“ดอกเบี้ยเงินฝาก” ที่ตัวเลขยิ่งเพิ่มขึ้น ผู้ใช้บริการยิ่งดีใจ แม้จะมีดอกเบี้ยขากู้ที่ขึ้นด้วย จนทำให้ลูกหนี้ทั้งหลายร้องจ๊ากก็ตาม แต่เศรษฐีเงินฝากในเมืองไทยก็มีจำนวนมากพอ ที่จะทำให้ตลาดดอกเบี้ยเงินฝากแข่งกันคึกคักสุดขีดยามนี้
ยิ่งแข่งมาก ก็ยิ่งมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อดึงเงินฝากออกมาอย่างหลากหลาย ทั้งแบบเวลาที่กำหนดขึ้นต่างจากเดิม เช่น ฝากประจำ ที่สมัยเด็กๆ จะรู้จักกันอย่างดีเฉพาะฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน หรือยาวนานไปจนถึง 24 เดือน แต่แบบใหม่ มีการนำเสนอ เป็น 8 เดือน 7 เดือน หรือทุกตัวเลขที่เพียงพอที่จะบอกถึงระยะเวลาที่แตกต่าง หรือการนำเสนอการจ่ายดอกเบี้ย ที่ผู้ฝากไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ดอกเบี้ย
ที่สำคัญ ไม่ว่าแบงก์ใดจะประกาศอัตราดอกเบี้ยใหม่แต่ละครั้ง ก็นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องออกแรงเพื่อโปรโมต แต่สื่อต่างๆ พร้อมใจกันโปรโมตด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง แต่ละแบงก์จึงไม่มีต้นทุนสำหรับการประชาสัมพันธ์ หรือแม้แต่การโฆษณาใดๆ
ปรากฎการณ์เวลานี้ของตลาดดอกเบี้ย “ชาลอต โทณวนิก” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่าเป็นภาวะตลาดการเงินในระยะสั้น ที่ทุกแบงก์ต้องใช้กลยุทธ์ Pricing อย่างเดียวเท่านั้น จึงจะชนะคู่แข่งในตลาด
Pricing ในที่นี้ คือ การพยายามเสนอแพ็กเกจดอกเบี้ยเงินฝากให้ตัวเลขสูงกว่าเหนือคู่แข่ง แม้จะต่างกันแค่ 0.25% ก็มีความหมายแล้วสำหรับดอกเบี้ย พ่วงมาพร้อมกับระยะเวลาฝากประจำที่ให้เวลาสั้นกว่าแบงก์อื่น
“คนฝากเงินตอนนี้ ก็สนใจเฉพาะดอกเบี้ยที่สูงกว่า ส่วนขนาดของแบงก์ หรือว่าเป็นแบงก์ไทย หรือแบงก์ต่างชาติ ลูกค้าก็ไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่นัก เพราะขณะนี้แบงก์ใหญ่ หรือแบงก์เล็ก ก็มีรัฐบาลค้ำประกันเงินฝากอยู่แล้ว“
ธรรมชาติของธุรกิจแข่งกันชิงเงินฝากยังมีประเด็นที่น่าสนใจ ตรงที่ว่า ทุกครั้งที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินฝากใหม่ แบงก์เหล่านี้ไม่ค่อยมีต้นทุนในการโปรโมตเท่าไรนัก เพราะดอกเบี้ยคือสิ่งที่ลูกค้าติดตามอยู่ตลอดเวลา
“ที่ไม่ได้จัดโปรโมต เพราะส่วนหนึ่งไม่มีเวลา ประกาศแล้วก็ใช้อัตราใหม่วันรุ่งขึ้นเลยทันที และที่สำคัญ เป็นส่วนที่ลูกค้าติดตามอยู่แล้ว ขณะเดียวกันสื่อต่างๆ ก็ให้ความสนใจ และมักลงข่าวให้ทุกครั้งที่ประกาศอัตราใหม่ ถือเป็นกลยุทธ์ฟรีพีอาร์ที่ได้ผล”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะมีเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจเงินฝากในเวลานี้ “ชาลอต” เสนอแนะว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์เงินฝากระยะยาว เพื่อความมีเสถียรภาพของสภาพคล่องของแบงก์ ต่างจากปัจจุบันที่เน้นเงินฝากระยะสั้น เป็นเงินฝากประจำไม่ถึงปี ซึ่งลักษณะการแข่งขันเช่นนี้ จะเป็นอยู่อีกประมาณ 2-3 ไตรมาส หรือจนกว่าดอกเบี้ยโลกจะหยุดขึ้น
อาจจะอีกนาน หรือไม่นานก็ตาม ที่แน่ๆ เวลานี้เศรษฐีเงินฝากเมืองไทยก็ยิ้มแย้มรับดอกเบี้ยบานกันเป็นแถว
จุดเด่นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ | ||
---|---|---|
ธนาคาร | ประเภท | อัตรา (%) |
กรุงเทพ | ฝากประจำ 10 เดือน | 5.125 |
กรุงไทย | ฝากประจำ 24 เดือน | 4.50 (ไม่เสียภาษี) |
กสิกรไทย | ฝากประจำ 8 เดือน | 4.50 |
ไทยธนาคาร | ฝากประจำ 6 เดือน (ขั้นต่ำ 10,000 บาท) | 5.00 |
นครหลวงไทย | ฝากประจำ 7 เดือน | 4.50 |
กรุงศรีอยุธยา | ฝากประจำ 8 เดือน ฝากประจำ 18 เดือน |
4.50 4.50 – 5.00 |
สแตนดาร์ดชาร์เตอร์นครธน | ออมทรัพย์ | ให้ดอกเบี้ย 2 เท่า (ฝากขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท) |
ยูโอบี | ฝากประจำ 3 เดือน ต่ออีก 3 เดือน ฝากประจำ 6 เดือน ต่ออีก 6 เดือน |
4.00 – 5.25 4.50 – 5.75 |
ธนชาต | ออมทรัพย์ ฝากประจำ 9 เดือน |
3.00 5.25 |
LH แบงก์ | ออมทรัพย์ ฝากประจำ 3 – 36 เดือน |
2.50 – 3.25 4.75 – 5.25 |
เกียรตินาคิน | ฝากประจำ 7 เดือน | 5.15 |