“พ่อสื่อ แม่ชัก” เป็นข้อสรุป ที่ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ให้ไว้ในการสร้างแบรนด์ เอ็มเคสุกี้ จนกลายเป็นแบรนด์ที่โดนใจลูกค้ามากที่สุด
ความหมายของ ฤทธิ์ ก็คือ การชักนำคน 2 สอง ชายและหญิงให้มาเจอกัน และรักกัน เปรียบได้กับผู้ประกอบการ และลูกค้า ที่ต้องชักนำให้มาเจอกัน มีสินค้าที่สอดคล้องและตรงกับความต้องการทั้ง 2 ฝ่าย ถ้าสินค้าไม่ตรงกัน แสดงว่าเราชักนำ 2 ฝ่ายมาเจอกัน แต่ก็ไม่ได้รักกัน ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องเลิกกัน
“ถ้าเราไม่สามารถทำให้ลูกค้า และสินค้าหรือบริการมาเจอกันโดยราบรื่นแล้ว ในระยะยาวก็จะไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากขายสินค้าไปได้แล้วถือว่ายังไม่จบ ในมุมมองนักการตลาด มันเพิ่งเริ่มต้นต่างหาก หรือเพิ่งเริ่มแต่งงานเท่านั้น โดยการที่ลูกค้าจะใช้บริการต่อเนื่อง มาแล้ว มาอีก ตลอดชีวิตอย่างมีความสุขทั่วกัน นั่นคือเป้าหมายของนักการตลาด
การสร้างแบรนด์เอ็มเค สุกี้ ฤทธิ์ ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาหลายปี ในช่วงปีแรก จ้างเอเยนซี่วายแอนด์อาร์ เป็นที่ปรึกษาแบรนด์ และมีการทำหนังโฆษณาทีวี เอ็มเค สุกี้ออกมาเป็นชุดแรก ส่งผลแบรนด์เป็นที่รู้จักให้วงกว้างมากขึ้น
จนทุกวันนี้หนังโฆษณาทีวีชุดใหม่ เอ็มเค มักจ้างผลิตเองเป็นประจำทุกปี เพื่อตอกย้ำแบรนด์เอ็มเค สุกี้ให้ตลาดว่ายังแข็งแกร่งและอยู่ในใจลูกค้า
ฤทธิ์ บอกว่า เคล็ดลับความสำเร็จของเอ็มเคสุกี้ มี 5-6 ข้อ สิ่งแรก คือ คุณภาพสินค้า (Quality of product) บริการที่ดี สถานที่สะดวก ราคาที่สมเหตุสมผล
ที่ขาดไม่ได้ คือ การออกแบบ ไม่ว่าร้าน ภาชนะ อุปกรณ์เครื่องมือ หรือระบบทำความสะอาดที่ใช้เครื่องมือ การโฆษณา เพื่อสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักการตลาดส่วนใหญ่มี แต่สำหรับเอ็มเคได้นำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจประเภทบริการ ซึ่งเป็นงานที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้นเราจึงพยายามนำสิ่งที่จับต้องไม่ได้มาให้เกิดเป็น “ภาพลักษณ์” ของแบรนด์ขึ้นมา
นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์คาแร็กเตอร์ที่มาจากสิ่งเล็กๆ น้อยที่เป็นไปและเกี่ยวข้องตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ในการทำธุรกิจนี้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง
“สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ อาทิ เตาไฟฟ้าที่ปลอดภัย ซึ่งตั้งแต่วันแรกที่เปิดสาขาบริการจนถึงวันนี้ก็ยังคงเป็นเตาที่เน้นความปลอดภัยอยู่ ตามด้วย ความสดของอาหาร (Fresh Food) ก็เป็นอีกคาแร็กเตอร์หนึ่งของเอ็มเค ยังรวมไปถึงความสะดวกบนโต๊ะอาหาร ภาชนะที่ออกแบบเป็นถาดเล็กๆ สามารถเรียงเป็นชั้นๆ ซ้อนกันได้ ปัจจุบัน Convenience บนโต๊ะได้พัฒนาไปอีกขั้น มีโต๊ะที่มีลิ้นชักที่เลื่อนได้ มีเตาที่ฝังลงในโต๊ะได้ และบริการรวดเร็วสั่งปุ๊บได้ปั๊บ”
นอกจากนี้ ยังมีความสม่ำเสมอ หรือคงเส้นคงว่า ในแง่ของการเปิดบริการสาขายังมีจำนวนมากและต่อเนื่องเสมอว่า ขณะที่ด้านบริการยังคงรักษามาตรฐานเดิมไว้เหนียวแน่น ส่วนอาหารที่เน้นความสะอาด รวมไปถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในปัจจุบันคำนึงค่อนข้างมาก โดยทั้งหมดหลอมรวมกันเป็น “คาแร็กเตอร์เอ็มเค” ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“ทั้งหมดเป็นส่วนผสมจากสิ่งเล็กน้อยที่ช่วยสร้างแบรนด์เอ็มเค ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นมาอย่างค่อยๆ ทีละนิดทีละหน่อย ในฐานะที่เป็นนักการตลาด “การจริงใจกับผู้บริโภค”หรือ Sincerity หมายถึง อะไรก็ตามที่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคเราก็นำเสนอ ส่วนอะไรที่ไม่มีประโยชน์ก็จะพยายามตัดทิ้ง ซึ่งเป็นภารกิจที่เราได้ทำมาตลาดเวลาที่ผ่านมา ดังนั้นจากทั้งหมดดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์เอ็มเคมีความแข็งแกร่ง
Brand Map Marketing
นอกจากสร้างแบรนด์ด้วยวิธีดังกล่าว เอ็มเคยังทำการตลาดโดยมีแผนที่ (Brand Map) ประกอบไปด้วย ส่วนต่างๆ ที่พูดไปแล้วข้างต้น แต่นำมาจัดหมวดหมู่กลุ่มชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนว่า เรากำลังทำเรื่องอะไร ที่ได้จัดแบ่งได้หลากหลายมุมมอง
กลุ่มแรก – อาหาร เนื่องจากเอ็มเคเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ Food ที่อร่อย ดังนั้นอาหารที่อร่อยก็จะติดกับแบรนด์
โดยกลุ่มอาหารอร่อย ก็ยังสามารถแบ่งแยกย่อยออกไปเป็นของสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักสดซึ่งก็กลายมาเป็นคาแร็กเตอร์ เมื่อคิดถึงผักสดก็นึกถึงเอ็มเค หรือเป็ดย่างเอ็มเค ไม่จำเป็นต้องไปกินที่เยาวราช หรือฮ่องกง รวมไปถึง หมูแดง หมูกรอบ ซาลาเปา ขนมจีบ คะน้าฮ่องกง บะหมี่ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว เรียกว่า “อาหาร” เมื่อหยิบยกรายการใดมาก็สามารถประชาสัมพันธ์ไปยังผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น
กลุ่มสอง – บริการที่ดี หมายถึง รอยยิ้มแย้มแจ่มใสของพนักงานบริการ และเน้นการให้บริการถึงที่โต๊ะ บางร้านไม่ให้บริการถึงโต๊ะ แต่สำหรับเอ็มเค การบริการถึงโต๊ะจะเน้นเป็นพิเศษ เพราะได้อะไรที่มากกว่า รวมไปถึงความรวดเร็วในบริการ และมารยาท อัธยาศัยไมตรีแบบไทยๆ รวมถึงความสะอาด และสามารถสั่งซื้อไปรับประทานที่บ้านก็ได้
กลุ่มสาม – ปลอดภัย (Safety) โดยปกติมีสินค้าไม่กี่แบรนด์ที่หยิบเอาคำมาใช้ แต่เอ็มเคเป็นแบรนด์ที่หยิบเอาประเด็นความปลอดภัยมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่ทำธุรกิจ อย่างแรก คือ เรื่องหม้อและเตาไฟฟ้าที่ปลอดภัย เพราะในโลกสมัยนี้มีสิ่งต่างๆ ที่ไม่ค่อยปลอดภัยก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เราก็ค่อยๆ ทำไป ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ภายในร้านทั้งหมด ก็ได้ถูกพัฒนาไปในรูปไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้ เรายังมีห้องแล็บ เพื่อทำการทดลองอะไรก็ตามที่คาดว่าจะมีอันตราย หรือเพื่อเช็กดูว่า จริงหรือไม่ แม้แต่ “กระจก” ที่ร้านเอ็มเคก็ยังเป็นกระจกนิรภัย หลายคนที่เคยเดินชนหรือชนแตกก็ไม่เป็นอันตราย เพราะมีความปลอดภัย
กลุ่มสี่ – “สมราคา” (Value for money) เพราะเราอยากให้คนมองว่า เอ็มเคเป็นร้านที่สมราคา ซึ่งการที่จะทำให้เกิด Value for money ได้ มาจากส่วนที่เราต้องซื้อของปริมาณมาก เป็นจำนวนตันต่อวัน
ซึ่งจำนวนที่ซื้อทำให้ลดต้นทุนโดยร้านซัพพลายเออร์ยังเป็นคนเดิม ที่ให้ความรู้สึกว่า “คุ้มราคา” อีกอย่างหนึ่ง เอ็มเคสามารถสั่งออเดอร์ มากหรือน้อยก็กำหนดได้ตามความต้องการลูกค้า ซึ่งหมายถึง ความยืดหยุ่นในการสร้างราคาสมเหตุสมผล