สงคราม โรตีบอย ร้อนทะลุเตา!

ปรากฏการณ์เรียงคิวซื้อ…กลิ่นกาแฟ…ขนมปังสดๆ ร้อนๆ จากเตาอบ… ใครจะเชื่อว่า ขนมปังอบก้อนกลมๆสูตรนี้จะแรงและดัง ชนิดวงการขนมปังอบเมืองไทยต้องวิ่งหาสูตร หาทำเลกันทำชนิดฝุ่นตลบ โดยไม่สนใจไยดีว่า แฟชั่นขนมดังนี้จะเสื่อมความนิยมลง…

โรตีบอยแรงและดัง ชนิดห้างไหน แหล่งชุมชนใด ไม่มียามนี้ อาจจะเชย! และตกเทรนด์ไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ทำให้ศึกโรตีบอยยิ่งนับวันเหมือนเป็นสงครามสำหรับนักธุรกิจอาหารเมืองไทย และเจ้าของทำเลต่างฟาดฟันกัน แข่งขันแบบดุเดือด

ปรากฏการณ์ โรตีบอย ร้อนๆ

โรตีบอย สายพันธุ์มาเลเซีย ภายใต้แบรนด์ Rotiboy ดูเหมือนจะเป็นกระแสแรกๆ ที่ขนมปังชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะร้าน Rotiboy สยามสแควร์ และสาขาสีลม กลายเป็น Talk of the Town จากปากต่อปาก ขยายไปสู่การโพสต์เข้าไปในเว็บไซต์ บอกต่อกันอย่างแพร่หลาย

แถวที่ยาวเพื่อรอคิวซื้อขนมปังอบชนิดนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้โรตีบอยกลายเป็นกระแสของขนมปังอบเทรนด์ใหม่ ชนิดใครไม่เคยกินถือว่าเชย!

นักการตลาดเชื่อว่าสยามสแควร์และสีลม คือทำเลแห่งโลกช้อปปิ้ง แฟชั่น เป็นผลจากปากสู่ปากซึ่งเร็วและแรงที่สุด”

พลังโรตีบอยจากสยามสแควร์และสีลม เป็นเหมือนจุดชนวนระเบิด ทำให้ขนมปังอบแบรนด์ใหม่ๆ สายพันธุ์ไทยและต่างประเทศวิ่งเปิดตัวกันชนิดฝุ่นตลบ เพื่อหวังเกาะกระแส “โรตีบอยฟีเว่อร์”

สู้ด้วยแบรนด์ Rotiboy

แม้จะยังไม่มีคำยืนยัน แต่แบรนด์ Rotiboy ของพรเพ็ญ อังควานิช ผู้ซื้อแฟรนไชส์ Rotiboy จากมาเลเซีย บอกกับใครต่อใครว่า เธอคือผู้นำโรตีบอยมาเปิดตลาดไทยเป็นเจ้าแรก และเป็นแบรนด์ที่ทุกคนจดจำ และมั่นใจในเรื่องคุณภาพ

“ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เมื่อประมาณปีที่แล้วฮิตมาก ลองไปซื้อกิน ปรากฏว่าอร่อยดี เลยลองนำเข้าเปิดตลาดเมืองไทย เมื่อปลายปี 2548” พรเพ็ญ อังควานิช อธิบายถึงจุดเริ่มต้นกับ POSITIONING

“ไม่มีโฆษณา” พรเพ็ญย้ำ แต่ทำตลาดแบบมีขั้นมีตอน คือเริ่มจากแจกให้ลูกค้าทั่วไปชิมฟรี โดยกระจายไปกลุ่มคนทุกระดับตั้งแต่แม่บ้าน นักศึกษา นักธุรกิจ ไม่นานนักพลังจากปากต่อปากทำให้กระแสโรตีบอยค่อยๆ เติบโตขึ้น

ความสดใหม่ กลิ่นอายของกาแฟ และการเข้าคิว เป็นเหตุผลสำคัญที่เจ้าของแฟรนไซส์สายพันธุ์มาเลเซียผู้นี้ ยอมรับว่า มีผลต่อพฤติกรรมความนิยมของผู้บริโภคทั้งสิ้น

โดยเฉพาะการเข้าคิวยาวเหยียด รวมทั้งการกำหนดชิ้นการซื้อ ไม่เกิน 10 ชิ้น เป็นจิตวิทยาสำคัญที่ส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภค และไม่เแปลกใจเลยที่วิธีนี้จะทำให้โรตีบอยแบรนด์เคยขายดิบขายดีสาขาเดียวเคยขายได้ถึงวันละ 2-3 หมื่นชิ้นต่อวัน

ปัจจุบันแบรนด์ Rotiboy ที่เป็นของพรเพ็ญ และนักธุรกิจรายอื่นๆ ที่ซื้อแฟรนไชส์นี้เข้ามามีประมาณ 4 สาขา คือ สยามสแควร์ สีลม เซ็นทรัลลาดพร้าว และข้างบิ๊กซีรามคำแหง

“ยอมรับว่าตอนนี้มีคนทำตามเลียนแบบกันเพียบ แต่ Rotiboy เป็นสูตรที่อร่อย มีรสชาติไม่เหมือนใคร เป็นสูตรลับเฉพาะ ซึ่งยากยิ่งที่จะทำตามหรือเลียนแบบ จึงเชื่อว่าไม่มีผลต่อการขายภายใต้แบรนด์ Rotiboy”
มิสเตอร์บัน ท้าชน!

โรตีบอย สายพันธุ์ไทย ในแบรนด์มิสเตอร์บัน นับเป็นคู่ต่อสู้ที่มาแรงที่สุด ประกาศท้าชนกับแบรนด์ Rotiboy ด้วยกลยุทธ์ขยายร้านและขายแฟรนไชส์ โดยเน้นบุกทำเลตามศูนย์การค้า แหล่งช้อปปิ้ง และจุดสัญจรแห่งใหญ่ของกรุงเทพฯ ซึ่งภายปีนี้จะมีมากถึง 35-40 สาขา มากกว่า Rotiboy ที่มีเพียง 4 สาขา

“เราจะเจาะทุกห้าง เครือเซ็นทรัล เดอะมอลล์ ห้างชานเมือง ไม่ว่าจะเป็น แฟชั่นไอซ์แลนด์ เซียร์รังสิต ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต นอกจากนี้อนาคตกำลังจะเข้าไปตามออฟฟิศบิวดิ้งทั้งย่านสีลม อโศก ท่าเรือ ท่าน้ำ และท่าพระจันทร์ มีแผนจะไปทั้งหมด” บุญทิพา เฉลิมภาค ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวนเจอร์ฟู้ด โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของแบรนด์มิสเตอร์บันอธิบาย

วิเคราะห์กันด้วยทำเล ดูเหมือนว่ามิสเตอร์บันจะมีทำเลทองอยู่ในมือมากมาย ชนิดที่แบรนด์อื่นๆ ต้องอิจฉา โดยเฉพาะสาขาใจกลางกรุงอย่างเซ็ลทรัลลาดพร้าว อนุสาวรีย์ เป็นจุดใหญ่ ขณะเดียวกันมีสาขารอบนอกอย่างบริเวณแฟชั่นไอซ์แลนด์ ซึ่งบุญทิพาบอกว่าสาขาที่กล่าวมานี้เป็นสาขาเกรดเอที่ขายได้วันละกว่า 10,000 ชิ้น

ทำเลเกรดเออย่างเซ็นทรัล ลาดพร้าว อนุสาวรีย์ และล่าสุดอีกไม่กี่เดือน มิสเตอร์บันกำลังจะเปิดสาขา สยามสแควร์ ซึ่งตั้งหัวมุมทางเข้าสยามสแควร์ แทบไม่ต้องอธิบายเลยว่ามิสเตอร์บันเปิดสงคราม Rotiboy ชนิดเต็มสูบ

แข่งกันด้วยกลยุทธ์

หากวัดกันด้วยกลยุทธ์ ระหว่างมิสเตอร์บันและ Rotiboy ดูเหมือนว่ากลยุทธ์ไซส์เล็กของขนมปังอบมิสเตอร์บัน ราคาเพียงลูกละ 10 บาท ถูกกว่า Rotiboy ถึง 15 บาท นับว่ามาแรงเกินห้ามใจ ขยายสู่ตลาดแมสได้รวดเร็วยิ่งนัก แม้ความอร่อยนั้น Rotiboy จะดูเหนือกว่านิดๆ เมื่อหลายคนบอกว่ามีความพิเศษที่กรอบนอกนุ่มใน มีรสชาติในอารมณ์กลิ่นกาแฟที่ดีกว่า

“เราเคยขายลูกละ 25 บาท แต่ไม่เวิร์ก เลยหันมาปรับไซส์ขนมอบมิสเตอร์บันให้เหลือขนาด 20 กรัมและขายเพียง 10 บาท ขณะที่โรตีบอยก้อนใหญ่ขนาด 50 กรัม ขายลูกละ 25 บาท เราค้นพบว่าราคา 10 บาทนี้เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย และรสชาติของเราไม่แตกต่างกับ Rotiboy หรือถ้าแตกต่างก็ไม่เกิน 10% ”

ราคาเป็นกลยุทธ์สำคัญ นอกจากนี้ความหลากหลายของขนมปังอบที่นอกจากรสกาแฟ ยังมีรสมะพร้าว และ สตรอเบอรี่ มาเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ชอบกลิ่นกาแฟ

จุดขายนี้เองที่เจ้าของแบรนด์มิสเตอร์บันบอกว่า อาจเป็นวิธีหนึ่งที่รองรับสถานการณ์หากวันใดวันหนึ่งโรตีบอยเสื่อมความนิยมลงเหมือนเช่นที่สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หมายถึงการสร้างความหลากหลายของสินค้า เช่น การหาขนมปังอบชนิดอื่นๆ เข้ามารองรับ หรือหาสินค้าเข้ามาภายในโปรดักส์ของมิสเตอร์บัน

“ขนมปังอบมิสเตอร์บัน มาจากสูตรขนมปังอบจากประเทศเม็กซิโก หรือเรียกว่า Mexican Bun เป็นสูตรขนมปังทั่วไปที่หาได้ตามหนังสือทำอาหาร และในเว็บไซต์ เชื่อว่าขนมอบประเภทนี้มีต้นตำหรับจากเม็กซิกัน โดยสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นำไปประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นสูตรของตัวเอง ดังนั้นเรื่องของรสชาติจึงไม่เคยกลัวสูตรใด”

แบรนด์ใหม่บานสะพรั่ง

ไม่ใช่จะมีแค่สองแบรนด์ดังกล่าว ปัจจุบันมีแบรนด์ขนมปังอบหลายยี่ห้อทั้งแบรนด์ไทยและต่างประเทศพยายามเข้ามาเจาะตลาดความฟีเว่อร์โรตีบอย

คอฟฟี่ โดม…โรตีบัน…ปาป้าบัน…เบเกอร์บัน…อีกสารพัด “บัน” ที่กล่าวกันว่าแตกไลน์มาจากสูตรทำขนมจากแหล่งเดียวกัน มาเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเจ้าของ เพื่อหวังทำธุรกิจดังกล่าว

อย่าง คอฟฟี่ โดม แม้ชื่อจะไม่มีบันพ่วงท้าย แต่ขนมปังอบสายพันธุ์ไทย สูตรสิงคโปร์ยี่ห้อ เข้ามาเปิดตลาดขนมปังอบยี่ห้อเต็มตัว โดยยึดทำเลคาร์ฟูร์ พระราม 4 เป็นฐานทัพแรก ก่อนที่จะขยายฐานรบในสาขาคาร์ฟูร์อีกหลายแห่ง

เบเกอร์บัน ขนมปังอบโรตีบอย สายพันธุ์สิงคโปร์ เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เห็นชัดถึงการบุกตลาด ชนิดถุงหรือแพ็กเกจคล้ายคลึงกับแบรนด์ Rotiboy โดยแบรนด์นี้ยึดทำเลเครือเดอะมอลล์ เป็นฐานทัพ

ที่น่าสนใจกว่านั้น เจ้าของทำเล โดยเฉพาะห้างดัง ต่างโหยหาร้านขนมปังชนิดนี้ไปเปิดในห้าง เพื่อดึงคน ดึงลูกค้า และไม่ให้ตกเทรนด์ความนิยม

…นาทีนี้ดูเหมือนสงครามโรตีบอยยิ่งร้อนระอุ นี่ยังไม่นับรวมกับแบรนด์ขนมปังยี่ห้อดังอีกหลายแบรนด์ที่กำลังหันมาทำโรตีบอย รวมทั้งแม่ค้ารายเล็กรายน้อยในท้องตลาด แม้ใครๆ จะบอกว่าเส้นกราฟความนิยมของกระแสขนมปังชนิดนี้จะลดลงก็ตาม

แบรนด์ : Rotiboy
สาขา : สยามสแควร์, สีลม, เซ็นทรัลลาดพร้าว, รามคำแหง
กลยุทธ์ :
1. เน้นสูตรขนมปังอบต้นตำหรับจากมาเลเซีย
2. มุ่งเจาะทำเลดัง ห้างดัง แหล่งช้อปปิ้ง ย่านสัญจร
3. สื่อสารกับผู้บริโภคถึงความเป็นผู้นำตลาด เจ้าแรก
4. จำกัดจำนวนซื้อ เพื่อกระตุ้นความต้องการ
5. แจกชิมฟรีก่อนเปิดร้าน

แบรนด์ : Mr.bun
สาขา : เซียร์รังสิต, ซีคอนสแควร์, แฟชั่นไอซ์แลนด์, เซ็นทรัลลาดพร้าว, ฟอร์จูนทาวเวอร์, เมเจอร์รัชโยธิน, ไอทีสแควร์,
แพลตตินั่ม ประตูน้ำ, อนุสาวรีย์, ยูเนี่ยนมอลล์ เดอะมอลล์บางแค, อยุธยาพาร์ค และอีก20 กว่าสาขาในอนาคต
กลยุทธ์ :
1. ปรับขนาดขนมปัง เน้นราคาถูก เพียงก้อนละ 10 บาท
2.มีรสชาติให้เลือก ได้แก่ กาแฟ มะพร้าว และสตรอเบอรี่
3. เจาะทำเลห้างดัง, ย่านสัญจร และเตรียมขยายสู่อาคารสำนักงานใหญ่ๆ ใจกลางเมือง รวมทั้งขยายต่างจังหวัด
4. เน้นถุงจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยกับอาหารร้อน

แบรนด์ : คอฟฟี่ โดม
สาขา : คาร์ฟูร์ พระราม 4
กลยุทธ์ :
1. รูปแบบการตั้งร้านแบบ Unique and Complimentary Product เน้นร้านขนมปังร้านเดียวในทำเลต่างๆ
2. ขนมปังมีสูตรพิเศษน้ำมันน้อย กาเฟอีนต่ำ

แบรนด์ : เบเกอร์ บอย
สาขา : เดอะมอลล์งามวงค์วาน
กลยุทธ์ :
1. เน้นสูตรความอร่อยจากต้นตำรับสิงคโปร์
2. ทำแพ็กเกจถุงจำหน่ายให้ดูสดใส