จุดเปลี่ยน

นับเป็นครั้งที่สองที่นิตยสาร POSITIONING นำเสนอเรื่องราวของรายการ Academy Fantasia หรือ AF มาขึ้นปก AF ปีแรก คือ ฉบับเดือนกันยายน 2547 ซึ่งเวลานั้นรายการ “เรียลลิตี้” ยังเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย การนำเสนอจึงเป็นการ “ถอดรหัส” รายการ AF ทุกแง่ทุกมุม นอกจากสัมภาษณ์ผู้บริหาร ครู ผู้สมัคร ทีมงานของเรายังบุกถึง “บ้าน” ที่ใช้เก็บตัวบรรดา “นักล่าฝัน” ทั้ง 13 คน ถึง “สาริน ซิตี้” ถนนพระราม 2 ที่นำคลับเฮาส์มาใช้เป็น “บ้าน”

เป้าหมายของยูบีซีในครั้งนั้น หวังจะใช้กระแสความแปลกใหม่ของ AF มากระตุ้นยอดสมาชิก และสร้างแบรนด์ UBC ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนการปั้นศิลปินยังเป็นแค่เรื่องรอง

ไม่ว่ายอดสมาชิกจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่ความสำเร็จของ AF1 มาจนถึง AF2 ได้สร้างโมเดลใหม่ในธุรกิจบันเทิง กับการปั้นศิลปินนักร้องให้โด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน แม้แต่ค่ายเพลงอย่างแกรมมี่ก็ยังต้องทบทวน

และแม้ว่าการ “ต่อยอด” ของ AF1 ในปีแรก ที่ยูบีซีจ้างให้ค่ายแกรมมี่ปลุกปั้นนักล่าฝัน จะเงียบหายเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

แต่ความดังและกระแสตอบรับของรายการที่ได้จากแฟนคลับ AF1 มาจนถึง AF2 ส่วนหนึ่งดูจากผลโหวตเชียร์นักล่าฝันผ่าน SMS มียอดพุ่งจาก 5 ล้านข้อความ ใน AF1 เพิ่มเป็น 11 ล้านข้อความ ใน AF ปีที่ 2

บรรดานักล่าฝันของ AF2 กลายเป็น “ศิลปิน” สร้างชื่อและรายได้ให้กับยูบีซีได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และ Value Chain การสร้างรายได้ของ “ศิลปิน” ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นนักร้อง ที่มีรายได้จากการขายซีดี แต่ยังหารายได้จากการเป็น “พรีเซ็นเตอร์” และเล่นละคร เล่นหนัง ตามโมเดลใหม่ของศิลปินชั่วโมงนี้

ด้วยพลังของ AF เหล่านี้เอง ทำให้ “ทรู” ตั้งความหวังไว้กับ AF3 มากทีเดียว และมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นกับ AF3 การลงทุนซื้อกล้องใหม่ สร้างเวที เพิ่มงบการตลาด ย้ายการถ่ายทอดสดจากไอทีวี มาเป็นช่อง 9 ที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนมากที่สุด คือ การตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลการหารายได้ใหม่ แทนที่จะหารายได้จาก SMS เปลี่ยนไปเพิ่มยอดให้กับ “ทรูมูฟ” แทน

ด้วยการปิดกั้นไม่ให้มือถืออีก 2 ค่ายโหวตเชียร์ผ่าน SMS ใครอยากโหวตเชียร์นักล่าฝันคนไหน ก็ต้องใช้ “ทรูมูฟ” เท่านั้น และยังลดราคาค่าโหวต จาก 6 บาท เหลือ 3 บาท โหวตไปเท่าไหร่ก็เปลี่ยนเป็นค่าโทรได้เท่านั้น

ทรู ยังนำ AF3 เป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้ามาใช้ “สื่อใหม่” ที่ทรูสร้างขึ้นมารอบด้าน แมกกาซีน เว็บไซต์ ทีวีบรอดแบนด์ หากทำสำเร็จ จะเป็นกรณีตัวอย่างของการต่อยอดธุรกิจ Convergence หรือ การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจร่วมกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ “ศุภชัย เจียรวนนท์” แม่ทัพใหญ่ของทรู ตั้งความหวังมาตลอด

แต่การเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้เช่นนี้ ก็เป็นเรื่องท้าทายมาก

ต้องไม่ลืมว่า ผลการโหวต SMS มาจากอารมณ์ความรู้สึก หรือเรียกว่า Emotional Marketing เป็นเรื่องความพอใจล้วนๆ ไม่มีเหตุและผล
เช่นเดียวกัน ถ้าลูกค้ารู้สึกว่าถูกบังคับ ก็อาจจะต่อต้าน

ดูจากการถูกโหวตออกของ “น้องเพชร” ซึ่งได้ชื่อว่า ร้องเพลงได้ดีที่สุด สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนคลับ และคนดู ทำเอาครูฝึกและผู้บริหารยูบีซี ถูกก่นด่ากันเป็นแถว

ส่วนหนึ่งมาจากโมเดลการปั้นนักล่าฝันปีนี้ เปลี่ยนจากเวทีการปั้น “นักร้อง” มาเป็นการปั้น “ศิลปิน” ที่ต้องมีความสามารถรอบด้าน ร้อง เล่น เต้น รำ เพื่อต่อยอดไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ นักแสดง

ไม่น่าแปลกที่ AF3 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ท้าทายของยูบีซี และทรู มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง