เครื่องดื่มโตไม่แรง แต่สนุก

ธุรกิจเครื่องดื่ม เป็นธุรกิจที่มีสีสันไม่แพ้ธุรกิจใด ปี 2550 นี้ เป็นที่คาดการณ์กันแบบฟันธงจากผู้ประกอบการหลายรายว่า น้ำผลไม้มาแรงแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน เซ็กเมนต์อื่นๆ ของเครื่องดื่มก็จะยังคงมีความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม

Water Plus กระแสเล็กๆ ในไทย (แต่ใหญ่มากในญี่ปุ่น) ที่มียักษ์ใหญ่ช่วยกันดัน เป็นเครื่องดื่มที่ผสมคุณประโยชน์มาในแนวทางของ Functional โดยตรง เริ่มต้นจาก Unif Ifirm เมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา จากนั้นโออิชิ ส่งอะมิโน โอเค ตามมาโดยทิ้งระยะห่างไม่มากนัก และดูเหมือนว่าตลาดมูลค่า 300 ล้านบาทนี้ จะไร้ความสนใจจากผู้เล่นรายอื่นเลย จนกระทั่ง B-ing ถูกส่งตรงจากโรงงานบุญรอด บริวเวอรี่ ภายใต้การทำตลาดของสิงห์ คอร์ปอเรชั่น เป็นโปรดักส์ลำดับที่ 2 ของแผนกพัฒนาธุรกิจ ที่มี สันต์ ภิรมย์ภักดี ทายาทคนโตของสันติ เป็นผู้ดูแล ซึ่งยังต้องดูกันไปอีกนาน หลังจากเข็นโมชิไม่สำเร็จ

ตัน ภาสกรนที หัวเรือใหญ่โออิชิ กรุ๊ป มองว่า ตลาด Water Plus ยังต้องการคู่แข่งมากกว่านี้เพื่อร่วมกันผลักดันให้ตลาดเติบโตมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ เหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นๆ ยังต้องรอกฎหมายที่ชัดเจน แต่หาก Total Ban เมื่อไหร่ Price War มาแน่ ในบรรดาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลาย White Spirit อาทิ วอดก้า รัม จิน เป็นเทรนด์ที่ทางริชมอนเด้คาดการณ์ว่าจะมาแทนที่ตลาดวิสกี้ที่เริ่มอิ่มตัว เหตุจากพฤติกรรมผู้บริโภคพลิกผันนิยมเครื่องดื่มที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์หลากหลายทั้งดื่มแบบมิกเซอร์หรือผสมเป็นค็อกเทล ทั้งยังสร้างโอกาสต่อเนื่องไปยัง RTD ให้คืนชีพอีกครั้ง ซึ่งน่าจะตื่นตัวจากการเข้ามาของสเมอร์นอฟ ไอซ์ การเปิดตัวรสชาติใหม่ของบาร์คาดี ราสพ์เบอร์รี่ และการออกแบรนด์ใหม่ ไอซ่า เครื่องดื่มค็อกเทลจากค่ายทิส เวิลด์ไวด์ มาร์เก็ตติ้ง

ส่วน น้ำดื่ม ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่มีสีสันพอสมควร กับการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ใหม่ของคริสตัล และการเข้ามาทำตลาดของกรีน เฟรช และคาดว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่น้ำดื่มใช้จุดขายเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ไร้สารหรือวัสดุแต่งกลิ่นเจือปน ในการทำตลาดให้เป็นทางเลือกที่โดดเด่นเหนือเซ็กเมนต์อื่น

ปิดท้ายกันที่น้ำอัดลม ที่แม้จะเป็นธุรกิจสวนกระแส แต่ก็น่าจะเติบโตในอัตราที่คงตัง 3-4% จากกิจกรรมการตลาดแบบครบวงจรของ 2 ค่ายใหญ่ เป๊ปซี่และโค้ก ที่คาดว่าจะมีสีสันแปลกๆ ใหม่ ๆ ให้ตื่นเต้นกันได้บ้าง แต่โดยมากแล้วน่าจะอยู่ที่กลยุทธ์ Sport & Music Marketing เป็นธงนำ

เครื่องดื่ม มูลค่าตลาด (ล้านบาท) อัตราการเติบโต
เบียร์ 84,000 4%
น้ำอัดลม 30,000 3-4%
กาแฟพร้อมดื่ม 7,000 5%
นมพร้อมดื่ม 15,000 1-2%
น้ำผลไม้ 5,000 20%
น้ำดื่ม 4,000 12%

ที่มา : POSITIONING รวบรวม