สวนกลางกรุงของ TRUE

เดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤกษ์แห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกรอบของ True ที่เลือกจังหวะนี้ Re-branding บริษัทในเครือ Orange เป็น True Move เพื่อวาง positioning ให้ดูสดใสเอาใจวัยรุ่นในฐานะโอเปอเรเตอร์มือถือแบรนด์คนไทยอย่างแท้จริง โดยทุ่มงบจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เดือนเดียวกัน ศุภชัย เจียรวนนท์ บิ๊กบอสใหญ่ True Corporation ได้นำร่องโชว์วิชั่นปี 2006 พร้อมเปิดตัวร้าน True Shop คอนเซ็ปต์ใหม่ True URBANPARK เพื่อเป็นโชว์เคสขนาดใหญ่ที่รวมเอาสินค้าและบริการ True ให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ง่ายขึ้น

โดยเลือกพื้นที่บริเวณ ชั้น 3 โซน Living & Technology ห้างสรรพสินค้า สยามพารากอน เป็นที่ตั้งร้าน True URBANPARK พร้อมตกแต่งร้านในโทนสีดำ ที่ดูทันสมัย แต่ยังคงความคลาสสิกไว้ ด้วยบรรยากาศดูขรึมและเป็นผู้ใหญ่ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้นกว่า True Shop แบบเดิมๆ ที่เน้นสีแดงสดใส เพื่อเอาใจวัยรุ่นเป็นหลัก

โจทย์ของ True URBANPARK แห่งนี้ไม่ต่างจาก Branding Shop ของโอเปอเรเตอร์มือถือและสินค้าไอทีทั่วไป อาทิ AIS, Toshiba หรือ Sony ที่ต่างทุ่มทุนสร้าง Shop เพื่อใช้ Marketing Tool อีกทางหนึ่ง

ศุภชัย ลงมาดูโปรเจกต์เองอย่างใกล้ชิด โดยเลือก ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกผู้ชื่นชอบเทคโนโลยี มีผลงานมากมาย ล่าสุดคือ การออกแบบศูนย์ดีไซน์เซ็นเตอร์ หรือ TCDC เป็นนายแบบโฆษณา Black Labe มารับหน้าที่ตีโจทย์คอนเซ็ปต์ภายในร้านทั้งหมด เพื่อให้ True URBANPARK แห่งนี้เป็น Lifestyle Branding Shop อย่างแท้จริง

“โจทย์อยู่การสื่อสารเป็นหัวใจหลักของธุรกิจ True แต่ต้องนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายของ True ในวันนี้ โดยไม่จำกัดเฉพาะลูกค้าของ True ใครก็ได้ที่สนใจ สามารถเดินเข้ามาใช้สินค้า และบริการภายในร้านแห่งนี้ได้ทุกคน”

ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ True URBANPARK แตกต่างจาก Service Shop ทั่วไป เพราะเป้าหมายของ True คือใช้ Shop แห่งนี้เพื่อส่งบริการให้เข้าถึงลูกค้าแบบง่ายๆ และขยายครอบคลุมไปยังกลุ่มคนใหม่ๆ ให้คุ้มกับการลงทุนหลายสิบล้านบาท

วันเปิดตัวร้าน ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยผู้สื่อข่าว ทีมผู้บริหาร และทีมงานของทรู ศุภชัยใช้เวลาไปกับการอธิบายคอนเซ็ปต์ร้านแต่ละโซนอย่างขมีขมัน True Speed นานที่สุด เพื่อเล่าถึงร้านอินเทอร์เน็ตคอนเซ็ปต์ใหม่ ซึ่งให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) ของ True อย่างภาคภูมิใจ

มุมต่างๆ ภายในร้านได้สื่อถึงสินค้าและบริการต่างๆ ของธุรกิจในเครือ True ทั้งหมด ไม่เว้นแต่ From you to True บอร์ดขนาดใหญ่ติดผนังที่ใช้โชว์ข้อความสื่อสารผ่าน SMS ที่ลูกค้าภายใน หรือนอกร้านส่งเข้ามาแสดงความรู้สึกนั้น True สื่อถึงบริการโทรศัพท์มือถือ True Move (Orange เดิม) นั่นเอง

เสน่ห์ของร้านอยู่ที่ความหมาย เรื่องราว ตลอดจนการคัดเลือกวัสดุมาจัดวางให้เข้า Concept โดย theme หลักภายในร้านแบ่งบริการออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ โซนที่ใช้สื่อความหมายถึงสินค้า และบริการด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่บริการโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และบริการคอนเทนต์

ส่วนของ True Stuff ที่นอกจะจำหน่ายสินค้าโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์การสื่อสารแล้ว True นำโทรศัพท์บ้านที่มีดีไซน์แปลกสวยงาม ย้อนยุค และมีสีสัน แต่ยังใช้งานได้ทุกเครื่อง มาจัดวางไว้บนตู้โชว์ทรงสูงขนาดใหญ่ เพื่อตอกย้ำว่า True เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานมาตั้งแต่ต้น และยังคงพร้อมให้บริการต่อไป

True Hyper reality Wall เป็นวิดีโอวอลล์ขนาดใหญ่ เพื่อใช้ถ่ายทอดกิจกรรมการตลาด อีเวนต์ต่างๆ แบบเรียวไทม์ อาทิ ถ่ายทอดสดชีวิตใต้น้ำในสยามโอเชี่ยนเวิลด์ รวมถึงบรรยากาศสดจากร้านที่เซี่ยงไฮ้ เป็นต้น เพื่อสื่อถึง Broadcast เพื่อมาเติมเต็มให้ True มีบริการสมบูรณ์ขึ้น

ที่ขาดไม่ได้คือ เสียงเพลงขับกล่อมในร้าน เพื่อสร้างอารมณ์ร่วม Emotional Marketing มีมุม True Music ซึ่ง True ให้ความสำคัญเป็นพิเศษถึงขั้นลงทุนตั้ง Music Manager เป็นผู้คัดเลือกเพลงมาเปิดให้ตรงกับบุคลิกร้านโดยเฉพาะ

ศุภชัย บอกว่า “การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ขาดไม่ได้ในโลกของ True” การมีมุมจำหน่ายดอกไม้ในร้านก็เพื่อเหตุผลเหล่านี้

True Become You เป็นมุมสุดท้ายที่โชว์แบรนด์ True สำหรับ ดวงฤทธิ์ บุนนาค แล้ว ถือเป็นความท้าทายในการเลือกใช้ “สื่อ” ที่จะสะท้อนความหมายของแบรนด์ และเป็นความตั้งใจ ทำให้เขานำเทคโนโลยีอนาล็อกหรือ flip dot มาใช้ เพื่อสื่อความจำเป็นต้องมีการสื่อสารมาตั้งแต่อดีต

flip dot นี้กลายเป็นกิมมิก ช่วยการจดจำแบรนด์ได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นสื่ออนาล็อกที่สามารถโต้ตอบ interactive เมื่อกรณีมีลูกค้าเดินเข้า-ออกภายในร้าน แสงเงาที่ตกกระทบบอร์ดจะทำให้ flip dot เปลี่ยนสีแบรนด์ True จากสีแดงพื้นสีดำ ไปสู่สีตรงกันข้ามกลับไปกลับมา ทุกครั้งเมื่อคนเดินผ่าน จึงเรียกความสนใจให้ทุกคนหันมามอง True ทุกครั้งก่อนจากไป

การดีไซน์ True URBANPARK เลือกไม่ชูเทคโนโลยีเป็นจุดขาย แต่กลับพรีเซนต์ความเป็นไลฟ์สไตล์ให้กลมกลืนกับการใช้เทคโนโลยีแทน โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ให้ทำงานอยู่เบื้องหลัง จึงช่วยเพิ่มให้บรรยากาศกึ่งผับภายในร้านดูอบอุ่น และเป็นมิตรมากขึ้น

“เทคโนโลยีที่ดีที่สุด คือเทคโนโลยีที่เราไม่เห็นมัน แต่เราสามารถสัมผัสมันได้” ดวงฤทธิ์อธิบายทิ้งทายในที่สุด