ชีวิตคือเกมเชิงกลยุทธ์

ชื่อหนังสือ เอาตัวรอดด้วยทฤษฎีเกม
ผู้เขียน นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์
สำนักพิมพ์ เดคิซูกิ ดอทเน็ต
จำนวนหน้า 142
ราคา(บาท) 120

เรื่องของทฤษฎีเกม ซึ่งเคยเป็นแค่ทฤษฎีคณิตศาสตร์ในห้องเรียน ที่มีคนพยายามนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์อื่นๆ ได้กลายเป็นเรื่องที่มีคนนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และพยายามนำมาอธิบายสถานการณ์ที่เป็นจริงอย่างแพร่หลาย

ขนาดนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลรุ่นหลังๆ มานี้ ก็ยังมีนักทฤษฎีเกมคว้ารางวัลไปกินต่อเนื่องกัน ทำให้ยิ่งมีคนพยายามหาความรู้มากขึ้นไปอีก ยิ่งมีการนำเอาไปอธิบายเรื่องทางการเมืองและอำนาจด้วย ก็ยิ่งสนุกสนานมากยิ่งไปอีก

ปัญหาใหญ่ก็คือ ทฤษฎีนี้เกี่ยวข้องกับโจทย์ทางคณิตศาสตร์และเศรษฐมิติ เป็นยาขมสำหรับคนทั่วไปอย่างมากพอสมควร ทำให้ใครที่สนใจต้องปลีกตัวห่างออกมากันเป็นแถวๆ

ความพยายามทำให้ทฤษฎีเกมง่ายลง และมีตัวเลขทางคณิตศาสตร์น้อยลง จึงเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อย

หนังสือเล่มนั้นก็เป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้ทฤษฎีเกมง่ายลงสำหรับคนทั่วไป แต่ก็นั่นแหละ ยิ่งทำให้ง่ายเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เรื่องตื้นเขินมากเท่านั้น

ทฤษฎีเกมนั้น นับแต่จอห์น ฟอน นิวแมน คิดขึ้นมาและนำไปประยุกต์กับวิชาเศรษฐมิติ ก็มีคนพยายามคิดขึ้นมามากมาย ด้วยชื่อแปลกๆ สารพัด ถือเป็นหนึ่งในวิชาใหม่ๆ ที่มาแรง

สาระหลักของทฤษฎีเกมคือ ต้องมีผู้เล่นมากกว่า 1 คนขึ้นไป และมีข้อมูลไม่สมบูรณ์พร้อม โดยที่ผู้เล่น จะต้องเลือกทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่ตนเอง บางครั้งเพื่อเอาชนะ บางครั้งเพื่อความร่วมมือกัน

การเล่นทฤษฎีเกมเพื่อเอาชนะกัน จะมีแนวทางที่เรียกว่า ชนะกินรวบ หรือ zero-sum game ซึ่งผู้เล่นจะปิดบังข้อมูลกันอย่างถึงที่สุด เพื่อหาข้อต่อรองที่ดีที่สุด โดยไม่สนใจว่า จุดดุลยภาพของแนช จะมีหรือไม่ เพราะมองไม่เห็นผลประโยชน์ร่วมกันจากการร่วมมือ และมักจะลงเอยด้วยการแตกหัก

ส่วนทฤษฎีเกมเพื่อความร่วมมือกัน จะมีแนวทางที่เรียกว่า กินแบ่ง ซึ่งผู้เล่นจะเปิดเผยข้อมูลแก่กันและกันเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแก่ทั้งสองฝ่าย โดยยอมลดท่าทีเอาชนะลง เนื่องจากมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันจากความร่วมมือ

ข้อเสียของการหมกมุ่นกับทฤษฎีเกมอยู่ที่ว่า ทฤษฎีนี้เพิกเฉยต่อปัญหาเรื่องจริยธรรม และความชอบธรรม ซึ่งเท่ากับเปิดทางให้กับคนที่พลิกแพลงเจ้าเล่ห์แบบศรีธนญชัย เข้ามามีบทบาทในการเล่นเกมมากเกินไป
ดังที่มีคนกล่าวว่า ทำให้คนจำพวกซุนหวู่ (ปรมาจารย์ทางทหารของจีนโบราณ) เกาติลยะแห่งราชวงศ์จันทรคุปต์(เจ้าของหนังสือ ออรถศาสตร์) แมคเคียเวลลีแห่งอิตาลี (เจ้าของงานเขียน The Prince อันโด่งดัง) และคาร์ล ฟอน เคลาสวิทช (เจ้าของงานเขียน On War) กลับมาโลดแล่นในรูปใหม่อย่างแพร่หลาย

หนังสือเล่มนี้ เป็นการพยายามเกริ่นนำให้ผู้อ่านที่สนใจเรื่องธุรกิจเข้าใจว่า ในการแข่งขันนั้น การพินิจและประยุกต์ใช้ทฤษฎีเกมเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งเพื่อการรู้ทัน และเพื่อหาประโยชน์ เพราะเราไม่สามารถทำการแข่งขันโดยเชื่อว่าคนอื่นจะมีเจตนาดีต่อเราเสมอไปได้อย่างแน่นอน

ผู้เขียนพยายามหลีกเลี่ยงทฤษฎีและตัวเลขอย่างมาก พร้อมกับนำเอากรณีศึกษาที่เป็นรูปธรรมมาใช้อธิบายทฤษฎีเกมอย่างง่ายๆ ซึ่งทำให้คนอ่านสนุกสนานมากขึ้น

ตัวอย่างน่าสนใจที่ยกมา ซึ่งเหมาะสำหรับวัยรุ่นก็คือ เรื่องของความรัก ในเกมแห่งความร่วมใจ (บทที่ 6) ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่ารักดี แถมยังเอาไปใช้การได้ทันทีเสียอีก

น่าเสียดายที่ทฤษฎีเกมที่ผู้เขียนยกเอามานั้น ค่อนข้างน้อยไปสักนิด เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีทฤษฎีเกมที่ได้รับความนิยมและมีคนคิดขึ้นมากมาย อาทิ Game of Chicken – Stag hunt – Ultimatum game – Matching pennies – Minority Game – Rock Paper Scissors – Dictator game ฯลฯ แต่ก็ถือได้ว่า นี่เป็นแค่ปฐมบทของการเรียนรู้และเข้าถึงเท่านั้น

คนที่สนใจ ต้องหาความรู้เพิ่มเติม

รายละเอียดในหนังสือ

กำเนิด ทฤษฎีเกม ความเป็นมาของทฤษฎีเกมอย่างย่อ นับแต่จอห์น ฟอน นิวแมน นักคณิตศาสตร์อเมริกันลี้ภัย นำมาใช้อธิบายการตัดสินใจของมนุษย์บนข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ เพื่อหาทางเลือก และมีการนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์อื่นๆ

1.เกม นิยามที่เกิดขึ้นเมื่อคนเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีทางเลือกมากกว่า 1 ทาง และต้องตัดสินใจเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด โดยที่ข้อมูลไม่ครบถ้วน ในขณะที่มีผู้เล่นคนอื่นก็กำลังตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเช่นกัน ซึ่งต้องอาศัยการคาดเดาความเป็นไปได้ล่วงหน้าเพื่อหากลยุทธ์ที่ดีที่สุดประกอบ

2.กลยุทธ์เด่น เมื่อผู้เล่นเกมสองฝ่ายต่างไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลแก่กัน การหากลยุทธ์ที่ดีที่สุดโดยดูจากผลตอบแทนของทั้งสองฝ่ายที่คาดหมายในตารางผลตอบแทนย่อมเป็นทางเลือก ถือว่า หากให้ผลตอบแทนแก่ฝ่ายเราสูงสุด ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์เด่น โดยไม่ต้องสนใจผลตอบแทนของอีกฝ่ายหนึ่ง

3.ความลำบากใจของจำเลย เป็นเกมประเภท ”กินแบ่ง” ที่คนรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับทางเลือกของผู้ต้องหา 2 คนในคดีเดียวกันว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งมีตัวแปรสำคัญคือระดับของการไว้วางใจกัน ข้อสังเกตเกมนี้คือ หากผู้ต้องหาแต่ละคนเลือกผลตอบแทนที่คาดว่าดีที่สุด กลับได้ผลผลตอบแทนจริงแย่ที่สุด

4.จุดสมดุลของแนช เกมที่ผู้เล่นทั้งคู่ต้องเลือกจุดที่พอใจ เพราะไม่สามารถมองเห็นผลตอบแทนที่ดีกว่าได้จากทางเลือกอื่นๆ เหมาะสำหรับเกมที่ต้องเล่นซ้ำๆ กัน

5.เกมปอดแหก เกมสำหรับทำงานเป็นกลุ่ม โดยที่ทั้งสองคนต่างพยายามจะกินแรงของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเกมวัดใจว่าใครจะกลัวมากกว่ากัน คนที่กลัวมากที่สุดจะเป็นฝ่ายแพ้

6.เกมแห่งความร่วมใจ เป็นเกมที่จุดสมดุลของแนชเกิดขึ้นเมื่อผลตอบแทนของผู้เล่นทั้งคู่เท่ากันพอดี หากร่วมมือร่วมใจกัน

7.สุ่มกลยุทธ์ เกมที่มีลักษณะเดียวกันกับ เป่า-ยิ้ง-ฉุบ เป็นเกมที่ไม่มีจุดสมดุลของแนช และไม่มีกลยุทธ์เด่นสำหรับผู้เล่นทุกฝ่าย การเล่นต้องไม่ทำให้มีแบบแผนชัดเจน

8.ความน่าเชื่อถือ เป็นเกมที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะเชื่อถือคำขู่คุกคามเของเราก็ต่อเมื่อ เป็นทางเลือกที่เขาได้รับผลประโยชน์ด้วยเท่านั้น เหมาะสำหรับเกมที่ต้องเล่นหลายครั้ง และผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามมีต้นทุนที่ต้องเสียหายมากพอ

9.การต่อรอง การหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแบ่งผลประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนและร่วมมือกัน โดยจะมีการยื่นข้อเสนอ และตอบรับเพื่อหาจุดลงตัวให้ได้ด้วยการลดทางเลือกลงภายใต้เงื่อนเวลา โดยฝ่ายยื่นข้อเสนอก่อนจะได้เปรียบ

10.เกมกับค่าจ้าง นายจ้างกับลูกจ้างล้วนไม่มีกลยุทธ์เด่นต่อกัน และไม่มีจุดสมดุลของแนช แต่สามารถแก้ไขด้วยการปรับปรุงโครงสร้างผลตอบแทนเกี่ยวกับสัมฤทธิผลของงาน

11.เกมกับธุรกิจ เกมการฮั้วราคาของคู่แข่งขันในตลาด เป็นเกมที่ไม่มีจุดสมดุลของแนช แต่สามารถทำได้ด้วยการส่งสัญญาณไม่เป็นทางการขึ้นมาในฐานที่เข้าใจกันอย่างแนบเนียน

12.เกมกับตลาดหุ้น การตีความสัญญาณของนักวิเคราะห์ นายหน้าค้าหุ้น และผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น
บทส่งท้าย บทสรุปความสำคัญของการคิดเชิงกลยุทธ์ว่าไม่ใช่การเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม แต่เลือกผลตอบแทนในการตัดสินใจที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง