ปกป้อง จันวิทย์"นักคิดกระแสรอง"

“ผมไม่เคยทำงานอะไรที่ไม่อยากทำ ทำงานด้วยความสนุก ไม่ทุกข์”

“ผมชอบอ่านหนังสือ สนใจการเมืองและสังคม รักอิสระ ชอบวิพากษ์วิจารณ์” ปกป้อง จันวิทย์ กล่าวถึงบุคลิกตัวเองด้วยสีหน้ามุ่งมั่นแต่ผ่อนคลาย ตามสไตล์อาจารย์หนุ่มอายุ 29 ปี แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เจ้าของงานเขียนประจำในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อปี 2545 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจตั้งแต่ปลายปี 2546 ถึงปัจจุบัน จนมาถึง Open

และล่าสุดในฐานะบรรณาธิการ onopen.com หรือ Open Online สื่อทางเลือกที่รวบรวมความคิดของนักคิดนักเขียนหลายแวดวง และเป็นตัวของตัวเอง

งานของปกป้องจากแหล่งต่างๆ ถูกรวมไปแล้ว 2 เล่ม คือ “คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ” ที่แค่ชื่อหนังสือก็สวนทางกับทฤษฎีเบื้องต้นทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลักแล้ว และ “Blog Blog” ผลงานเล่มต่อมา ที่รวมจากบล็อกที่ปกป้องเขียนเป็นไดอารี่รวมมุมมองส่วนตัวต่อเรื่องต่างๆ ไว้

ตลอดการพูดคุยกับ POSITIONING ปกป้องสลับเสียงหัวเราะและมุกตลกกวนๆ ไปกับสีหน้าจริงจังในประเด็นหนักๆ ได้อย่างมีจังหวะจะโคนน่าติดตาม

เส้นทางวิชาการ…

เส้นทางการค้นหาตัวเองของ ปกป้อง จันวิทย์ เริ่มต้นย้อนไปเมื่อ 17 ปีก่อน ในปี พ.ศ. 2532 เมื่อเขาได้เป็นพิธีกรทั้งในห้องส่งและภาคสนามของรายการเด็กเน้นสาระ “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” ซึ่งโด่งดังทางช่องสาม เขาทำงานด้วยความรักในงานอยู่ถึง 5 ปี ตั้งแต่ ป.6 ถึง ม.4

“การทำงานในรายการจิ๋วแจ๋วเจาะโลกฝึกผมให้กล้าแสดงออก ฝึกการพูดต่อหน้าสาธารณชน การตั้งคำถาม จับประเด็น และวินัยในการแบ่งเวลา” และแม้จะได้คร่ำหวอดในงานทีวีแต่เด็ก แต่ความสนใจของปกป้องก็ยังอยู่ที่การเมือง ไม่ใช่งานสายนิเทศศาสตร์อย่างที่นิยมกันมากในยุคนั้น

“จิ๋วแจ๋วฯ ไม่ใช่รายการบันเทิง แต่เป็นรายการข่าวเด็ก สนใจประเด็นการศึกษา ปัญหาสังคม ได้สัมภาษณ์ผู้คนหลายวงการ รวมถึงแวดวงการเมือง”

เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ปกป้องสนใจติดตามหาความรู้การเมืองแบบจริงจัง คือ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เวลานั้น เขากำลังจะขึ้นชั้นมัธยม 3 “หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองมาก แต่มีเล่มหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ผมสนใจเศรษฐศาสตร์ อ่านแล้วตื่นเต้น คือหนังสือ ‘อนิจลักษณะของการเมืองไทย : เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมือง’ ของอาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์”

“หนังสือเล่มนั้นใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อธิบายการเมืองไทย ทำให้ผมเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ใหม่ และอยากเรียนเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่นั้นมา” ปกป้องเผยถึงแรงดลใจจากหนังสือของอาจารย์ชื่อดังแห่งธรรมศาสตร์ที่มีผลงานการวิเคราะห์ทุกเรื่องตั้งแต่การเมือง วัฒนธรรม แม้แต่ฟุตบอล ด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ทำให้คณะนี้เป็นเป้าหมายในการเข้ามหาวิทยาลัยในอีกไม่กี่ปีถัดมา

วันหนึ่งบทสัมภาษณ์ของปกป้องที่ว่ามีความมุ่งมั่นอยากเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์เป็นอันดับหนึ่ง ไปเข้าตาอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ คณบดีเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในสมัยนั้น อ.วรากรณ์จึงเขียนจดหมายไปคุยกับปกป้อง และชวนมาพูดคุยถึงคณะ ต่อมาปกป้องก็สอบเอนทรานซ์ตามระบบเข้าคณะในฝันแห่งนี้ได้สำเร็จ ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนระหว่างปี 3 และปี 4 ปกป้องมีโอกาสฝึกงานในตึกไทยคู่ฟ้า ตามคำชวนของอาจารย์วรากรณ์ ซึ่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในปี 2541

“การได้ฝึกงานที่ทำเนียบฯ ทำให้ผมเลิกความตั้งใจที่จะเป็นนักการเมือง กลับคิดว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมีประโยชน์กว่า” ปกป้องย้อนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสความเป็นจริงในโลกการเมือง จนความใฝ่ฝันดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป “สมัยเด็ก ผมเคยคิดว่าการเปลี่ยนประเทศเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้นต้องเริ่มจากเป็นผู้มีอำนาจแล้วเปลี่ยนแปลงลงไป แต่ต่อมาผมพบว่ามันผิด การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นขึ้นจากประชาชน จากฐานล่างขึ้นมา จึงจะได้ผลและยั่งยืน”

“ผมได้พบว่าการเป็นนักการเมืองทำอะไรได้น้อย โดยเฉพาะคนอย่างผม”

“คนอย่างผม” ที่ปกป้องพูดนี้ ถูกขยายความว่า “ไม่มีเงินทอง ชอบอิสระ สั่งไม่ได้ถ้าไม่มีเหตุผล พูดตรง ชอบวิจารณ์ผู้มีอำนาจ ผมไม่มีจริตและลีลาที่จะเป็นนักการเมืองได้” ปกป้องสรุป

เป้าหมายของปกป้องจากนั้นมาจึงชัดเจนหนึ่งเดียวคือการเป็นอาจารย์นักวิชาการ “ผมชอบสอนมาตั้งแต่เด็กเช่นติวน้องๆ พอเรียนธรรมศาสตร์ ก็เปิดห้องติววิชาหลักเศรษฐศาสตร์ให้เพื่อนๆ มาตลอด และยังชอบอ่านหนังสือ ชอบคิด ชอบวิจารณ์ ชอบทำงานอิสระ ไม่มีเจ้านาย ดูแล้ว งานอาจารย์คงเหมาะที่สุด”

ปกป้องจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง หลังจบปริญญาตรีก็เข้าทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้ 1 เทอม แล้วสอบเข้าเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ได้ทุนเรียนต่อปริญญาโท (ด้วยทุนฟุลไบรท์) และเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ University of Massachusetts Amherst สถาบันศึกษาเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหนึ่งในไม่กี่แห่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอส่งวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาเอกอยู่

ท่ามกลางการสอน “เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก” ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ และมุ่งเน้นรูปแบบคณิตศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ ปกป้องไม่ได้มองข้ามความสำคัญของสมการและโมเดลต่างๆ แต่เขาเชื่อในหลักที่สำคัญกว่านั้น

“พัฒนาการของวิชาเศรษฐศาสตร์ในช่วงหลัง ลดทอนความเป็นสังคมศาสตร์ในวิชาการเศรษฐศาสตร์ลง ปัจจัยทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ถูกละเลยในการวิเคราะห์ เศรษฐศาสตร์มีความเป็นเทคนิคสูงขึ้น จนกันสังคมออกไปจากการเข้าถึง นับวันสังคมยิ่งตรวจสอบและเข้าใจนักเศรษฐศาสตร์ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ควรสนุกกับแบบฝึกหัดทางสติปัญญาเสียจนลืมไปว่า เป้าหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์คืออะไร เพื่ออะไร และเราควรตระหนักถึงความจำกัดของโมเดลเศรษฐศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ข้อสมมติให้มากขึ้น ไม่ใช่มองมันเป็นความจริงแท้”

เทอมนี้ปกป้องสอนวิชาเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศขั้นสูงของนักศึกษาปริญญาตรี ที่ปกป้องย้ำว่าเขาพยายามสอนด้วยการตั้งคำถาม ฝึกให้นักศึกษาคิดเป็น วิพากษ์เป็น เขียนเป็น และท้าทายความเชื่อที่ว่าอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) เช่น การเปิดเสรีทางการเงิน คือคำตอบสุดท้ายของเศรษฐกิจโลก

On Open…

นิตยสาร Open เมื่อครั้งยังเป็นรูปแบบเล่ม เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ปกป้องเคยใช้แสดงมุมมองทางวิชาการของตัวเองตลอดมา แต่เมื่อนิตยสารต้องปิดตัวลงไปเหลือเพียงสำนักพิมพ์ openbooks ก็เป็นปกป้องที่ร่วมกับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการ OPEN “ทำคลอด” onopen.com มาแทนนิตยสารเดิมตั้งแต่ตุลาคม 2548

เขากับภิญโญเป็นผู้คิดวางรูปแบบ เนื้อหา รวมถึงหน้าตาเว็บ ปกป้องรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ Open Online เป็นตัวกลางประสานและเลือกสรรคอลัมนิสต์ จัดหาต้นฉบับ ตรวจแก้ต้นฉบับ และส่งเรื่องใหม่ๆจากต้นฉบับที่ไล่ทวงขึ้นเว็บอย่างสม่ำเสมอแทบทุกวัน โดยมี กิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ จากทีมประจำของ Open เป็นผู้ช่วย

“ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกในชุมชน Open จะเป็นเสียงส่วนน้อย กระแสรอง ของหลายๆ วงการมารวมกัน ลีลาการเขียนมีทั้งโฉบเฉี่ยว ตรงไปตรงมา กวนๆ ช่างคิด ต่างก็เป็นมืออาชีพที่รอบรู้ในสิ่งที่ตัวเขียน และมีเสน่ห์” ปกป้องอธิบายถึง Positioning ของเว็บ Open Online ซึ่ง “มีเนื้อหาหลากหลาย อันเกิดจากภูมิหลัง อาชีพ บุคลิก ทัศนะ ของนักเขียนที่แตกต่างกัน กระนั้นก็มีจุดร่วมบางอย่างที่เหมือนกัน”

“คอลัมนิสต์ในชุมชน Open ล้วนใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีขึ้น มีจิตใจสาธารณะ และพยายามลงมือเปลี่ยนแปลงสังคมตามอัตภาพ ชอบวิพากษ์ ตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ และพยายามแสวงหาโลกภายในของตัวเอง” ปกป้องเล่าถึงนักคิดนักเขียนในชุมชน Open

นักเขียนสองกลุ่มของ onopen.com ประกอบด้วยกลุ่มนักวิชาการนักเขียนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ปกป้องชวนมาเมื่อก่อตั้งเว็บใหม่ๆ กับกลุ่มนักคิดนักเขียนรุ่นกลางและรุ่นใหญ่ใน Open เดิมสมัยเป็นเล่ม ที่กลับมา “ร่วมสนุก” กันอีกครั้ง

“Open Online เป็นงานอาสาสมัครที่ทุกคนมาช่วยกันลงแขก เขียนฟรี ทำฟรีกันหมด ทำกันเอามัน เราอยากสร้างชุมชนที่เป็นสื่อทางเลือกเล็กๆ สนุกที่จะเขียน ถ่ายทอดความคิดโดยเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่ ไม่ต้องสนอำนาจทุนหรืออำนาจการเมือง” ปกป้องเผยถึงงานการเป็นบรรณาธิการ Open Online ใน onopen.com “ทุกคนทำงานด้วยใจรัก และจะมีรายได้ก็ต่อเมื่อนำต้นฉบับมารวมเล่ม ซึ่งถ้าเผลอขายได้สัก 2 พันเล่มก็ดีใจกันสุดขีดแล้ว”

ปัจจุบัน onopen.com มีจำนวนผู้เข้าชมนับจาก UIP (unique visitor) ถึงราววันละ 1 พันกว่าคนอย่างสม่ำเสมอ ปกป้องเล่าว่า “เว็บเราอัพเดตบทความใหม่แทบทุกวัน ความที่เป็นสื่อออนไลน์ก็สามารถบริหารต้นฉบับได้รวดเร็ว เช่น พอรู้ผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มอบให้กับยูนุสและธนาคารกรามีน (ธนาคารคนจนในบังกลาเทศ) เราก็นำบทความที่เคยลงคอลัมน์ ‘คนชายขอบ’ ของ สฤณี อาชวานันทกุล มาลงอีกทันทีหลังประกาศผลไม่กี่ชั่วโมง”

Onopen.com ไม่เปิดให้ผู้อ่านพิมพ์ความเห็นท้ายข่าว หากผู้อ่านต้องการแสดงความคิดเห็นก็ต้องเขียนเป็นจดหมายหรือบทความมา ด้วยเหตุผลว่า “คุณภิญโญกับผมอยากให้ที่นี่เป็นเหมือนห้องสมุด ไม่ใช่สภากาแฟ เรามีสภากาแฟมากพอแล้ว แต่ยังขาดแคลนห้องสมุด ในห้องสมุดต่างคนต่างอ่านเงียบๆ ครุ่นคิดไปกับตัวหนังสือที่อ่าน ไม่ต้องโหวกเหวกโวยวาย วัฒนธรรมเว็บบอร์ดทุกวันนี้ยังชุ่ย ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล เอามันมากกว่าสาระ ขาดความรับผิดชอบ ผมไม่รู้สึกสนุกที่จะทำ”

ชีวิตกับงาน…

“เวลาจะทำงานอะไร ผมต้องตอบตัวเองให้ได้ ว่าทำไปเพื่ออะไร ทุกวันนี้ผมก็พยายามเปลี่ยนสังคมนี้ให้ดีขึ้นตามเรี่ยวแรงที่มี ผลิตสื่อทางเลือกที่สร้างองค์ความรู้ให้สังคม สอนนักศึกษาให้รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และมีจิตใจสาธารณะ ซึ่งอาจารย์วรากรณ์สอนผมด้วยการกระทำตลอดมา”

ปกป้องเผยถึงปรัชญาในการทำงาน ที่ควบคู่ไปกับหลักการใช้ชีวิตที่ว่า “ผมจะไม่ทำงานที่ไม่อยากทำ แต่จะทำงานด้วยความสนุก การเป็นอาจารย์หรือเป็น บ.ก. Open Online มันถูกจริตผม ผมสนุก เลยไม่รู้สึกว่าเป็นการทำงาน แต่เป็นการใช้ชีวิต มาทำงานที่คณะก็เหมือนมาบ้านอีกหลังหนึ่ง ทำ Open ก็เป็นงานอดิเรกที่เรารัก”

Lifestyle…

ยามว่าง ปกป้องชอบสำรวจร้านหนังสือ มองหาหนังสือใหม่ๆ ตามนิสัยนักอ่านตัวยง รวมถึงแอบสังเกตชั้นวางของแต่ละร้านว่าหนังสือของ Openbooks มีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร ร้านหนังสือโปรดของปกป้องคือ ร้าน BookClub ที่เซ็นทรัลลาดพร้าวใกล้บ้าน, ร้าน Kinokuniya สยามพารากอน ศูนย์หนังสือจุฬาย่านสยาม และร้านนายอินทร์ท่าพระจันทร์ซึ่งใกล้ที่ทำงาน

ส่วนสถานที่ประจำที่ใช้พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ อาจารย์ และชุมชนนักเขียนของ Open คือร้านอาหารเล็กๆ ตกแต่งสวยงามเป็นร้านแรกๆ บนถนนพระอาทิตย์ ร้าน Hemlock แห่งนี้เป็นที่ตั้งวงพบปะของเหล่านักวิชาการธรรมศาสตร์เป็นประจำมาช้านาน

“สำนักหลังเขาของผม”
ตัวตนของนักวิชาการคนหนึ่ง อาจสะท้อนได้ผ่านการเลือกที่เรียน ซึ่ง “Amherst” ที่ปกป้องเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์การเมืองนี้มีจุดเด่นเฉพาะตัวน่าสนใจ

rdon Hall เป็นชื่อของตึกหนึ่งในคณะ ที่ห้องโถงใหญ่ชั้นล่างมีแผ่นเหล็กจารึกชื่อ “ทุกคน” ที่เกี่ยวข้องในการสร้างตึกนี้ขึ้นมา ซึ่งทุกคนที่ว่านี้ มีทั้งช่างก่อสร้างและแรงงานส่วนต่างๆ ทุกระดับ ซึ่งปกป้องเล่าด้วยความประทับใจไว้ในบล็อกส่วนตัว pinporamet.blogspot.com ว่า

“ถ้าเป็นที่เมืองไทย เราคงเห็นชื่อของผู้บริจาคเงินรายใหญ่ และชื่อผู้บริหารองค์กรในขณะนั้นอยู่ในแผ่นจารึกชื่อ

แต่แผ่นจารึกชื่อใน Gordon Hall มีรายชื่อของทุกคน ไม่ว่าคนงานก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างไฟ ช่างทาสี ฯลฯ ไปจนถึงคนออกแบบ วิศวกร ผู้บริหาร ฯลฯ อย่างเท่าเทียมกัน เรียงตามลำดับตัวอักษรของส่วนงาน ไม่ใช่ชื่อผู้บริหารตัวใหญ่โตและอยู่หน้าสุด ส่วนคนงานไว้ท้าย”

“ในชีวิตของผม เพิ่งเคยเห็นการจารึกชื่อคนงานทุกคนอย่างเป็นทางการบนผนังตึกเป็นครั้งแรก ซึ่งก็คู่ควร เพราะคนเหล่านี้คือคนที่เหน็ดเหนื่อยที่สุด แต่มักถูกมองเป็นเพียงปัจจัยการผลิตไร้ฝีมือราคาถูก”

ในพิธีเปิดตึก อาจารย์กล่าวขอบคุณเหล่าคนงานเป็นพิเศษ และตึกนี้ก็จะเปิดให้เหล่าคนงานพวกนี้ได้เข้ามาใช้งานได้ตลอดไปในฐานะ “แขกพิเศษ” ให้พาลูกหลานมาชมฝีมือแรงงานของตัวเองได้เสมอ

ปกป้องถึงกับเขียนถึงที่เรียนปริญญาโทและเอกของตนแห่งนี้ว่า

“สปิริตแห่งความเท่าเทียมและภราดรภาพเช่นว่า ทำให้ผมตกหลุมรักบรรยากาศในสำนักหลังเขาของผมอย่างยิ่ง”

“Profile

Name :ปกป้อง จันวิทย์
Age : อายุ 29 ปี
Education :
มัธยม : ร.ร. เซนต์คาเบรียล
ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปริญญาโท เศรษฐศาสตร์การเมือง University of Massachusetts Amherst สหรัฐอเมริกา
กำลังจะจบปริญญาเอก ในสาขาเดียวกับปริญญาโท
Career Highlights
พิธีกรรายการ “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” 2532-2536
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2542
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2542-ปัจจุบัน
คอลัมนิสต์คอลัมน์ “มองซ้ายมองขวา” หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 2546-ปัจจุบัน
บรรณาธิการ Open Online 2548-ปัจจุบัน

Web Link :
onopen.com
pinporamet.blogspot.com