“ระเบียบรัตน์” ชื่อนี้ ได้ยินแล้วจะหนาว

เมื่อเอ่ยชื่อ “ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช” คนส่วนใหญ่ต้องนึกถึงความเจ้าระเบียบ และความเคร่งในการรักษาขนบธรรมเนียบประเพณีไทย จนกลายเป็นโลโก้ “ระเบียบรัตน์” ที่สาวนุ่งน้อยห่มน้อยได้ยินชื่อแล้วต้องผวา เพราะเป้าหมายของเธอคือมุ่งมั่นให้หญิงไทยรักษาความเป็นกุลสตรี และปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างให้สังคม

เธอมีรางวัล “สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาแห่งโลก” สาขาการเมืองด้านสตรีในพระพุทธศาสนาในวันสตรีสากลปี 2546 การันตรี และรางวัลต่างๆ ด้านสตรีและด้านสังสงเคราะห์อีกมากมาย อาทิ รางวัล “ยอดหญิงปี 2546” รางวัล “สตรีตัวอย่าง” มูลนิธิสร้างสรรสังคมไทย และรางวัล “นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น” ปี 2541 การันตีได้ว่า ระเบียบรัตน์ เป็นสตรีอีกคนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย

เธอ ปกป้องสิทธิ์ของการเป็น “เมียหลวง” อย่างเต็มที่ และเป็นปฏิปักษ์ต่อบรรดาสาวที่เป็น “เมียน้อย” และ “กิ๊ก” ทั้งหลาย เธอจะไม่รีรอที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์หากมีดาราหรือนักร้องคนใด แต่งตัวโป๊ หรือแสดงออกทางเพศอย่างชัดเจนบนเวที นอกจากกรณีการเต้นของ ทา ทา ยัง บนเวทีแล้ว เธอออกมาโจมตีเนื้อเพลง “คนเลวที่รักเธอ” สามารถเรียกกระแสความสนใจจากสื่อมวลชนจนตกเป็นข่าวได้ทุกครั้ง

ทุกครั้งที่ปรากฏกายระเบียบรัตน์จึงมาพร้อมกับความเนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า ตั้งแต่เสื้อผ้า หน้า ผม ตุ้มหู รองเท้า และกระเป๋าทุกอย่างต้องเซตให้เข้าชุดกัน โดยไม่ยอมให้หลุดคอนเซ็ปต์แม้แต่น้อย

เช่นเดียวกับวันนัดให้สัมภาษณ์ POSITIONING เธอมาในชุดผ้าไหมสีชมพู ผมเซตเปิดหน้าได้ทรง แต่งหน้าจัด ตุ้มหู นาฬิกา และเข็มกลัดติดเสื้อเข้าชุดเดียวกับรองเท้าและกระเป๋า ตรงคอนเซ็ปต์ “เจ้าระเบียบ” ตามโพสิชันนิ่งของเธอ

“พี่ต้องสำรวจตัวเอง และแต่งตัวให้เนี้ยบทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เพราะพี่เชื่อว่าคนบุคลิกภาพที่ดี และการแต่งตัวดีสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น รวมทั้งเป็นการให้เกียรติผู้อื่น”

แม้วันนั้นเธอจะมาสาย 1 ชั่วโมง เพราะภารกิจด่วน แต่พอมาถึงเธอรีบกล่าวคำขอโทษ และเชิญชวนให้ POSITIONIG เข้าสัมภาษณ์ทันที แถมยังหอบแฟ้มข้อมูลที่จัดเรียงมาเป็นชุดๆ และกระเป๋าที่ใส่รูปภาพผลงานจำนวนมาก เพื่อให้ข้อมูลสัมภาษณ์อย่างเต็มที่นาน 2 ชั่วโมงเต็ม จนเลยเวลาอาหารกลางวัน

ระเบียบรัตน์ บอกว่า คนทั่วไปมักรู้จักเธอในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ ภรรยานักการเมือง และนักการเมืองหญิง โดยปัจจุบันมีบทบาทเป็นนายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข สำนักงานตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ควบคู่กับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานศูนย์เฉลิมพระเกียรติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV จังหวัดขอนแก่น

ในอีกด้านหนึ่ง เธอเป็นผู้หญิงที่ทำหน้าที่แม่ที่ดีของลูก ภรรยาที่ดีของสามี และผู้หญิงคนหนึ่งที่มีความกล้าลุกขึ้นรักษาสิทธิหน้าที่ และเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิง ทั้งในด้านการทำงาน สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัว เพราะเธอเชื่อว่า “ความอบอุ่นในครอบครัว” จะแก้ปัญหาสังคมได้ดี

“พี่อยากเห็นสังคมไทยเปิดเวทีให้ผู้หญิงแสดงออกบ้าง เพื่อเปลี่ยนค่านิยมใหม่ที่เคยรู้สึกว่า “ผู้หญิงคือผู้ตาม”และต้องเชื่อฟังสามีอยู่ตลอดเวลา อยากให้คิดเลยไปว่าผู้ชายที่ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือมีชีวิตที่สมบูรณ์ได้นั้น เพราะเขามีภรรยาที่เก่งและส่งเสริมเขาก็ได้ แต่ที่สำคัญคนในครอบครัวต้องรัก ซื่อสัตย์ และให้เกียรติกัน”

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอตั้งโครงการ “หนึ่งสามี หนึ่งภรรยา” ในฐานะคู่สมรสรัฐมนตรีและสว.หญิง โดยมาพร้อมสโลแกน “รวมกันเราอยู่ ทิ้งกูมึงตาย” สนับสนุนให้สังคมไทยมีค่านิยมมีสามีและภรรยาเดียว เพื่อสร้างความอบอุ่นให้ครอบครัว และแก้ปัญหาสังคมในระยะยาว

ระเบียบรัตน์ มีบุคลิกที่เด็ดขาด ฉลาด มุ่งมั่น และมีอุดมการณ์ รวมทั้งเป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดี เธอมักจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ หรือใช้คำพูดชักจูงให้คล้อยตามตลอดการสนทนา ไม่เว้นแต่ทักษะการใช้คน หรือเพื่อนร่วมงานให้ทำงานในลักษณะให้เกียรติ เพื่อให้ลูกน้องมีโอกาสแสดงตัวตนได้เต็มที่ แต่เธอก็ดุ เด็ด เผ็ด มันไม่น้อย และตั้งมาตรฐานงานไว้สูง พร้อมกล้าพอที่จะด่า หรือสั่งรื้องานใหม่ทั้งหมด หากงานไม่ได้คุณภาพตามเป้าหมาย

นอกเวลางาน ระเบี๊ยบรัตน์ ก็ไม่ทิ้งอารมณ์ขัน หัวเราะ และเล่าเรื่องสนุกให้คนอื่นขำได้ โดยให้ความเป็นกันเองกับสื่อมวลชน ถึงขั้นยกน้ำและขนมมาให้ด้วยตัวเอง หรือพูดคุยกับผู้คนที่มาติดต่อในสมาคมฯ อย่างสนุกสนาน

“เป้าหมายต่อไปของพี่ คืออย่างตั้งพรรคการเมืองของผู้หญิงโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้หญิงรู้ และเข้าใจในสิทธิหน้าที่ของตนเอง เพราะผู้หญิงในวันนี้ไม่ใช่แม่บ้าน หรือแม่ของลูกเพียงอย่างเดียว แต่ผู้หญิงมีสิทธิคิด และวางนโยบายระดับประเทศได้ ผู้ชายที่ควรวางแผนกรอบใหญ่ และผู้หญิงลงลึกในรายละเอียดโครงการต่างๆ”

นั่นเป็นเหตุผลให้ ระเบียบรัตน์ เลือกเรียนปริญญาโท สาขาสตรีศึกษาในวัยย่างเข้า 50 ปี เพื่อให้รู้และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้หญิง เพื่อประยุกต์ใช้ในบทบาท สว.หญิงของจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยเธอได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 20 สว.หญิงรุ่นแรก

แม้เธอจะเติบโตในครอบครัวที่สมบูรณ์ คุณพ่อเป็นครู และเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น แต่ด้วยความที่เป็นลูกสาวคนเดียวของบ้าน จึงมักถูกปิดกั้นโอกาสในการแสดงออก และไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เต็มที่ เธอจึงมุ่งมั่นเรียนหนังสือจนสำเร็จปริญญาตรี (เกียรตินิยมดี) สาขารัฐศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเธอเชื่อว่าการศึกษาจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการแสดงออกให้เธอได้

ระเบียบรัตน์ เริ่มงานที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัดกระทรวงการคลังเรื่อยมา โดยใช้ชีวิตราชการนานถึง 22 ปี แต่ชีวิตราชการก็ถูกจำกัดการแสดงออก และไม่ค่อยให้โอกาสด้านบริการสำหรับผู้หญิง ดังนั้น เธอจึงตัดสินใจลาออก เพื่อมาทำงานให้สังคมเต็มที่ และลงสมัครเล่นการเมืองในฐานะ สว.อย่างเต็มตัว

ระเบียบรัตน์ อธิบายว่า ที่ผ่านมาสังคมอาจจะมองเธอเป็นผู้หญิงเนี้ยบ วุ่นวาย และออกมาคัดค้านความศิวิไลซ์ของสังคม แต่จริงๆ แล้วเธอบอกว่าต้องการช่วยแก้ปัญหาสังคม โดยไม่ได้ห้ามผู้หญิงแต่งกายทันสมัย แต่อยากให้แต่งกายถูกกาลเทศะ เพื่อจะได้ไม่เกิดภัยต่อตนเอง เพราะผู้ชายส่วนใหญ่ชอบมองผู้หญิงแต่งตัวโป๊ นั่นจะทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ จนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา อาทิ ผู้หญิงถูกข่มขืน สามีมีเมียน้อย หรือครอบครัวแตกแยก

“พี่ดีใจนะที่เวลาเดินไปไหน คนจำได้แล้วเข้ามาถามว่า คุณระเบียบรัตน์ค่ะหนูแต่งตัวแค่นี้พอไหวไหม หรือโป๊ไปหรือเปล่า? แค่นี้พี่ก็พอใจแล้ว แค่ทำให้เขาหยุดคิดได้ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว”

ที่ผ่านมา ระเบียบรัตน์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแรงในเดือนกรกฎาคม 2547 เนื่องจากเธอลุกขึ้นต่อต้านการห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปนมัสการในองค์พระธาตุ จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเป็นการทำผิดวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น และไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติของพุทธศาสนา โดยเธอเข้าใจว่าป้ายห้ามผู้หญิงเข้านมัสการพระธาตุเป็นการกดขี่สิทธิเสรีภาพของผู้หญิง

เธอมุ่งมั่นศึกษากฎหมาย และประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนา โดยเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “การห้ามผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณี”จนพบว่าความจริงผู้หญิงในสมัยพุทธกาลสามารถบวชเป็นภิกษุณีได้ แต่กลายเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเกินไปในสังคมไทย เธอจึงไม่สามารถตีแผ่ความจริงนี้ได้

แต่เธอย้ำว่า “ผู้หญิงไทยยุคนี้ นอกจากต้องเป็นคนสวย คนดีแล้วต้องเป็นคนเก่งที่กล้าคิด และกล้าแสดงออก เพื่อสิทธิหน้าที่ของตนเอง” และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเธอ คือ การจัดตั้งพรรคหญิงไทย

นี่คือบทบาทของ “ระเบียบรัตน์” หนึ่งในผู้หญิงที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย

Profile

Name : ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช หรือ แดง
Born : 26 มิถุนายน 2494 (ปัจุบันอายุ 55 ปี)
Education :
– ประถมศึกษา โรงเรียนบ้านหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น โรงเรียนบ้านหนองสองห้องคุรุราษฎร์รังสรรค์
– มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนอมตวิทยา อำเภอหนองสองห้อง
– มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสตรีจุลภาค กรุงเทพมหานคร
– ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) สาขาบริหารรัฐกิจ และปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาสตรีศึกษา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
– ปริญญาเอกปรัญญากิตติมศักดิ์ (สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยรามคำแหง
– ปริญญาเอกกิตติมศักดิ์ (สาขารัฐประศาสศาตร) มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
Career Highlights:
– 2516-2538 รับราชการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักปลัดกระทรวงการคลัง
– 2537-2540 นายกเหล่าสภากาชาด จังหวัดนครพนม
– 2540-2544 นายกเหล่าสภากาชาด จังหวัดขอนแก่น
– ปัจจุบัน นายกสมาคมเสริมสร้างความครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข, สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และประธานศูนย์เฉลิมพระเกียรติเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ และผู้ติดเชื้อ HIV จังหวัดขอนแก่น
Family: สมรสแล้ว มีบุตร 3 คน โดยเป็นภรรยาของ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย