พรศิริ มโนหาญ สตรีหมายเลข 1 ท่องเที่ยวไทย

ถ้าวิเคราะห์จากบทเพลงของ เอลวิส เพรสลี่ย์, คาเพนเตอร์ ซึ่งเป็นเสียงเพลงแห่งความสุขนิยม ของ “พรศิริ มโนหาญ” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคนใหม่ นี่อาจจะสะท้อนนัยเป็นความผู้นำบางอย่างได้ดีว่า สไตล์การทำงานของเธอแฝงไว้ทั้งร็อกแอนด์โรล ดุดัน แข็งแกร่ง แต่ก็มีความอ่อนโยน ในความเป็นตัวตนอย่างน่าสนใจ

1.
ใช่, เพลงเหล่านี้ คือบทเพลงไม่มีวันละลายในยุค ปี 1960-1970 ของ พรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสียงเพลงนี้มีความสำคัญกับผู้นำหญิงคนนี้อย่างมาก ช่วงนี้เธอฟังบ่อยครั้ง เพราะถือเป็นอาหารทางอารมณ์ที่ลดความเครียด สร้างความคิดในการทำงานใหม่ๆ ให้กับเธอ

“เพลงยุคปี 1960 ปี 1970 ชอบมาก ยังฟังอยู่ทุกวันนี้ และเพลงประเภทไลฟ์มิวสิก ถ้าเครียดๆ จะเปิดฟังที่ทำงานบ้าง ที่บ้านบ้าง ทำให้มีความรู้สึกดี คลายเครียดได้มาก” พรศิริกล่าวกับนิตยสาร POSITIONING

ตั้งแต่พรศิริได้รับตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ของปีนี้ ถ้าใครได้พูดคุย ผู้ว่าฯ หญิงคนนี้ เธอจะพูดถึงแต่ไอเดียเรื่องท่องเที่ยวฯ ใหม่ๆ โครงการใหม่ๆ พรศิริ บอกว่า “ต้องขอโทษนะ ที่พูดแต่เรื่องนี้ เพราะหัวสมองของดิฉันตอนนี้มีแต่การทำงาน ทุกวินาทีจะคิดว่าทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีรายได้ มีชื่อเสียงกับการท่องเที่ยว”

“ถามว่าเหนื่อยไหม ต้องบอกว่า เหนื่อยกาย แต่ใจสุข เพราะได้ทำงานที่ตัวเองชอบ วันว่างช่วงนี้แทบไม่มี อาศัยตอนไปออกงานต่างจังหวัด ถือว่าทำงานไปด้วยพักผ่อนไปด้วย ถ้ามีเวลาส่วนใหญ่จะดูข่าวเป็นหลัก อ่านหนังสือบ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะเก็บเรื่องงานมานั่งคิดต่อ”

ไม่แปลกใจนัก ถ้าผู้นำหญิงฯ คนนี้จะคิดถึงแต่งาน เพราะภารกิจของการท่องเที่ยวฯ มีผลกระทบอย่างมาก กับเศรษฐกิจของประเทศไทย เรียกว่า สั่นสะเทือนจีดีพีของประเทศได้ ยิ่งพรศิริก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการท่องเที่ยว ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับเหตุการณ์ลบหลายด้านๆ เช่น เหตุการณ์ระเบิดทั่วกรุง ความไม่สงบในภาคใต้ จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับหญิงแกร่งคนนี้อย่างยิ่ง

2.
24 ชั่วโมงเกือบทุกวันของพรศิริจึงมีแต่งาน ยิ่งช่วงนี้ที่เธอก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าฯ เธอบอกว่า คิวแน่นทุกวัน แม้สัปดาห์หนึ่งจะมีวันว่าง ในช่วงเสาร์ อาทิตย์ แต่ในบทบาทผู้ว่าการท่องเที่ยวฯ ภารกิจในวันหยุดต้องการเดินทางไปออกงานตามสถานที่ต่างๆ ในต่างจังหวัด ยังเป็นสิ่งที่เธอต้องทำอย่างต่อเนื่องและหลีกเลี่ยงไม่ได้

พรศิริ นับเป็นผู้บริหารที่นับว่าเอาจริงเอาจังกับงานอย่างมาก เรียกว่าชีวิตส่วนหนึ่งอยู่กับงานมากกว่าจะอยู่ครอบครัว หากมีเวลาว่าง เธอจะใช้เวลาอยู่กับลูกสาว ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท เอกศิลป์-ภาษาญี่ปุ่น

“ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับลูกมากนัก ให้สามีดูแลเป็นหลัก เพราะเขาทำงานสถาปนิก มีเวลาให้ลูกเต็มที่ แต่พยายามสอนลูกเสมอว่า ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ แก้ไขปัญหาให้เป็น ตอนนี้อยากให้ลูกเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็แล้วแต่ลูก”

ปัจจุบัน พรศิริเลือกที่จะมาใช้ชีวิตในคอนโดมีเนียมขนาด 150 ตารางเมตร แถวอโศก อยู่กับลูก เพราะสะดวกในการเดินทางใกล้โรงเรียนลูก และที่ทำงาน

“ซื้อโครงการคอนโดมีเนียมประสานมิตร เพลส มาตั้งแต่ลูกยังเรียนอยู่โรงเรียนสาธิตประสานมิตร จริงๆบ้านอยู่แถวรามคำแหง รถติดมาก มาอยู่ที่นี่สะดวกดี ใกล้ตึกการท่องเที่ยวฯ แถวถนนเพชรบุรีด้วย”

3.
นึกย้อนไปเมื่อ 36 ปีก่อน จุดเปลี่ยนของผู้นำหญิงคนนี้ เกิดขึ้นสมัยเรียนอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์ ปีสุดท้าย พรศิริมีเพื่อนที่มีพี่สาวทำงานอยู่ที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) เธอเห็นแล้วชอบมาก จึงมีความตั้งใจอยากจะเข้ามาทำงานที่ อสท.

ในที่สุดพรศิริ ได้เข้าไปทำงานที่ อสท. ในยุคพลโท (ยศขณะนั้น) เฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการ อสท. ซึ่งถือเป็นบิดาการท่องเที่ยวของไทย ได้เป็นเสมือนต้นแบบของเธอในการเรียนรู้วิธีการทำงานอย่างตั้งใจและทุ่มเท

“นักท่องเที่ยวต่างชาติทานไข่ 1 ฟองเป็นอาหารเช้า ถ้ามีจำนวนนักท่องเที่ยว 1 ล้านคน เท่ากับได้ไข่ 1 ล้านฟอง ผลที่เกิดขึ้นจะช่วยทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ชุมชนท่องเที่ยว และรายได้สู่ประเทศ” พรศิริ ยกตัวอย่างสิ่งที่เธอจำได้ดี กับการปลูกฝังของบิดาการท่องเที่ยวของไทย

ตลอดสามสิบกว่าปี พรศิริทำงานในฝ่ายต่างๆ มาเกือบทุกแผนก คนรอบข้างของผู้ว่าฯ หญิงคนนี้ มักบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เธอเป็นคนเก่ง คิดเร็ว ทำเร็ว เป็นนักบริหารที่เชี่ยวชาญเรื่องนโยบายการท่องเที่ยวคนหนึ่ง เพราะเธอคลุกคลีทำงานด้านนี้มานาน นับเป็นจุดเด่นของผู้นำหญิงคนนี้

“เพราะเราอยู่มานาน ตั้งแต่การท่องเที่ยวยังใช้ชื่อ อสท. รู้ดีกว่านโยบายใดทำแล้วดี ทีมงานคนใดเก่งด้านไหน”

4.
ภารกิจที่เป็นเสมือนการบ้านชิ้นใหญ่ ในช่วงปี 2550 ของพรศิริ คือ เป้าหมาย ตัวเลขรายได้ 575,000 ล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยว 14.8 ล้านคน ท่ามกลางปัจจัยลบหลายๆ ด้าน

“เศรษฐกิจ ภัยจากการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ ความปลอดภัย ล้วนมีอิทธิพลกระทบกับท่องเที่ยวอย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่ดิฉันคิด และต้องเร่งทำ คือ การสร้างการตลาดใหม่ๆ เข้าไปถึงนักท่องเที่ยว”

พรศิริ ขยายความว่า ตอนนี้แผนงานที่ทำคือ นอกจากจะให้นักเที่ยวมาเที่ยวทุกปีแล้ว ต้องทำให้มาทุกเดือน ทุกสัปดาห์ และทุกวันด้วย เช่น ต่อไปนี้ทุกเดือนจะมีคอนเซ็ปต์ อย่างหน้าผลไม้ เดือน มิ.ย. ตั้งชื่อว่า “อร่อยทุกไร่ ชิมได้ทุกเดือน” หรืออย่างทุกๆ สัปดาห์ ใช้ชื่อโครงการว่า “เที่ยววันหยุดสุดๆ ในเมืองไทย” เป็นต้น

นอกจากนี้ โครงการที่พรศิริยกตัวอย่างขึ้น คือ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ ซึ่งเธอกำลังฟื้นโครงการนี้กลับมา หลังจากที่เคยทำมาเมื่อปี 1998-1999 และใช้ต่อเนื่องมาถึงปี 2002 เหตุผลคือ เธอบอกว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่สำรวจตลาดต่างประเทศพบว่าได้รับความนิยม และรู้จักมากที่สุด ถ้าเป็นแบรนด์ก็ถือว่าโดดเด่นมาก ดังนั้น ต้องนำกลับมาทำให้ต่อเนื่องต่อไป

นี่เป็นตัวอย่างไอเดียที่พรศิริกำลังคร่ำเคร่งมากที่สุดในเวลานี้ ซึ่งจะพิสูจน์ถึงบทบาทความเป็นสตรีหมายเลข 1 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยต่อไป

Profile :

ชื่อ: พรศิริ มโนหาญ
อายุ : 58 ปี
การศึกษา : ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (สาขาภาษาอังกฤษ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การฝึกอบรม / ดูงาน :
2548 – หลักสูตรนักบริหารของรัฐวิสาหกิจ (SAP) สถาบันศศินทร์ / Kellogg
2547 – หลักสูตรนักบริหารระดับสูง หลักสูตรที่ 1 (นบส.1) สำนักงาน ก.พ.
2537 – หลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหาร รุ่นที่ 1 กรมกิจการพลเรือนทหารบก
ประสบการณ์การทำงาน :
– 2550 – ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
– ก.ย. – ธ.ค. 2549 รองผู้ว่าการฯ ด้านตลาดในประเทศ
– 2546 – ส.ค .2549 รองผู้ว่าการฯ ฝ่ายตลาดต่างประเทศ
– 2544 – 2546 ผู้อำนวยการฝ่ายบริการการตลาด ฝ่ายการตลาด
– 2541 – 2544 ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ฝ่ายบริการการตลาด
– 2537 – 2541 ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสำนักงานผู้ว่าการ
– 2535 – 2537 ผู้อำนวยการกองเผยแพร่การตลาด ฝ่ายบริการการตลาด
– 2531 – 2535 ผู้อำนวยการกองบริการท่องเที่ยว ฝ่ายส่งเสริมการตลาด
– 2527 – 2531 ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ ฝ่ายบริการการตลาด
– 2524 – 2527 หัวหน้างานส่งเสริมการประชุม กองการประชุมนานาชาติ ฝ่ายส่งเสริมการตลาด
– 2519 – 2524 ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงาน อสท. สำนักงานลอนดอน ประเทศอังกฤษ ฝ่ายบริการการตลาด
– 2519 – 2519 หัวหน้างานรวบรวมและวิเคราะห์ข่าวสาร กองสถิติและวิจัย ฝ่ายวางแผนและพัฒนา
– 2513 – 2519 ประจำกองสำนักงานต่างประเทศ ฝ่ายบริหาร
รายได้ต่อเดือน : 2.2 แสนบาท ในตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ครอบครัว : สมรสแล้ว มีบุตรสาว 1 คน เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 โรงเรียนเตรียมอุดม
ไลฟ์สไตล์ : ชอบฟังเพลงไลฟ์มิวสิก ชื่นชมเพลงยุค 1960-1970 เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ เอลวิส เพรสลี่ย์ คาเพนเตอร์
คติในการทำงาน : ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด
แหล่งท่องเที่ยวที่ชอบ : ชอบเที่ยวทะเล เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต บรรยากาศธรรมชาติ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียว เป็นธรรมชาติจริงๆ ที่ไม่ใช่การแต่งเติม หรือตกแต่ง
มูลค่างานที่รับผิดชอบ : รายได้จากการท่องเที่ยวฯ ปี 2550 ประมาณการณ์ไว้ 575,000 ล้านบาท