จบลงไปแล้วอย่างน่าประทับใจกับการค้นหารากเหง้าอีสานผ่านนิทรรศการ “กันดารคือสินทรัพย์” ส่วนนิทรรศการใหม่ครั้งนี้ว่าด้วยการถอดรหัสไขความลับในดีไซน์ญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “DNA of Japanese Design” ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 4 ก.พ. – 31 มี.ค. ศกนี้
“ทำไม design object ของญี่ปุ่นถึงประสบความสำเร็จ ทำไมเวลาสัมผัสสิ่งของเหล่านั้นเราถึงรู้สึกถึงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นที่แฝงอยู่ ?? นิทรรศการนี้จะขุดคุ้ยให้พวกเราได้เห็นถึงรากเหง้าเอกลักษณ์ดีไซน์ของญี่ปุ่นว่าอยู่ตรงไหน” ภาวดี วงศ์จิรชัย ผู้อำนวยการฝ่ายงานนิทรรศการแห่ง TCDC (Thailand Creative & Design Center) กล่าวถึงภาพรวมของ “DNA of Japanese design”
“นิทรรศการครั้งนี้จะต่างสุดขั้วกับชุดที่แล้ว เพราะญี่ปุ่นเขาจะขนเอาเทคโนโลยีจอพิเศษ ซึ่งเป็นโปรเจกเตอร์จอใสขนาดใหญ่มาแขวนเป็นฉาก บวกกับเทคนิคการเล่นแสงสีแบบพิเศษ ในฐานะ Curator ชาวไทย เราก็จะได้เห็นความละเอียดอ่อน และความประณีตในการจัดนิทรรศการของเขาด้วย” ภาวดีกล่าวเสริม
นิทรรศการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง TCDC กับองค์กรส่งเสริมการค้าญี่ปุ่น (Jetro) ที่จะนำเสนอวิธีคิดและวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ หรือ DNA ที่เป็นรากฐานเอกลักษณ์ของงานดีไซน์ของญี่ปุ่น ซึ่งจัดแสดงที่เมืองไทยเป็นครั้งแรกของโลก ก่อนที่กลับไปแสดงที่ “บ้านเกิด” ด้วยซ้ำ โดย มร. คุโรดะ อัทสุโอะ ประธาน Jetro ให้เหตุผลที่เลือก TCDC เป็นที่เปิดตัวก็เพราะที่นี่เป็น “design center” ระดับโลกแห่งแรกในเอเชีย
แต่กว่าที่นิทรรศการแต่ละงานจะสำเร็จออกมาเป็นเบื้องหน้าอันสวยหรูอลังการ ไชยยงค์ รัตนอังกูร ในฐานะผู้อำนวยการ TCDC ถือโอกาสพาสื่อมวลชนเข้าไปเดินชมความลำบากที่เป็นเบื้องหลังอันแสนสาหัส โดยเฉพาะนิทรรศการที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่างครั้งนี้ซึ่งทั้ง “display object” อุปกรณ์ และระบบเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนต้องส่งข้ามน้ำข้ามฟ้ามาจาก “แดนปลาดิบ”
“จริงๆ นิทรรศการระดับโลกมีมากมายที่หมุนเวียนไปแสดงทั่วโลก แต่ที่ไม่เคยมาลงที่ประเทศไทย เพราะเราไม่มีศูนย์ที่ได้มาตรฐานสากลที่จะรองรับ คนไทยเลยพลาดโอกาสได้ชมนิทรรศการดีๆ มาตลอด” ไชยยงค์ เล่าพลางขณะที่คุยกับเจ้าหน้าที่ Security พร้อมกับใช้ Access card พานักข่าวหลายชีวิตเข้าไปชมห้อง Gallery 2 ซึ่งยังเต็มไปด้วยลังไม้แพ็กอย่างดี ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากแดนอาทิตย์อุทัยรุ่นเดอะอีก 2-3 คน ขณะที่สตาฟฟ์ญี่ปุ่นคนอื่นยังไม่ตื่นจากความเหนื่อยอ่อนในการทำงานเมื่อคืนก่อน
ห้องแกลเลอรี่ 2 มีพื้นที่กว่า 800 ตร.ม. ถูกจัดให้เป็นเนื้อที่สำหรับแสดงนิทรรศการ 560 ตร.ม. ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่จัดเตรียมและอุปกรณ์ที่ใช้แบ็ก-อัพงานแสดง ห้องถูกออกแบบเป็นพิเศษ ฝาผนังข้างหนึ่งถูกเจาะเป็นประตูขนาดใหญ่ เชื่อมกับฝาผนังบนชั้น 7 ของตึกเอ็มโพเรียมที่ถูกเจาะเป็นประตูขนาดใหญ่เหมือนกัน เพื่อใช้เป็นช่องทางขนวัสดุอุปกรณ์และตู้คอนเทนเนอร์ โดยนำขึ้นลงด้วยรถเครน
ผนังห้องแกลเลอรี่ที่หนากว่า 10 นิ้วใช้เป็นระบบป้องกันความร้อนและเก็บความเย็น ไชยยงค์บอกว่า “ใช้ภูมิปัญญาจากกระติกน้ำแข็ง” กล่าวคือ ภายในผนังมีช่องว่าง ตรงกลางใส่วัสดุเป็นไฟเบอร์กันความร้อนขณะที่ผนังด้านนอกสะท้อนความร้อนออกไป ผนังด้านในห้องจะทำหน้าที่กักเก็บความเย็นไว้ สามารถรักษาอุณหภูมิไว้ที่ระดับมาตรฐานคือ 24 องศาเซลเซียส ขึ้นลงได้ไม่เกิน 5 องศา
“สิ่งที่ต่างชาติเขาเป็นห่วงมากในการนำนิทรรศการมาจัดบ้านเราก็คือเรื่องฝุ่น” ไชยยงค์เล่าถึงระบบป้องกันฝุ่นตามมาตรฐานสากลของที่นี่ว่า เริ่มต้นจากเพดานที่ทำจากวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่น และการควบคุมระบบหมุนเวียนอากาศ ซึ่งอากาศต้องลงมาจากที่สูงแล้วไหลเวียนสู่ที่ต่ำ โดยที่ดูดอากาศต้องอยู่ที่พื้น เพื่อให้อากาศเดินในทิศทางเดียว ฝุ่นจึงจะไม่หมุนเวียนอยู่ในอากาศ และที่สำคัญคือจะไม่มีการใช้เครื่องดูดฝุ่นเด็ดขาด
นอกจากนี้ ยังมีระบบลอจิสติกส์ และระบบแพ็กของ ซึ่งจะต้องแกะอย่างประณีตและระมัดระวัง รวมทั้งต้องเก็บแพ็กเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ เพื่อความสะดวกและแม่นยำเวลาส่งคืน และเพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ไชยยงค์เล่าว่า TCDC ได้ส่งสตาฟฟ์บางส่วนไปศึกษาระบบงานเกี่ยวกับจัดนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์จาก Victoria & Albert Museum ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งที่นี่ถือเป็นสุดยอดระบบงานพิพิธภัณฑ์ของโลก
ระบบรักษาความปลอดภัย (Security) คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจแก่เจ้าของนิทรรศการที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งเรียกได้ว่า Security system ของที่นี่ “เป็นน้องๆ” ระบบธนาคารเล็กน้อยกล่าวคือ นอกจากจอโทรทัศน์วงจรปิดร่วม 60 ตัวในห้อง Security ระบบเข้าออกผ่าน Access Card ยังเข้มงวดมาก ขนาดที่การ์ดของผู้อำนวยการศูนย์ฯ ยัง “ไม่ผ่าน” กับหลายห้อง เช่น ห้องสตูดิโอ และ AV Control ซึ่งจะมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่เข้าออกได้ เป็นต้น
ห้องเก็บวัสดุและสิ่งของที่จัดแสดง ซึ่งหลายๆ ชิ้นมิอาจเปรียบเป็นมูลค่าได้ ระบบความปลอดภัยห้องนี้จึงเรียกได้ว่า “ขั้นสูงสุด” คือ ไม่เพียง Access Card แต่ห้องนี้ยังถูกล็อกด้วยแม่กุญแจตัวเขื่อง ซึ่งจะแต่ละเดือนจะสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ 2 คน มาเป็นผู้ถือกุญแจ และจะเปิดห้องได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือกุญแจทั้ง 2 คน อยู่ ณ ที่นั้น โดยที่การถือกุญแจจะเป็นความลับที่ไม่มีสตาฟฟ์ของ TCDC คนใดรู้ว่าใครเป็นผู้ถือกุญแจในเดือนนั้น แม้กระทั่งไชยยงค์ (ยกเว้น เจ้าตัว) ขณะเดียวกัน การได้เป็นผู้ถือกุญแจก็ต้องถูกเก็บเป็นความลับที่ไม่อาจบอกใครเลย … ยกเว้น คณะผู้จัดทำนิทรรศการนั้นๆ ที่ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันปิดความลับนี้
สุดท้าย ไชยยงค์ยังพูดถึงอีกหนึ่งสิ่งที่ลืมไม่ได้สำหรับ “มาตรฐานระดับสากล” นั่นก็คือ ระบบ Safety-First และความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะมักจะมีประเทศต่างๆ เข้ามาขอดูระบบการจัดนิทรรศการของที่นี่ไปเป็นต้นแบบ บ้างก็มาดูว่าระบบของ TCDC ได้มาตรฐานพอที่จะนำนิทรรศการมาแสดงหรือเปล่า… ซึ่งหลากหลายนิทรรศการระดับโลกที่กำลังจะตามมาเปิดตัว ณ ที่แห่งนี้ ก็คงจะเป็นคำตอบได้ดี