แรงต้านรัฐบาล จุดเสี่ยงการเมือง

อจ.ไชยันตร์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เริ่มมองการเมืองปีนี้ โดยชี้ว่าปี 2550 รัฐบาลชุดนี้และ คมช. จะยังได้รับกระแสต้านไปตลอดทั้งปีจากคน 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือกลุ่มคนที่ยังชื่นชอบอดีตนายกฯทักษิณยังคงอยู่ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงพวกเขาได้ ทั้งกลุ่มรากแก้วที่เคยได้รับการช่วยเหลือหรือผลประโยชน์ ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจที่เอื้อกันมา กระแสนี้จะคัดง้างกับการสืบสวนสอบสวนของ คตส. ไปตลอดครึ่งปีแรกของ 2550

กลุ่มที่สอง อาจเรียกได้ว่ากลุ่ม “ไม่เอาทักษิณ ไม่เอารัฐประหาร” กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา และองค์กรเอกชน บางส่วน ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ยอมรับทุกสิ่งที่มาจากการปฏิรูปฯ 19 กันยาฯ โดยมองว่าทุกอย่างไม่ชอบธรรมทั้งสิ้น

ทั้งสองกลุ่มนี้จะแสดงออกมาโดยการวิจารณ์ผ่านสื่อต่างๆ การชุมนุมประท้วง หรือประท้วงโดยวิธีอื่นๆ

ส่วนประชาชนทั่วไปในสังคมไทยนั้น ขณะนี้มีมุมมองต่อรัฐบาลชุดนี้ในลักษณะที่ไม่ใช่ทั้งขาขึ้นและขาลง แต่เป็น “ขาทรง” ซึ่งในครึ่งปีแรกของ 2550 นี้จะเริ่มเห็นชัดเจนว่าจาก “ขาทรง” จะกลายไปในทิศทางใด ซึ่งทั้งหมดขึ้นกับผลงาน

ประชาชนรอผลงานรัฐ

ผลงานที่ว่านี้ ไชยันตร์มองว่ารัฐบาลควรมุ่งไปในทางการสะสางคดีคอรัปชั่น และวางมาตรการแก้คอรัปชั่น จะดีที่สุด เรื่องอื่นๆนอกจากนี้ถ้าทำก็เสี่ยงกับการโดนด่า เช่นอย่างปัจจุบันเรื่องหวย เหล้า มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ รัฐบาลชุดนี้จับแต่เรื่องที่สร้างศัตรูใหม่ๆ ขึ้นมา

แต่รัฐบาลก็แสดงออกว่ายอมรับฟังและปรับเปลี่ยนตามกระแสค้านพอสมควร ซึ่งการยอมปรับ ไม่ฝืน นี้ก็น่าจะถือเป็นผลงานได้ด้วยเช่นกัน

ทางที่เหมาะสม รัฐจะทำอะไรก็ควรจะรับฟังคำวิจารณ์ด้วย การจะได้รับคำวิจารณ์อย่างเพียงพอ รัฐก็ต้องเปิดเสรีภาพให้กับสื่อและกลุ่มประชาชนต่างๆ เต็มที่ รวมถึงแสดงท่าทีเปิดรับ

ปัจจุบันนักวิชาการ นักศึกษา และผู้สนใจการเมืองก็ยังสามารถยอมรับการปฏิรูปฯ 19 กันยาฯ อยู่มาก แต่มีข้อแม้ว่ารัฐบาลต้องเปิดเสรีภาพ

รัฐต้องเปิดกว้างให้มีการชุมนุมไม่ว่าฝ่ายไหน ให้สามารถประท้วงกันได้อย่างปลอดภัย เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ไปข่มขู่หรือว่ามีวิทยุโทรทัศน์มาปลุกระดมเหมือนสมัยทักษิณ

และรัฐบาลต้องอย่าทำเหมือนเป็น “ทักษิณกลับข้าง” ก็คืออย่าปิดกั้นข่มขู่ผู้คัดค้านเรื่องต่างๆ ฝ่ายทหารปัจจุบันต้องระมัดระวังท่าทีมากกว่านี้

ทางชนะใจคนไทยและต่างชาติ

การจะชนะใจประชาชนได้นั้น ไชยันตร์แจงว่ามีสองอย่างที่ต้องทำไปพร้อมกัน

อย่างแรก ชนะใจกลุ่มคนที่เกลียดทักษิณ รัฐบาลและ คตส. จะต้องหาหลักฐานและเอาผิดกับคดีทุจริตใหญ่ๆ ต่างๆ ได้มากพอ และโปร่งใส อย่างไรก็ตาม ประชาชนกลุ่มที่เกลียดทักษิณก็ควรเผื่อใจยอมรับความผิดหวังไว้บ้าง เพราะหลายเรื่องก็เป็นการผิดจริยธรรมแต่ไม่ผิดกฎหมาย

อย่างที่สอง ชนะใจกลุ่มคนที่ชอบทักษิณ รัฐบาลต้องชี้ชวนให้คนทั้งสังคมมองไปข้างหน้า โดยผ่านการเปิดให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการคิดร่างรัฐธรรมนูญอย่างสร้างสรรค์ เพื่ออนาคตของส่วนรวม และโดยนโยบายรัฐบาลที่ต้องดีกว่าทักษิณ ดีกว่าประชานิยม

รัฐธรรมนูญใหม่ควรจะประชาพิจารณ์ทีละหมวดๆ ไปอย่างจริงจัง ไม่ใช่รวบรัด หรือทำแค่พอเป็นพิธี และขอฝากถึงประชาชนทั้งประเทศ ทุกกลุ่มทุกคน ควรจะสนใจรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากๆ หากรัฐและสังคมไทยสนใจตื่นตัวในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทุกคนก็จะมองไปที่อนาคต และไม่ไปสนใจเรื่องทักษิณจนมากเกินไป

หากรัฐบาลทำสองอย่างนี้ไม่ได้ แม้แต่กลุ่มคนที่เกลียดทักษิณก็จะเริ่มไม่แน่ใจว่า ระหว่างรัฐบาลระบอบทักษิณ กับรัฐบาลที่ไม่มีอะไรชัดเจนแน่นอนแบบนี้ อย่างไหนจะแย่กว่ากันแน่ และกระแสนี้จะเห็นในครึ่งปีหลังของ 2550 หากรัฐบาลล้มเหลวในสองอย่างที่กล่าวไป

ส่วนต่างชาตินั้น จะสนใจที่การยกเลิกกฎอัยการศึก และการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ทั้งภายในภายนอก เมื่อไรที่มีสองอย่างนี้ ต่างชาติก็จะยอมรับเหมือนเดิม

นอกจากนี้ รัฐบาลควรระวังรัฐมนตรี และข้าราชการที่เคยมีสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กันมากับกลุ่มอำนาจเก่ารัฐบาลทักษิณที่อาจจะรบกวนระบบขั้นตอนการตรวจสอบคดีทุจริตทั้งหลาย

“จริยธรรม” ต้องชัด

ไชยันตร์พยายามอธิบายคำว่าจริยธรรมที่ดูกว้างว่า จริยธรรมนั้นผู้ตัดสินคือสังคม พูดอย่างนี้ฟังดูกว้าง ฉะนั้นควรพยายามแปลจริยธรรมออกมาให้เป็นตัวบท เป็นกฎหมาย

การเลือกตั้งก็ช่วยตัดสินปัญหาทางจริยธรรมได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ให้เวลาประชาชนและพรรคการเมืองทุกพรรคมากพอที่จะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้เข้าใจ และเปิดกว้างให้ทุกพรรคทุกฝ่ายได้ออกสื่อเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม ไม่ใช่แบบการเลือกตั้ง 2 เมษาฯ 2549 ที่ขาดสิ่งเหล่านี้จนหลายฝ่ายไม่ยอมรับ

และนี่เป็นเหตุผลสำคัญของการ “ฉีกบัตรเลือกตั้ง” ครั้งนั้นของเขา

2550 ไม่มีอะไรต้องกังวล

ทิ้งท้ายอาจารย์ไชยันตร์ฝากถึงผู้อ่าน POSITIONING ว่าปี 2550 นี้ ทางการเมืองไม่มีเรื่องไหนที่ต้องวิตกเป็นพิเศษ แต่ประชาชนต้องกล้าที่จะพูด เรียกร้อง แสดงออก หากไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือพบอะไรผิดปกติ ต้องรวมกลุ่มกัน หรือหาช่องทางสื่อแสดงออกที่เหมาะสม ถ้าทำได้อย่างนี้ก็ไม่ต้องวิตกนโยบายรัฐมากนัก และประชาชนต้องพึ่งตนเอง อย่าคาดหวังอัศวินม้าขาว