ยุค Event กำลังเฟื่องฟู แทบทุกสินค้าพร้อมใจกันควักกระเป๋าจัด Event กันอย่างคึกคัก ส่งผลให้ธุรกิจอีเวนต์เมืองไทยหลายปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรำ “Event” ที่ผ่านมากลับเกิดคำถามจากบรรดานักการตลาด เจ้าของสินค้า แบรนด์ เช่นกัน โดยเฉพาะ “ความคุ้มค่า” กับเม็ดเงินที่ใช้ไป
อะไรทำให้อยู่เบื้องหลังทำให้นักการตลาดต้องหันมาทำ Event และทำอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุด
หรือเรียกกันว่า Event ROI หรือ Event แบบ Return on Investment : อีเวนต์แบบวัดผลได้
ค้นหาคำตอบ…ได้จากบรรดานักการตลาดอีเวนต์ ผู้จัดงานระดับ Top ของเมืองไทย
อาทิ เสริมคุณ คุณาวงศ์ จาก CM Organizer เกรียงไกร กาญจนะโภคิน จาก Index Event Agency พิเสฐ จึงแย้มปิ่น จาก PICO Thailand ปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ จาก Reed Tradex ผุสชา โทณะวณิก จาก JSL ในงานสัมมนาเชิงวิชาการ โดยสมาคม Event Management Club ร่วมกับบริษัท Brand Maker
4 กฎวัดผลคุ้มค่า
มุมมอง เกรียงไกร กาญจนะโภคิน Co-Chief Executive Officer จาก Index Event Agency ผู้ประกอบการ Event รายใหญ่ของประเทศต่อ “Event ROI ผลตอบแทนที่ทำให้คุณต้องเลือกลงทุนใช้ Event เป็นเครื่องมือทางการตลาด” ให้ข้อสรุปว่า ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ประเมินผลสำเร็จของ Event คุ้มค่าหรือไม่ โดยหากคุณเป็นลูกค้าหรือ ผู้จัดอีเวนต์ลูกค้า สิ่งที่พิจารณาข้อแรก คือ
Objective วัตถุประสงค์ เป็นสิ่งจำเป็นอันแรกที่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จัดอีเวนต์เพื่อต้องการอะไร ต้องการเพิ่มยอดขายกี่เปอร์เซ็นต์ อยากได้แบรนด์ Awareness สายสัมพันธ์กับลูกค้าที่ดี หรือ ต้องการ Brand Experience โดย Objective ขึ้นอยู่กับอีเวนต์แต่ละรูปแบบ แต่ละงานก็แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การจัดอีเวนต์แบบ Recruitment เป็นการเอาอีเวนต์ไปใส่ใน HR Human Resource เพื่อเป็นการคัดเลือกคนหรือทีมงาน หรือจัดอีเวนต์แบบ Team Building เพราะปัจจุบันอีเวนต์เป็น Multi Propose ที่ Communicate อะไรก็ได้ออกไปสู่ภายนอก หรือนัยหนึ่ง Event คือการ Communication (การสื่อสาร) อย่างไรก็ตาม หากไม่มี Objective หรือไม่ชัดเจน จะวัดความคุ้มค่าไม่ได้ หรือวัดได้แต่ค่อนข้างยาก
Participants เป็นการวัดจากจำนวนคนที่เข้ามาร่วมอีเวนต์ แต่ปัจจุบันวิธีการคิดได้มองลึกไปมากกว่าจำนวนเป็น Multi Layer Participant กล่าวคือ คิดจากคนมาร่วมงานโดยตรง เรียกว่า Direct Participant ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ตอนแรกอาจเป็นจำนวนหลักพันคน หมื่นคน ซึ่งบางครั้งไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นหมื่นคน เพราะสถานที่จัดบางครั้งมีข้อจำกัด จำเป็นต้องคุยกับลูกค้าให้เข้าใจว่าการมาร่วมงานโดยตรงไม่จำเป็นต้องมองแค่มิติเดียว แต่ให้มองถึงกลุ่ม In-direct Participant เป็นกลุ่มที่ไม่ได้มาร่วมงานโดยตรง แต่สามารถเข้าร่วมโดยผ่านช่องทางการอื่น อาทิ อินเทอร์เน็ต SMS
ยกตัวอย่าง รายการ AF : อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมรายการผ่านช่องทางโดยตรง คือ การดูคอนเสิร์ตที่ธันเดอร์โดม หรือช่องทางโดยอ้อม เช่นการส่งโหวต SMS หรือรายการจัดอีเวนต์ตามห้างสรรพสินค้า คนที่ไม่ได้รับเชิญ แต่เดินในห้างและเข้ามาร่วมชมอีเวนต์ เรียกว่า Viewers ซึ่งเป็นกลุ่มที่สามารถรับรู้ข้อความจากอีเวนต์โดยตรง โดยสามารถคุยกับลูกค้าว่าต้องการเอาจำนวนคนที่เชิญเป็นหลัก หรือต้องการเอาผู้เข้ามาร่วมอีเวนต์โดยอ้อมจำนวนเท่าไร ทั้ง Viewers จำนวนเท่าไร Indirect เท่าไร
อีกทั้งเวลาในการวัดความคุ้มค่า Event ROI ยังต้องคำนึงถึงทั้ง Quality (คุณภาพคนร่วมงาน) และ Quantity (จำนวนคนที่มาร่วมงาน) โดย Quality จำเป็นต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target) ว่าต้องการคุยกับใคร หรือ ผู้มีส่วนร่วมเป็นใคร อาทิ ผู้หญิงผมยาว อายุเท่าไร สำหรับแชมพูรูปแบบนี้ แล้ววัดว่าคนที่เข้ามาร่วมงานจริงๆ ใช่ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ หรือหากเป็นกลุ่มเป้าหมายเศรษฐีก็ต้องการดูว่าเป็นคนที่มีเงินเก็บออมในธนาคารจำนวนเท่าไร คุณภาพคนสอดคล้องกับที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ หรือลูกค้าได้กำหนดในจุดนี้หรือไม่ ทั้งนี้มันในประเด็นนี้ทำให้สามารถวัดผลความคุ้มค่า Event ได้เช่นกัน
ขณะที่ Quantity จำนวนคนที่มาร่วมงาน หรือ Member จำนวนกี่คน ตามจำนวนที่ลูกค้าตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ในเรื่องนี้ต้องการชัดเจน โดยเฉพาะการจัดงานในสถานที่สาธารณะ มีรายการการเล่นเกมในงาน มีคนร่วมงานเข้ามาร่วมมากน้อยแค่ไหน เป็นกลุ่มเป้าหมายสินค้าหรือไม่ ก็ต้องอาศัยวิธีการ Approach ที่น่าสนใจ น่าติดตาม ร่วมกิจกรรม
Media Coverage เป็นการวัดผลอีเวนต์จากพีอาร์ตามสื่อต่างๆ ทั้งนี้การจัดอีเวนต์ปัจจุบันต้องใช้บริษัทพีอาร์เข้าร่วม โดยการผู้จัดการวางแผนกิจกรรมพีอาร์ต่างๆ ให้อีเวนต์นั้นเป็นที่รู้จักทั้งในรูปแบบก่อน ระหว่าง และหลังจัดงาน Event ทำอย่างไรให้งานเป็นที่รู้จัก สนใจ และมีผู้เข้าร่วม รวบรวมเป็นแฟ้มข่าว เพื่อสามารถวัดผลการจัดงานอีกทั้งยังสามารถนำผลนี้ไปเก็บเงินค่าจากผู้จ้างได้ สำหรับวิธีการคำนวณ หากเป็นอีเวนต์ผ่านสื่อทีวี วิทยุ คำนวณจากเวลาออกอากาศคูณราคาที่ซื้อขายกันจริง ซึ่งมีสูตรที่ไม่เหมือนกันของแต่ละพีอาร์เอเยนซี่ บางรายใช้สูตรคูณ 5 เป็นการใช้ฝีมือ ไม่ได้ซื้อเวลา บางรายใช้สูตรคูณ 3
“บางมิติรายการจ้างไม่ได้ แต่บางมิติจ้างได้ อาทิ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำรายการที่รายการอีเวนต์เป็นหลัก ตอนนี้ผมทำรายการอีเวนต์โปรโมตรายการสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ก็จ้างให้สรยุทธพูดในรายการให้ แต่บางรายไม่ได้ อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จ้างไม่ได้ที่ลงข่าวหน้า 1 ขึ้นอยู่กับวิธีการ โดยถ้าสามารถทำอีเวนต์ หรือแบรนด์ไปลงในไทยรัฐหน้า 1 (ต้องเป็นข่าวดี) ก็ทำให้ได้เครดิต ไม่ต้องไปคูณ5 หรือคูณ 10 แต่สามารถคูณ 100 ได้เลย”
สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ หนังสือพิมพ์ แมกากาซีน คำนวณจากคอลัมน์นิ้วคูณราคา ขณะที่เว็บไซต์คำนวณจากจำนวนคนที่เข้ามาเยี่ยม คูณด้วยราคา โดยส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับสูตรแต่ละที่ ว่าจะเลือกคูณเท่าไร ที่สำคัญต้องดูเรื่อง ที่มาเป็นแหล่งเดียวกันหรือไม่ หรือซ้ำกัน ถ้าหากซ้ำกันมากก็แสดงว่าโดนหลอก อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งไปเชื่อในเรื่อง Visitors อย่างเดียว ควรลงลึกไปในรายละเอียดมากกว่าเดิม
Communication จัดเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะทุก Event เป็นเรื่องของการสื่อสาร ในแง่ของ Celebrity กับแบรนด์ควรระมัดระวัง เพราะหลายครั้งที่งานได้เชิญผู้มีชื่อเสียงมากจำนวนมาก แต่ข่าวที่ไปตีพิมพ์ในสื่อ บางครั้งมีแต่หน้าตา ชื่อเสียงของแขก แต่แทบไม่เห็นแบรนด์เลยรวมไปถึง การใช้ Celebrity คนเดิม ซ้ำไปซ้ำมา แต่ไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายสินค้าแบรนด์
บางครั้งในการคิดผล อาจไม่นับจำนวนหน้าตา ชื่อเสียงคนดังในการประเมินวัดผล ดังนั้นลูกค้าอาจตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าการลงทุนจัดงาน
“ดังนั้น Communication จัดงานไปแล้ว ลูกค้าจำเป็นต้องรีเสิร์ช เพื่อบอกว่าคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นต้องใช้ Professional ทำ”
เคล็ดลับ : ต้องมากกว่าอีเวนต์
เกรียงไกร ยังบอกด้วยว่าในการวัดผลจัด Event ว่าตรงกลุ่มเป้าหมาย คุ้มค่าหรือไม่ อาจถูกวัดออกมาเป็น 2 มิติ โดยมิติแรก คือ Media Coverage และมิติสอง เอา Research มาช่วยในสิ่งที่ได้ทำออกไปไม่ว่า Brand Experience ที่ต้องเกิดจากการรีเสิร์ชช่วย โดยเฉพาะ เมื่อจัดอีเวนต์แล้วรู้สึกอย่างไรก็กับแบรนด์ อาจเกิดจากการโฟกัส กรุ๊ป ว่ารู้สึกดี ประทับใจกับแบรนด์อย่างไร อีเวนต์ที่จัดมีอะไรบ้างที่โดนใจ และตรงกับสิ่งที่ต้องการบอกกับผู้เข้าร่วมงานหรือไม่ ซึ่งอาจทำค่อนข้างยากกว่าการทำแบบสำรวจสอบถามทั่วไป ที่มีจุดอ่อนในเรื่องเวลาของผู้ถูกสอบถาม ความตั้งใจตอบคำถาม ซึ่งไม่ค่อยได้ผล
“หลักสำคัญ ต้องใส่ Input เข้าไปในการจัดงานเยอะ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าอีเวนต์มันมี Value มากไม่ใช่แค่อีเวนต์ หรือใช้วีคิด ทำอีเวนต์ แต่ได้มากกว่าอีเวนต์” เกรียงไกรเผย เคล็ดลับให้ฟัง
ทางด้าน นายก Event Management Club (EMC) เสริมคุณ คุณาวงศ์ CEO แห่ง CM Organizer วิเคราะห์ถึงปัจจัยแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการสร้างสรรค์งาน Creative Event ว่า ข้อแรก คือ ข้อจำกัดของเหตุการณ์บ้านเมือง ทำให้ลูกค้าที่ยังไม่เปิดรับหรือมีอารมณ์ร่วมที่จะมาสั่งให้พัฒนางานอีเวนต์ ซึ่งมีผลมาก
ข้อสอง คือ แรงบีบรัดจากสถานการณ์ทางการตลาดที่มีผลต่องบประมาณ ข้อสาม สถานการณ์ปัจจุบันที่กดดันให้มุ่งไปในการตลาดชั้นการขาย หรือ Sale มากกว่าการทำ Image ภาพลักษณ์
กรณี Creative Special Event ที่จัดว่าโดดเด่นที่สุดในขณะนี้ได้แก่ การจัดงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะผู้จัดงานสามารถได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างเต็มที่ อีกทั้งสามารถเรียกผู้ชมงานได้ทะลุเป้าหมายร่วม 6 ล้านคน ใช้งบประมาณจัดงานรวม 400 ล้านบาท
ขณะที่พัฒนาการ Event เมืองไทย สามารถมองได้ 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 บิลลิ่ง (Billing) ซึ่งเป็นการจัดอันดับการจำนวนบิลลิ่ง โดยสมาคมอีเวนต์นานาชาติ สำหรับประเทศไทย ส่วนบริษัท CM ติดอันดับ Ranking ที่ 39 ของโลก สะท้อนพัฒนาการธุรกิจอีเวนต์ในเมืองไทยที่เข้าไปสู่การแข่งขันในระดับโลกได้อย่างชัดเจน
มิติที่ 2 เทคนิค มองจากงานด้านเทคนิคและอาร์ต ในเมืองไทยปัจจุบันอยู่ในระดับสากล เพราะหลายครั้งที่มีออกแบบงานจากต่างประเทศ ผลิตงานออกมาจากระดับเดียวกับต่างประเทศ อีกทั้งมีการผลิตงานส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จัดอยู่ใน 1 ใน 30 ประเทศของวงการชั้นนำ และในกลุ่มเอเชียอยู่ไม่เกินอันดับ 5 รองจากญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง
มิติที่ 3 คน ในเรื่องคุณภาพและความสามารถในการจัดการ จัดว่าอยู่ในระดับดี เพราะบรรดาลูกค้ากลุ่ม Incentive ขนาดใหญ่เลือกอีเวนต์ในเมืองไทย จากกลุ่มลูกค้าในยุโรป อาทิ Herbal life เพราะทีมงานมีความอดทน รับผิดชอบ และราคาถูกกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ ออกาไนเซอร์ต่างประเทศ ส่วนมากเป็นศิลปินมากกว่า
สำหรับตลาดอีเวนต์ไทยในอนาคต นายกสมาคม EMC วิเคราะห์ให้ฟังว่า Event เป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม และธุรกิจการตลาดในแง่แบรนด์ที่สร้างความคึกคัก สร้าง Brand Experience ที่สื่ออื่นทำไม่ได้ ดังนั้นจึงยังอยู่ได้ต่อเนื่องในโลกของมาร์เก็ตติ้ง
“โดยเฉพาะอีเวนต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพราะทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแนว Incentive ก็ยังคงใช้ Event เป็นเครื่องมือต่อไป รวมถึงงานด้านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นรากฐานงานโอท็อป สินค้าวัฒนธรรม หากยังส่งเสริมสินค้า Otop กรุงเทพเมืองแฟชั่น ยังคงต้องการพิพิธภัณฑ์ ดังนั้น บริษัทอีเวนต์ที่เน้นด้านพิพิธภัณฑ์จะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น”
Did you know?
Event ROI (หรือ Event : Return on Investment) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 10 ปี เมื่อผู้บริหารบริษัทเนสท์เล่จัดงานแถลงข่าว เชิญเทรด ดีลเลอร์ ตั้งคำถามถึงการจัดงานที่ใช้เงินร่วม 10 ล้านบาท ว่า มันคุ้มค่าหรือไม่ จึงได้มีการคิดโมเดลเพื่อค้นหาคำตอบความคุ้มค่าต่อการจัดอีเวนต์ จัดเป็นครั้งแรกที่ Event ถูกประเมินอีกมิติที่มี “ มูลค่า” โดยใช้วิธีการวัด Media Coverage หลังจากจัดอีเวนต์แล้วดูว่า Event นี้ถูกนำไปลงในสื่อ (explosure) ตามสื่อต่างๆ แล้วคำนวณออกจากคูณคอลัมน์นิ้ว (สื่อสิงพิมพ์ ) หรือคูณแอร์ไทม์ (สื่อทีวี วิทยุ) กับราคาสื่อ โดยมีเอเยนซี่โฆษณาเป็นผู้วัดผล