Bill Payment

ธุรกิจรับชำระเงิน หรือ Bill Payment เป็นธุรกิจดาวรุ่งที่พุ่งแรงขึ้นทุกปี ปัจจัยบวกที่ผลักดันให้ธุรกิจนี้เติบโตจนน่าอิจฉา ก็คือ “เวลา” เพราะคนยุคใหม่ต้องการความสะดวกสบายแลกกับเงินจำนวนเล็กน้อยที่เสียไปถือว่าคุ้มค่ากว่าการเดินทางไปชำระเงินเอง

เคาน์เตอร์เซอร์วิส เป็นผู้นำด้าน Bill Payment ที่ทำให้ธุรกิจที่ดูเหมือนเก็บเล็กผสมน้อยนี้น่าสนใจขึ้นมา

10 บาท อาจดูเป็นเงินน้อยนิด แต่ 10 บาท จาก 100 ล้านบิลในปีที่ผ่านมาของเคาน์เตอร์เซอร์วิส กลายเป็นเงินหลักพันล้านที่ก่อเกิดรายได้งาม เพียงแค่การลงทุนระบบไอทีและใช้พนักงานหน้าร้านเท่านั้น (ที่ทำหน้าที่ขายของอื่นๆ ใน 7-eleven ด้วย)

“ความสะดวก” เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจนี้เกิดได้ เพียงแค่แวะร้าน 7-eleven ที่มีเคาน์เตอร์เซอร์วิสกระจายอยู่กว่า 4,000 สาขาทั่วประเทศ หรืออีกกว่า 1,000 สาขาที่อยู่ในร้านอื่น (และจะเพิ่มเป็น 5,750 สาขาในปีนี้)

“ยังคงตรึงราคาไว้เหมือนเดิม เป็นราคาค่าบริการ 10 บาทต่อบิล แต่จะเพิ่มบริการใหม่ๆ จากเดิม 280 รายการ เป็น 380 รายการ”

การชำระเบี้ยประกันไอเอ็นจี เมืองไทยประกันชีวิต ชำระค่าบ้านพฤกษาเรียลเอสเตท ตลอดจนการบริจาคเงินไปยังมูลนิธิต่างๆ คือบริการใหม่ๆ ที่ดันให้ธุรกิจนี้รุดหน้า

โดย Key Success ของธุรกิจนี้ ภูเมธ มณูพิบูลย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เคาน์เตอร์ เซอร์วิส จำกัด บอกว่า อยู่ที่ความหลากหลายของบริการ ความครอบคลุมของสาขา ราคาสมเหตุสมผล และใช้โปรโมชั่นดึงดูดใจ เช่น ลุ้นโชคแจกรางวัลจำนวนมาก เพื่อเพิ่มจำนวนคนได้รางวัลมากกว่าจะเน้นแจกรางวัลใหญ่ไม่กี่รางวัล เป็นต้น

นอกจากไปรษณีย์ไทยจะเป็นคู่แข่งที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเข้ารุกในตลาดนี้ โดยใช้จุดขายเรื่องความสะดวก เริ่มตั้งแต่ “เอ็มเปย์” ของค่ายเอไอเอส ที่ให้บริการแก่ลูกค้าในเครือเอไอเอสเท่านั้น

ส่วนค่าย “ทรู” เปิดบริการ “ทรูมันนี่” ให้บริการรับชำระเงินผ่านมือถือของทรู เริ่มใช้ในบริการล่าสุดคือชำระเงินค่าแท็กซี่