ตัวนำโชค บอลโลก

มาสคอต (Mascot) หรือที่เรียกว่า ตัวนำโชค นับเป็นอีกสัญลักษณ์ของทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์ลูกหนังโลก และสร้างสีสันให้กับการแข่งขันมาทุกยุคสมัย เป็นระยะเวลา 40 ปีเต็มแล้วที่สัญลักษณ์นี้ได้เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าภาพฟุตบอลโลกพยายามสร้างตัวนำโชคนี้ขึ้นมาอย่างน่ารัก น่าสนใจ

โกเลโอ VI” และ “พิลเล่”

สำหรับมาสคอตตัวล่าสุดในฟุตบอลโลกปี 2006 ครั้งนี้ ที่เยอรมัน คือสิงโต “โกเลโอ VI” และ “พิลเล่” ลูกฟุตบอลช่างเจรจา ทั้งสองตัวนำโชคได้รับการสร้างสรรค์จาก บริษัท จิม เฮนสัน ในลอสแองเจลิส ซึ่งพวกเขาเคยมีผลงานที่โด่งดังมาแล้วในการแต่งแต้ม เติมชีวิตให้ตัวการ์ตูนอย่าง เคอร์มิต เดอะ ฟร็อก (Kermit the Frog) และ เออร์นี่ แอนด์ เบิร์ท (Ernie & Bert) ตัวใหญ่ที่จะกลายเป็นขวัญใจของคุณหนูๆ และเป็นที่จดจำของคนทั้งโลก

กล่าวกันว่า คาแรกเตอร์ของสิงโตเจ้าป่าตัวนี้ เป็นการผสมผสานระหว่าง รูปร่างหน้าตาที่คล้ายกับ โลธ่าร์ มัทเธอุส, ความสง่างามของดีเอโก้ มาราโดน่า และความสามารถ เสน่ห์รอบตัวที่เหมือนกับ โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ

เรื่องราวความเป็นมาของสิงโต โกเลโอ VI น่าสนใจไม่น้อย เพราะเจ้ามาสคอตตัวนี้จะไม่ปรากฏตัวเดี่ยวๆ พบโกเลโอ VI ที่ไหน เราจะเจอ พิลเล่ เจ้าลูกฟุตบอลใฝ่รู้คู่ซี้อยู่ข้างตัวไม่ห่างเสมอ

ตำนาน มาสคอตฟุตบอลโลก

1. นับตั้งแต่อังกฤษปล่อยเจ้าสิงโตตัวน้อย “วิลลี่” ออกอาละวาดเป็นมาสคอตตัวแรกของศึกฟุตบอลโลกปี 1966

2. หลังจากนั้นประเทศที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจึงต้องสรรหาสัญลักษณ์เพื่อใช้เป็นตัวมาสคอตประจำทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก โดยในปี 1970 การแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศเม็กซิโกใช้มาสคอตชื่อ “ฆัวนิโต้” (Juanito) เป็นหนุ่มน้อยนักฟุตบอลสวมเสื้อปีกกว้างสไตล์จังโก้

3. หลังจากนั้นอีก 4 ปีเยอรมัน ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 1974 ได้ส่งมาสคอตคู่หู “ทิปแอนด์แท็ป” สองหนุ่มน้อยแก้มแดงกลายเป็นขวัญใจเด็กๆ ทั่วโลกและเป็นหนึ่งในตัวนำโชคที่ได้รับการจดจำมากที่สุด

4. อาร์เจนตินา เจ้าภาพในปี 1978 ใช้เด็กน้อยนามว่า “Gauchito” เตะฟุตบอลเป็นสัญลักษณ์ภายใต้คอนเซ็ปต์ ก้าวลงจากหลังม้า หันมาวิ่งหวดลูกหนังบนทุ่งหญ้าเขียวขจีที่คนอาร์เจนไตน์ เรียกว่า แพมพาส

5. ส่วนตัวนำโชคที่แปลกประหลาดที่สุดต้องยกให้ “นารานฆิโต้” (Naranjito) ผลส้มที่ยิ้มแป้นถือลูกฟุตบอลในมือ เป็นมาสคอต ปี 1982 เมื่อครั้งที่สเปนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

6. จากนั้นอีก 4 ปี เม็กซิโก ได้ให้กำเนิดมาสคอตตัวใหม่ ชื่อว่า “ปีเก้” (Pigue) ซึ่งออกแนวเป็นการ์ตูนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มาสคอตตัวนี้ยังคงคอนเซ็ปต์ความเป็นเม็กซิกันด้วยหมวกปีกว้างเหมือนเจ้าหนู “ฆัวนิโต้”

7. ฟุตบอลโลกปี 1990 จัดขึ้นที่ประเทศอิตาลี ประเทศที่เป็นศูนย์กลางแฟชั่นของโลก ปีนี้มาสคอตของฟุตบอลโลกมีชื่อว่า “Ciao” ลักษณะหมือนตัวต่อเลโก้ เป็นรูปคนแต่มีหัวเป็นลูกฟุตบอล

8. ในปี 1994 ฟุตบอลโลกถูกจัดขึ้นในดินแดนของสหรัฐอเมริกาประเทศที่ได้ชื่อในเรื่องการออกแบบของที่ระลึก ซึ่งมาสคอตของฟุตบอลโลกที่อเมริกาคือ “สไตรเกอร์” เป็นรูปสุนัขยิ้มยืนเหยียบอยู่บนลูกฟุตบอล

9. จากนั้นอีก 4 ปีถัดมา ฝรั่งเศสใช้เจ้าไก่ “ฟุตติกซ์” Footix ถือลูกฟุตบอลเป็น ตัวโปรโมตการแข่งขันและได้รับความสนใจไม่น้อย ปี 1998

10. มาถึงเวิลด์คัพปี 2002 ซึ่งจัดในเอเชียเป็นครั้งแรก โดยได้เจ้าภาพร่วมระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งมาสคอตที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้มีชื่อว่า “สเฟริคส์” (Spherics) ประกอบไปด้วย โค้ชฟุตบอลตัวสีเหลือง ชื่ออาโตะ และศูนย์หน้าอีก 2 ตัว คือนิค ซึ่งมีสีม่วงกับ คัซ สีฟ้า