สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ภารกิจกระทิงแดง

หญิงสาววัย 40 ต้นๆ… ใบหน้าอ่อนกว่าวัย…กับชุดกระโปรงสีสุภาพ เรียบง่าย คล้ายครูสอนหนังสือ เป็นภาพใหม่ ไม่คุ้นตานักของ “สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา” หรือคุณตุ๊กตาของพนักงาน เพราะแต่ละครั้งทีเธอออกงาน (โครงการกระดานดำ กระทิงแดง) ชุดกางเกง เสื้อยืดติดโลโก้กระทิงแดงคู่ เป็นชุดโปรดบอกเอกลักษณ์ประจำตัวเธอถึงความเป็นสายเลือดทายาทกระทิงแดงเต็มตัว

สุทธิรัตน์ จัดเป็น 1 ในทายาทหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ใกล้ชิดกับเฉลียวผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจพันล้านกระทิงแดงหรือ Red Bull ที่สร้างชื่อโด่งดังไปทั่วโลก เพราะนอกจากดูแลงานด้านตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของแบรนด์กระทิงแดง หรือ Red Bull ในหลายปีที่ผ่านมา เธอยังรับหน้าที่ “สานต่อภารกิจ”ของผู้เป็นพ่อได้ปูทางไว้เมื่อครั้งยังบุกเบิกธุรกิจ นั่นคืองานด้านกิจกรรมเพื่อสังคม

โดยปัจจุบัน เธอดำรงตำแหน่งเป็น Social Event Director ผู้อำนวยการ แผนกกิจกรรมเพื่อสังคม ทำหน้าที่ดูแลควบคุมงานด้านส่งเสริมและช่วยเหลือสังคมของบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง

คุณตุ๊กตา นอกจากมีบุคลิกเรียบง่าย ติดดิน หน้าตาถอดแบบจากบุพการี (เฉลียว) แล้ว เธอยังได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงาน เมื่อครั้งเป็นเด็กๆ เห็นผู้เป็นบิดาทำงานธุรกิจ และงานเพื่อสังคมอย่างใกล้ชิด

“สมัยเด็ก ตาค่อนข้างใกล้ชิดเห็นคุณพ่อทำงานตามเสด็จโครงการชนบทสร้างฝายน้ำชลประทาน อีสานเขียว ช่วงหน้าหนาวก็แจกผ้าห่ม เสื้อผ้าเด็กตามต่างจังหวัด (วัด) มันเป็นภาพสะสมที่เราเห็นมาตลอด คุณพ่อมักสอนเสมอว่า ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่ถนัด ไม่ควร เพราะจะทำได้ไม่ดี”

“อีกอย่างหนึ่ง มุมมองของเรา มองคุณพ่อคือ กระทิงแดง หรือกระทิงแดงกับคุณพ่อเป็นภาพลักษณ์เดียวกันไปแล้ว ทำการค้าขาย ทำการตลาดก็ทำไป แต่สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อไม่เคยทิ้ง ตอกย้ำ และสั่งสอนมาตลอดจนเป็นมรดกตกทอดเลย เราจะทิ้งตรงนี้ (งานเพื่อสังคม) ไม่ได้ เพราะ กระทิงแดงเกิดมาตรงนี้ได้ เพราะทุกคนลูกค้า ร้านค้า ในประเทศ ที่ดื่มกินกระทิงแดง” สุทธิรัตน์ บอกถึง Positioning ถึงแรงบันดาลใจครั้งแรก

เธอยังบอกด้วยสีหน้าเบิกบานอีกว่า “…หลังจากทำงานไปสักพักมีความคิดว่า กิจกรรมหรืองานของคุณพ่อทำที่ผ่านมา มันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องสาธารณประโยชน์และสาธารณกุศล แต่เพราะเราเป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดว่า ถ้าทำแล้วอยากลงไปพื้นที่จริงๆ เลย แตกต่างจากการทำงานของผู้ใหญ่ที่เน้นประสานงานกัน แต่ของเราเน้นลงพื้นที่อีกแบบหนึ่ง”

ไม่เพียงแต่ได้รับอิทธิพลจากบิดา แต่ส่วนตัวเธอก็ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้เรียนจบมาแล้วก็ยังทำอย่างต่อเนื่อง และทำอย่างจริงจังถึงขั้นตั้งชมรม “Red Bull Jungle Club” เมื่อหลายปีก่อนอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้ปิดตัวลง เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดี

“พอเรียนมหาวิทยาลัยชอบทำกิจกรรมหลากหลายทั้งกิจกรรมเชียร์ หรืออาสาสมัคร ทำให้คุ้นเคย อีกอย่างก็ชอบเป็นส่วนตัว พอมาทำงานและมีเวลาว่างก็จะขับรถเก๋งกับเพื่อนๆ ลงพื้นที่ตามต่างจังหวัดไปบริจาค สิ่งของให้กับชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ ทำให้พบข้อจำกัดโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลที่เราอยากเข้าไปให้ถึง เลยตั้งเข็มไว้เลยว่าต้องเรียนขับรถลักษณะแบบนี้ (รถออฟโร้ด) เรียนการตั้งแค้มป์ ทำอาหาร”

“ตอนนั้นตาเป็นแม่แรงหลัก จัดทริป สำรวจพื้นที่เอง ทำงานแบบอาสาสมัคร สมาชิกชมรมก็เป็นคนที่รักอยากทำงานเดียวกันมาด้วยใจ มีจำนวนเป็นร้อยคนลงพื้นที่ไกล ป่าลึก แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีมีอันทุกคนก็กระจัดกระจายไป ระยะหนึ่งก็เลยตัดสินใจทำเอง Set Team ขึ้นมาจากพนักงานในบริษัทที่สนใจทำกิจกรรม”

หลังจากตัดสินใจทำทีมใหม่อีกครั้ง สุทธิรัตน์ได้เดินหน้าเป็น “แม่แรง” ด้วยการเปิดรับสมัครพนักงานในบริษัทที่สนใจอยากทำงานด้านนี้และคัดเลือกด้วยตัวเอง พร้อมทั้งเทรนความรู้จำเป็นในการทำงานด้านนี้ให้ด้วยตัวเอง ที่สำคัญเธอยังเน้นการทำงานเป็นทีมเวิร์คที่เข้าถึงและใกล้ชิดกับทีมงานอย่างเป็นกันเอง อันแตกต่างจากสไตล์การทำงานของผู้เป็นบิดาอย่างชัดเจน

“สมัยคุณพ่อเป็นการทำงานคนเดียว เป็นผู้นำมั่นใจ ทุกคนพุ่งศรัทธาไปที่คุณพ่อ แต่สมัยนี้ (เรา) เน้นทำงานเป็นทีมเวิร์ค มีการระดมไอเดียจากทุกคนในทีมมากขึ้น ตามักบอกในทีมว่า อย่าเชื่อชั้นนะ พี่อาจจะเป็นผิดก็ได้ จุดนี้เค้าก็จะเห็นและกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น จากเดิมมักยากมากที่จะให้ทีมงานแสดงความคิดเห็น บอกคุยอะไร ขนาดให้เขียนจดหมายแสดงความคิดเห็นและส่งในกล่อง กล่องยังว่างเปล่าเลย ”

นอกจากได้ทำงานบริหารแบบทีมเวิร์คแล้ว แต่ภารกิจนี้ยังเป็น “เวทีฝึกบริหารคน” สำหรับเธออย่างดีอีกด้วย โดยเฉพาะศิลปะในการใช้คน เลือกคนในการทำงาน จัดเป็นผลพลอยได้ที่คุ้มค่าสำหรับการเป็นผู้บริหารพนักงานนับพันคน

“สิ่งที่ได้ คือ การมองคนออกว่า คนไหนเก่ง และดึงเอาความสามารถของเขาออกมาใช้ เพราะบางคนทำงานอยู่ตรงแผนกนั้นเป็น 10 ปีไม่เคยแสดงความสามารถ (ลึก) ออกมาเลย หรือบางคนทำงานเอกสารอย่างเดียว แต่มีจุดเด่นเรื่องความละเอียด แต่ยังไม่ได้ทำงานละเอียดให้ตรงความสามารถ ตาก็จะดึงเค้ามาและเปลี่ยนให้ทำงานที่ตรงกับความสามารถ ตอนแรกเค้ากลัวมาก ไม่เชื่อมั่น มาวันนี้เค้าเดินมาขอบคุณเรา ที่ได้มีโอกาสทำงานด้านนี้”

และที่ทำให้เธออดรู้สึกภาคภูมิใจไม่น้อยไปกว่ากัน ตลอดเวลา 5 ปีกับ ผลงานชิ้นโบแดงกับ “โครงการกระดานดำกับกระทิงแดง” ที่เธอและทีมงาน ทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ร่วมกันสร้างโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อให้การช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียนในต่างประเทศ ผ่านการสนับสนุนโครงการค่ายอาสาพัฒนาของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

“เราต้องการส่งเสริมการทำกิจกรรมนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง และให้กำลังใจ ทุกวันนี้โครงการสามารถขยายกลุ่มและรวมตัวกลุ่มจำนวนมากขึ้น และมันเป็นการศึกษาโดยแท้จริง เพราะโครงการนี้เราช่วยเหลือเรื่องการศึกษา เน้นการสร้างอาคารเรียนให้กับนักเรียนให้พื้นที่ต่างจังหวัด ปัจจุบันครอบคลุมได้ทุกภาคแล้ว”

คงไม่แปลก หากวันนี้แบรนด์กระทิงแดง ได้ “แทรกซึม” เข้าไป “โดนใจ”ของคนไทยหลายๆ คนในฐานะแบรนด์ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม นอกจาก “เครื่องดื่มชูกำลังยอดนิยม” ที่ประสบความสำเร็จในหมู่นักดื่มทั้งคนไทยและเทศมานานนับสิบปี

Profile :

Name : สุทธิรัตน์ อยู่วิทยา
Age : อายุ 43 ปี
Education :
– ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษา
– ระดับปริญญาตรี-โท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ UNIVERSITY OF MANCHESTER IN ENGLAND
Career Hilight :
– ปัจจุบัน ผู้บริหาร บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด
– Social Event Directorผู้อำนวยการ แผนกกิจกรรมเพื่อสังคม
กิจกรรมเพื่อสังคม ประธานมูลนิธิเด็กตัวเล็ก และ ประธานโครงการ กระดานดำ…กับกระทิงแดง
Status : โสด บุตรสาวคนโต เฉลียว – ภาวนา อยู่วิทยา