คนโฆษณา-ตลาด ทางรอดของโบรกเกอร์

คนในแวดวงโฆษณาและนักการตลาด กำลังเป็นที่ต้องการของธุรกิจ ”โบรกเกอร์” หรือนายหน้าค้าหุ้น เพราะหน้าที่ของพวกเขา คือ การทำให้หุ้นเป็นเรื่องง่าย ไม่ต่างไปจากการซื้อแชมพู หรือสบู่ งานนี้ ”ก้องเกียรติ โอภาสวงการ” ประธานกรรมการบริหาร และในฐานะประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย การันตีว่า นี่คือทางรอดของ ”โบรกเกอร์” ในปี 2007 ในการขยายสู่ลูกค้าหน้าใหม่

ไม่เพียงตลาดหุ้น ปี 2007 จะมีอนาคตไม่สดใส เพราะแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจนว่าจะเติบโตได้ตามคาดการณ์ที่ 4.5-5.5% หรือไม่ และภาวะการเมืองที่รอการปรับให้เข้าที่เข้าทางแบบประชาธิปไตยแท้จริง ยังต้องเผชิญกับการลุ้นระทึกกับนโยบาย และมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลชุดขิงแก่ ที่คิดจะทำอะไรก็ทำตามใจ

ยาแรงสกัดการแข็งค่าของเงินบาท พอหมดสติไปตามๆ กัน ก็หักดิบเลิกยาอย่างทันที สะท้อนให้เห็นความไม่รอบคอบในการบริหาร ยิ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติผวาทิ้งตลาดหุ้นไทย ลามไปถึงนักลงทุนไทย

แนวโน้มนี้ทำให้เห็นชะตากรรมของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ นายหน้าซื้อขายหุ้น ที่ต้องพึ่งพิงวอลุ่มการซื้อขายหุ้น ยิ่งมาก ก็ยิ่งมีคอมมิชชั่นมากขึ้น เพราะ 85% ของรายได้โบรกเกอร์มาจากคอมมิชชั่น ซึ่งตลาดหุ้นซบเซาก็คือรายได้ลดลง และยังต้องเผชิญกับการเปิดเสรีธุรกิจหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ในปี 2007 คือเวลาที่ต้องเริ่มปรับตัว เพื่ออยู่รอด
เท่านั้น

“ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ” แนะทางรอดของธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2007 ว่ากลยุทธ์สำคัญที่ต้องนำมาใช้ คือการพัฒนาองค์กร ด้วยการเฟ้นหานักการตลาดและคนโฆษณามาร่วมงานมากขึ้น เพื่อต้องการเข้าถึงลูกค้า ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากในอดีต

“20 ปีที่แล้ว คนในบริษัทหลักทรัพย์ ถ้าไม่เป็น Salesman ก็ต้องอยู่ในธุรกิจการเงิน แต่ตอนนี้ผมกำลังคัดเลือกคนจากบริษัทโฆษณา และจากธุรกิจ Consumer Product มานั่งในตำแหน่งรองผู้จัดการ เพราะคนในแวดวงโฆษณา หรือสินค้าบริโภคจะมีความเข้าใจ และจับฐานลูกค้าได้ ต้องหาคนใหม่ๆ มาช่วย เพราะนับจากนี้ ไปอีก 5 ปี บล. อยู่เฉยกันไม่ได้ นอกจากนี้ต้องพยายามสร้างคอนเซ็ปต์ให้พนักงาน ในการสร้าง Relationship กับลูกค้า ซึ่งเป็นการสร้างธุรกิจในระยะยาว”

ตัวอย่างที่ชัดเจนของบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในอนาคตนั้น”ดร.ก้องเกียรติ” บอกว่า จำเป็นต้องหาคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด อย่างธุรกิจโฆษณา ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ เป็นตัวอย่างชัดเจน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ได้ดึงมือดีด้านการตลาดอย่างคุณกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ จากยูนิลีเวอร์มาเป็นผู้บริหาร และสามารถก้าวขึ้นรับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ สะท้อนชัดเจนว่านักการตลาดจะเข้าถึง และรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร จึงเป็นที่ต้องการของธุรกิจการเงิน

ส่วนคนในแวดวงโฆษณามีความคิดใหม่ๆ สามารถสร้างแบรนด์ จากเดิมที่ไอเดียด้านบริการทางการเงินเข้าใจยาก คนกลุ่มนี้จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น และมีสีสันมากขึ้น เป็นการอธิบายสินค้าที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย สำหรับคนกลุ่มมากของประเทศ ซึ่งต่อไปกลุ่มนี้ก็อาจสนใจมาเล่นหุ้น จากเดิมแค่ฝากเงินไว้กับธนาคารเท่านั้น

“ดร.ก้องเกียรติ”สรุปว่า บุคลากรกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการ เพราะต้องยอมรับว่าทุกธุรกิจมีมาร์เก็ตติ้งเป็นเครื่องมือ

ในภาพรวมของการปรับตัวธุรกิจหลักทรัพย์นั้นดร.ก้องเกียรติแนะนำว่า เมื่อบริษัทหลักทรัพย์สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้นแล้ว แต่ละ บล. ก็ต้องสร้าง และกระจายความสมดุลของผลตอบแทน และประเภทการลงทุนมากขึ้น ซึ่งมีช่องทางการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ หรือการลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน

ส่วนผู้ลงทุนเองก็ต้องบาลานซ์ให้ได้ว่าจะลงทุนอะไร หากไม่ถนัดก็ต้องหาคนมาช่วยพิจารณาการลงทุน เพราะในความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในปี 2007 คือเศรษฐกิจชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และเลิกคิดไปได้เลยว่าค่าเงินบาทจะอ่อน เพราะฉะนั้นทุกภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว เช่นเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ก็หนีไม่พ้น โดยหลักการคือทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด และพยายามขยับก้าวหน้าหนีคนอื่น 1 ก้าวเสมอ

“กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” ได้ชื่อว่าเป็นนักการตลาดที่สามารถประสบความสำเร็จสูงสุดในธุรกิจธนาคาร เธอร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งกรรมการ และรองผู้จัดการใหญ่ ตั้งแต่มกราคม 2546 ดูแลบริการกลุ่มลูกค้าบุคคล (Retail Banking) ก่อนเข้าร่วมงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ทำงานที่บริษัทยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง มีบทบาทเด่นชัดที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้าในเครือยูนิลีเวอร์

ล่าสุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” จะนั่งบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งบริหารสูงสุด คือกรรมการผู้จัดการใหญ่ แทนคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม