“สุรยุทธ์ จุลานนท์” Mission Possible

มาแทนผลิตภัณฑ์ปัญหาอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ชนิดที่ไม่มีนักการตลาดใดแก้ไขได้ ก็ยิ่งทำให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 กลายเป็นสินค้าคุณภาพ ที่มีจุดขายอยู่ที่ ความซื่อสัตย์ สุจริต

จากข้อด้อยของ”ทักษิณ ชินวัตร” ที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่ว่าจะระดมเซียนมาร์เก็ตติ้ง อิมเมจเมคเกอร์กี่คน หรือพลิกหาบรรดาตำราหากลยุทธ์ทางการตลาดมาจัดทำสื่อ สร้างแบรนด์ รีแบรนด์ หรือแบรนดิ้งกี่รอบ เหมือนอย่างที่เคยทำ ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มเดินเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง

แต่ “ทักษิณ” ที่นับวันตัวผลิตภัณฑ์มีปัญหา จากความจงใจเติมสารพิษลงในส่วนผสม จนคนจับได้ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ หากใช้ หรือบริโภคไปนานๆ อาจเจ็บป่วยถึงตายได้ อันเป็นจุดนำพามาสู่กาลอวสาน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจล้มรัฐบาลทักษิณ

คุณสมบัติของสินค้า ”ทักษิณ” ที่เต็มไปด้วยการเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มธุรกิจ ที่เป็นนายทุนของพรรค อย่างการตกลงเขตการค้าเสรีกับต่างประเทศหรือเอฟทีเอ ที่ธุรกิจส่วนประกอบรถยนต์ของลูกพรรคได้ประโยชน์เต็มที่

การเดินแนวทางผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ธุรกิจในเครือของครอบครัวได้ประโยชน์จากการออกนโยบาย เช่นการลด และเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติในธุรกิจโทรคมนาคม การให้ธุรกิจโทรคมนาคมจ่ายภาษีสรรพสามิต

การทุจริตเชิงนโยบาย ที่สามารถทำให้การคอรัปชั่นเป็นเรื่องที่มองเห็นแต่ไม่สามารถเอาผิดได้ อย่างการแจกกองทุนหมู่บ้าน ปั๊มตราผลงานพรรคไทยรักไทย ทั้งที่คืองบประมาณของประเทศชาติ และแม้กระทั่งความสามารถในการเลี่ยงข้อกฎหมายเพื่อนำประโยชน์เข้าสู่กลุ่มธุรกิจและครอบครัวของตัวเอง อย่างการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นให้กองทุนเทมาเส็ก โดยไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้แม้แต่บาทเดียว

นอกเหนือไปจากนี้ สิ่งที่ไม่เคยมีใครกล้าทำอย่างมากมายมาก่อน คือการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดให้ขึ้นเป็นใหญ่ ในจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในกองทัพบก ที่ช่วงหนึ่งให้ญาติลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง คือพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก การให้น้องเขยตัวเอง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม การเร่งให้พี่ภรรยา “เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์” ได้ยศพลตำรวจเอก และขึ้นแท่นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เหลืออีกก้าวเดียว คือแม่ทัพของตำรวจ

เมื่อวันหนึ่งที่ ”ทักษิณ” ต้องออกไป สิ่งที่สังคมไทยถามหา คือ ”นายกรัฐมนตรี” คนใหม่ ซึ่งแน่นอน คนใหม่ต้องไม่มีส่วนผสมเป็นพิษอย่างที่ ”ทักษิณ” เป็น

คำตอบ ณ เวลานี้ คือ ”พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของประเทศไทย

แม้จะมีเสียงกระซิบอยู่บ้างว่าจะดีหรือที่นายกรัฐมนตรีมาจากทหารหลังจากกลุ่มทหารยึดอำนาจจาก ”ทักษิณ” แต่เพราะภารกิจการเยียวยาประเทศไทยในเวลานี้ ทั้งปัญหาภาคใต้ ปัญหาระบบการเมืองที่ล้มเหลว โคม่ายิ่งกว่าปัญหาเศรษฐกิจ เสียงตอบรับ ”พลเอกสุรยุทธ์” จึงดังกว่า และที่เข้าใจกันคือ ”พลเอกสุรยุทธ์” คือนายกรัฐมนตรีเฉพาะกิจก่อนที่จะมีรัฐบาลที่มาจากประชาชน

เส้นทางชีวิตและคนรอบข้างของ ”พลเอกสุรยุทธ์” ชัดเจนว่า ต่างจาก ”ทักษิณ” โดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะความเคลือบแคลงที่จะทำให้มองเห็นว่าการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัว

พลเอกสุรยุทธ์ เป็นคนจังหวัดเพชรบุรี เติบโตจากครอบครัวทหารโดยแท้ บิดา พลโทพโยม จุลานนท์ เป็นนายทหารที่ลงเล่นการเมือง อดีต ส.ส.เพชรบุรี เป็นอดีตนายทหารผู้เคยร่วมก่อกบฏเสนาธิการ แล้วหลบหนีไปร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนไทย (ทปท.) และลี้ภัยอยู่ที่ประเทศจีน ใช้ชื่อว่า “สหายคำตัน”

เมื่อสืบสาวไปยังฝ่ายมารดา คุณแม่อัมโภช ซึ่งบิดา หรือคุณตาของพลเอกสุรยุทธ์ ก็คือพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม แม่ทัพใหญ่ของกบฏบวรเดช ซึ่งเป็นการก่อกบฏครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2476 และในเวลาต่อมาคุณตาถูกซุ่มดักยิงเสียชีวิตที่มวกเหล็ก

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในครอบครัว เป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับ ”พลเอกสุรยุทธ์” ในการดำเนินชีวิต

ด้วยสถานะ ที่ถูกจับตามองว่าเป็นหลานของกบฏ เป็นลูกของคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับถนนสายทหารสำหรับ ”พลเอกสุรยุทธ์” ในการเติบโต แต่เพราะบทเรียนจากเรื่องราวในครอบครัว ทำให้พลเอกสุรยุทธ์ยึดหลักในการเป็น ”ทหารอาชีพ” มาโดยตลอด มีเส้นแบ่งชัดเจนว่า ”ทหารไม่ยุ่งกับการเมือง” มีวิถีการดำรงชีวิตที่สมถะ ใฝ่ธรรมะ แต่ในกองทัพเขาคือผู้บัญชาการทหารที่เข้มแข็ง และเด็ดเดี่ยว เป็นแบบอย่างของทหารรุ่นน้อง ที่ให้ความเคารพนับถือ และนี่คือ ”บารมี” ที่กองทัพต้องการให้เกิดความสามัคคีในเวลานี้

พล.อ.สุรยุทธ์ ถือเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นที่ไว้วางใจในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ เป็นแบบอย่างทหารอาชีพด้วยการไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ รวมทั้งลาออกจากวุฒิสมาชิก และยังให้ภริยาลาออกจากราชการทหาร

แม้จะไม่ยุ่งกับการเมือง แต่เกิดความขัดแย้ง กับ “ทักษิณ” จากเหตุการณ์ชายแดนไทยพม่า พล.อ.สุรยุทธ์จึงถูกโยกย้ายจาก ผบ.ทบ.ไปเป็น ผบ.สส. เมื่อปี 2545 จนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2546 และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี

แต่เมื่อสถานการณ์พัฒนาการมาถึงขั้น ”การปฏิวัติ” ที่ใครๆ ก็ว่าล้าสมัยเกิดขึ้น แถมยังกลับตาลปัตรที่ประชาชนยอมรับการปฏิวัติ 19 กันยาฯ สิ่งที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงอาการเข็ดของคนไทย ต่อแบรนด์อย่าง ”ทักษิณ”

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้คือ จากผลสำรวจความเห็นโพลล์หลายแห่ง ในช่วงเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายเดือนกันยายน 2549 พบว่าคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ประชาชนต้องการเป็นอันดับ 1 คือมีความซื่อสัตย์ สุจริต ส่วนความสามารถด้านเศรษฐกิจ คือคุณสมบัติรองลงเท่านั้น

“พลเอกสุรยุทธ์” ในวัย 65 ปี จึงถูกดึงเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมืองอีกครั้ง เพราะเขาคือ” นายกรัฐมนตรี” ที่แตกต่างจากเดิมแบรนด์เดิมอย่าง ”ทักษิณ ชินวัตร” โดยสิ้นเชิง

เส้นทางพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

Born 28 สิงหาคม 2586
Education
– โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์
– โรงเรียนเซนต์ คาเบรียล
– โรงเรียนสวนกุหลาบ
– เตรียมทหารรุ่น 1
– โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12

Carrer Highlights
– 2508 เริ่มรับราชการในยศ ร้อยตรี ประจำศูนย์การทหารราบ
– 2509 ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 31
– 2513 ผู้บังคับชุดปฏิบัติการ กองร้อยพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม)ที่ 2
– 2514 ครูโรงเรียนสงครามพิเศษ ศูนย์สงครามพิเศษ
– 2521 ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมผสมที่ 23 พ.ศ. 2521
– 2526 ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 กองพลรบที่พิเศษที่ 1
– 2532 ผู้บัญชาการกองรบพิเศษที่ 1
– 2535 ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ
– 2537 แม่ทัพภาคที่ 2
– 2540 ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก
– 2541-2545 ผู้บัญชาการทหารบก
– 2545 -2546 ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ตำแหน่งพิเศษ
– 2526 ราชองค์รักษ์เวร
– 2521-2531 นายทหารคนสนิท นายกรัฐมนตรี (พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)
– 2531 นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์
– 2535 สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 1
– 2539 สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่ 2
– พ.ย. 2546 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
ผลงานอนุรักษ์
เป็นผู้นิยมการเดินป่า เป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเป็นที่ปรึกษาของเยาวชนกลุ่ม “รักษ์เขาใหญ่” ตั้งแต่ ปี 2535 ในชื่อ ลุงแอ๊ด หลังจากเกษียณอายุราชการปี 2546 ได้อุปสมบท และออกธุดงค์ในภาคอีสาน
Statusสมรสกับพันเอกหญิง คุณหญิง จิตรวดี จุลานนท์ (สันทัดเวช)