ระเบิด 4 ลูกจ่อถล่มการเมือง

ระเบิด 4 ลูก ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. กอดไว้ อาจระเบิด ด้วยปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของ คมช. เอง ว่าจะทำให้ระเบิดหรือไม่ “การเมืองในปี 2007” จึงไม่ใช่ปีที่การเมืองเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องเฝ้าติดตามอย่างไม่กะพริบตา

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าการเมืองปี 2007 จะวุ่นวาย ร้อนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระเบิดลูกแรก ที่ถือว่าเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่สุด คือ คมช. เอง ที่จะดำเนินการใดๆ เพื่อสืบทอดอำนาจหรือไม่ ถ้าไม่สืบทอดอำนาจ ก็ไม่มีปัญหา เพราะพลังประชาธิปไตยในสังคมไทยไม่ยอมให้เกิดขึ้น อย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

การที่ คมช. จะสืบทอดอำนาจได้หรือไม่ อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นระเบิดลูกที่สอง

การร่างรัฐธรรมนูญที่ส่อเค้าว่ามีเจตนาสืบทอดอำนาจหรือไม่ เกิดขึ้นตั้งแต่การแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่ คมช. เลือกจาก 200 คน เหลือ 100 คน ที่ถูกมองว่า คมช. เอาคนของตัวเองเข้ามา และหากมีการร่างเนื้อหาให้เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ เช่น ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง หรือยังให้ คมช. แต่งตั้งองค์กรอิสระได้ ก็ถือเป็นการสร้างกลไกสำหรับ คมช. ให้สืบทอดอำนาจ

ประเด็นสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดกระแสต้าน คมช. มากขึ้น คือ การเขียนให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเป็นคนนอกสภาได้ ในภาวะที่เป็นประชาธิปไตยอาจเขียนเช่นนี้ได้ แต่ในภาวะที่บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยนั้นทำไม่ได้ เพราะหมายถึงเจตนาสืบทอดอำนาจ ซึ่งการสืบทอดอำนาจ อาจไม่ได้เกิดจากความต้องการ แต่เกิดจากความรู้สึกว่าขี่หลังเสือแล้วลงมาได้ หากลงมา อาจถูกฝ่ายตรงข้ามจัดการ แต่สังคมประชาธิปไตยไม่ยอมรับ

หรือแม้ว่าจะเขียนให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. แต่หากคนใน คมช. ตั้งพรรคการเมือง ได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมากตั้งรัฐบาล ก็ยอมรับไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า คมช. ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมือง

หากเนื้อหาออกมาเช่นนี้ ร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดกระแสต้าน ไม่ผ่านการทำประชามติอย่างแน่นอน กระแสการเมืองในปี 2007 จึงจะร้อนแรงขึ้นตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน หากเขียนมาดี ก็ไม่มีปัญหา แต่หากไม่ดี ความวุ่นวายก็เกิดขึ้น และหาก คมช.ใช้อำนาจที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นว่าหากร่างธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ สามารถนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาใช้ได้ หากนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ คงไม่มีปัญหา แต่หากไม่ใช่ จะเกิดการต้านเช่นกัน

ระยะเวลาที่ต้องเฝ้าจับตาการร่างรัฐธรรมนูญ เริ่มตั้งแต่หลังจากได้สภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากมีการประชุมสมาชิกสภาร่างฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือนมกราคม 2007 จากนั้นภายใน 180 วันต้องร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ จากนั้นดำเนินการขอประชามติ 15-30 วัน คาดว่าจะเป็นช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2007 หากผ่านพ้น ก็คงเลือกตั้งได้ในต้นมกราคม 2008

ระเบิดลูกที่สาม คือคดียุบพรรคการเมือง ที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฉบับที่ 27 ระบุว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคที่ถูกสั่งยุบพรรค จะถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และแม้กรรมการบริหารพรรคเหล่านั้นจะลาออกก่อนถูกตัดสิน ก็ไม่เป็นผล ประเด็นนี้ต้องอย่าลืมว่ากรรมการบริหารพรรค คือผู้ที่มีมุ้ง มีฐานเสียงทางการเมือง ก็อาจทำให้เกิดกระแส การเคลื่อนไหวต่อต้านได้ และอาจมีการยืนให้ตีความ หากนักการเมืองรู้สึกว่าถูกลงโทษโดยไม่ชอบตามกฎหมาย

ระเบิดลูกที่สี่ คือการสะสางปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ คมช. อ้างในการยึดอำนาจ หาก คมช. ไม่ทำให้ดี ก็เป็นปัญหา เพราะประชาชนไม่ต้านการยึดอำนาจ เพราะเห็นด้วยกับเหตุผลของการยึดอำนาจ ที่รัฐบาลเดิมคอรัปชั่น ซึ่งเมื่อรู้ว่าคอรัปชั่นแล้วไม่ดำเนินการ ก็จะถูกตั้งคำถามว่าเหตุผลที่แท้จริงคืออะไร

ความจริงที่ผ่านมา คมช. สามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องรอคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ไม่ต้องรอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพราะในที่สุดแล้ว ก็ต้องเข้าสู่กระบวนสุดท้ายที่ศาล

ในความเห็นของ “ดร.ปริญญา” นั้น คมช. นำระเบิดมากอดไว้เองทั้งหมด ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ ที่การยึดอำนาจไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญทุกครั้ง ซึ่งเวลาที่ดีที่สุดคือช่วง 2 เดือนแรกหลังยึดอำนาจ ซึ่งหมดไปแล้ว คมช. ยิ่งอยู่นาน อำนาจยิ่งเสื่อม และยิ่งเป็นอำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรม อยู่นานคะแนนนิยมยิ่งตก