เน็ตเวิร์คฮับสุขภาพ…ยุทธการร่วมทุนโรงพยาบาลไทย

ทุนสิงคโปร์ที่เล็งเป้าสู่ “ธุรกิจโรงพยาบาล” ของไทย กรณีของการเคลื่อนทุนสู่ “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า นัยและความสนใจของการเข้ามาลงทุนดังกล่าว นอกจากเหตุผลทางด้านศักยภาพของธุรกิจแล้ว เป้าหมายใช้กลยุทธ์เน็ตเวิร์คมาร์เก็ตติ้งผ่านศักยภาพสถานพยาบาลระดับอินเตอร์เนชั่นแนลนั้น มีคำตอบที่น่าติดตามยิ่ง

“เทมาเส็ก” เป็นทุนสิงคโปร์รายล่าสุดที่เคลื่อนทุนเข้าสู่ธุรกิจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทย แม้จะเข้ามาถือหุ้นเพียง 5.49% แต่การเข้ามาครั้งนี้กำลังบ่งบอกถึงนัยว่า ธุรกิจสถานพยาบาลของไทยมีคำตอบแห่งการลงทุนที่ควรจับตามองอย่างยิ่ง

ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถูกวาง POSITIONING สู่การเป็นศูนย์กลางสถานพยาบาลระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่อง และจริงจังมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา สถานพยาบาลแห่งนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นธุรกิจโรงพยาบาลระดับแนวหน้าของเมืองไทยที่มุ่งระบบการบริการสุขภาพระดับไฮคลาส ตอบสนองลูกค้าระดับบน โดยเฉพาะกลุ่มชาวต่างชาติ

คำว่า “อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่พ่วงท้ายชื่อโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นั้น ไม่ใช่เรื่องธรรมดา หากแต่เป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งสถานพยาบาลแห่งนี้พยายามสร้างแบรนด์ และลงทุนสู่ความเป็นไฮคลาสด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

การสร้างแบรนด์บริการระดับไฮคลาสนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ ได้รับการจับตามองว่าน่าลงทุนที่สุด!

คำตอบแห่งการลงทุน

การุณ เมฆานนท์ชัย ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ประเด็นความสนใจของนักลงทุนต่างชาติน่าจะมีด้วยกันสามส่วนใหญ่ๆ คือ แผนการขยายการลงทุน ความสามารถด้านการบริการของไทย และช่องทางการตลาด หรือเน็ตเวิร์คมาร์เก็ตติ้ง ในการขยายตลาด

ด้านการลงทุน บำรุงราษฎร์มีแผนการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้ตัดสินใจเข้าร่วมทุนกับนักลงทุนอเมริกา และนักลงทุนจีน เปิดโครงการโรงพยาบาลโรคหัวใจที่ปักกิ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ

การขับเคลื่อนการลงทุนในเจาะตลาดต่างประเทศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในปี 2546 บำรุงราษฎร์ได้เข้าไปบริหารโรงพยาบาลในประเทศพม่าและบังกลาเทศ และในปีถัดมาได้เข้าไปซื้อหุ้นและบริหารโรงพยาบาลเอเชียน ในประเทศฟิลิปปินส์

ส่วนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบำรุงราษฎร์ได้เข้าไปลงทุนสร้างโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลระดับไฮคลาส หรือ 7 ดาวในเมืองดูไบ โดยได้ร่วมถือหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ กับอีสทิทมาร์ บริษัทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำหนดเงินร่วมลงทุนไว้ประมาณ 9.7 ล้านเหรียญสหรัฐ มีขนาด 250 เตียง และเป็นส่วนหนึ่งของคอมเพล็กซ์ใหญ่ของเมือง โดยเริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี 2548 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2550

ส่วนตลาดในประเทศนั้น โครงการตึกตรวจโรค 22 ชั้น กำหนดแล้วเสร็จประมาณไตรมาสที่สาม ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้อีกจำนวนหนึ่ง

ปัจจัยสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ ความสามารถด้านการบริการของไทยนั้น ต่างชาติยอมรับว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่เครื่องมือแพทย์ ทีมแพทย์ ห้องพักรักษาพยาบาล และการบริการอื่นๆ ที่รองรับสำหรับนักเดินทางต่างชาติ

พลังเน็ตเวิร์คมาร์เก็ตติ้ง

ในขณะที่กลยุทธ์ด้านการหาตลาดใหม่ๆ ปัจจุบันบำรุงราษฎร์มีสำนักงานตัวแทนต่างประเทศทั้งหมด 8 แห่ง เป็นตัวขับเคลื่อนทางการตลาดเพื่อดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ได้แก่ กรุงธากา บังกลาเทศ,กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า, นครกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล, นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม, กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา, กรุงมาเล ประเทศมัลดีฟส์, เมืองเอนส์เคอเด ประเทศเนเธอร์แลนด์ และกรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ตัวแทนในต่างประเทศ จะทำหน้าที่ติดต่อระหว่างชาวต่างชาติที่อยากบินมาใช้บริการที่เมืองไทย และจะประสานงานนัดหมาย จัดแพ็กเกจการเดินทางให้กลุ่มลูกค้า

สาขาในต่างประเทศ เป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้เกิดเน็ตเวิร์คที่เชื่อมต่อไปทั่วโลก ซึ่งนับเป็นศักยภาพที่นักลงทุนต่างชาติเล็งเห็นอย่างดี หากเข้ามาถือหุ้นในสถานพยาบาลแห่งนี้ย่อมได้เปรียบ และสามารถเชื่อมต่อกับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้ เช่น ธุรกิจยารักษาโรค เป็นต้น

เจาะฐานลูกค้า

“ในปี 2549 นี้ตั้งเป้าหมายว่า ฐานผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้นอีก 15% จากฐานเดิมในปี 2548 ที่มีลูกค้าประมาณ 1 ล้านคนต่อปี โดยลูกค้าต่างชาติมีสัดส่วน 40% และลูกค้าชาวไทย 60%”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาล อธิบายเสริมว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าตะวันออกกลางมีอัตราการเติบโตสูงสุดในปีที่ผ่านมา โดยมีถึง 8 หมื่นคน จากจำนวนทั้งหมด 4 แสนคนที่เข้ามาใช้บริการในแต่ละปี ซึ่งหากโครงการที่ดูไบเสร็จ จะสามารถรองรับลูกค้าชาวอาหรับได้อีกจุดหนึ่ง

ความโดดเด่นของโรงพยาบาลแห่งนี้ อยู่ที่ระบบการบริการรักษาโรคมีชำนาญความหลากหลาย ตั้งแต่การักษาโรคมะเร็ง ข้อเสื่อม ทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และแม้แต่การทำศัลยกรรมพลาสติก เหตุผลนี้เองที่ทำให้บำรุงราษฎร์ เป็นแบรนด์สำคัญที่ชาวต่างชาติสนใจเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

…ตัวเลขผลประกอบการทางด้านรายได้ของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ในปี 2548 มีตัวเลขถึงปีละ 6 พันล้านบาท ผลกำไรประมาณ 800 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายในปี 2549 ซึ่งรายได้จะขยับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15 นับเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้บำรุงราษฎร์ดูโดดเด่นในสายตาทุนต่างชาติมากขึ้นหากพิจารณาถึงผลประกอบการ

รพ. ธุรกิจที่ไม่มีวันตาย

“ธุรกิจโรงพยาบาล เป็นธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัยสี่ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยิ่งทุกวันนี้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น จึงเป็นธุรกิจที่น่าลงทุนอย่างยิ่ง” วิชัย ทองแตง ประธานกรรมการ บริษัทประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท ให้ความเห็น

สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท วิชัย บอกว่า หลังจากผ่านช่วงการฟื้นฟูกิจการ และความขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นเดิมกลุ่มของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ แล้ว จะเร่งหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นธุรกิจโรงพยาบาลจากสิงคโปร์ก็เป็นได้ เพราะก่อนหน้านี้มีบางรายได้เข้ามาเจรจาของร่วมทุนบ้างแล้ว เช่น กลุ่ม Parkway Group Healthcare รวมถึงธุรกิจสุขภาพจากตะวันตกและอเมริกา

ความจำเป็นของธุรกิจโรงพยาบาลที่ต้องมีเงินทุนต่างชาตินั้น เพราะการลงทุนสูงทั้งในการซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ และอาคาร ซึ่งลำพังเงินทุนของนักลงทุนไทยไม่เพียงพอ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลสิงคโปร์เองก็มีแผนจะพัฒนาโรงพยาบาล และศูนย์สุขภาพในสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางสุขภาพ (Health Hup) แห่งภูมิภาค เช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่เคยประกาศให้ไทยเป็นศูนย์สุขภาพ

ภาพของธุรกิจสุขภาพจึงชัดเจนว่า ไทยและสิงคโปร์ประกาศแข่งขันกันอย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีทุนจากสิงคโปร์ที่ยังมองเห็นศักยภาพของไทยมากกว่า ในเดือนมกราคม 2549 จึงเห็นภาพของกลุ่มเทมาเส็กเข้ามาซื้อหุ้นในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

โดยศักยภาพของคนไทยแล้ว เด่นในเรื่องงานบริการ คนไทยมีความละเอียดอ่อน นุ่มนวล จึงเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าสิงคโปร์ แต่ปัญหาเรื่องเงินทุนทำให้ในที่สุดแล้วต้องพึ่งพิงต่างชาติ

“วิชัย ทองแตง” อดีตทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้น เมื่อปี 2544 เริ่มเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจโรงพยาบาลกลุ่มศิขรินทร์เมื่อปี 2542 หลังจากนั้นปี 2543 เข้าถือหุ้นโรงพยาบาลเปาโล ปี 2546 เริ่มเข้าซื้อหุ้นบริษัทประสิทธิ์พัฒนา ซึ่งบริหารโรงพยาบาลพญาไท 3 สาขา

ผ่าตัดแฝดสาวอิหร่าน สร้างแบรนด์ สิงคโปร์

การผ่าตัดแยกศีรษะฝาแฝดหญิงสาวชาว ”อิหร่าน” ที่ตกเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก ซึ่งยูบีซีเคเบิลทีวีได้นำสารคดีเรื่องดังกล่าวมาออกอากาศ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แท้ที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนปูทางไปสู่บริการทางการแพทย์ ซึ่งถือเป็น Positioning ของประเทศสิงคโปร์ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในเร็ววัน

เพื่อให้ภาพความเป็น Biomedical Hub แจ่มชัดสู่สายตาชาวโลก รัฐบาลสิงคโปร์ถึงกับยอมเสี่ยงเดิมพันความสำเร็จด้วยการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพผ่าตัดฝาแผดหญิง ที่มีศีรษะติดกันมานานถึง 29 ปี ท่ามกลางการไม่เห็นด้วยของนานาประเทศ เพราะประเมินแล้วว่ามีความเสียงสูงเกินไป

ผลปรากฏว่า การผ่าตัด ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2546 ณ โรงพยาบาล ราฟเฟิลส์ ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ล้มเหลว เพราะฝาแฝดทั้ง 2 เสียเลือดในการผ่าตัดแยกส่วนศีรษะและสมองออกจากกัน จนเสียชีวิตลงหลังจากใช้เวลาในการผ่าตัดมาได้ 52 ชั่วโมง ท่ามกลางความโศกเศร้าของผู้คนทั่วโลก

แม้ว่าความล้มเหลวในครั้งนั้น ทำให้ภาพของสิงคโปร์ดูย่ำแย่ในสายตาของชาวโลก แต่ไม่สามารถหยุดยั้งสิงคโปร์ได้ เพราะในอีกด้านหนึ่ง สิงคโปร์ใช้นโยบาย Network Management ด้วยการซื้อหุ้นในกิจการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชั้นนำของไทย ที่ทั้งทีมแพทย์ และการลงทุนจัดตั้งศูนย์การแพทย์ ไปในหลายประเทศ เพื่อใช้เป็นเครือข่ายในการสร้างพลังทางธุรกิจ ให้กับ Biomedical Hub ของสิงคโปร์ เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ