วิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส ความเสี่ยง สรยุทธ์ จุลานนท์

ถ้านำเอาทฤษฎี SWAT เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ พลเอกสุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของไทย ก็ถูกจัดเป็นสินค้าที่โดดเด่นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใส มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ทำให้เส้นทางของพลเอกสุรยุทธ์บนเก้านายกฯ จึงมีทั้งโอกาส และจุดเสี่ยงดังนี้

จุดแข็ง

1.ภาพที่โดดเด่นของพลเอกสุรยุทธ์ คือ ความซื่อสัตย์สุจริต ได้รับการยอมรับจากประชาชน ถึงการมีคุณธรรมและจริยธรรม เหมาะกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ ซึ่งจุดเสื่อมที่สำคัญของรัฐบาลทักษิณ ที่ได้รับการต่อต้านจากประชาชน ก็คือ ปัญหาในเรื่องคอรัปชั่น และการเห็นแก่ผลประโยชน์พวกพ้อง

2.ผลงานในช่วงรับราชการเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกหน่วยงาน และทุกองค์กร เช่น การแก้ปัญหากะเหรี่ยงบุกยึดโรงพยาบาล จังหวัดราชบุรี โดยที่ตัวประกันชาวไทย 130 คนปลอดภัย, กรณีที่ชาวกัมพูชาเข้าใจผิด และมีการเผาสถานที่หลายแห่ง พลเอกสุรยุทธ์ได้จัดส่งเครื่องบิน C130 ไปรับคนไทย และการปราบปรามปัญหายาเสพติด สกัดกั้นการลักลอบนำเข้า

3.ได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

4 .นำทหารออกจากการเมือง ไม่ฝักใฝ่ผู้มีอำนาจทางการเมือง เมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ลาออกจากเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญในขณะนั้นไม่ได้ห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภา

5. ให้ความสำคัญกับความสมานฉันท์ของคนไทยในประเทศเป็นหลัก เพราะปัญหาของคนไทยเวลานี้ คือ ความแตกแยกทางความคิดของคนไทยด้วยกัน

6.เป็นผู้ที่ได้รับความนับหน้าถือตาจากคนทั่วไป ไม่มีประวัติด่างพร้อย

7. มีความโปร่งใส ไม่แสวงหาอำนาจ หรือความร่ำรวย มีภาพของการใช้ชีวิตแบบพอเพียง

8. เคยได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ว่าสามารถสร้างกองทัพให้มีประสิทธิภาพ ต่อการเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ

9. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการที่ให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยพบปะกับผู้นำศาสนา และชุมชนมาตลอด แม้เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ได้จัดทำโครงการ “สานใจไทยสู่ใจใต้”

10. เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นผู้นิยมเดินป่าชมธรรมชาติ เป็นประธานมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

11. สื่อมวลชนของไทยให้การยอมรับ และเปิดกว้างในการให้ข้อมูล ตั้งแต่รับราชการทหาร

จุดอ่อน

1.เป็นผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งที่มาจากทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
2.ภูมิหลังการเป็นทหารของพลเอกสุรยุทธ์มีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ ที่มองว่าอาจจะเป็นอุปสรรคในการนำประเทศหวนคืนสู่การเป็นประชาธิปไตย
3.ไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการฟื้นฟูประเทศในช่วงนี้
4.พ่อ เคยเป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่พลเอกสุรยุทธ์ก็ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วเป็นอย่างดี ถึงจุดยืนของการอยู่ในวิชาชีพทหาร ที่ไม่มีความด่างพร้อยในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด
5.บุคลิกที่นุ่มนวลเกินไป อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้

โอกาส
1.การได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ย่อมเป็นการรับประกันถึงคุณภาพ ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอย่างไม่มีเงื่อนไข
2.ได้รับการสนับสนุนและไว้วางใจจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
3.เป็นคนที่ได้รับการนับหน้าถือตา และได้รับการยอมรับจากนายทหารด้วยกัน ทั้งรุ่นพี่ และรุ่นน้องในแวดวงทหาร

ความเสี่ยง
1.อาจถูกต่อต้านจากกลุ่มประชาธิปไตยจ๋าบางกลุ่ม ถึงการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากพลเรือน และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
2.ถูกมองจากต่างประเทศว่า พลเอกสุรยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการทหารที่ทำรัฐประหาร ซึ่งมีความชอบธรรมทางการเมืองน้อยกว่าทักษิณ ชินวัตร
3.พลเอกสุรยุทธ์มีอำนาจแท้จริงในการบริหารประเทศแค่ไหน หรือเป็นแค่ตัวแทนของทหาร