ชัตเตอร์ กดติด แบงก์ "กฤษฎา ล่ำซำ"

ถ้าเป็นสุภาษิตฝรั่งแล้ว วัย 42 ปี ต้องเรียกว่า ชีวิตยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่สำหรับ “กฤษฎา ล่ำซำ” แล้ว ประสบการณ์ที่ถูกบ่มเพาะมา 16 ปีเต็ม ทำให้นายแบงก์ที่เต็มไปด้วยความสุนทรีย์ในงานถ่ายรูป กลายกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการบุกธุรกิจรีเทล ของธนาคารกสิกรไทย

“กฤษฎา” หรือคนคุ้นเคยเรียกชื่อเล่นของเขาว่า ”อ๋อ” เป็นทายาทตระกูลล่ำซำ บุตรชาย”ไพโรจน์ และท่านผู้หญิงอรสา ล่ำซำ” และหากไล่เรียงแล้ว “กฤษฎา” เป็นลูกพี่ลูกน้องของ ”บัณฑูร ล่ำซำ” แม่ทัพใหญ่คนปัจจุบันของ KBANK หรือธนาคารกสิกรไทย

ตลอดเวลาของการบอกเล่าเรื่องราวผลการทำงาน ”กฤษฎา” ย้ำว่าทั้งหมดมาจากนโยบายที่ชัดเจน และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของผู้บริหารของแบงก์ และที่สำคัญคือการร่วมมือร่วมใจกันของทีมงาน K hero ทุกคน

นับตั้งแต่ย่างก้าวเข้าสู่อาณาจักรแบงก์รวงข้าว เมื่อปี 2534 จนถึงวันนี้นานเกือบ 16 ปี ผ่านงานที่แตกต่างกันของแบงก์แล้ว 3 ส่วน ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ที่ถือเป็นการพิสูจน์ความสามารถของเขาเป็นอย่างดี

หลังกลับจากอเมริกา ก็เริ่มต้นทำงานด้านซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ที่สำนักบริหารเงิน นาน 6 ปี รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารเงิน ช่วงปี 2541 ซึ่งเป็นเวลาวิกฤตเศรษฐกิจ ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องเครดิต ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายควบคุม งานเครดิตและหลักประกัน ปีถัดมายังเพิ่มตำแหน่งเป็นผู้ร่วมบริหารฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้ ท่ามกลางภาวะที่ลูกหนี้ของแบงก์ระส่ำระสายจากนโยบายลอยตัวค่าเงินบาท ที่รัฐบาลประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 จนส่งผลให้แบงก์มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลมากมาย

จังหวะนี้ที่ ”กฤษฎา” บอกว่า ”ทำให้มีโอกาสได้ทำงานกับคนหมู่มาก ขยายขอบเขตการทำงานไปได้สัมผัสกับทีมงานของเราในพื้นที่เยอะ ดูแลทีมงานในภาคสนาม ได้รู้จักองค์กรมากขึ้น ได้รู้จักทีมงาน ที่รวมไปถึงรู้จักระดับส่วนตัว ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันทำงาน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์น่าสนใจ”

จากการได้เข้าถึงใจของทีมงาน ทำให้เขาค้นพบว่าการบริหารเป็นเรื่องของคน เมื่อได้นั่งคุยกับพนักงานรู้ความรู้สึก สัมผัสประสบการณ์ของพนักงาน จะทำให้เข้าใจได้ว่า ควรจะดำเนินแผนงานอย่างไร

“คนที่กำหนดทิศทาง ในการทำอะไรสักอย่าง ไม่ควรนั่งอยู่ข้างบน ซึ่งไม่ให้อะไรเลย เพราะถ้าไม่รู้ความเป็นจริง ก็อาจกำหนดแนวทางธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้”

ประสบการณ์ในการสัมผัสทีมงานจำนวนมากขึ้น ต่อยอดให้หน้าที่ต่อมาที่ต้องรับผิดชอบรีเทล แบงกิ้ง จึงไม่อยู่นอกเหนือความสามารถของ ”กฤษฎา” ท่ามกลางสถานการณ์ของธุรกิจธนาคารที่เปลี่ยนแปลงไป หลังวิกฤตเศรษฐกิจที่การแข่งขันรุนแรงขึ้นทั้งในแง่ของการบริการ และการสร้างสถานะของแบงก์ให้เติบโต ขณะที่ไม่เพียงแต่ธนาคารของไทยเท่านั้นที่เป็นผู้เล่นในตลาด แต่ยังมีธนาคารต่างชาติที่เข้ามาลงสนามมากขึ้น

“ผมคิดว่า Banking คือ Service Industry คือธุรกิจบริการ ทำยังไงให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า สามารถให้บริการได้สอดคล้องกับความต้องการนั้นๆ บางทีต้องอ่านให้เกินจากความต้องการของเขา เดาว่าจริงๆ แล้ว บางทีอาจมีความต้องการที่ไม่ได้บอกมาด้วยซ้ำ”

ส่วนวิธีการค้นหาความต้องการของลูกค้านั้นมีวิธีที่บอกได้อย่างสั้นๆ จากเขา คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา และการวิจัยข้อมูลซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เพื่อเข้าถึงเป้าหมายของ K Group ที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกความต้องการ เป็น Solution ที่ไม่ว่าจะต้องการอะไร สอดแทรกได้ทุกมุม ทุกจุด สามารถให้บริการ และมอบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้ลูกค้าได้อย่างคงเส้นคงวา

เหมือนอย่างบริการรีเทลแบงกิ้งของ KBANK กำลังเดินทางมาถึงจุดแตกต่างจากบริการของแบงก์อื่นๆ ในขณะนี้ด้วยบริการ K M Alert

“คนอยากมีบัตรเครดิต ทุกธนาคารมีให้บริการ Value added แต่ละบัตรให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า แต่ KBANK มีความคิดว่าผู้ถือบัตร Concern อย่างอื่นหรือเปล่า เขามีความกังวลมีความไม่สบายใจในการใช้บัตรหรือเปล่า คาดการณ์ให้ออกว่าเขามีความกังวลอะไรหรือเปล่า อย่าง K M Alert แม้มองดูแล้วมันเป็น Complimentary Service to Product แต่มันก็ Identify ความต้องการลูกค้าในมุมที่จะ Cover ความไม่สบายใจของเขา ยังรวมไปถึงบัตรเดบิต และโอนเงิน

ตอบโจทย์ของ Consumer มุมที่สำคัญคือ Total Solution ลงไปใน Platform ที่มี คือสาขาที่มีอยู่ Internet Banking ตู้เอทีเอ็ม เราต้องการ Cover ความต้องการของเขาให้ครบ เสริมไปด้วย Complimentary Service ต่างๆ แล้วมอบลงไปผ่าน Channel อย่างมีประสิทธิภาพ”

กว่า 1 ชั่วโมงกับเรื่องงานล้วนๆ กับ ”กฤษฎา ล่ำซำ” ที่เห็นได้ชัดถึงความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็น และการให้สัมภาษณ์ ในแบบฉบับค่อนข้างจริงจัง แม้จะสลับไปมาบ้างกับอารมณ์ผ่อนคลาย แต่สถิติของความจริงจังก็มีมากกว่า

เมื่อพูดถึงเรื่องไลฟ์สไตล์แล้ว ”กฤษฎา” ก็ไม่ค่อยอยากเปิดเผยโลกส่วนตัวเท่าไรนัก บอกได้เท่าที่อยากบอกเท่านั้น

“เสื้อผมนะเหรอ เป็นคนไม่ติดแบรนด์เนมนะ อย่างเสื้อเชิ้ตใส่ทำงานที่แบงก์ ก็เป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว ตัดจากร้านแถวสุรวงศ์ ตัดมานานแล้ว อาจเป็นเพราะรูปร่างเราไม่ Standard และตัดมาแล้วก็พอดี ราคาสมเหตุสมผล ไม่ต้องไปแก้ไขอีก ไม่แพงด้วย คุ้มจะตาย เนกไท ก็ซื้อเองบ้าง คนอื่นซื้อให้บ้าง แล้วแต่ชอบ อยู่ที่ดูแล้ว Match กับเรา ก็ใช้ได้

เราอยู่แบงก์กสิกรฯเราต้องเสื้อสีขาว กำหนดมาตั้งนานแล้ว 60 ปี เป็นระเบียบที่ดี ทำให้พนักงานมีระเบียบวินัย ช่วยพวกเรา Cost Saving ไม่ต้องกังวลว่าจะใส่สีซ้ำหรือไม่ซ้ำ”

ปิดท้ายกับเรื่องราวที่อยากจะบอกว่าน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยให้”กฤษฎา” ที่มีมาดเข้ม ยิ้มกว้างและดูผ่อนคลายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเขาพูดถึงกิจกรรมโปรดปราน คือการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว

“ทุกอย่างที่เป็นเทคโนโลยีผมก็ติดพอควร ผมชอบเล่นกล้อง “พูดพร้อมกับพิสูจน์ให้เห็นด้วยการชี้ไปที่กล้องของช่างภาพ POSITIONING แล้วบอกว่า ”นี่ 70 200 2.8” ใช่มั้ย ผมเห็นปั๊บ ผมก็รู้ ผมชอบถ่ายรูป ผมก็สนใจเทคโนโลยี แต่ก่อนผมก็เล่นตั้งแต่ยังเป็นฟิล์ม แต่ไม่ได้ยึดติดว่าเล่นฟิล์มจนฟิล์มตาย ผมก็ให้ความสนใจ ก็ทำความเข้าใจมัน“

เข้าไปในโลกส่วนตัวของ ”กฤษฎา” มากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งทำให้ค้นพบว่าการพยายามเข้าถึง”คน” คือสิ่งที่เขาเป็นได้อย่างดี

“ผมชอบถ่าย Portrait เวลาถ่ายจะถูกถามว่าแล้วจะให้ Post ยังไง เก๊กยังไง ผมก็บอกว่าเป็นตัวของตัวเอง ผมไม่มีท่าจะบอกว่าให้เอียงเท่า เอียงซ้าย เอียงขวา ผมจะบอกว่าให้เป็นตัวของตัวเอง ถ้าให้เก๊กจะไม่สะท้อนความเป็นคนคนนั้นออกมา ต่างกันถ้าผมชอบถ่าย Fashion มันจะไม่สะท้อนความเป็นตัวเขา เพราะเขาต้อง Post ต้อง Dress up”

สุดท้ายความสุนทรีย์จากงานถ่ายภาพ หนึ่งในความสุขของ ”กฤษฎา” นั้น เขาบอกว่า ”เมื่อได้ภาพของคนนั้นออกมาแล้ว เอาไปให้เขาดู บางคนบอกชอบจังเลย บางคน Upset ว่าถ่ายออกมาได้ยังไง ดูภาพตัวเองแล้วรูปนี้ฉันหล่อ สวย หรือน่าเกลียดจังเลย บางคนก็แค่อ๋อ! ฉันเป็นอย่างงี้เหรอ นี่แหล่ะคือฉัน ก็เท่านั้น”

และนี่แหละคือ ”กฤษฎา ล่ำซำ” ในแบบฉบับที่ไม่ขอ Post ไม่ขอเก๊ก บนหน้าบันทึกของกลุ่ม “Young Executive” ปี 2006

Profile

Name : กฤษฎา ล่ำซำ (อ๋อ)
Age: 42 ปี
Education :
-St. John Fisher College, BS
– Master of Arts, Oregon State University, U.S.A.
Career Highlights :
พ.ศ. 2534 เริ่มงานที่ธนาคารกสิกรไทย ที่สำนักบริหารเงิน
พ.ศ. 2540 ผู้อำนวยการสำนักบริหารเงิน
พ.ศ. 2541 ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมงานเครดิตและหลักประกัน
พ.ศ. 2542 ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมงานเครดิตและหลักประกัน และผู้ร่วมบริหารฝ่ายปรับโครงสร้างหนี้
พ.ศ. 2544 ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
พ.ศ. 2549 รองกรรมการผู้จัดการ
Status : โสด
Life Style :
กีฬา-กอล์ฟ
เสื้อผ้า-เชิ้ตทำงานสีขาว สั่งตัดที่ร้านประจำบริเวณถนนสุรวงศ์
งานอดิเรก-ถ่ายภาพ
รถยนต์-นิยมรถเอนกประสงค์ ปัจจุบันใช้รถประจำตำแหน่ง โตโยต้าHarrier
โทรศัพท์มือถือ-โซนี่ อีริคสัน M600i