วัชรพงษ์ ศิริพากย์ มืออาชีพสไตล์ “Gut Feeling”

เด็กชายจากต่างจังหวัด ครอบครัวทำธุรกิจค้าขายผ้าไหม พ่อเป็นนายตำรวจ มีฐานะเพียงพอส่งลูกๆ ทั้ง 5 คนเรียนต่างประเทศได้ ล้มลุกคลุกคลานในวัยเรียน เพราะทำตัวเอง ทั้งโดดเรียน หนีเที่ยว เรียกตัวเองว่าเป็น ”เด็กเห…” สอบไม่ผ่าน ติดโปรฯ จนเกือบไม่รอด แต่ก็รอดจนได้ดี ที่ดีแทค เพราะทั้งมีเพื่อนเยอะ ที่แปรเป็น Connection เสริมส่งหน้าที่การงานโดยอัตโนมัติ และ Gut Feeling ที่เจ้าตัวยึดเป็นแนวทางการทำงานมาตลอด

นี่ไม่ใช่เรื่องราวของฝันที่เป็นจริง แต่คือความมันส์ในรสชาติชีวิตของ ”วัชรพงษ์ ศิริพากย์” ที่สามารถส่งต่อ ออกดอกออกผลมาที่แผนการตลาดหลายต่อหลายแคมเปญของดีแทค

หลังจาก ”วัชรพงษ์” จบม.6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่เจ้าตัวรู้อยู่แล้วว่ายังไงยังไง ก็คงเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้แน่นอน เพราะตอนเรียนก็โดดเรียน หนีเที่ยว สมัยก่อนสมบูรณ์แบบ ก็ต้องเที่ยวเดอะพาเลซ จึงสมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค ที่นี่ก็เรียนไปติดโปรฯไปเกือบไม่จบ จากนั้นกลุ่มเพื่อนเซนต์คาเบรียลก็เฮโลกันไปที่อเมริกา และต้องไปที่ Pittsberg อยู่มหาวิทยาลัย Pittsberg 1 ปี ก็ย้ายไปที่มหาวิทยาลัย St. Louis เพราะเพื่อนเยอะ จนจบปริญญาโทเอ็มบีเอ

“วัชรพงษ์” บอกว่า ”แค่ชื่อ Pittsberg ก็เท่แล้ว ไม่เหมือนใคร เพราะสมัยก่อนใครๆ ก็ไปที่คุ้นชื่ออยู่แล้ว อย่างแอลเอ ซานฟรานซิสโก แต่เราก็คิดว่าไปที่นี่ดีกว่า ไม่เหมือนใคร St. Louis University ก็ไม่ไกลจาก Pittsberg มีคนไทยอยู่เยอะ ถึงผมคิดต่างจากคนอื่น คือหลายคนไปเรียนเมืองนอกจะคิดว่าควรไปเรียนที่มีคนไทยน้อย หรือไม่มีเลย เพราะถ้าคนไทยเยอะจะไม่ได้ภาษา แต่ผมคิดว่าคนไทยเยอะดี เพราะสนุก และไม่เคยคิดว่าจะใช้ชีวิตในต่างประเทศ เพราะเพื่อนเยอะก็ Connection ก็เยอะด้วย และหลากหลายอาชีพ”

ช่วงปี 1994 ที่คนที่จบเมืองนอก 80% ส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในสถาบันการเงิน หรือ Finance เพราะเงินเดือนดี สมัยนั้นโบนัส 12 เดือน “วัชรพงษ์” จึงไปสมัครที่บริษัท Finance แห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำ เพราะก่อนเริ่มงาน 2 วัน เขาได้คุยกันเรื่องความรับผิดชอบว่าต้องทำอะไรบ้าง หัวหน้างานบอกว่าให้ดูงบการเงิน วิเคราะห์ฐานะการเงินบริษัทลูกค้า เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อ “วัชรพงษ์” ไม่ชอบอยู่นิ่งอยู่ที่ออฟฟิศ และอยู่กับตัวเลขอย่างนั้น จึงหยุดอนาคตของความเป็นนักการเงินเพียงเท่านั้น

“เป็นการตัดสินใจครั้งแรกของการเลือกอาชีพ และถูกต้อง เพราะปกติไม่ใช่เด็กใช้ความคิดเยอะ แต่ใช้ Gut feeling เยอะ เพราะมีเพื่อนเยอะ ผมไม่ใช่เด็กเรียน เป็นเด็กเห… ถ้าไปทำงานก็เป็นฐานของเพื่อน สมมติมี 20 คน ผมก็คงเป็นอันดับ 19 หรือไม่ก็ 20 เลย“
หนุ่มอารมณ์ดี จากภายนอกท่าทางขำ ขำ ไม่จริงจังกับชีวิตเท่าไรนัก แต่เมื่อต้องดูแลและรับผิดชอบงาน คือความจริงจัง เพื่อให้ผลออกมาดีอย่างที่ตั้งใจ ตั้งแต่ก้าวแรกบนเส้นทางของนักการตลาด

ช่วงที่ยังไม่ได้งาน “วัชรพงษ์” ยังคงแวะเวียนไปหาเพื่อนที่มีอยู่มากมาย วันหนึ่งเขาไปกินข้าวกับเพื่อนที่ทำงานอยู่ทิสโก้ แถวสีลม เพื่อนแนะนำให้สมัครงานที่ ”โอกิลวี่”

“เพื่อนบอกว่าตรงหัวมุมสีลม มีบริษัทหนึ่ง ชื่อกีวี กีวี ลองไปสมัครดูดิ เห็นสาวสวยเยอะ และบังเอิญก็มี Resume ติดอยู่ในรถอยู่แล้ว แต่ก็คิดว่ากีวีอะไร เป็นบริษัทยาขัดรองเท้าหรือเปล่า”

การเดินเข้าสู่วงการอาชีพนักการตลาดในครั้งแรก ไม่ใช่ง่ายนัก เพราะกว่าจะฝ่าด่านได้งานทำที่กีวี หรือที่ภายหลัง ”วัชรพงษ์” รู้ว่าคือบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโฆษณาระดับโลก “โอกิลวี่” ก็เรียกว่าต้องลุ้นอยู่หลายรอบ จากการต้องผ่านการสัมภาษณ์กับผู้บริหารของ ”โอกิลวี่” หลายคน รวมทั้งมืออาชีพอย่าง ”วิทวัส ชัยปราณี”

และจุดที่ทำให้ ”วัชรพงษ์” คิดว่าต้องทำงานที่นี่ให้ได้ เพราะจากการได้รับเกียรติอย่างยิ่งจาก ”พี่อ๋อย”

“พี่อ๋อย มีห้องทำงานส่วนตัว ตอนสัมภาษณ์ มีโทรศัพท์เข้ามา พี่อ๋อยไม่รับโทรศัพท์ เราก็คิดว่าเขาคงใหญ่มาก ไม่รับโทรศัพท์ที่โทรเข้ามา ดังนั้นเลยคิดว่าต้องเข้าบริษัทนี้ให้ได้ เพราะแกตัดคนอื่นหมด อยากคุยกับเรา ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ที่สนุก อย่างเช่น เขาถามว่าชอบเที่ยวที่ไหน เพื่อนคบกลุ่มไหน ซึ่งหลักการนี้ผมก็เอามาสัมภาษณ์ลูกน้องทุกคน เพราะทำให้ได้ Attitude การใช้ชีวิตในสังคม การตัดสินใจเฉพาะหน้า”

ผ่านการลุ้นสัมภาษณ์อีกรอบกับผู้บริหารอีกคนหนึ่ง แล้วในที่สุดก็ได้งานที่โอกิลวี่สมใจ และ ”วัชรพงษ์” ก็อยู่ที่โอกิลวี่ประมาณ 5 ปี ถึงจุดที่เกิดคำถามกับอนาคตถึงการเป็นมนุษย์เงินเดือน และคำชักชวนจากครอบครัวที่ต้องการให้เข้ามาช่วยดูแลกิจการของครอบครัว แม้งานที่โอกิลวี่ยังคงสนุกอยู่ ที่สำคัญหลายงานที่ ”วัชรพงษ์” มีส่วนร่วม และนำทีมสำเร็จในจุดน่าพึงพอใจ

แต่เพียง 6 เดือนเท่านั้น ก็รู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ และ ”แม่” ก็รู้ว่า ”ไม่ใช่” สิ่งที่ลูกต้องการ

ก็เลยกลับมาเป็นมืออาชีพรับจ้างอีกครั้ง และเพื่อนอีกเช่นกันที่แนะนำ จนมีโอกาสได้สัมภาษณ์เข้าทำงานที่ดีแทค โดย ”ธนา เธียรอัจฉริยะ” คือผู้คัดเลือก

“คุณธนา นัดสัมภาษณ์งานที่ร้านอาหารจิตรโภชนา ผมถือว่าให้เกียรติมากกว่านัดสัมภาษณ์ที่ออฟฟิศมาก”

ที่ดีแทค ”วัชรพงษ์” ได้เริ่มต้นในธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่ช่วงปี 2000 คือบรรยากาศการแข่งขันรุนแรง ขับเคี่ยวกันระหว่างดีแทค และเอไอเอส เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ทุกตำราต่างถูกงัดมาใช้ เพื่อให้ได้ลูกค้ามากที่สุด ขณะที่แทคเองก็ประสบปัญหาวิกฤตเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ หลังวิกฤตเศรษฐกิจ

งานที่ดีแทค จึงไม่ใช่เรื่องราวของความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่คือความท้าทาย ที่มุมมองของ ”วัชรพงษ์” บอกว่า ”งานไม่มีอะไรยาก ขึ้นอยู่กับ Attitude ของเรา ทุกบริษัทจ้างเราให้แก้ปัญหา ไม่ใช่เสวยสุข ถ้าอยากเสวยสุขต้องอยู่บ้าน ซึ่งการแก้ปัญหามี 3 วิธี คือเห็นปัญหาแล้วร้องไห้ เห็นปัญหาแล้วหน้าบึ้ง และเห็นปัญหาแล้วยิ้มกับปัญหา ทุกปัญหามีทางออก

การแข่งขันในธุรกิจโทรศัพท์มือถือทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องคิดแคมเปญเพื่อให้ได้ใจลูกค้ามากที่สุด “วัชรพงษ์” บอกว่า ดีแทคทำงานกันอย่างเป็นทีม ซึ่ง ”คุณธนา” เองก็เปิดกว้างให้ผู้ร่วมงานทุกคนเสนอแผนงานได้อย่างเต็มที่ ซึ่งงานที่ประทับใจของ ”วัชรพงษ์” ที่เขาของเรียงลำดับจากประทับใจน้อยไปมากที่สุด คือทำสายรัดข้อมือสายใจไทย เพื่อมอบเงินทั้งหมดให้กับมูลนิธิสายใจไทย ซึ่งเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่ใช้กลยุทธ์นี้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์

งานต่อมาคือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งที่เน้นให้ลูกค้าใช้โทรศัพท์มากๆ ในมุมมองของดีแทคที่เสนอคือการใช้โทรศัพท์อย่างพอดี ที่หนังโฆษณาออกมาแล้วประทับใจคนจำนวนมาก เป็นการแสดงให้เห็นว่าดีแทครับผิดชอบต่อสังคม

และงานที่ ”วัชรพงษ์” ชอบมากที่สุดคือ Happy Festival Countdown ที่สะพานพระราม 8 ช่วงปี 2003 ซึ่งในช่วงนั้นเอกชนรายใหญ่ต่างจัดงานนับถอยหลังปีใหม่ รวมทั้งค่ายคู่แข่ง

“พอเสนอแผนให้คุณธนาฟังถึงบรรยากาศใหม่ จัดริมแม่น้ำ คล้ายงานปีใหม่ที่ซิดนีย์ ที่งาน 3 วัน คิดว่าจะมีลูกค้าดีแทค และคนทั่วไปร่วมงานประมาณ 6 แสนคน คุณธนาใช้เวลา 3 นาทีเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติให้ทำด้วยงบ 40-50 ล้านบาท “

จากนั้นงานปีใหม่ของดีแทคก็เริ่มบรรเลง โดยมีทั้งพาร์ตเนอร์ และความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ มากมายในช่วงนั้น

ความสำเร็จนั้น ”วัชรพงษ์” บอกว่านับเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่ามีความสามารถเพียงพอ พอที่จะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหาร

หลังจากนั้น ”วัชรพงษ์” จึงมักจะได้รับการมอบหมายให้ดูแลงานสำคัญหลายโครงการ อย่างแฮปปี้ สเตชั่น ที่ดีแทคเข้าไปสปอนเซอร์คลื่นวิทยุ 103.5 ที่สามารถสานต่อไอเดียของ ”ธนา” ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดูแลทีมงานที่เชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น จนเป็นที่มาของแคมเปญมากกมายสำหรับวัยรุ่น

สำหรับ ”วัชรพงษ์” แล้ว ปัจจุบันคือความพอใจในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นตัวเองในแบบที่เป็นอยู่ เพราะไม่ได้อยากเป็นแบบคนอื่น ไม่มี Role Model ให้เดินตาม อ่านหนังสือที่ตัวเองชื่นชอบ โดยไม่ได้คิดว่าอ่านหนังสือเพื่อเสริมการทำงาน แต่เพราะได้ความสุขจากการอ่านหนังสือ ทุกวันนี้ ”วัชรพงษ์” จึงมีความสุขแบบ Happy จริงๆ

Profile :

Name : วัชรพงษ์ ศิริพากย์
Age : 36 ปี
Education :
– 2523-2529 มัธยมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
– 2530-2534 ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) สาขาการตลาด
– 2535-2536 ปริญญาโท Duquense University M.B.A School of Business (Pittsburgh, U.S.A)
– 2536-2537 ปริญญาโท Saint Louis University M.B.A School of Business (St. Louis, U.S.A.)
Career Highlights :
– 2537-2542 บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ไทยแลนด์)
– 2542-2543 ธุรกิจครอบครัวที่ลพบุรี
– 2543-ปัจจุบัน บริษัทโทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด
– ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ”แฮปปี้”
Lifestyle :
– งานอดิเรก : ชอบการท่องเที่ยว อ่านหนังสือ
– รถยนต์ : โตโยต้า Camry
– โทรศัพท์ : โซนี่ อีริคสัน, โนเกีย
– เสื้อผ้า : ไม่ได้เลือกแบรนด์ เน้นสวมใส่สบาย