“เลือกทำสิ่งที่รัก แต่ถ้ายังไม่เจอ ก็ให้เลือกว่ามันมีอะไรในสิ่งที่เราต้องทำอยู่ ที่เราสามารถรักได้ เพราะการทำสิ่งที่รักจะทำให้เราทำได้ดี และไม่เครียด สนุก เวลาทำหนังเรื่องไหน ผมจะคิดทุกนาที ทั้งวันทั้งคืน ทำงานให้มีพลังต้องไม่มีคำว่าทำไปงั้นๆ หรือทำอย่างซังกะตาย” ปรัชญาการใช้ชีวิตของ เอส คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับชื่อดังค่าย GTH (GMM ไท หับ) จากหนังดังในใจใครหลายคนอย่าง เพื่อนสนิท หนูหิ่น และร่วมงานกับกลุ่มเพื่อนในงานแจ้งเกิดอย่าง แฟนฉัน
ปรัชญาการใช้ชีวิตของคนๆ หนึ่ง อาจฟังดูง่าย เหมือนสูตรสำเร็จบางอย่าง แต่ปรัชญานี้ของคมกฤษถูกพิสูจน์มาด้วยเวลานานนับหลายปี ทั้งจากการยอมเสียเวลาเลือกเอนทรานซ์ใหม่หลังเรียนวิศวะไปสองปี ระหว่างเรียนก็หายใจเข้าออกเป็นกิจกรรมการทำละคร หนังสั้น กับเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ จบมาก็มุ่งมั่นหางานที่รัก ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กๆ อย่างงานแต่งงาน งานรับปริญญา หรือสารคดีสั้นๆ ของทางราชการ ทำแต่สิ่งที่รัก เตรียมพร้อมทักษะเพื่อรอคอยโอกาสใหญ่ที่จะมาถึง
คนเรียนหนัง…
“ตั้งแต่เด็กสมัยที่ยังอยู่ที่อยธยา นิสัยดูหนังก็ตั้งแต่เด็ก ต้องไปดูหนังเข้าใหม่แทบทุกเรื่อง ผมชอบทำให้คนสนุก อย่างตอนประถมก็เล่นหุ่นมือให้เพื่อนๆ ดู ประกวดวาดรูปงานประดิษฐ์อะไรก็ไม่เคยพลาด เรียน ม.ปลายทั้งที่เป็นสายวิทย์ อยู่วิศวะเกษตร ก็ทำทั้งเชียร์ตลก ทั้งละครเวที”
“เรียนๆ วิศวะไปถึง 2 ปี รู้สึกขึ้นเรื่อยๆ ว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีความสุข แล้วพอดีได้ฟัง Hot Wave ที่ พี่เต๊ด ยุทธนา บุญอ้อม จัดสมัยนั้น บอกว่าที่นิเทศฯจุฬามีสาขาวิชาสอนทำหนัง เลยตัดสินใจสอบเอนทรานซ์ใหม่เข้าไปได้ ที่ผ่านมาเราคิดแต่ว่าต้องเรียนสายวิทย์ ต้องเรียนอะไรที่หางานทำง่าย แต่ว่าตอนเอนฯใหม่นี่คิดว่ายอมเสียเวลาที่ผ่านมา ไปเรียนอย่างที่ชอบที่ถนัด เดี๋ยวตลาดก็มีเอง”
เมื่อเลือกแล้วจะเปลี่ยนเส้นทางไปเดินทางที่ตัวเองเลือก ไม่ใช่ทางทีจะรอให้ตลาดแรงงานมาเลือก คมกฤษก็ออกเดินไปด้วยพลังจากความรักความสนใจ
“เรียนที่นิเทศฯ เอกภาพยนตร์ นอกจากได้เรียนยังได้อยู่ในสังคมกลุ่มเพื่อนที่รักการดูหนัง ได้ช่วยทำละครคณะทุกปีตั้งแต่ปีหนึ่งตั้งแต่เป็นตัวประกอบ ทำคัตเอาต์ จนถึงปีสี่ก็ได้เป็นผู้กำกับ เพราะเราทำมาตลอด รู้จักคนเขาไปทั่ว”
เพื่อนรัก…รักเพื่อน
นอกจากฝีมือที่สั่งสมจากการลงมือทำมา ฐานสำคัญในความสำเร็จของชีวิตคมกฤษก็คือกลุ่มเพื่อนๆ ที่ต่อมาจะช่วยกันปลุกปั้น “แฟนฉัน” หนังแจ้งเกิดของพวกเขาทั้ง 6 คน
“ระหว่างเรียนก็มีกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันแปดคน ถ้าคนหนึ่งลองทำหนังสั้นหรือหนังส่งอาจารย์ เพื่อนๆ ที่เหลือก็จะมาแสดงให้แล้วก็ช่วยกันดูตลอด เรียนจบใหม่ๆ ก็ไปคณะเล่นๆ อยู่ 3 เดือน ขลุกอยู่กับเพื่อน แล้วก็บวชอยู่เดือนกว่าก่อนจะรับปริญญา”
คนทำหนัง…
แม้จะจบพ้นรั้วมหาวิทยาลัยออกมาแล้ว แต่การเรียนของคมกฤษยังไม่สิ้นสุด เพียงแต่ย้ายมาอยู่ในกองถ่ายจริงของผู้กำกับระดับ นนทรีย์ นิมิบุตร
“เริ่มทำงานจากการไปเจอพี่อุ๋ย นนทรีย์ ในงานที่ผมและเพื่อนๆ ไปร่วมประกวด ‘หนังนักเรียน นักเรียนหนัง’ เลยฝากเบอร์ให้พี่อุ๋ยไว้ แล้วพี่เขาก็เรียกตัวไปช่วยงานรายการฉงนทางช่อง 9 กับรายการเพลงของรถไฟดนตรี จากนั้นได้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนัง นางนาค กับ ฟ้าทะลายโจร หน้าที่ก็คือสอนการแสดงให้ตัวประกอบ และติดต่อหาช่างแต่งหน้า หาและติดต่อสถานที่ถ่ายทำ กับงานอื่นๆ”
ทำสิ่งที่รัก…
เมื่อโปรเจกต์ใหญ่เสร็จสิ้นผ่านไป คมกฤษยังคงเดินหน้าสั่งสมผลงาน ประสบการณ์ และหาเลี้ยงชีพ ด้วยงานหนังไม่ว่าจะเป็นงานเล็กๆ ก็ตาม
“เสร็จงานผู้ช่วยผู้กำกับ ก็รับงานสารคดีของกรมทรัพยากรธรณีเกี่ยวกับแร่ธาตุ จากบทสารคดีที่เรียบๆ เราก็ใส่สีสันเรื่องราวมีตัวละครเข้าไป ออกอากาศแค่ครั้งละ 3 นาที นอกจากนี้ก็รับงานทั่วๆ ไปอย่างหนังประกอบงานเปิดตัวสินค้า งานแต่งงาน ถ่ายวันรับปริญญา หาเลี้ยงชีพกันไป”
จุดเปลี่ยน…
“จุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตอยู่ที่เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มชื่อ ปิ๊ง คนที่ตอนนี้ทำหมากเตะ ตอนนั้นเขาอยู่ช่วยงานที่สุราษฎร์มาได้ปีเต็ม ไปถูกใจเรื่องสั้น ‘อยากบอกเธอ รักครั้งแรก’ ของ วิทยา ทองอยู่ยง เพื่อนในกลุ่ม เลยเอาไปทำหนังสั้นเสนอพี่เก้ง จิระ มะลิกุล ที่เคยเป็นอาจารย์ของพวกเรามาก่อน พี่เก้งถูกใจ เลยให้มาตามเพื่อนในกลุ่มทั้งหมด ให้ทุกคนลาออกจากงานเดิมมาทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังใหญ่ มาทำงานประจำที่ GTH เลย ตามมารวมกันได้ 6 คน ก็เกิดเป็นหนัง แฟนฉัน ขึ้นมา หน้าที่หลักๆ ของผมคือดู Acting สอน Acting”
ตลาดหลักทุกวันนี้ของหนังไทยคือวัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัย ค่ายหนังใหญ่อย่าง GMM ไท หับ หรือ GTH จึงเลือกใช้ผู้กำกับกลุ่มนี้ที่นอกจากจะสั่งสมทักษะประสบการณ์มานานแล้ว ยังเข้าใจและเพิ่งผ่านวัยเดียวกับกลุ่มเป้าหมายมา
ด้วยความเป็นมือใหม่ แต่สังกัดใหญ่อย่าง GTH ก็เชื่อมั่นและให้อิสระในการสร้างสรรค์กับคนหนุ่มกลุ่มนี้ ด้วยแรงยืนยันรับรองกับ “ผู้ใหญ่” จาก “พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล บอสใหญ่คนหนึ่งที่เป็นอาจารย์เคยสอนเด็กหนุ่มกลุ่มนี้มา
“พวกเราทำงานกันแนวเดิมเหมือนสมัยเรียน แต่มีทีมมีอุปกรณ์สนับสนุนครบเต็มที่ พี่เก้งไม่เคยมาบังคับ แค่มานั่งเป็นหลักชัยให้น้องค่อยให้ถาม หลายๆ มุกเราไม่แน่ใจว่าขำมั้ย ถ้ามองไปเห็นพี่เก้งนั่งขำก็แปลว่า เฮ้ย มุกนี้โอเค ผ่าน”
“นอกจากเด็กๆ ดาราใหม่ๆ แล้ว พี่ๆ ดารารุ่นเก่าๆ ก็ใจดี ใจกว้างยอมรับการทำงานแนวของทีมพวกเราที่เป็นรุ่นน้องๆ อย่างน่าประทับใจ”
เพื่อนสนิท…
‘กล่องไปรษณีย์สีแดง’ เป็นหนังสือที่พวกเราชอบกันทั้งกลุ่ม เป็นกึ่งนิยายกึ่งสารคดีท่องเที่ยว แต่ละคนก็หมายตาคิดจะเอาเล่มนี้มาทำหนัง ผมเลยรีบคิดรีบทำเสนอได้ก่อน เลือกเอาเฉพาะเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ ตัดส่วนท่องเที่ยวออกไป เกิดเป็นหนัง ‘เพื่อนสนิท’
เคล็ดวิชา…
“วัตถุดิบในการทำหนัง มาได้จากทุกแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิยาย เรื่องสั้น ข่าวหนังสือพิมพ์ ฟังเขาคุยกัน แล้วจะมีบางอย่างที่ผมฟังแล้วจะพูดออกมาว่า ‘เฮ้ยอันนี้ทำหนังได้’ ล่าสุดที่สนใจอยู่มีสามเรื่องคือ ‘ความสุขของกะทิ’ ที่ได้ซีไรต์ครั้งล่าสุด สองคือเรื่องของหลวงพ่อที่วัดพระบาทน้ำพุ ที่รักษาผู้ป่วยเอดส์ ชีวิตของท่านน่าสนใจ สามคือเรื่องของกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมมีทุกอย่างของตัวเองครบ ยกเว้นบ้าน”
“การคัดเลือกนักแสดง เราต้องการใครก็ได้ที่เหมาะกับบท จะวิเคราะห์บุคลิกของตัวละครออกมาก่อน จากนั้นก็หาคนที่ตรง โดยไม่สนใจว่าจะดังหรือมีประสบการณ์มาก่อนเลย”
“ต้องรู้ตลอดว่าฉากนี้ ช่วงนี้ เราอยากให้คนดูรู้สึกยังไง จะให้เข้าใจตัวละครไปทางไหน แล้วมาคิดว่าจะถ่ายทอดยังไง ใช้บท ภาพ หรือสัญลักษณ์ยังไง สำคัญที่สุดต้องรักษาแก่นเรื่องเอาไว้”
“ตลอดการทำงาน ตั้งแต่เลือกเรื่อง จนถึงเสร็จออกมา เราเองต้องชอบงานของเราก่อน เพราะเราเองไม่สามารถทำให้คนอื่นชอบได้ทุกคน เราไม่รู้ว่าคนชอบอะไรจริงๆ ไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องบริหารความฝัน โดยผสมความฝันเข้ากับการตลาด ต้องนำคนดู 1 ก้าว แต่อย่าเกินนั้น เดี๋ยวคนดูตามไม่ทัน”
“ลูกเล่นประจำตัวของผมคือ ชอบให้มีตัวละครเพี้ยนๆ ขำๆ แทรกอยู่ในหนัง ช่วยเพิ่มสีสันให้กับหนัง”
เมื่อผู้กำกับไปดูหนัง…
คมกฤษยังคงเป็นขาประจำโรงหนัง คอยเฝ้าหนังโปรแกรมใหม่ๆ เหมือนสมัยเด็กๆ
“ถึงผมจะเป็นผู้กำกับหนัง แต่เวลาดูหนังคนอื่นๆ เราต้องพยายามดูให้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ต้องดูอย่างที่ให้หนังพาเราไป ดูให้สนุกเหมือนคนดูทั่วๆ ไป ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้อะไรเลยถ้ามัวแต่มานั่งดูโปรดักชั่นเขาในรายละเอียด นอกจากไม่สนุกยังไม่ได้ประโยชน์ ผมเองชอบดูทุกแนว แต่หนังผีจะชอบน้อยหน่อย”
คัต ! พักผ่อน…
เวลาว่างของคมกฤษใช้กับการอ่านหนังสือหลากหลาย นิตยสารหนังอย่างไบโอสโคป เอนเตอร์เทน สตาร์พิค และอื่นๆ ครบทุกเล่ม วันหยุดเดินตลาดนัดสวนจตุจักร ส่วนยามค่ำคืนก็สังสรรค์แทบทุกวันกับเพื่อนๆ ที่ร้านโปรด Prop Bar ย่าน RCA ด้วยความชอบดนตรีสดเยอะๆ และเฟอนิเจอร์การตกแต่งสวยงาม
คมกฤษรักและสะสมรองเท้ากีฬาแบรนด์ Onizuka Tiger มานาน คลั่งไคล้ถึงขนาดเปิดอินเทอร์เน็ตทีไรก็เข้าเว็บที่มีรูปและเรื่องของรองเท้ายี่ห้อนี้แทบทุกวัน ด้วยความหลงใหลในหน้าตา รูปทรง และความใส่สบาย พื้นบาง เดินสบายเหมือนเท้าเปล่า
Profile
Name : คมกฤษ ตรีวิมล
Age : อายุ 33 ปี
Education : ปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ