สิงคโปร์ แอร์ไลน์ (SIA) ก่อตั้งเมื่อ 59 ปีก่อน เป็นการลงทุนร่วมระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์ มีชื่อเดิมว่า สายการบินมาลายาน (Malayan) ให้บริการในเอเชียอาคเนย์ ต่อมาเมื่อสิงคโปร์ได้รับเอกราช รัฐบาลทั้งสองจึงแยกการดำเนินธุรกิจ โดยสายการบินมาลายา กลายเป็น สายการบินมาเลเซีย และในปี ค.ศ. 1972 สายการบินชื่อ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ ได้กำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ
จากที่สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก การบินภายในประเทศเป็นเรื่องเกินจำเป็น ดังนั้น SIA จึงถูกตั้งเป้าหมายให้เป็นสายการบินนานาชาติ ที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมต่างๆ ทั้งเทคโนโลยี คุณภาพ และการบริการลูกค้า SIA เป็นสายการบินแรกที่ให้เสิร์ฟอาหารอุ่นบนเครื่อง พร้อมเครื่องดื่มฟรีทุกชนิด รวมทั้งผ้าร้อน และระบบบันเทิงส่วนบุคคลที่มี Video-on-Demand ในทุกชั้นที่นั่ง พร้อมหูฟังฟรีบนไฟล์
SIA มีนโยบายใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ล่าสุด เป็นสายการบินแรกที่ให้บริการเครื่องบินลำใหญ่ที่สุดในโลก คือ แอร์บัสซูเปอร์จัมโบ้ A-380 กลยุทธ์การใช้เครื่องบินใหม่คือ ประหยัดค่าบำรุงรักษาและค่าเชื้อเพลิง โดย SIA ได้ประกันราคาเชื้อเพลิงเพิ่มอีก 50% ในเวลา 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ SIA ยังให้ความสำคัญและลงทุนอย่างหนักในส่วนของ R&D นวัตกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นหัวใจแห่งความสำเร็จของแบรนด์
สาวสิงคโปร์ (The Singapore Girl) เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความสำเร็จ สร้างชื่อให้กับสิงคโปร์แอร์ไลน์ โดยได้ Pierre Balmain ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้สร้างเอกลักษณ์ให้แก่ Singapore Girl หรือแอร์โฮสเตสของ SIA ด้วยเครื่องแบบ Sarong Kebaya ซึ่งกลายเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของคนเอเชียที่เปี่ยมไปด้วยการต้อนรับที่สุภาพ อ่อนหวาน และสง่างาม ทำให้ Singapore Girl กลายเป็นไอคอนทางธุรกิจที่ได้รับเลือกให้แสดงในพิพิธภัณฑ์ Madame Tussaud ในลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1994 นอกจากนี้ SIA ยังอบรมพัฒนาลูกเรือทั้งภาคพื้นและบนเครื่องอย่างต่อเนื่องและครอบคลุม เพื่อมั่นใจได้ว่าคุณภาพการให้บริการลูกค้าเป็นไปตามมาตรฐานที่คงที่ สมกับที่เป็นสัญลักษณ์ของสายการบิน และ Singapore Girl จะปรากฏในโฆษณาของ SIA เพื่อสื่อให้ลูกค้าจินตนาการได้ถึงการตอนรับที่อบอุ่น ภายใต้สโลแกน “Singapore Airline-A Great Way to Fly” ที่ใช้มายาวนานกว่า 30 ปี
SIA เปิดตัว Tiger Airway สายการบิน Low-cost ที่บินระยะสั้นๆ ในภูมิภาค โดยอยู่ในแถวหน้าของ สายการบิน Low-cost เนื่องจากไม่ต้องการให้กระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์หลัก ซึ่ง Tiger Airway จะเป็นสายการบิน Low-cost ที่แท้จริงหรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่บทสรุปของความสำเร็จของแบรนด์ SIA มาจากนโยบายการดำเนินธุรกิจในระยะยาว และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้สามารถลงทุนในการซื้อเครื่องบินใหม่หรือพัฒนาระบบเทคโนโลยีได้เอง โดยไม่ต้องกู้ยืมเงินจากภายนอก และความเสมอต้นเสมอปลายของทีมงานทุกระดับ