The i-Movie…แผนธุรกิจ พิชิตเงินล้าน

“หากมีเงินหนึ่งล้าน…คุณจะเอาไปลงทุนทำกิจการอะไรดี? ” …เปิดร้านขายของ…ร้านถ่ายรูป…ร้านกาแฟ…ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ฯลฯ นั่นคงธรรมดาไป แต่สำหรับคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง “รชฎ อรุณพันธุ์”นักศึกษาปริญญาโท เอ็มบีเอ จากรั้วจามจุรี เลือกที่จะทำธุรกิจ “รับสร้างภาพยนตร์สั้นเฉพาะบุคคล”

ธุรกิจนี้นับเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดทำมาก่อน แต่วันนี้ได้ปรากฏผู้บุกเบิกรายแรกในนาม “The i-Movie” บริษัทน้องใหม่ที่เขาได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากแผนธุรกิจ

รับสร้างภาพยนตร์สั้นเฉพาะบุคคลคว้าชัยชนะในแคมเปญ Keep Walking Award ของค่ายริชมอนเด้ ที่ได้จัดไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เขากลายเป็น “เจ้าของธุรกิจ” รายใหม่ที่น่าจับตา

รชฎเล่าให้ทีมงาน POSITIONING ว่า แนวคิดธุรกิจ คือ ไอเดียที่เลือกทำธุรกิจนี้เพราะอะไร โดยเหตุผลที่เลือกธุรกิจรับสร้างภาพยนตร์สั้นเฉพาะบุคคลนั้น เพราะได้แรงบันดาลใจและไอเดียมาจากการเป็นคนคลั่งไคล้ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจ แทบทุกประเภทหนังไทย เทศ ซึ่งในตอนแรกอยากฝึกฝนภาษาอังกฤษ ที่ไม่ค่อยดีนัก และพัฒนาทักษาภาษาอังกฤษให้แข็งแรงมากขึ้น

“สมัยก่อน ผมเป็นคนชอบดูหนังเยอะมากเป็นร้อยเรื่อง เพราะภาษาอังกฤษผมไม่ค่อยดีเลยอยากดูหนังเพื่อฝึกภาษา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งบันเทิงในชีวิต ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ นอกจากความบันเทิงเลยได้ไอเดียเห็นว่า สมัยนี้ไลฟ์สไตล์คนนิยมดูหนังกันเยอะ ทำให้ผมเชื่อว่า วันหนึ่งเค้าจะมีความฝัน ความต้องการอยากจะมีหนังนำเสนอเรื่องราวของตัวเอง จึงกลายเป็นที่มาแผนธุรกิจบริษัทรับสร้างภาพยนตร์สั้น”

Differentiation : แตกต่างตอบโจทย์รายคน

จุดเด่นธุรกิจ คือ เน้นสร้างความแตกต่าง Differentiation โดยเฉพาะ ผลิตภัณฑ์ (Products) ซึ่งนำเสนอ 4 รายการ ประกอบด้วย I-Movie บริการรับสร้างภาพยนตร์สั้น, I-Real TV บริการรับบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ( ด้วยกล้องวิดีโอ), I-Music บริการรับสร้างมิวสิกวิดีโอเฉพาะบุคคล, I-Game บริการของขวัญเกมจับคู่ใบหน้าคนที่คุณรักเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งทั้งหมดไม่เคยไม่ใครทำมาก่อน โดยโปรดักส์ทั้งหมดสามารถปรับตามความต้องการของลูกค้ารายบุคคลอย่างเหมาะสม (Customization )

“แนวคิดธุรกิจ คือ การ Customization ปรับโปรดักส์ไปตามความต้องการของลูกค้ารายบุคคล

ดังนั้นมันเป็นแผนธุรกิจที่มีโปรดักส์ที่คนทั่วไปใช้ได้ มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และมีความแปลกใหม่ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกันโดยทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับการสนับสนุนของจอห์นนี่วอล์คเกอร์ที่เน้นสิ่งใหม่ๆ และมีความแตกต่าง”

ในแผนธุรกิจนี้ เขาวิเคราะห์โอกาสความเป็นไปได้ทางการตลาดว่ายังมีอีกมาก แม้จะเป็นธุรกิจใหม่ก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักมี 3 กลุ่ม โดย นักศึกษา ซึ่งมีไลฟสไตล์ชอบแฟชั่น นิยมฟังเพลง ดูหนัง มิวสิกวิดีโอ เป็นกลุ่มแรก ต่อมา กลุ่มสอง – คนทำงานรุ่นใหม่ ที่นิยมการดูหนังที่อยากมีภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอเป็นของตัวเอง และกลุ่มสาม – คู่รักที่กำลังจะแต่งงาน ซึ่งจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากที่สุด

“โอกาสตลาดยังมีอีกมาก เพราะผลิตภัณฑ์ของ i-Movie จะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้ทุกอย่าง เพียงมีไอเดียบอกมาอยากทำอะไรบ้างในแต่ละโปรดักส์ ขณะที่ความเป็นไปได้ธุรกิจก็สามารถทำได้เช่นกัน เพราะอย่างน้อยเราได้สำรวจความต้องการของลูกค้ามาระดับหนึ่ง”

MBA : กุญแจสู่ชัยชนะ

รชฎ บอกว่า ความรู้เอ็มบีเอมีส่วนอย่างมาก ทำให้เขาสามารถเขียนแผนธุรกิจ i-Movie และได้ชัยชนะทั้งนี้เพราะไอเดียหรือความคิดอย่างเดียวคงไม่สามารถทำธุรกิจได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ ความรู้การบริหาร งบลงทุน และการตลาด โฆษณาและประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงพันธมิตรร่วมลงทุน ซึ่งในจุดนี้ชั้นเรียน MBA ช่วยสอนให้วาดโครงร่างธุรกิจควรจะมีอะไรบ้าง

“ในแง่การตลาด เราวิเคราะห์ว่าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะการดูหนังคนสมัยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานอดิเรกคนกลุ่มหนึ่งที่จะอยากและมีความฝันอยากบันทึกภาพตัวเองด้วยภาพเคลื่อนไหวไม่ใช่ภาพนิ่ง อีกทั้งเทคโนโลยีดิจิตอลปัจจุบันราคาถูกลงมากจากกล้องถ่ายวิดีโอราคา 1 แสนบาทถูกลงเหลือไม่กี่หมื่นบาท”

ขณะเดียวกัน เขายอมรับว่า ในหลักการตลาด จำเป็นต้องรีเสิร์ช (Research) รองรับ แต่ปัญหาเรื่องระยะเวลาจำกัด อันเนื่องจากการอบรมกำหนด 4 สัปดาห์ และอีก 2 อาทิตย์ให้เขียนแผนธุรกิจขั้นสุดท้าย ขณะที่ความตั้งใจเขาอยากวางแผนทำวิจัยตลอดมา เพื่อต้องการรู้ความต้องการผู้บริโภค แต่ในที่สุดก็ทำได้เพียงการทำโฟกัสกรุ๊ป (Focus Group) โดยสัมภาษณ์เชิงลึกหลายแง่มุมจากกลุ่มเป้าหมายตัวอย่าง

“เราสัมภาษณ์รายละเอียด เพื่อเก็บข้อมูลจำนวนคน รายได้เท่าไหร่ ไลฟ์สไตล์แต่ละคน อาศัยที่ไหน ในแง่ตลาดก็ตั้งแต่ Segmentation เป้าหมายเฉพาะกลุ่ม, Target กลุ่มเป้าหมาย, Positioning ตำแหน่งทางการตลาด รวมไปถึงกลยุทธ์ 4P เพื่อมาประกอบแผนการตลาด ”

กลุ่มเป้าหมายลูกค้า i-Movie นั้น รชฎขยายความว่า มี 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มนักศึกษาที่มีไลฟ์สไตล์พฤติกรรมชื่นชอบแฟชั่น ดูมิวสิกวิดีโอ และกลุ่มคนทำงาน ที่มีเวลาว่างช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ที่นิยมไปดูหนัง ดูทีวี รวมไปถึงคนที่กำลังจะแต่งงาน ซึ่งไม่ได้ใช่แค่การ์ด แต่ต้องใช้ภาพถ่าย, วิดีโอพรีเซนเทชั่น กลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่ศักยภาพมากที่สุด

Positioning :สร้างภาพยนตร์สั้นเฉพาะบุคคล

“Positioning ของ i-Movie ไม่ใช่ Wedding Studio แต่เป็นบริการบันทึกภาพเคลื่อนไหว เล่าเรื่องราวเป็นภาพยนตร์สั้น ในทางปฏิบัติพอวิจัยตลาดลงลึกก็พบปัญหา กลุ่มแรกยังไม่มั่นใจว่ามีกำลังซื้อหรือเปล่า จะมาใช้บริการมั้ย มีคนให้ความเห็นมาเยอะเหมือนกันที่หันมาจับตลาดนักศึกษา ขณะที่ผมกลับมองอีกด้าน เชื่อว่า2นักศึกษาเหล่านี้ก็มีรายได้ที่มาจากครอบครัวพ่อแม่ ดังนั้นจะประเมินเพียงรายรับในกระเป๋าอย่างเดียวไม่พอ ต้องประเมินไปถึงรายได้ของครอบครัวเขาด้วยให้เงินลูกเท่าไหร่ เชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายนี้ยังมีศักยภาพอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะโปรดักส์ I-Real TV ช่วงรับปริญญา ”

สำหรับงบประมาณลงทุนนั้น ในเบื้องต้นเขาเตรียมการณ์ได้ว่า จากงบลงทุนที่ได้ 1 ล้านบาท ก็ให้เอาไปลงทุนและบริหารเองโดยยึดหลัก ประเมินความเป็นไปได้ธุรกิจเป็นระยะไป หมายความว่า หากมีรายได้เพิ่มถึงจะลงทุนเพิ่มตามสัดส่วนรายได้และลงทุนที่เป็นเหตุเป็นผลกัน โดยยังไม่เผื่อทางเลือกใหม่ คือ การกู้เงิน ซึ่งเขามั่นใจว่าสามารถหาได้ไม่ยากนัก

จนถึงวันนี้ ความคืบหน้าบริษัท i-Movie ได้ดำเนินการไปอย่างเป็นรูปธรรม มีการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ด้วยเม็ดเงินทุนก้อนแรก 5 แสนบาท ได้จัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ถ่ายทำ โดยรชฎยังเป็นหัวเรือหลักในการทำงานบุกเบิกบริษัทใหม่ โดยส่วนที่เหลือยังอยู่ระหว่างการจัดหาทีมงาน และรุกหนักการการตลาดประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงการรอเงินก้อนที่สอง จำนวน 5 แสนบาท จากบริษัทตัวแทน

“ระหว่างรอเงิน 5 แสนก้อนที่สองนี้ ผมได้หาประสบการณ์ ฝึกปรือฝีมือควบคู่กันไป ได้รับงานอีเวนต์โฆษณาทีวีของค่ายริชมอนเด้ ซึ่งได้ให้โอกาสลงมือทำไปแล้ว 5-6 ชิ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแบบหยืดหยุ่น และหารายได้เพิ่มเข้ามา มันทำให้ผมได้เรียนรู้แก้โจทย์ธุรกิจแบบไม่คาดคิดมาก่อน โดยเฉพาะ “การบริหารต้นทุน” แต่ยังคงรักษา “คอนเซ็ปต์” เดิมได้ตลอดที่มุ่งมั่นในบริษัท i-Movie แจ้งเกิดอย่างแน่นอน เมื่อทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม” รชฎ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความเชื่อมั่น

คงอีกไม่นานเกินรอ… ความฝัน…ไอเดีย… กับแผนธุรกิจ บริษัท i-Movie ของชายหนุ่มผู้มุ่งมั่นคนนี้ได้กลายเป็นจริง !!!