละบุคคล
จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองใช้เครื่องบันทึกเสียงดิจิตอลขนาดเล็กกะทัดรัดของ Oympus รุ่น WS-200S ขนาด 128 MB อายุแบตเตอรี่ประมาณ 13 ชั่วโมง อัดเสียงเป็นความยาวสูงสุดได้ 54.5 ชั่วโมง และเป็นระบบ VAS (Voice Activate System) คือ หลังจากกดปุ่ม rec เครื่องจะเริ่มต้นบันทึกเสียง
และจะหยุดบันทึกเมื่อไม่มีคลื่นเสียงส่งมาที่เครื่อง และจะบันทึกทันทีต่อเมื่อรับคลื่นเสียงโดยไม่ต้องกดปุ่ม pause หรือ stop หรือ rec อีกครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบันทึกเสียงที่ให้คุณภาพเสียงคมชัดทีเดียว อีกทั้ง ใช้ง่ายและสะดวกในการดาวน์โหลดไฟล์สู่คอมพิวเตอร์ เพราะมี USB ในตัวสามารถเสียบได้โดยตรงกับ USB port ในเครื่องคอมฯ ไม่ต้องมีสายต่อให้เกะกะ
เมื่อมีอุปกรณ์บันทึกเสียงแล้ว สำหรับผู้ที่ใช้ไมโครโฟนจากเครื่องคอมฯ ขั้นตอนต่อไปคือ ดาวน์โหลดโปรแกรม Audio Auditors เช่น Audacity ฟรีได้จาก http://audacity.sf.net ซึ่งเป็นโปรแกรมที่รันบนแมคอินทอช พีซี และลีนุกซ์ และเป็นโปรแกรมที่สามารถบันทึกเสียงและตัดต่อได้จากทุกแหล่งที่มา (ในส่วนนี้อาจใช้โปรแกรมอื่นได้ตามถนัด เช่น Garage Band Peak4 Audition Sound Forge หรือ Logic Express7 เป็นต้น) เมื่อติดตั้ง Audacity เรียบร้อยแล้ว…รีแลกซ์…กดปุ่มบันทึกเสียงสีแดง เริ่มต้นบันทึกเสียงอธิบายที่มาและที่ไปของพอดแคสที่คุณอยากให้เป็นไปตามสไตล์ของคุณ ข้อควรคำนึงอย่างหนึ่งคือ การทำพอดแคสเป็นการลองผิดลองถูก เรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด พร้อมพัฒนาแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ระหว่างการบันทึกเสียง ที่หน้าจอของ Audacity จะปรากฏเป็นคลื่นความถี่เสียงสูงต่ำอย่างที่เห็นในภาพ ถ้าเป็นเสียงดังเส้นจะสูงมาก ถ้าเป็นเสียงเบาหรือเงียบมาก เส้นความถี่จะสั้นมากหรืออาจจะไม่เห็นเลย ซึ่งหากเราไม่ต้องการให้เกิดความเงียบขั้นนานจนเกินไป หรือเสียงอื่นที่ไม่ต้องการก็สามารถ edit ตัดออกได้ โดยหลังจากจบการบันทึกเสียง ทดลองเปิดฟัง และกำจัดเสียงที่ไม่ต้องการออกไปด้วยการ ไปที่ Selection Tool จากนั้นเลือกส่วนที่ไม่ต้องการบนเส้นคลื่นเสียง และคลิกที่ปุ่ม Delete หรือเลือกรูปกรรไกร เพื่อตัดส่วนนั้นออก การอีดิท (edit) เสียงก็เหมือนการอีดิทภาพถ่าย สามารถทำได้หลายครั้งจนกว่าจะพอใจ แต่ต้องขึ้นอยู่กับแรมของเครื่องด้วย พยายามลบไฟล์ที่ไม่ใช้ทิ้งเสีย เพื่อจะได้มีที่ว่างมากๆ
หลังจากที่อีดิทแล้ว เซฟไฟล์และเอ็กพอร์ดไฟล์ในรูปของ MP3 กรณีที่เป็นไฟล์เสียงเพียงอย่างเดียว ใช้คอมเพรสชั่นที่ 32-bit ไฟล์ในรูปแบบของ MP3 จะมีข้อมูลที่ถูกเก็บในรูปของ ID3 tags ฝังไว้ในตัว ซึ่งเป็นข้อมูลชื่อไฟล์ ชื่อศิลปิน ชื่ออัลบั้ม และอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้หรือผู้ฟังในการค้าหาพอดแคสของคุณ เมื่อได้ไฟล์ MP3 แล้ว ถึงเวลาที่จะนำไปบรรจุบนเว็บไซต์และลิงค์ไปสู่ RSS 2.0 ฟีดที่เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งก็มีอยู่หลายทางเลือก…
– กรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกบล็อก (Blog) โดเมน (Domain) หรือไอเอสพี วิธีที่ง่ายที่สุดคือ นำพอดแคสต์ที่เสร็จแล้วไปไว้ที่พื้นที่เก็บข้อมูลไฟล์ต่างๆ ที่ให้บริการฟรีอย่าง Ourmedia (www.ourmedia.org) หรือ Odeo (www.odeo.com) และแบบเช่าเป็นรายเดือนราคาตามขนาดพื้นที่ เช่น Liberated Syndication (www.libsyn.com) หรือที่ AudioBlog (www.audioblog.com) เป็นต้น
– กรณีที่มีโดเมน แต่ไม่มีบล็อก ก็สามารถเซตอัพบล็อกได้ง่ายๆ ด้วยบริการของ Movable Type (www.sixapart.com) หรือ WordPress (http://wordpress.org)
– ถ้ามีโดเมน แต่ไม่ต้องการมีบล็อก ก็สามารถพอดแคสต์ได้โดยใช้ฟรีซอฟต์แวร์อย่าง Podcastamatic หรือ Dircaster
ในสองกรณีหลังนั้น พอดแคสเตอร์จะต้องหาพื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ MP3 บนเว็บ ซึ่งต้องไม่ลืมว่า ไฟล์ MP3 นั้นใหญ่กว่าไฟล์ text ธรรมดาๆ ดังนั้น ขอแนะนำให้มีบล็อกจะง่ายกว่า และเมื่อมีบล็อกที่ติดตั้ง RSS ฟีดเรียบร้อย ทีนี้ก็สามารถอัพโหลดไฟล์ MP3 มาถึงขั้นตอนนี้ คุณคือพอดแคสเตอร์ตัวจริงที่มีรายการพอดแคสต์ของตัวเอง ทดลองดาวน์โหลดดูว่าสมบูรณ์ไหม จากนั้นก็ถึงคราวออกไปท่องโลก podcastosphere และโปรโมตพอดแคสต์ของคุณ ซึ่งวิธีที่ง่ายวิธีหนึ่งคือ สมัครเป็นสมาชิก iTune และใช้ iTune โปรโมตพอดแคสต์ของคุณ รีบฉวยโอกาสขณะที่ยังไม่ต้องเสียค่าสมาชิกและค่าอัพโหลด “Podcast Feed URL” …สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ และผ่อนคลาย…เริ่มบรรยายโลกของคุณให้ผู้อื่นได้รับรู้…
พอดแคสติ้ง : ดาบสองคม
พอดแคสต์ถือเป็นสื่อใหม่ในวงการธุรกิจ โดยผู้ประการธุรกิจต่างๆ สามารถใช้พอดแคสต์เป็นสื่อในการโฆษณา โปรโมต ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์และข่าวสารของบริษัท นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นทางเลือกใหม่ของการเรียนการสอนด้วย
John Walker นักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอเมริกากำลังดาวน์โหลดรีวิวเลกเชอร์สำหรับเตรียมตัวสอบกลางภาควิชา พื้นฐานทางด้านอุตุนิยมวิทยา เขากล่าวอย่างตื่นเต้นว่า “ผมสามารถดาวน์โหลดเลกเชอร์ใส่เครื่องไอพอดของผม และสามารถฟังได้ตลอดเวลา แม้เวลานอกห้องเรียน เหมือนกับมีอาจารย์เคลื่อนที่อยู่กับตัว ผมคิดว่า วิธีการนี้จะช่วยให้นักศึกษาพัฒนาการเรียนรู้และการสอบได้แน่นอน” นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนต่างชาติที่มีปัญหาในการฟังเลกเชอร์ในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของตนเอง พอดแคสต์จะช่วยให้พวกเขาสามารถตามทันได้มากขึ้น และคนที่เรียนทางด้านภาษาต่างประเทศ ก็สามารถฟังเสียงเจ้าของภาษาออกเสียงพูดได้อย่างจริง
นอกจากนี้ Podcasts ยังเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตา และตาบอดมองไม่เห็น ให้สามารถฟังเรื่องราวต่างๆ เหมือนมีคนอ่านหนังสือให้ฟัง เพียงพกพาอุปกรณ์เครื่องเล่น MP3 เล็กๆ และดาวน์โหลดเรื่องราวที่เขาต้องการฟังๆ ได้ตลอดเวลา และสามารถฟังได้ในทุกที่
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลนีนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย พอดแคสต์สามารถให้โทษได้ เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ปัจจุบัน ไม่มีกฎระเบียบใดๆ ในการทำพอดแคสต์ ฉะนั้นใครที่ไหนจะทำก็ได้ ดังนั้นต้องระวังในเรื่องการเลือกเนื้อหาในการฟังหรือชมเป็นพิเศษในกรณีของเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการมอมเมา หรือล่อจูงใจไปในทางที่มิชอบได้