“ข้าพเจ้ามอบชีวิต และร่างกาย ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเข้า” เป็นคำบอกเล่าถึงที่มาของชื่อ “พุทธทาส” และความตั้งมั่น ที่มีต่อการอุทิศตนรับใช้พระพุทธเจ้า ด้วยการทำให้พุทธศาสนาแพร่หลาย
ผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ไม่เพียงแต่จะได้รับการยอมรับจากวงการสงฆ์ และวงการศึกษาไทยเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงวงการศึกษาธรรมะโลก เมื่อหนังสือของท่านได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ 15 เล่ม ฝรั่งเศส 8 เล่ม
ปี 2549 เป็นปีแห่งวาระ “100 ปี ท่านพุทธทาส” สำนักพิมพ์ต่างๆ รวมทั้งเว็บไซต์ พร้อมใจกันผลิตผลงานท่านพุทธทาส ซึ่งมีทั้งการรวมผลงานของท่านในอดีต และรวบรวมจากประสบการณ์ที่ได้ฟังคำสอนจากท่านพุทธทาสโดยตรง จนเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ธรรมะฟีเวอร์” ขึ้น
ที่สำคัญ ในวาระนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ยังประกาศให้ “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญ หรือผู้มีผลงานดีเด่น และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ขององค์การยูเนสโก้ ประจำปี 2549-2550
เป็นรางวัลเดียวกับที่บุคคลอย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิทยาของโลก ชาวออสเตรีย ผู้คิดค้นทฤษฎีฟรอยด์ และอมาดิอุส โมสาร์ต นักไวโอลีนชาวออสเตรีย ชื่อดังของโลก ได้รับมาแล้วก่อนหน้านี้
“ท่านพุทธทาส” มีนามเดิมว่า “เงื่อม พานิช” ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 ในตำบลพุ่งเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ่อชื่อ “เซี่ยง” แม่ชื่อ “เคลื่อน” มีพี่น้อง 3 คน พ่อ ประกอบอาชีพค้าขาย แต่มีความชอบด้านกวี ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการเผยแพร่ธรรมะผ่านงานเขียนท่านพุทธทาสในเวลาต่อมา
ท่านพุทธทาส เรียนหนังสือชั้นประถมจนถึงมัธยม จนอายุครบ 20 ปี จึงได้ออกบวช ที่วัดแถวบ้านเกิด ได้ฉายาว่า “อินทปัญโญ” จากนั้นจึงศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้เปรียญ 3 ประโยค ท่านจึงก็มุ่งกลับอำเภอไชยา และหันไป มุ่งมั่นอยู่กับการฝึกฝน และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด และปวารณาตนเป็น “พุทธทาส” เพื่อต้องการรับใช้พระพุทธศาสนา
ต่อมา จึงได้ก่อตั้งสวนโมกข์ ซึ่งต่อมาจดทะเบียนเป็นวัด ”ธารน้ำไหล” ให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และเผยแพร่พุทธศาสนา ใช้ทั้งวิธี “พูด” และ ”เขียน” และสร้าง “สื่อการสอน” โดยไม่ยึดรูปแบบการเผยแพร่ศาสนาแบบเดิมๆ เพื่อต้องการธรรมะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด
แทนที่จะเทศน์อยู่ในวัด ก็ใช้วิธี “ล่องเรือ” เผยแพร่ธรรมะ ไปทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนงานเขียนของท่าน ก็หันมาใช้เป็น “ร้อยกรอง” เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ
ด้วยวิธีคิดนอกกรอบนี้เอง ทำให้ท่านพุทธทาสถูกโจมตี ผู้คนในช่วงว่าเป็น พระนอกรีต เป็นคอมมิวนิสต์ ถึงขั้นเป็นพระเถื่อน
ในที่สุดผลงานของท่านพุทธทาสเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และยังทรงอิทธิพลทางความคิดต่อแวดวงธรรมะ ตราบจนทุกวันนี้ และกลายเป็นโมเดลที่ก่อให้เกิดกระแส “ธรรมฟีเวอร์” ขึ้น จากคำสอนและแนวทางการเผยแพร่ธรรมะแบบง่ายๆ
ดังเช่น พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี บอกว่า “การที่อาตมา กล้าไปเทศน์ที่ห้างฯ สยามพารากอน ก็เพราะท่านพุทธทาสนี้แหละ เราทำตามรอยครู แต่ไม่ได้เสมอครู ดังนั้นเราอยากเผยแผ่ธรรมะแนวแปลกๆ เช่น เอาธรรมะมาทำเป็นบทเพลง ชื่อ มารดาของแผ่นดิน ทำหนังสือเสียงให้คนตาบอด”
อิทธิพลคำสอน และการเผยแพร่ธรรมะของท่านพุทธทาส ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยไม่มีเส้นของเวลามาเป็นตัวกีดกั้น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปแค่ไหนก็ตาม