ฮัลโหลแบบ ”พอดี” “ซิคเว่ เบรคเก้”

“เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่เพียงแต่ทำให้คนไทยได้ยิน และต้องหยุดพิจารณาเท่านั้น แต่ “ซิคเว่ เบรคเก้” ในฐานะคนต่างชาติ ที่เข้ามาบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ในไทยอย่างธุรกิจโทรศัพท์มือถือในนามดีแทค ก็เข้าถึง และสามารถถ่ายทอดความเข้าใจนี้ได้อย่างน่าสนใจ โดยคำที่ ”ซิคเว่” พูดในความหมายนี้คือ Self-Sufficiency Economy

“ผมเคยได้ยินคำนี้ครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปี 1999 โดยคุณบุญชัย (เบญจรงคกุล อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค) ที่ทำโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งตอนนั้นคุณบุญชัยบอกชัดเจนว่าเป็นการเชื่อมโยงการสนองพระราชดำริของในหลวง ตามพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่ง”

สำหรับในส่วนรวมนั้น เขาเห็นว่าต้องเริ่มในกลุ่มคนที่เปิดรับความพอเพียงได้ไม่ยากนัก พัฒนาในกลุ่มคนที่สามารถมีส่วนร่วม เช่น กลุ่มชาวนาให้มีที่ดินของตัวเอง มีโรงสีตัวเอง ศูนย์จำหน่ายของกลุ่ม มีธนาคารเล็กๆ ของตัวเอง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปบอกทุกคน และบังคับทุกคนในสังคมให้ยึดหลักปฏิบัตินี้

หลายคนที่ยังสับสนอยู่ว่าหลักการนี้มีแนวปฏิบัติว่าต้องหยุดใช้ของแพงหรือไม่

“ซิคเว่” ให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่าอยู่ที่ความ ”พอดี” เป็นพื้นฐานของการใช้ทุกอย่าง ที่จะไม่ใช้อะไรจะมากเกินจริง แต่ก็เป็นเรื่องมาตรฐานของแต่ละคน แต่ละภาคส่วน ที่แบ่งได้ 2 ส่วน คือ

ในแง่ของแต่ละบุคคล เป็นการให้ประชาชนรับผิดชอบต่อเงินของตัวเอง ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น บางคนใช้เงินที่ตัวเองมีอยู่ แต่บางคนเลือกที่จะกู้เงินจากธนาคาร ก็ส่งผลให้ตัวเองเป็นหนี้ ให้คนรับผิดชอบตัวเอง ทำให้คนพยายามดูแลรับผิดชอบตัวเอง หาจุดสมดุลให้กับตัวเอง

ในแง่ของธุรกิจ แน่นอนเน้นเรื่องการมีรายได้ กำไร แต่ไม่ใช่นึกถึงเพียงแต่รายได้สูงสุด แต่ต้องนึกถึงการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

การมีส่วนร่วมของดีแทคเพื่อสังคมนั้น “ซิคเว่” บอกว่าได้ทำ 2 โครงการ ตั้งแต่ปี 1998 ใน ”โครงการสำนึกรักบ้านเกิด” ที่ให้ทุนกับนักเรียน เรียนจนจบ แล้วกลับบ้านเกิด เพื่อพัฒนาท้องถิ่น และโครงการขุดบ่อปลาให้ช่วยตัวเองได้

ดีแทคใช้งบปีละ 60 ล้านบาท สำหรับโครงการสำนึกรักบ้านเกิด ในการให้ทุนนักเรียน
มีหนังโฆษณาเกี่ยวกับสำนึกรักบ้านเกิด 10 เรื่อง ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และกำลังจะมีเรื่องที่ 11 ในปีนี้ เป็นหนังโฆษณาที่ไม่ได้เน้นสินค้า และบริการ แต่เน้นเรื่องสังคม ซึ่งแน่นอนเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกขององค์กร ตอกย้ำว่าดีแทคสำนึกในการดูแลสังคม

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีแทคต้องทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากความปรารถนาดีของคุณบุญชัย ที่ต้องการให้ทำโครงการอย่างต่อเนื่อง มีการระบุไว้ในเงื่อนไขที่คุณบุญชัยขายหุ้นให้กลุ่มเทเลนอร์ด้วยว่าต้องทำต่อ เพราะก่อนที่คุณบุญชัยตกลง ก็ให้สัญญาด้วยว่าต้องทำโครงการสำนึกรักบ้านเกิดต่อไป”

การดำเนินการในโครงการนี้ ”ซิคเว่” บอกว่า ใช้หลักการเช่นเดียวกับสุภาษิตบทหนึ่งของจีนที่กล่าวไว้ว่า หากต้องการช่วยเหลือคน ไม่ใช่แค่ให้ปลา ให้อาหารเขาเท่านั้น แต่ควรสอนวิธีตกปลาให้เขาด้วย

แต่ในเมื่อธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่เราคุ้นเคยต่างเน้นในเรื่องการจูงใจให้คนโทรกันมากๆ แล้วจะสร้างความ ”พอดี” ได้อย่างไร

“ซิคเว่” ไม่ตอบคำถามเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่ให้ความเห็นว่า ในบรรดาโปรโมชั่นมือถือที่ท่วมท้นอยู่ในตลาดเวลานี้มีเพียงโปรโมชั่น 2 อย่าง ที่ “ ตรงกันข้าม” ความ ”พอเพียง” ก็คือโปรแกรม “บุฟเฟ่ต์ และโปรแกรมที่จ่ายค่าโทรเป็นครั้ง และโทรได้นาน เช่นครั้งละ 1 บาท หรือ 2 บาท

ส่วนตัวเขา มีความเห็นว่า “โทรศัพท์ไม่จำเป็นต้องใช้มากเกินไป เพราะไม่ดีต่อผู้ใช้บริการ และไม่ดีต่อบริษัทผู้ให้บริการเอง เพราะฉะนั้นผู้ให้บริการเอง ซึ่งรวมทั้งดีแทค ต้องคิดว่า ไม่ควรออกโปรโมชั่น ให้มีการใช้โทรศัพท์มากเกินความจำเป็น แบบ Overuse หรือมากไปกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลไปถึงการโฆษณา ไม่ให้สื่อออกมาให้คนใช้สินค้าในรูปแบบที่ผิดๆ อย่างโฆษณาโทรศัพท์มือถือที่เห็นในปัจจุบันจะมุ่งไปที่การสร้างไลฟ์สไตล์ของคน สร้างภาพโทรศัพท์มือถือให้เป็นมากกว่าอุปกรณ์สื่อสาร เป็นการบ่งบอกตัวตนของผู้ใช้ แต่ความจริงก็คือว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารเท่านั้น”

แต่แนวคิดของเขาก็อาจไม่ปลอดภัยนักสำหรับการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เพราะเมื่อธุรกิจคือการแข่งขัน จะเป็นไปได้หรือที่ดีแทคยอมคิดและทำฝ่ายเดียวไม่ออกโปรโมชั่นมาแข่งขัน หากคู่แข่งดัมพ์ราคา

“ความพอเพียงคงไม่สามารถทำได้ โดยใช้กฎหมาย หรือระเบียบอะไรมาบังคับ ต้องเกิดจากความสำนึก และความตระหนักของคน

การทำธุรกิจโดยมีกำไร ไม่จำเป็นต้องหมายความเป็นคนเลวร้าย แต่ต้องเป็นคนไม่โลภมาก สำหรับดีแทคในระยะยาว อยากเป็นบริษัทที่มีภาพลักษณ์ของ ”คนดี” อยู่กับผู้ใช้บริการนานๆ เราต้องตระหนักว่าธุรกิจเราเกี่ยวข้องกับคน และมีอิทธิพลกับคนจำนวนมาก

ส่วนความ ”พอดี” ของการใช้โทรศัพท์มือถือคือแบบไหนนั้น แน่นอน “ซิคเว่” ไม่สามารถบอกได้ว่าโทรเท่าไหร่ ถึงพอดี แต่มีข้อมูลจากเขาที่น่าสนใจ

“เชื่อหรือไม่ว่า 60% ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่เคยปิดโทรศัพท์เลย และคนส่วนใหญ่ไม่เคยอยู่ห่างจากเครื่องโทรศัพท์เกิน 5 เมตร แสดงให้เห็นว่าโทรศัพท์สำคัญต่อชีวิตของผู้คนมาก โดยส่วนตัวผมแล้วบางครั้งก็ปิดโทรศัพท์ หรือบางทีก็วางไว้เฉย ๆ ไม่ได้อยู่ติดกับโทรศัพท์ตลอดเวลา เพราะไม่อยากให้เกิดการใช้มากเกินไป ไม่ตกเป็นทาสของโทรศัพท์ เทคโนโลยีควรมีไว้สร้างความสะดวกสบาย ไม่ใช่ทำให้คนเป็นทาสของเทคโนโลยี”

แล้วคุณล่ะ ความ ”พอดี” ของตัวเองอยู่ตรงไหน

โฆษณา “พอดี”

หนังโฆษณาชุดใช้มือถืออย่างพอดี…เชื่อในความพอดี ที่ “ซิคเว่” ยกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ไม่จำเป็นเสมือที่ต้องไปกระตุ้นให้คนใช้โทรศัพท์มือถือมากๆ แต่เพื่อให้คนหันมาให้ความสนใจกับคนรอบข้างมากขึ้น

Profile

“ซิคเว่ เบรคเก้” ในฐานะผู้แทนของบริษัทเทเลนอร์ จากนอร์เวย์ เข้ามาเป็นผู้บริหารของดีแทค หลังจากที่เทเลนอร์ได้เข้าถือหุ้นในดีแทค ตั้งแต่ปี 2543 หลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ซึ่งคนไทยจะคุ้นเคยและเรียกชื่อเขาว่า ”ซิคเว่” เขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการของดีแทค จนถึงปัจจุบัน เขาจบการศึกษาระดับปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จาก John F Kenedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ของนอร์เวย์ เมื่อปี 2536-2539