โมเดล win win ชินวัตรกรุยทางสิงคโปร์

“Where ever you are just for telephone always” ประโยคของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกล่าวไว้เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2549 ช่วงเวลาถูกตะโกนไล่ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนไม่สามารถเข้าทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลได้ตามปกติ

“ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็สามารถโทรศัพท์หากันได้” ความหมายที่ยืนยันอย่างยิ่งว่าในหัวใจของพ.ต.ท.ทักษิณ เต็มไปด้วยระบบการสื่อสาร แม้ในยามที่สถานะของตัวเองอยู่ในขั้นวิกฤต สมกับที่เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทสื่อสารอันดับ 1 ของประเทศ ด้วยอายุ 23 ปี

ไม่น่าเชื่อว่ากลุ่มชินคอร์ปในปี 2549 จุดประกายกลุ่มคนให้รวมตัวกันเรียกว่า ”พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ออกมาขับไล่ผู้ก่อตั้งบริษัทให้ออกจากตำแหน่งสูงสุดด้านบริหารของงานการเมือง โดยมีสิงคโปร์มีส่วนทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น

20 มีนาคม 2548 กลุ่มชินคอร์ปประกาศว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท คือบุคคลในครอบครัวชินวัตร ซึ่งประกอบด้วยบุตรชาย และบุตรสาว และตระกูลดามาพงศ์ เครือญาติของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขายที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กลุ่มบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย และต่างชาติ ที่มีกลุ่มเทมาเส็ก กองทุนที่มีรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ ด้วยมูลค่าที่ครอบครัวของพ.ต.ท.ทักษิณได้รับรวม 73,300 ล้านบาท

การขายหุ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเคลือบแคลงของสาธารณชน แต่เมื่อรวมกับอีกส่วนหนึ่งของความเคลือบแคลงที่บังเอิญมีข้อมูลปรากฏเกี่ยวกับบริษัทแอมเพิลริช จำกัด หรือบริษัทโคตรรวยจำกัด ที่รับโอนหุ้นไปๆ มาๆ จนปรากฏการเลี่ยงภาษี

จึงเป็นที่มาทำให้การร้องขอให้มีการตรวจสอบพฤติกรรมอันเคลือบแคลงนี้ดังขึ้น และตะโกนให้ออกไปในที่สุด ลุกลามไปถึงการบอยคอตสินค้าที่มีกลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นอยู่ รวมไปถึงสินค้าและบริการที่มีสิงคโปร์ถือหุ้น

สำหรับสิงคโปร์แล้วเป็นที่คุ้นเคยกับไทย โดยเฉพาะในธุรกิจสื่อสาร และโดยเฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ มีความสัมพันธ์มาเนิ่นนาน นับได้ว่าสิงคโปร์เป็นจุดที่ทำให้กลุ่มชินคอร์ปแจ้งเกิดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

สัมพันธ์เกือบ2ทศวรรษ

“สื่อสารเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย” อักษรตัวโตบนหน้าปกของหนังสือที่บันทึกประวัติความเป็นมาของกลุ่มชินคอร์ป ที่ออกแจกจ่ายเมื่อปี 2536 ในโอกาสที่กลุ่มชินคอร์ปตั้งบริษัทมาได้ 10 ปี นับจากปี 2526 ที่เริ่มก่อตั้งบริษัทในชื่อ บริษัทคอมพิวเตอร์เซอร์วิส แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด ซึ่งในปีต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด

ปี 2536 ยังเป็นปีที่สำคัญของชินคอร์ป คือมีโครงการจัดส่งดาวเทียม ”ไทยคม” ขึ้นสู่วงโคจร เป็นดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของไทย

ปี 2529 พ.ต.ท.ทักษิณได้ก่อตั้งบริษัทแอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด หรือเอไอเอส ในช่วงเริ่มแรกให้บริการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์ และต่อมาคือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ กิจการที่หล่อเลี้ยงครอบครัวชินวัตร จนสามารถส่งให้พ.ต.ท.ทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทยได้

จากปี 2526-2529 พ.ต.ท.ทักษิณยังคงรับราชการอยู่ในกรมตำรวจ และตำแหน่งสุดท้ายคือ รองผู้กำกับนโยบายและแผนงาน กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนลาออจากจากราชการเมื่อปี 2530 เพื่อทำธุรกิจอย่างเต็มตัว ช่วงเวลานี้เองที่พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มรับสัมปทานจากรัฐอย่างจริงจัง เช่นโครงการโทรศัพท์ระบบบอกรับสมาชิก ”ไอบีซี”

ในปี 2532 จัดตั้งบริษัทชินวัตร ดาต้าคอม ที่มีบริษัทสิงคโปร์ เทเลคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือของสิงคโปร์เทเลคอม ที่มีบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จำกัด สิงคโปร์ถือหุ้นใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

นี่คือจุดเริ่มต้นทำให้พ.ต.ท.ทักษิณสร้างความสัมพันธ์กับธุรกิจของสิงคโปร์ ต่อเนื่องมาในปี 2533 ที่ร่วมทุนกับสิงเทลเจ้าเดิมให้บริการวิทยุติดตามตัว ”โฟนลิ้งค์” ในนามบริษัทชินวัตรเพจจิ้ง จำกัด ในปี 2542 สิงเทลยังได้เข้ามาถือหุ้นในเอไอเอส จำนวน 18%

เป็นการก้าวคืบเข้ามาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยของสิงเทล ที่อยู่ใต้ปีกของเทมาเส็ก ด้วยความจำเป็นของกลุ่มชินคอร์ปเอง ที่ผู้บริหารระดับสูงของชินคอร์ปต่างรู้ดีว่าในช่วงเริ่มต้นธุรกิจสื่อสารของชินคอร์ป มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้เทคโนโลยี เพราะสำหรับเมืองไทยเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สายยังเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นของทั้งชินวัตรดาต้าคอม โฟนลิ้งค์ และเอไอเอส จึงมีผู้บริหารจากสิงเทลเข้ามาอยู่บ้าง

17 ปีที่ผ่านไปสำหรับความสัมพันธ์ของสิงเทล กับชินคอร์ปเท่านั้น แต่สิงเทลยังเป็นจุดเริ่มต้ำสำหรับพ.ต.ท.ทักษิณในเส้นทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2537-2538

และสูงสุดตั้งแต่ปี 2544 ที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทุกครั้งและหลายครั้งที่มีโอกาสและเวลาพ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัวจะเดินทางไปสิงคโปร์

ในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองนี้เอง กลุ่มชินคอร์ปได้ขยายธุรกิจนอกเหนือจากธุรกิจสื่อสาร ทั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี และสายการบินโดยร่วมทุนกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย ของมาเลเซีย ธุรกิจการเงินที่ร่วมทุนกับดีบีเอส ธุรกิจอินเทอร์เน็ต

บทพิสูจน์สุดท้ายถึงความสัมพันธ์อันแน่นหนาระหว่างชินวัตรและสิงคโปร์คือ ปี 2549 ที่ครอบครัวชินวัตรได้รับเงินก้อนมหาศาล 73,300 ล้านบาท จากสิงคโปร์ ผ่านกองทุนเทมาเส็ก

สำหรับสิงคโปร์ถือว่าไม่เสียแรงเปล่าที่ปูพื้นฐานความสัมพันธ์กับครอบครัวชินวัตรมานานเกือบ 2 ทศวรรษ กับการจ่ายเงินก้อนสุดท้ายเพื่อให้ได้ทรัพยากรสำคัญของไทยไปครอบครองทั้งสิทธิการบิน คลื่นวิทยุโทรทัศน์ และตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม ซึ่งทั้งหมดต้องให้หน่วยงานของไทยในนามรัฐบาลไทยประสานและเจรจากับต่างประเทศ

ซิคเว่ เบรกเก้ ซีอีโอ บริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือดีแทค บอกเล่าถึงสูตรความสำเร็จของธุรกิจจากสิงคโปร์ ว่าเพราะระบบการเมืองของสิงคโปร์ค่อนข้างมีเสถียรภาพ เมื่อการเมืองแข็งแกร่งทำให้ระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ในประเทศสิงคโปร์มีขนาดเล็ก ทำให้ต้องขยายธุรกิจออกนอกประเทศ อย่างแบงก์ยูโอบี สิงเทล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลของสิงคโปร์ก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ในการนำเอกชนไปลงทุนต่างประเทศ

นอกเหนือจากนี้ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์มีความสามารถ สร้างระบบการทำงานที่มีวินัย มีกฎระเบียบ และคนก็ทำตามกฎระเบียบ ทำงานหนัก ทำงานอย่างมีเป้าหมาย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชินคอร์ปในกระแสบอยคอตสินค้าในเครือนี้ “ซิคเว่” บอกว่าเป็นความชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่า ”ในที่สุดแล้ว การเมืองไม่ควรเกี่ยวพันกับธุรกิจ”