ปฏิวัติสื่อสารมวลชนสู่สื่อยุคใหม่

ยุคแห่งสื่อสารมวลชนกำลังหลีกทางให้แก่ยุคของสื่อส่วนตัวและสื่อแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างสื่อกับผู้รับกำลังเลือนหาย

นิตยสาร “ดิอีโคโนมิสต์” ชี้ว่า ยุคของสื่อที่เป็นสื่อสารมวลชนกำลังจะหมดไป และยุคของสื่อชนิดใหม่กำลังก้าวเข้ามา การเปลี่ยนแปลงนี้ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเป็นที่รู้จักคุ้นเคยดีในหมู่วัยรุ่นหนุ่มสาว โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวย

การเรียกขานยุคของสื่อชนิดใหม่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนี้ ว่าเป็นยุคอินเทอร์เน็ตหรือ Broadband ยังไม่เพียงพอ เพราะในวัฒนธรรมของสื่อยุคใหม่ ผู้รับสื่อจะไม่จับเจ่านิ่งเฉยเฝ้าแต่ “บริโภค” สื่อและโฆษณา ที่สื่อป้อนมาให้แต่เพียงถ่ายเดียว แต่อาจจะเข้าไปทำหน้าที่เป็นสื่อเสียเอง หรือเข้าไปมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย ผลสำรวจของ Pew Internet & American Life Project เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วพบว่า ร้อยละ 57 ของวัยรุ่นอเมริกันเป็นผู้สร้างเนื้อหาสารพัดบนอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ข้อความ รูปภาพ ดนตรี ไปจนถึงวิดีโอ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ในยุคสื่อใหม่นี้ ทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาทำหนังสือพิมพ์เอง การมีส่วนร่วมอาจหมายถึงเพียงแค่การให้คะแนนจัดอันดับภัตตาคารหรือภาพยนตร์ที่คุณชื่นชอบ หรืออาจจะซับซ้อนขึ้นมาอีกหน่อยอย่างเช่น การส่งโฮมวิดีโอที่คุณผลิตเองขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ต

การปฏิวัติถึงขั้นเปลี่ยนยุคของสื่อ จากสื่อสารมวลชนไปสู่สื่อยุคใหม่นี้ จะส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งมีฐานอยู่บนการพยายามรวบรวมผู้รับสื่อให้ได้กลุ่มใหญ่ที่สุด เพื่อจับไว้เป็นเชลยที่จะต้องชมโฆษณาคั่นรายการ อันเป็นแหล่งรายได้หลักของสื่อ

ในยุคสื่อใหม่ กลุ่มผู้รับจะมีขนาดเล็กถึงเล็กจิ๋ว และจะไม่ได้เห็นภาพที่บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ที่ร่ำรวยเงินทุนเพียงไม่กี่ราย ต้องต่อสู้แข่งขันแย่งชิงกลุ่มผู้รับขนาดใหญ่ เหมือนในยุคสื่อสารมวลชนอีกต่อไป แต่สื่อในยุคใหม่จะเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ หรือแม้แต่เป็นคนเพียงคนเดียว และปฏิกิริยาต่อกันจะเป็นไปในทางร่วมมือมากกว่าแข่งขัน

สื่อยุคใหม่บางรายอาจมีรายได้จากเนื้อหาที่พวกเขาสร้างขึ้น ในขณะที่สื่อยุคใหม่อีกจำนวนมากไม่สนใจว่าเขาจะได้รับเงินจากสิ่งที่สร้างขึ้นหรือไม่ เพราะมีแรงจูงใจในด้านอื่น เช่นชื่อเสียง

ในสังคมของสื่อยุคใหม่ เส้นแบ่งระหว่างผู้รับสารกับผู้สร้างสารจะเลือนรางลงจนกระทั่งอาจมองไม่เห็นอีกต่อไป การสื่อสารทางเดียวแบบ “สั่งสอน” จะแปรเปลี่ยนเป็น “การสนทนา” ในหมู่ของผู้ที่เคยถูกเรียกว่าเป็นผู้รับสารในยุคแห่งสื่อสารมวลชน การสื่อสารในสื่อยุคใหม่จะเป็นการสื่อสารแบบเปิด ซึ่งผู้ส่งและผู้รับมีความเท่าเทียมกัน และพร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาดของตน ตรงข้ามกับสื่อยุคเก่าซึ่งเป็นการสื่อสารแบบปิด ผู้ส่งและผู้รับมีระยะห่าง และยากที่สื่อซึ่งมีสถานะเป็นสถาบันจะยอมรับความผิดพลาด

โมเดลธุรกิจสื่อแบบเก่า คือการมีแหล่งความจริงเพียงแหล่งเดียว แต่โมเดลธุรกิจของสื่อยุคใหม่ คือการมีแหล่งความจริงหลายแห่ง และเราสามารถจะตัดสินได้ด้วยตนเองว่า แหล่งใดที่เชื่อถือได้และมีคุณค่า และแหล่งใดที่เชื่อถือไม่ได้

Paul Saffo แห่ง Institute for the Future ในแคลิฟอร์เนียชี้ว่า การปฏิวัติสื่อครั้งนี้จะทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และความหลากหลาย ตลอดจนการมีทางเลือกที่มากมายมหาศาลอย่างที่เราไม่เคยพบมาก่อนในประวัติศาสตร์ และสื่อยุคใหม่ที่ผลิตโดยคนทั่วไปจะกลายเป็นพลังที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมสื่อในยุคหน้า

Blog หรือ WeBlog คือสื่อยุคใหม่ที่กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ Blog ใหม่ถูกสร้างขึ้นทุกวินาที และอาณาจักรของ Blog หรือ Blogosphere ก็กว้างใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่าทุกๆ 5 เดือน ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ล้วนแต่มี Blog เป็นของตนเอง

Blog คืออะไร อาจจะเรียกอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่าเป็น “สื่อส่วนตัวออนไลน์” ลักษณะของ Blog คือหน้าเว็บที่เจ้าของ Blog ซึ่งเรียกว่า Blogger สามารถเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่ๆ เข้าไปได้ตลอดเวลา ซึ่งเรียกว่า Post ซึ่งมักจะมีลักษณะสั้นๆ และส่วนมากมักจะเป็นการ “ลิงค์” ไปหา Blog หรือเว็บไซต์อื่นๆ

เนื้อหาใน Blog เป็นได้ทั้งข้อความ รูปภาพ (PhotoBlog) และวิดีโอ (Vlog) เนื้อหาหรือ Post แต่ละชิ้นนี้ จะถูกจัดเก็บเป็นหน้าๆ แยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเรียกว่า Permalink อันทำให้สามารถจะค้นคืนเมื่อใดก็ได้ ด้วยเครื่องมือค้นหา Blog อย่างเช่น Technorati โดยเฉลี่ยแล้ว Technorati สามารถค้นพบ Post ใหม่ได้ถึง 50,000 ชิ้นต่อชั่วโมง

อันที่จริง Blog ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า “การคุยกัน” เท่านั้นเอง ธรรมชาติของ Blog มีความเป็นสังคม เพราะ Blog เป็นสื่อที่เปิดสู่สาธารณะ (อาจจะไม่จำกัดหรือจำกัดภายในกลุ่มเฉพาะก็ได้) นอกจากนี้ ในหน้าเว็บของ Blog จะมี “Blogroll” ซึ่งจะอยู่ด้านข้างของหน้า Blog อันเป็นรายชื่อของลิงค์ที่เชื่อมไปสู่ Blog อื่นๆ ที่เจ้าของ Blog หรือ Blogger แนะนำให้ผู้อ่านแวะเข้าไป

Blogroll นี้ แท้จริงแล้วก็คือความพยายามของเจ้าของ Blog ที่ต้องการให้ Blog ของตนเข้าอยู่ร่วมในกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่ง นอกจากนี้ Blogger แต่ละคนต่างยังพยายามลิงค์ Blog ของกันและกัน เพื่อจะช่วยกันอวด Blog ของตนและของเพื่อนๆ บนอินเทอร์เน็ต

เสน่ห์ของ Blog อยู่ที่การเป็นช่องทางระบายออกของความรู้สึกส่วนตัวของคนคนหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นมือสมัครเล่น Blog จึงมีความดิบและความเป็นตัวของตัวเองแท้ๆ ที่ปราศจาการเสแสร้งปรุงแต่ง

อย่างไรก็ตาม Blog ไม่ได้เป็นเพียงช่องทางแสดงออกส่วนตัว หากแต่เป็น “การปฏิวัติวิธีการสื่อสาร” เพราะวัยรุ่นในยุคนี้เห็นว่าอีเมลเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว และเลือกที่จะใช้ Instant Messaging (IM) หรือ Blog ในการสื่อสารกัน

กลุ่มคนที่อ่าน Blog จะเป็นกลุ่มเล็กๆ และบ่อยครั้งที่ไม่ถึง 10 คนก็มี ซึ่งเป็นลักษณะใหม่ของกลุ่มผู้รับสารในสื่อยุคใหม่ นอกจากนี้ ผู้สร้าง Blog ยังเป็นผู้อ่าน Blog ที่สร้างโดยคนอื่นๆ ซึ่งทำให้ความแตกต่างระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสารหายไป ผู้ส่งสารกับผู้รับสารกลับจับกลุ่มรวมตัวกัน เพื่อที่จะ “คุยกัน” ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เราทุกคนจะมี Blog ของตนเองภายใน 5 ปีข้างหน้า ไม่ต่างจากที่ทุกคนมีอีเมลในยุคนี้ และยุคของสื่อสารมวลชนที่สื่อสอนสั่งผู้รับจะหมดไป กลายเป็นการสนทนาอย่างเท่าเทียมระหว่างสื่อกับผู้รับ

Ohmy News เป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ทั้งๆที่ไม่มีนักข่าวแม้แต่คนเดียว ผู้ที่รายงานข่าวให้แก่ Ohmy คือนักข่าวสมัครเล่น ซึ่ง Oh Yeon Ho ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Ohmy เรียกว่า Citizen

Ohmy ได้สร้างระบบสื่อสารสองทาง โดยผู้รับสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวหรือบทความที่อ่าน และให้คะแนนจัดอันดับข่าวและบทความเหล่านั้นได้ทันที ทำให้ให้ข่าวหรือบทความที่ดีที่สุดถูกจัดวางอยู่ด้านบนสุดของหน้า สิ่งที่น่าสนใจคือ Oh ผู้ก่อตั้ง ยังได้สร้างระบบ Tip Jar ซึ่งทำให้ผู้อ่านสามารถให้รางวัลเป็นเงินสดเล็กน้อยแก่ผู้เขียนข่าวหรือบทความที่ตนชื่นชอบ โดยระบบจะหักเงินจากโทรศัพท์มือถือหรือบัตรเครดิตของผู้อ่าน เคยมีบทความบทหนึ่งได้รับเงินรางวัลถึง 30,000 ดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 5 วัน และระบบที่ Oh สร้างขึ้นนี้ยังทำให้เขามีรายได้ดีจากเว็บนี้ แม้ว่าเขาจะก่อตั้ง Ohmy โดยไม่หวังผลกำไร (ก่อนที่เขาจะเปลี่ยนเว็บนี้ไปเป็นบริษัทที่แสวงหาผลกำไรเมื่อปี 2003)

ความสำเร็จของ Ohmy ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่ออุตสาหกรรมสื่อในเกาหลีใต้ โดยบีบให้สื่อสารมวลชนทั้งหมดของเกาหลีใต้ต้องปรับตัวให้คล้าย Ohmy มากขึ้น เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์เกาหลีใต้ต่างปรับปรุงให้มีส่วนที่ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นในตอนท้ายของข่าวหรือบทความ และพยายามเพิ่มการสื่อสารสองทางมากขึ้น

เหตุผลเดียวกันนี้ทำให้ Rupert Murdoch ประธาน News Corporation เจ้าของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ตัดสินใจอ้าแขนรับการปฏิวัติสื่อ ด้วยการซื้อ MySpace.com เว็บรวม Blog ของวัยรุ่นและสังคมออนไลน์ยอดฮิตของวัยรุ่น

ส่วน Jeff Jarvis อดีตนักสื่อสารมวลชนและที่ปรึกษาธุรกิจหนังสือพิมพ์ แนะนำว่า หนังสือพิมพ์ที่ต้องการปรับตัวเข้าร่วมกับสังคมสนทนาออนไลน์ จะต้องให้ผู้ใช้เข้าเว็บฟรี และไม่ยุ่งยาก เช่นไม่ต้องใส่ชื่อล็อกอินหรือสมัครสมาชิก และผู้ใช้สามารถจะทำลิงค์ข่าวหรือบทความในเว็บได้อย่างถาวร โดยไม่มีอาการที่เรียกว่า link-rot ซึ่งหมายถึงการที่ข่าวหรือบทความนั้นๆ ถูกเปลี่ยนที่อยู่ จนทำให้เปิดเข้าไปอ่านไม่ได้ในภายหลัง

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ควรจะยอมให้ผู้ใช้เข้าถึงหน้าใดของเว็บก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มที่หน้าแรก และจะเข้าจากช่องทางใดก็ได้ เช่น จากหน้าค้นหาของ Google หรือจาก Blog ใด Blog หนึ่ง หรือจากอีเมลที่ได้รับจากเพื่อน ซึ่งมีการแปะลิงค์ที่โยงมาถึงข่าวหรือบทความในเว็บของหนังสือพิมพ์ Jarvis แนะนำว่า หนังสือพิมพ์ควรจะให้ความสำคัญในการดูแลข่าวหรือบทความทุกเรื่องในเว็บของตน ประหนึ่งว่าข่าวหรือบทความแต่ละเรื่องนั้น เป็นสินค้าที่สำคัญชิ้นหนึ่ง

และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การกระตุ้นให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมสื่อสารสองทาง ซึ่งอาจจะเริ่มจากระดับที่ง่ายที่สุด คือการให้คะแนนข่าวหรือบทความที่ชื่นชอบ ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในระดับที่มากขึ้น เช่นการให้ความเห็นท้ายเรื่อง หรือการตั้งกลุ่มสนทนา ซึ่งควรจะกำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมสนทนาใส่ชื่อล็อกอิน ซึ่งอาจจะเป็นนามแฝงก็ได้ เพราะนอกจากจะเป็นการให้โอกาสผู้อ่านได้แสดงตัวและอาจมีโอกาสได้สร้างชื่อเสียงแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาผู้ที่แฝงตัวเข้ามาก่อกวนได้

Wikipedia.org เป็นสื่อยุคใหม่ประเภทสารานุกรมออนไลน์ ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้ได้ฟรี แต่ที่สำคัญคือ “ทุกคน” สามารถจะเข้าไปแก้ไขเนื้อหาที่มีอยู่ในสารานุกรมนี้ได้

แนวคิดของ Wikipedia คือการปลดปล่อยความรู้ของมนุษย์ ทั้งในแง่ของการรวมความรู้ทั้งหมดที่แต่ละคนมีเข้าด้วยกัน และในแง่ของการแบ่งปันความรู้อย่างเสรี กับใครก็ตามที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้

Wikipedia ในภาคภาษาอังกฤษมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อปีที่แล้ว และบรรจุบทความมากกว่า 1 ล้านเรื่อง ซึ่งใหญ่กว่าสารานุกรม Britannica ถึงเกือบ 12 เท่า และถ้ารวม Wikipedia ในภาคภาษาอื่นๆ อีกกว่า 200 ภาษา Wikipedia จะมีบทความทั้งหมดมากกว่า 3 ล้านเรื่อง

มีคนมากกว่า 1 แสนคนทั่วโลกที่ร่วมกันเขียน Wikipedia และบทความใน Wikipedia ถูกแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเกือบ 4 ล้านครั้ง ขณะนี้เว็บของ Wikipedia มีผู้เข้าชมมากกว่าฉบับออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ New York Times และมากกว่าเว็บ CNN รวมทั้งเว็บของสื่อสารมวลชนยุคเก่าอื่นๆ และ Wikipedia ได้กลายเป็นเครื่องมือวิจัยที่สำคัญ ทั้งๆ ที่สารานุกรมออนไลน์นี้เพิ่งมีอายุเพียง 5 ปี

Wikipedia จึงเป็นตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดของสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ Wiki” คำว่า Wiki หมายถึงหน้าเว็บที่ยอมให้ใครก็ตามที่ได้รับอนุญาตให้ล็อกอินเข้ามา สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนหน้าเว็บนั้นได้

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ที่มีส่วนร่วมใน Wikipedia ที่มีมากมายมหาศาลนี้ ทำให้ Wikipedia ผิดแปลกไปจาก Wiki ปกติ เนื่องจากหน้าเว็บที่เรียกว่า Wiki นี้ ได้ถูกออกแบบมาเพื่อคนกลุ่มเล็กๆ ที่รู้จักกันเป็นส่วนตัว เช่นทีมพนักงานในบริษัทเดียวกัน เพื่อให้ใช้หน้าเว็บ Wiki ในการร่วมมือกันทำงานประเภท Presentation Wiki จึงเป็นชุมชนเล็กๆ ซึ่งต้องมีความไว้วางใจกันเป็นพื้นฐาน และความไว้วางใจกันจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อกลุ่มคนเหล่านั้นรู้จักกัน และมีความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมของตน

ดูเผินๆ Wikipedia อาจดูเหมือนมีขนาดใหญ่โต อีกทั้งผู้ใช้ก็ไม่รู้จักกัน และไม่น่าที่จะสร้างชุมชนที่มีความไว้วางใจกันได้ แต่ Jimmy Wales ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Wikimedia ซึ่งดูแล Wikipedia ชี้ว่า ในจำนวนผู้ใช้ Wikipedia ทั้งหมด มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เป็นผู้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาประมาณครึ่งหนึ่งของเนื้อหาทั้งหมดใน Wikipedia ในขณะที่ Wikipedia มีทีมเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำอยู่หลายร้อยคน ซึ่งทำหน้าที่ใส่เนื้อหาลงไปใน Wikipedia ดังนั้น Wikipedia ไม่ได้เป็นสังคมที่ใหญ่โตอย่างที่มองเห็นภายนอก หากแต่เป็นชุมชนของคนที่รู้จักกัน

แม้ในสายตาของผู้ผลิตสารานุกรม Britannica ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสื่อยุคเก่า จะมองว่า Wikipedia เป็นภัยคุกคามของตน แต่ Wales กล่าวว่า เขาไม่เคยคิดจะทำให้ใครเดือดร้อน และตัวเขาเองก็เป็นแฟนตัวจริงของ Britannica แต่เขามีความคิดว่า เหตุใดเราจึงไม่ควรจะมีสารานุกรมอีกเล่มที่เป็นทางเลือกที่สามารถเข้าใช้ได้ฟรี และอีกเหตุผลหนึ่งคือ Wales ต้องการจะพิสูจน์ว่า แนวคิดของการสร้างสารานุกรม ด้วยการนำความรู้ทั้งหมดที่ทุกคนมีมารวมกันนั้น จะมีข้อจำกัดหรือไม่ ซึ่ง Wikipedia อาจจะค้นพบข้อจำกัดนั้นในสักวัน

สื่อยุคใหม่ที่เรียกว่า Podcast (มาจากคำว่า Pod ของเครื่องเล่นเพลงพกพาที่ชื่อว่า iPod ยอดฮิตของ Apple บวกกับ Cast ที่มาจากคำว่า Broadcasting ซึ่งแปลว่าการกระจายเสียง) คือเสียงใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเพลงไปจนถึงข่าว ที่ถูก Podcaster บันทึกไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการใช้ไมโครโฟน แล้วส่งไฟล์เสียงนั้นขึ้นไปไว้บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งใครๆ ก็สามารถจะรับฟังได้

นอกจากนี้ ยังสามารถสมัครเป็นสมาชิก เพื่อขอรับฟังเสียงใหม่ๆ จาก Podcaster คนเดิม ซึ่งจะทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ดาวน์โหลดไฟล์เสียงใหม่ๆ ลงเครื่องโดยอัตโนมัติ ทันทีที่ไฟล์เสียงนั้นถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต และเมื่อใดก็ตามที่ผู้ฟังต่อเครื่อง iPod หรือเครื่องเล่นเพลงพกพาอื่นๆ เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ ไฟล์เสียงที่เพิ่งดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต ก็จะถูกส่งต่อมายังเครื่อง iPod ได้ทันที ซึ่งผู้ฟังจะสามารถเปิดฟังเสียงนั้นที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ ขณะวิ่งจ๊อกกิ้ง และเวลาใดก็ได้ตามความพอใจ

แนวคิดของ Podcast คือ “การย้ายเวลา” ในการฟังเพลงหรืออะไรก็ตาม ไปเป็นเวลาใดก็ได้ตามแต่เราจะเลือกหรือพอใจ ซึ่งตรงข้ามกับการฟังรายการทางวิทยุ ที่จะต้องฟังตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น นับเป็นการปลดปล่อยผู้ฟังในด้านเวลา และผู้ฟังยังเป็นผู้กำหนดเลือกสิ่งที่จะฟัง ซึ่งจะเป็นเสียงอะไรก็ได้ที่ผู้ฟังชอบ รวมทั้งเวลาที่จะฟัง นอกจากนี้ Podcast ยังปลดปล่อยผู้ฟังจากสปอตโฆษณา

สิ่งที่ทำให้ Podcast ต่างกับสื่อยุคใหม่ด้วยกันอย่าง Blog และ Wiki คือ Podcast ไม่สามารถเชื่อมต่อกับ Podcast ชิ้นอื่นๆ ทำให้ Podcast อาจจะเป็นสื่อยุคใหม่ที่มีความเป็นสังคมน้อยกว่าสื่อยุคใหม่ตัวอื่นๆ

ส่วนผลกระทบของ Podcast ต่อวิทยุก็ไม่ร้ายแรงนัก เพียงแต่ทำให้ผู้ผลิตรายการวิทยุต้องปรับตัวและปรับรายการให้มีความไม่น่าฟังน้อยลง ซึ่งหมายถึงการลดช่วงเวลาโฆษณาคั่นรายการ และบริษัทสื่อวิทยุบางแห่งก็ได้เริ่มขายเวลาโฆษณาน้อยลง โดยหวังว่าจะช่วยฉุดดึงเรตติ้งให้กระเตื้องขึ้น และสามารถขึ้นค่าโฆษณาได้ในที่สุด

Second Life อาจเป็นสื่อยุคใหม่ที่น่าพิศวงที่สุด Second Life คือ โลกสมมติ หรือ Metaverse (ซึ่งมาจากคำว่า Metaphysical บวกกับ Universe) ซึ่งสร้างสรรค์โดยบริษัทอินเทอร์เน็ตชื่อ Linden Lab ในซานฟรานซิสโก

Philip Rosedale ผู้ก่อตั้ง Linden Lab กล่าวว่า Second Life ไม่ใช่วิดีโอเกม แต่เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้คนทำสิ่งต่างๆ คนที่ล็อกออนเข้าไปใน Second Life จะสร้าง “ร่างที่สอง” ของตนไว้ใน Second Life ซึ่งจะใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ เช่น ไปงานปาร์ตี้ คบหากับคนอื่นๆ สร้างบ้านที่จะอยู่อาศัย ทำเสื้อผ้า สร้างรถ วาดรูป และแต่งเพลง โดยที่คนในโลกจริงที่มีร่างที่สองในโลกสมมตินั้น จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในสิ่งที่ร่างที่สองได้สร้างขึ้นในโลกสมมติ และร่างที่สองก็สามารถจะนำสิ่งที่ตนสร้างสรรค์ขึ้น มาซื้อขายกันโดยมีเงิน “Linden Dollar” เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถจะนำไปเปลี่ยนเป็นเงินจริงๆ ได้ ที่ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราของ Linden ซึ่งขณะนี้มีธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างโลกสมมติกับโลกจริงเป็นมูลค่าเท่ากับเงินจริง 4 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน

สิ่งที่ร่างที่สองได้สร้างสรรค์ไว้ใน Second Life ยังสามารถกลับกลายมาเป็นของจริง และสร้างรายได้ให้แก่เจ้าของในโลกจริง อย่างเช่น แฟชั่นเสื้อผ้าที่ได้ออกแบบไว้ในโลกสมมติ เพลงที่ร่างที่สองได้แต่งขึ้น หรือเกมที่ร่างที่สองได้คิดขึ้น

การถ่ายทำภาพยนตร์ใน Second Life มีค่าใช้จ่ายเป็นศูนย์ และทำให้ร่างที่สองของใครบางคนกลายเป็นดารา และบางคนกลายเป็นผู้กำกับ และ “ผู้กำกับหน้าใหม่” ในโลกสมมติบางคน ก็ได้นำภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในโลกสมมตินี้ ไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ในโลกจริง

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2003 ขณะนี้ Second Life มีคนจากทั่วโลกเข้าไป “อาศัยอยู่” ประมาณ 1 แสนคนแล้ว และมีทุกเพศทุกวัยทั้งเด็ก คนชรา และหนุ่มสาว และในอนาคต ภาพยนตร์ที่น่าสนใจมากมายที่สามารถสร้างขึ้นอย่างง่ายดายในโลกสมมตินี้ อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของสตูดิโอสร้างภาพยนตร์ของ Hollywood ก็เป็นได้

สื่อยุคใหม่อย่างเช่น Google ไม่ได้ผลิตเนื้อหาเองอย่างสื่อยุคเก่า แต่กลับเป็นบริษัทสื่อที่มีค่ามากที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าตลาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของบริษัทสื่อยุคเก่าอย่าง Time Warner ซึ่งเป็นบริษัทสื่อยุคเก่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

อินเทอร์เน็ตทำให้เกิดบริษัทสื่อยุคใหม่อย่างเช่น Yahoo! และ Google ซึ่งมีลักษณะที่เหมือนสื่อยุคเก่าคือ มีรายได้จากการโฆษณาเป็นหลัก แต่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงคือ ผู้ใช้สื่อได้กลายเป็นโปรแกรมเมอร์เสียเอง

บริษัทสื่อยุคใหม่จะไม่กำหนดว่าผู้รับควรจะดูรายการใดในเวลาใด แต่ผู้ใช้จะเป็นผู้กำหนดทั้งเวลาและรายการที่ต้องการชม แม้กระทั่งเป็นผู้สร้างเนื้อหาเอง บริษัทสื่อยุคใหม่จึงไม่ต้องพยายามขวนขวายที่จะสร้างรายการยอดนิยม เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้รับให้ได้กลุ่มใหญ่ที่สุดสำหรับไว้อ้างอิงเมื่อขายโฆษณา นอกจากนี้ ในยุคแห่งสื่อใหม่ กลุ่มผู้รับกลุ่มเล็กๆ ที่มีมากมายหลากหลายกลุ่ม ก็เป็นที่ต้องการของนักโฆษณาไม่แพ้กลุ่มผู้รับกลุ่มใหญ่ไม่กี่กลุ่มเช่นกัน

ลักษณะเช่นนี้ส่งผลเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อการเรียงลำดับความสำคัญของเนื้อหาในสื่อ ในขณะที่สื่อยุคเก่าจะให้ความสำคัญกับรายการหรือเนื้อหายอดฮิตมากกว่าเนื้อหาอื่นๆ แต่สื่อยุคใหม่ ซึ่งมีผู้รับกลุ่มเล็กๆจำนวนมาก และไม่ต้องพยายามสร้างรายการยอดฮิต จะรวบรวมเนื้อหาทุกอย่างไม่ว่าจะสำคัญมากหรือน้อยเป็นแถวยาวเหยียด และผู้ใช้สามารถจะสร้างสรรค์เพิ่มเติมเนื้อหา และบริโภคเนื้อหาได้ทุกส่วนตลอดแนวรายการเนื้อหานั้น ซึ่งมีมากกว่าสื่อยุคเก่า ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในแง่ของเนื้อหา และสื่อยุคใหม่ยังมีแนวโน้มจะส่งเสริมให้ผู้ใช้เป็นผู้สร้างเนื้อหาเองให้มากขึ้นอีกด้วย

บริษัทสื่อยุคใหม่จึงมีลักษณะคล้ายกับตลาดหุ้นเข้าไปทุกที โดยผู้ใช้สามารถ “เสนอขาย” (สร้างเนื้อหา) และ “เสนอซื้อ” (ค้นหา แบ่งปันและสนุกกับเนื้อหา) ในขณะที่บริษัทที่ปรึกษา PricewaterhouseCoopers ชี้ว่า บริษัทสื่อที่จะประสบความสำเร็จในยุคใหม่ จะต้องมีลักษณะเหมือนเป็น “ตลาด” ที่ยอมให้ผู้บริโภคสามารถค้นหา วิจัย แบ่งปัน และกำหนดรูปแบบประสบการณ์ที่พวกเขาต้องการได้รับจากสื่อได้ โดยผ่านการสร้างสื่อส่วนตัวและการเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างเนื้อหา ซึ่งตรงข้ามกับสื่อยุคเก่าซึ่งผูกขาดความเป็นเจ้าของเนื้อหาหรือทรัพย์สินที่ซื้อขายกันในตลาดแต่เพียงผู้เดียว

การแข่งขันกันของสื่อยุคใหม่จะตัดสินกันที่ ใครมีความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน ซึ่งพวกเขาจะนำความรู้นี้มาใช้ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ใกล้ชิดขึ้น และทำให้ผู้บริโภคได้รับโฆษณาที่ตรงกับความต้องการมากขึ้น ซึ่งก็หมายถึงผลกำไรอันงดงามที่จะกลับคืนมาสู่บริษัทสื่อยุคใหม่เอง

นอกจากนี้ บริษัทสื่อยุคใหม่ยังจะแข่งขันกันว่าใครจะเป็น “ตลาด” ที่มีสภาพคล่องดีที่สุด กล่าวคือ คุณค่าของเครือข่ายของสื่อจะเพิ่มสูงขึ้นหากจำนวนของผู้เข้าร่วมซื้อขายในตลาดเพิ่มสูงขึ้น การแข่งขันที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นนี้ ดูเหมือนจะมีเว็บยักษ์ใหญ่อย่าง Yahoo! กับ Google เป็นตัวนำ แม้ว่าบริษัทสื่อยุคใหม่ทั้งสองแห่งนี้จะมองภาพความเป็น “ตลาด” ของบริษัทสื่อแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ Yahoo! มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเป็นบริษัทสื่อ และเน้นความสำคัญของคน พฤติกรรม และสังคม และค่อนข้างผ่อนคลายมากกว่า แต่ Google จะเน้นในเรื่องเทคโนโลยีและการนำหลักการคณิตศาสตร์เข้ามาใช้

การเกิดขึ้นของบริษัทสื่อยุคใหม่คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทสื่อยุคเก่าในทันที แต่บริษัทสื่อยุคเก่าอาจต้องเปลี่ยนไปเจาะกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างเช่น Walt Disney อาจกลายเป็นบริษัทที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว ส่วน Viacom ได้เตรียมตัวที่จะเปลี่ยนไปเป็นผู้ผลิตเนื้อหารายหนึ่งในรายการเนื้อหาอันยาวเหยียดบนหน้าเว็บของสื่อยุคใหม่ ในขณะที่สื่อยุคเก่าอย่าง News Corporation และ Time Warner พยายามจะรวมอาณาจักรสื่อเก่ากับสื่อใหม่ (ด้วยการซื้อ MySpace สำหรับรายแรก และ AOL สำหรับรายหลัง)

โดยสรุป การปฏิวัติยุคของสื่อจากยุคสื่อสารมวลชนไปสู่สื่อยุคใหม่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลานาน แต่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อและสังคมอย่างลึกซึ้ง อย่างไรก็ตาม ผลดีและผลเสียของการปฏิวัติสื่อครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครสามารถบอกได้แน่ชัด

นักคิดคนสำคัญๆ เกี่ยวกับการปฏิวัติสื่อยังมีความเห็นแยกเป็นสองทาง บางคนเกรงว่าจะเกิดความเฟ้อของการใช้อินเทอร์เน็ต บางคนก็ห่วงว่าการที่แต่ละคนสร้างสื่อส่วนตัวของตนเอง จะเหมือนเป็นการสร้างกำแพงปิดล้อมตัวเอง และปิดกั้นไม่ยอมรับข้อมูลที่แตกต่างขัดแย้งกับตนหรือไม่ นอกจากนี้ ยังจะเป็นการสร้างกลุ่มย่อยๆ ซึ่งรวมตัวกันบนพื้นฐานของมีอคติร่วมกัน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็น่ากลัวว่าจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางสังคม ซึ่งในวันหนึ่งอาจระเบิดออกและทำลายภูมิปัญญาของสังคมโดยรวม อันเป็นสิ่งสำคัญที่ร้อยรัดสังคมเข้าไว้ด้วยกัน

ในขณะที่บางคนก็พิศวงว่า สื่อยุคใหม่จะส่งผลต่อประชาธิปไตย ความคิด ขอบเขตความสนใจ หรือแม้แต่ภาษาของเราอย่างไร เมื่อดูจากการใช้ภาษาแบบทันใจที่วัยรุ่นใช้กันบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งคนอื่นๆ ไม่อาจอ่านเข้าใจได้

แต่นักคิดบางคนก็เห็นว่า สื่อยุคใหม่จะทำให้คนรุ่นใหม่ฉลาดขึ้น เพราะการได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นสื่อ เท่ากับฝึกให้เด็กๆ มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลที่สำคัญและแยกทิ้งข้อมูลที่ไม่สำคัญตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งนับเป็นการช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจมากกว่าจะเป็นในทางตรงข้าม ***

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
ดิ อีโคโนมิสต์ 22 เมษายน 2549